• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี : กรณีศึกษาจาก "นก-ฉัตรชัย"

โรคติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี : กรณีศึกษาจาก "นก-ฉัตรชัย"


ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้ประโคมข่าวการเจ็บป่วยของ "นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช" พระเอกชื่อดังที่ป่วยกะทันหัน ด้วยอาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง และได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แพทย์ได้ตรวจพบว่า มีการติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด และขึ้นไปทำให้เกิดการอักเสบของสมองบางส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขนขาซีกดังกล่าว เชื้อที่พบในกระแสเลือดนั้น เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี (group B streptoccocus) แพทย์ได้พยายามตรวจหาว่าเชื้อดังกล่าวที่พบในพระเอกคนดังนี้ มีต้นตอมาจากอวัยวะส่วนใดของร่างกาย ก่อนจะแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดและสมอง แต่ก็หาไม่พบต้นตอชัดเจน หลังจากตรวจทราบเชื้อที่เป็นสาเหตุ และได้ให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ อาการเจ็บป่วยของ "นก-ฉัตรชัย" ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ทีมแพทย์เชื่อว่าคนไข้จะฟื้นตัวดีขึ้นในไม่ช้า แต่จะต้องให้ยาต่อเนื่องประมาณ ๖ สัปดาห์ ข่าวนี้ได้สร้างความสนใจแก่คนทั่วไป กองบรรณาธิการหมอชาวบ้านจึงได้ทำการค้นคว้ารวบรวม ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวมานำเสนอ

มารู้จักเชื้อแบคทีเรียตัวก่อเหตุกันเถอะ
เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในคนเรานั้นมีอยู่มากมายหลายกลุ่มหลายชนิด กลุ่มที่พบบ่อยอันหนึ่งคือ สเตรปโตค็อกคัส ซึ่งยังแบ่งย่อยออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอ กลุ่มบี  กลุ่มซี กลุ่มดี กลุ่มจี และเอ็ม กลุ่มที่พบมากที่สุดก็คือ สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เป็นสาเหตุของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ (เจ็บคอ) และเป็นฝี หนอง พุพองตามผิวหนัง ที่เรามักคุ้นกัน สำหรับสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี (ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Streptococcus agalactiae) นั้น แม้ว่าจะพบได้น้อยกว่า กลุ่มเอ แต่ก็พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในสตรีหลังคลอด (และทารกแรกเกิด เนื่องจากเชื้อดังกล่าวอาศัยอยู่ในช่องคลอด และทางเดินอาหารในสตรีที่ร่างกายแข็งแรง โดยเชื้ออยู่อย่างสงบไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ระหว่างการคลอด หรือหลังคลอด เชื้อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดมดลูก อักเสบ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ รวมทั้งอาจติดเชื้อไปสู่ทารกแรกคลอด กลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด

คนทั่วไปมีโอกาสติดเชื้อนี้แต่น้อย
นอกจากช่องคลอดและทางเดินอาหารแล้ว เชื้อชนิดนี้ยังอาศัยในทางเดินหายใจส่วนบน (โพรงจมูก  คอหอย) และผิวหนังซึ่งจะแฝงตัวอยู่อย่างสงบ ดังนั้นคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงดี  จึงมักจะไม่เป็นโรคติดเชื้อจากเชื้อชนิดนี้ (อย่างกรณี "นก-ฉัตรชัย" ซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงเป็นพื้นฐาน ถือว่าเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก) การติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี ในคนทั่วไป (ที่ไม่ใช่สตรีหลังคลอด และทารกแรกเกิด) มักพบในกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานโรคอ่อนแอ เช่น ทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มะเร็ง เอดส์ ตับแข็ง ไตวาย โรคหัวใจ โรคทางสมอง (เช่นอัมพาต) ผู้ที่กินยาสตีรอยด์เป็นประจำ (ยานี้จะกดภูมิต้านทานโรค) เป็นต้น จากสถิติในสหรัฐอเมริกาพบว่า ทารกแรกเกิดมีโอกาสเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษจากเชื้อชนิดนี้ประมาณ ๑.๘-๓.๒ ราย ในทารก ๑,๐๐๐ ราย ส่วนคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อชนิดนี้ ประมาณ ๔.๔ ราย ในประชากร ๑๐๐,๐๐๐ ราย (แต่ในกลุ่มคนอายุมากกว่า ๖๐ ปี จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นประมาณ ๔ เท่าตัว)

โรคที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี
สำหรับสตรีหลังคลอด  เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคมดลูก อักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภาวะโลหิตเป็นพิษ  (เชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด) ทารกแรกเกิด  เชื้อนี้ก่อให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ (เชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด) ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คนทั่วไป เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (เช่น ฝี พุพอง แผลกดทับในผู้ป่วยเป็นอัมพาตซึ่งพลิกตัวไม่ได้ แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น) กระดูกอักเสบเป็นหนอง ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ โลหิตเป็นพิษ เป็นต้น ในบางครั้งอาจพบภาวะโลหิตเป็นพิษ (เชื้อแพร่กระจายในกระแสเลือด) โดยหาต้นตอของอวัยวะที่ติดเชื้อไม่พบ อย่างกรณี "นก-ฉัตรชัย" (ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบกรณีแบบนี้ประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐ ของผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อชนิดนี้)

การวินิจฉัยและการรักษา
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากการตรวจพบเชื้อชนิดนี้ในอวัยวะที่ติดเชื้อในเลือดหรือน้ำไขสันหลังของคนไข้  โดยการเพาะเชื้อหรือตรวจย้อมเชื้อ โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาเพนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวเก่าแก่ มักจะใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือด  นาน ๒-๔ สัปดาห์ (อาจนานถึง ๖ สัปดาห์ สำหรับในรายที่ติดเชื้อรุนแรง)

อันตรายของโรคนี้
ส่วนใหญ่จะหายขาดได้ ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ อันตรายจะเกิดกับผู้ติดเชื้อที่สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน มะเร็ง) หรือมีภูมิต้านทานโรคต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่เป็นโรคปอดอักเสบ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเยื่อบุหัวใจจากเชื้อชนิดนี้

การป้องกัน
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ในกรณีที่พบว่าสตรีใกล้คลอดมีการติดเชื้อชนิดนี้ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะระหว่างการคลอด เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ทารกแรกเกิด สำหรับคนทั่วไปควรหมั่นปฏิบัติสุขนิสัยที่ดีเป็นประจำได้แก่ หลีกเลี่ยงการไอจามรดใส่กัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกบาดแผล ฝี พุพอง ตุ่มหนอง อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด จาน ช้อน) ร่วมกับผู้อื่น การล้างมือด้วยน้ำกับสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังถ่ายอุจจาระ ก่อนเตรียมอาหารและเปิบข้าว และทุกครั้งที่สัมผัสถูกพื้นผิวที่สกปรก

สรุป
โรคติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี เป็นโรคที่มีมาแต่นานนม และเกิดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้หญิงหลังคลอด ทารกแรกเกิด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำ และผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี มีโอกาสเกิดได้น้อย อย่างไรก็ตามก็ควรรู้จักป้องกันโดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และหมั่นปฏิบัติสุขนิสัยที่ดีเป็นประจำ 

ข้อมูลสื่อ

326-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 326
มิถุนายน 2549