• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อย่าหลงงมงายหมอและยา

ตั้งชื่อเรื่องไว้เช่นนี้ถือว่าค่อนข้างแรงสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่เคยรู้จักผู้เขียนหรือเคยอ่านหนังสือ “หมอปากหมา” ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนถึงความจริงในด้านต่างๆ ของวงการแพทย์ จะเข้าใจผู้เขียนมากขึ้นว่าต้องการจะสื่อถึงความมีสติในการใช้ยาทั้งแพทย์และผู้ป่วย เป็นแนวคิดในมุมมองของผู้เขียนที่สะท้อนภาพความแตกต่างโดยเน้นหลักการใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริงๆ

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ “อย่าหลงงมงายว่าหมอเป็นเทพเจ้าและยาเป็นน้ำอมฤตที่จะทำให้ตนเองหายป่วย” เพราะเมื่อใดที่คิดเช่นนี้เวลาเจ็บป่วยทุกครั้งจะทำให้มุ่งแต่จะใช้ยาหรือหาหมอ โดยลืมนึกถึงความจริงอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นโทษที่เกิดจากการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือใช้ยาแบบไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ

ครั้งหนึ่งมีชาวต่างชาติพาภรรยาคนไทยมาพบผู้เขียน ปรึกษาเรื่องที่ภรรยามีอาการมึนศีรษะมานาน สามีได้เล่าอาการแทนและภรรยาช่วยพูดเสริมโดยที่ข้อมูลไม่ขัดแย้งกัน แต่ฟังแล้วน่าทึ่งเพราะทั้งคู่ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์แต่พยายามหาข้อมูลบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต รู้มาว่าอาการมึนศีรษะกับเวียนศีรษะนั้นไม่เหมือนกัน

อาการเวียนศีรษะเป็นความรู้สึกหมุนหรือโคลงเคลง ต่างกับอาการที่ผู้ป่วยเป็นคือรู้สึกมึนศีรษะตื้อๆ อยู่ตลอดเวลา
กรณีเช่นนี้มีสาเหตุหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งอาจไม่เกี่ยวข้องกับระบบการทรงตัว โดยอาจเกิดจากการดำเนินชีวิตทั้งการตรากตรำทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เคร่งเครียด หรือสาเหตุอื่นๆ ที่กดการทำงานของสมอง

ผู้ป่วยรายนี้คิดว่าเกิดจากสายตาไม่ปกติและใช้สายตามากเกินไปเพราะชอบเล่นเฟซบุ๊ก เล่นอินเทอร์เน็ต เคยไปวัดสายตาพบว่าสายตายาวมีใบสั่งตัดแว่นมาให้ แต่ผู้ป่วยยังต้องการรู้คำตอบที่แน่นอนเพราะแพทย์หลายท่านบอกไม่เหมือนกัน

บางคนก็บอกว่า “น้ำในหูไม่เท่ากัน”

บางคนก็บอก “เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ”

บ้างก็ว่า “ความดันโลหิตต่ำ”

ตัวผู้ป่วยและสามีคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะตนเองมีอาการมึนศีรษะตื้อๆตลอดเวลาไม่ใช่เวียนศีรษะหมุนโคลงเคลง แต่ก็ยังกินยาตามแพทย์สั่งคือยาแก้เวียนศีรษะและยาขยายหลอดเลือดสมองแต่อาการก็ไม่ดีขึ้นเลย

หลังจากซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ผู้เขียนก็เห็นด้วยกับผู้ป่วยและสามีที่ว่าเป็นอาการมึนศีรษะไม่ใช่เวียนศีรษะโดยตรวจไม่พบความผิดปกติอื่นๆ สาเหตุมีหลายอย่างที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือสายตาผิดปกติและใช้สายตามากเกินไป แนะนำให้พักสายตาบ้างและสวมแว่นตา รวมทั้งให้ค้นหาสาเหตุอื่นต่อไปถ้ายังมีอาการมึนศีรษะ ส่วนยาที่ใช้อยู่ได้ขอให้งดใช้เพราะเป็นยาที่รักษาอาการเวียนศีรษะ หมุน หรือโคลงเคลง และมีฤทธิ์ข้างเคียงคือกดประสาทอาจทำให้มึนศีรษะจากยาได้

เรื่องที่นำมาเล่านี้สะท้อนในหลายๆ มุม เช่น การรู้จักพึ่งตนเองในเบื้องต้นก่อน ด้วยการหาข้อมูลจากที่ต่างๆ สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วอินเทอร์เน็ตนั้นมีคำตอบให้เสมอมากบ้างน้อยบ้างถูกบ้างผิดบ้างต้องหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ บางคนบอกว่าคิดอะไรไม่ออกให้ถามกูเกิล (เว็บไซต์การหาข้อมูลที่นิยมมากที่สุด)

ผู้ป่วยรายนี้เพียงพิมพ์คำว่า “Dizziness” หรือภาษาไทยคำว่า “มึนศีรษะ” ลงไปในกูเกิล ก็จะมีคำอธิบายมากมายจนแทบจะเป็นแพทย์เองได้หรืออาจจะทำได้ดีกว่าแพทย์ด้วยซ้ำ เพราะตนเองย่อมรู้อาการที่เป็นดีที่สุดบวกกับข้อมูลอีกมากมายก็จะทำให้มีความรู้ในเรื่องนั้นได้ เพราะแพทย์เองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่องทุกโรค บางครั้งก็จำเป็นต้องเร่งรีบไม่ได้ซักประวัติหรือตรวจโดยละเอียด และ/หรือบางท่านก็อาจจะนึกไม่ถึง
ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว คำขวัญที่เคยให้ไว้และยังใช้เตือนสติผู้ป่วยทั้งหลายได้เสมอคือ “อย่าใช้ยามาก อย่าอยากฉีดยา อย่าบ้าหาหมอ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีสติ คือไม่วิตกกังวลจนเกินไป และไม่ชะล่าใจจนเกิดเรื่องร้ายแรง หมั่นเตือนใจว่ายาไม่ใช่ขนม มีทั้งคุณและโทษ หากใช้ถูกกับโรคก็จะมีประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้ผิดก็เกิดโทษได้เช่นกัน

ผู้ป่วยบางรายหลงคิดว่ายาฉีดต้องดีกว่ายากิน ทำให้หายเร็วกว่า ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย อย่าขอให้หมอเติมน้ำเกลือเพราะคิดว่าจะได้มีแรงหายอ่อนเพลีย เพราะถ้ามีโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือโลหิตจาง อาจจะทำให้หัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอดได้

อีกประการหนึ่งที่มักจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือ อย่าไปหาหมอบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีอาการเจ็บป่วยที่ชัดเจนพอที่จะบอกว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง ให้ลองสังเกตอาการดูก่อนจนคิดว่าจำเป็นต้องไปหาหมอให้ช่วยวินิจฉัย ไม่ใช่ว่ารู้สึกรำคาญอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ไปเล่าให้หมอฟังโดยที่ตัวเองยังไม่แน่ใจ อาการก็ไม่ชัดเจนบอกไม่ถูก ถ้าไปเจอหมอที่เร่งรีบไม่มีเวลาสอบถามละเอียดก็จะไปกันใหญ่ จากเรื่องเล็กๆ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที ผู้ป่วยก็จะได้รับยาหรือการตรวจวินิจฉัยที่อาจจะไม่จำเป็น บางครั้งอาจเกิดโทษเสียด้วยซ้ำ

บางคนมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย ท้องผูก วิตกกังวล นอนไม่หลับ แพ้อากาศ ปวดเมื่อยเพระตรากตรำงานหนัก เหล่านี้สามารถหาซื้อยามากินในเบื้องต้นและสังเกตอาการไปก่อน ถ้าไม่ทุเลาจึงค่อยไปพบแพทย์
 

ข้อมูลสื่อ

393-042
นิตยสารหมอชาวบ้าน 393
มกราคม 2554
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์