ช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ นับเป็นเทศกาลท่องเที่ยวเพราะท้องฟ้าแจ่มใสและอากาศเย็นสบาย แต่ก็มีโอกาสพบโรคผิวหนังบางอย่างมากขึ้นบ้าง ลองมารู้จักกับโรคเหล่านี้กัน
ที่พบบ่อยคือหลายท่านมีผิวแห้ง บางครั้งแห้งจนแตกลายและเกิดอาการคันได้มาก บางท่านมีผื่นแดงเป็นขุยที่ร่องจมูก แก้ม เหนือคิ้ว และแนวไรผม เรียกว่าโรคเซ็บเดิร์ม (seborrheic dermatitis) ถ้าล้างหน้าฟอกสบู่บ่อยโรคนี้จะกำเริบ บางท่านมีรังแคของหนังศีรษะมาก
นอกจากนั้น ยังพบการกำเริบของโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) และพบการระบาดและกำเริบของโรคกลีบกุหลาบ (pityriasis rosea) ได้
ดูแลไม่ให้ผิวแห้งได้อย่างไร
ปัญหาผิวหนังในหน้าหนาวที่พบบ่อยที่สุด และมักเกิดกับคนไทยที่รักความสะอาดเป็นทุนอยู่แล้วคือ ปัญหาผิวแห้งทำให้เกิดอาการคัน บางท่านเข้าใจผิดว่าคันจากความสกปรกจึงยิ่งใช้สบู่ฟอกถูผิวที่แห้งคัน ทำให้อาการเป็นมากขึ้น บางท่านใช้สบู่ยาฟอกผิวหนัง เพราะเข้าใจผิดว่าผิวแห้งคันเกิดจากการติดเชื้อโรค การใช้สบู่ยายิ่งทำให้ผิวแห้งจัดจนแตกลายและเป็นแผลได้ การอาบน้ำร้อนจัดหรือนอนแช่อ่างอาบน้ำอุ่นก็ทำให้ผิวยิ่งแห้ง
ในหน้าหนาวอาจใช้เพียงสบู่อ่อนฟอกบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ซอกขา ก็เพียงพอ ถ้ามีผิวแห้งมากควรใช้ครีมบำรุงผิวที่ไม่เหนียวเหนอะหนะ
ผู้ที่มีผิวแห้งต้องงดยาทาแก้คันที่มีลักษณะเป็นแป้งน้ำเพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งมากขึ้น และต้องไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อราทา เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาผิวแห้งและยังทำให้ผิวแห้งกำเริบขึ้น การใช้ครีมบางตัวเช่น กรดผลไม้ กรดวิตามินเอ ครีมรักษาสิว เช่น เบนซอยล์เพอร์ออกไซด์ โลชั่นทาสิว (เช่น กำมะถัน) ต้องระวัง เพราะทำให้ผิวแห้งระคายเคืองได้ง่าย ถ้าจำเป็นต้องทายาให้น้อยลงหรืองดเป็นช่วงๆ
ในฤดูหนาวถ้าหน้าแห้งมากหรือผิวกายแห้งควรลดหรืองดการฟอกสบู่ และใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทาใบหน้า ทาตามตัว ควรงดการใช้สบู่ที่มีเม็ดขัดถูใบหน้าด้วย ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดในหน้าหนาว เช่น สวมกางเกงขายาว ใส่เสื้อแขนยาว สวมถุงมือ ถุงเท้า หมวก เหล่านี้ช่วยลดปัญหาผิวแห้ง ปัญหารังแค ลดการเสี่ยงต่อโรคหวัด และยังช่วยป้องกันผิวหนังจากแสงแดดจ้าในฤดูหนาวอีกด้วย
โรคเซ็บเดิร์มคืออะไร
โรคเซ็บเดิร์มพบได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว เป็นโรคกลุ่มเดียวกับรังแคและโรคสะเก็ดเงินซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ ลักษณะเป็นผื่นแดงตามหน้าผาก ข้างแก้ม คิ้ว หรือเป็นผื่นมีขุยที่เหนือคิ้ว ร่องจมูก แนวไรผม ถ้าเป็นชนิดรุนแรงผื่นจะเห็นได้ชัดเจนมากซึ่งดูแล้วอาจไม่ต่างไปจากโรคสะเก็ดเงิน
นอกจากพบผื่นที่ใบหน้าแล้ว ยังอาจพบผื่นที่หนังศีรษะคล้ายรังแค แต่หนังศีรษะจะมีผื่นแดง และยังพบตามตำแหน่งอื่นๆ ที่มีต่อมไขมันมากได้แก่ ในรูหู หลังหู ในสะดือ และหัวหน่าว เป็นต้น บางรายอาจมีอาการคัน
ปัจจัยที่ทำให้โรคเซ็บเดิร์มหรือรังแคของผิวหน้ากำเริบได้แก่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหน้าแห้ง ล้างหน้าฟอกสบู่บ่อยครั้งเกินไป การโดนแสงแดดจัด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัด
แนวทางในการป้องกันและรักษาโรคเซ็บเดิร์มนี้คือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังกล่าว หากเป็นมากควรพบแพทย์ผิวหนัง แพทย์อาจให้ยาทา เช่น ครีมทาลดเชื้อยีสต์ หรือครีมสตีรอยด์อย่างอ่อน เนื่องจากโรคนี้มักเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปเพราะจะทำให้เครียดและโรคยิ่งกำเริบขึ้น
รังแคเป็นอย่างไร รักษาได้ไหม
รังแคคือขุยบนเส้นผมหรือหนังศีรษะ อาจมีลักษณะแห้งหรือมันก็ได้ รังแคไม่ใช่โรค แต่เป็นความแปรปรวนของเซลล์หนังศีรษะที่แบ่งตัวมากขึ้น แล้วหลุดออกง่ายและเร็วกว่าปกติ กลายเป็นขุยขนาดใหญ่ที่สามารถสังเกตเห็นได้
การรักษารังแคอาจใช้แชมพูรักษารังแคที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งมีตัวยาสำคัญในการขจัดรังแค เช่น ซิงก์ไพริไทออน ซีลิเนียมซัลไฟด์ และคีโทโคนาโซล ตัวยาเหล่านี้ลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง และช่วยให้ขุยหรือขี้ไคลที่เกิดขึ้นไม่ลอกหลุดเร็วกว่าปกติ รวมถึงลดจำนวนเชื้อยีสต์บนหนังศีรษะลงด้วย
การใช้แชมพูรักษารังแคให้ใช้ตามคำแนะนำหรือฉลากข้างขวด เมื่อรังแคหายแล้วก็อาจกลับเป็นใหม่ได้อีก
โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เป็นอย่างไร
โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังไม่ใช่โรคติดต่อที่มักเริ่มพบในวัยเด็ก ผู้ป่วยร้อยละ ๗๐ พบประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเช่น ประวัติว่าพ่อแม่เป็นหืดหอบ ลมพิษ หรือน้ำมูกไหลเพราะแพ้อากาศ แบ่งลักษณะเป็น ๓ ช่วงอายุคือ
ช่วงวัยทารก มักพบเป็นผื่นที่แก้มหรือบริเวณอื่นของใบหน้า หรือตามด้านนอกของแขนขา ลำตัว
ช่วงวัยเด็ก ผื่นมักเป็นตามข้อพับแขนขา ผื่นจะแดงหนา อาจคันรุนแรงมาก
ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักคันมาก อาการคันมักกำเริบตอนกลางคืน ผื่นมักเป็นตามข้อพับแขนขา ใบหน้า หัวไหล่
ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ไม่ควรใช้สบู่มาก ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำร้อนจัด การเช็ดตัวให้ใช้วิธีซับไม่ควรเช็ดหรือถูแรงๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ที่หนา ควรใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอโปร่งๆ ให้พยายามระงับสติอารมณ์ไว้ อย่าเครียด อย่าเกาบริเวณที่คัน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังภูมิแพ้และผู้ปกครองเด็กต้องพยายามเข้าใจว่า แม้ว่าโรคนี้จะก่อให้เกิดความน่ารำคาญเพียงใดก็ตาม โรคนี้ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต จึงควรยอมรับสภาพความเป็นจริงที่จะมีชีวิตอยู่กับโรคนี้ให้ได้
โรคกลีบกุหลาบเป็นอย่างไร
โรคกลีบกุหลาบเริ่มแรกจะมีผื่นปฐมภูมิเรียกว่าผื่นแจ้งข่าว ต่อมาอีก ๑-๒ สัปดาห์จะมีผื่นเล็กๆ ลักษณะเฉพาะกระจายทั่วไป มักเป็นตามแนวลายเส้นของผิวหนังจึงทำให้ผื่นที่หลังอาจเรียงตัวดูคล้ายต้นคริสต์มาส อาจมีอาการนำมาก่อนผื่นขึ้นเช่น เหนื่อยเมื่อยล้า คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ไข้ และปวดศีรษะ
ร้อยละ ๗๕ ของผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบมีอาการคัน ซึ่งร้อยละ ๒๕ อาจคันรุนแรง
โรคกลีบกุหลาบพบได้ตลอดปีแต่มักพบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยน ในฤดูหนาวโรคกลีบกุหลาบมักมีอาการคันอย่างรุนแรงเพราะมีผิวแห้งร่วมด้วย
- อ่าน 7,686 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้