• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรับสภาพกลไก กาย-ใจ

ปรับสภาพกลไก กาย-ใจ


หากกล้ามเนื้อสูญเสียความแข็งแรงพื้นฐาน (tone)  สัญญาณกระตุ้นจากภายนอกก็ไม่อาจทำให้เกิดการกระทำ หรือเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เปรียบได้กับยางหากมีความตึงตัวก็จะสามารถดีดตัวต่อแรงที่มากระทำได้เต็มที่ แต่ถ้าหย่อนตัวการดีดตัวต่อแรงที่มากระทำก็จะน้อยลง สัญญาณจากภายในทำหน้าที่มากกว่าแค่รองรับสัญญาณจากภายนอก มันยังทำหน้าที่สกัดสัญญาณจากภายนอก รวมทั้งกำหนดประสิทธิภาพของสัญญาณภายนอก ดังนั้นหากกล้ามเนื้อถูกควบคุมจากสัญญาณภายใน แทนที่จะถูกควบคุมจากสัญญาณภายนอก มันจะไม่ตอบสนองต่อสัญญาณจากภายนอก เราจะเข้าใจกลไกสัญญาณจากภายในได้ชัดขึ้น หากศึกษาการทำงานของหัวใจและระบบหายใจ ซึ่งทำงานอยู่ในระดับของ medulla oblongata (กลไกประสาทอัตโนมัติที่ก้านสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจและการหายใจ)

การเต้นของหัวใจและการหายใจทำงานด้วยสัญญาณจากภายในเป็นหลัก สัญญาณจากภายนอกจะเข้ามาแทรกแซงได้บ้าง ในขอบเขตที่จำกัดมากๆ ยกตัวอย่างเช่น หากถูกน้ำเย็นๆ สาดหน้า เราจะกลั้นลมหายใจทันทีแต่เพียงสั้นๆ เท่านั้น  คล้ายกับการตอบสนองต่อความเจ็บปวดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถ้าเดินเหยียบตะปู สัญญาณจากภายนอกจะทำให้มีปฏิกิริยาแบบหนึ่ง เช่น อาการตกใจ แต่ถ้ารู้อยู่แล้ว เช่น หมอจะฉีดยาที่แขน การตอบสนองต่อสัญญาณภายนอกก็แตกต่างไป เช่น ไม่มีอาการตกใจ อย่างไรก็ตาม ระบบทั้ง 2 ไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ทั้งคู่ล้วนเป็นองค์ประกอบของกลไกตอบสนองโดยรวม พฤติกรรมหนึ่งๆ อาจประกอบด้วยกลไกภายนอก (phasic reaction) เป็นหลัก แต่ก็มีส่วนของกลไกภายใน (tonic reaction) ร่วมด้วย กลไกการตอบสนองภายในอาจ พัฒนาไปเป็นกลไกแบบภายนอก ขณะเดียวกันกลไกภายนอกก็อาจเป็นตัวกำหนดสภาพของกลไกภายใน  ทั้งคู่ทำงานในสมองและไขสันหลังประสานกันเป็นการกระทำ การตอบสนองต่อสัญญาณภายนอกที่ส่งเข้ามาซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เป็นเพราะไม่ได้ตอบสนองด้วยกลไกภายในอย่างเดียว แต่ขึ้นกับว่าจะเปิดรับสัญญาณภายนอกนั้นหรือไม่ด้วย การฝึกปฏิบัติเทคนิคโยคะ เป็นการปรับกลไกสัญญาณภายใน อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของอิริยาบถ (postural substrate) ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรม กล่าวคือ เพื่อจัดการกับสัญญาณภายนอกใดๆ โยคะใช้วิธีจัดปรับที่ระบบสัญญาณประสาทภายใน ขณะที่การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อภายนอกอย่างแรง เช่น ยิมนาสติก กีฬาต่างๆ ไม่ได้มีผลต่อกลไกสัญญาณภายใน 

ในความเป็นจริง หากไม่มีกลไกภายในที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อภายนอก จะเคลื่อนไหวโดยใช้พลังงานมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอยู่ในช่วงที่กำลังเครียดจะยิ่งเผาผลาญพลังงานมาก ทำให้รู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ทางออกที่เป็นการแก้ที่ต้นเหตุอย่างแท้จริงคือ การคืนความสมดุลโดยการสร้างความเหมาะสมของกลไกภายในกล้ามเนื้อลึกชั้นใน การที่มีกลไกภายในที่สมดุลจะเป็นผู้ที่ใช้พลังงานน้อย ทั้งในอิริยาบถและในการเคลื่อนไหว กลไกการตอบสนองจะไม่หุนหัน ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเหนื่อยช้า ที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีโครงสร้างพื้นฐานภายในที่เป็นปกติ อันส่งผลต่อการมีพฤติกรรมที่ดี 

นอกจากนั้นกลไกตอบสนองต่ออิริยาบถยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ตา หู และผิวหนังบางส่วน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทต่อกลไกตอบสนองของอิริยาบถอันซับซ้อน (complex reflex mechanism of postures) ด้วย โดยสัญญาณจากตัวรับเหล่านี้จะส่งผ่านไปยังสมองส่วนกลางที่ cerebral cortex, cerebellum ศึกษาได้จากภาพประกอบ

การศึกษาควรพิจารณาผลที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงของเทคนิคโยคะแต่ละชนิด และเปรียบเทียบความแตกต่างกับการออกกำลังกายทั่วไป ผลของเทคนิคโยคะต่อกลไกประสาทรับรู้ภายใน และผลดีต่อพฤติกรรมของกาย-ใจโดยรวม จากนี้ไป มาพิจารณาเทคนิคโยคะว่าช่วยจัดปรับกลไกภายในได้อย่างไร โดยศึกษาเทคนิคโยคะ 3 ประเภท 1) อาสนะ 2) มุทรา-พันธะ และ 3) ปราณายามะ แต่ละ เทคนิคนั้นกว้างขวางและหลากหลายมาก จึงยากที่จะวิเคราะห์โดยละเอียดในเวลาอันน้อยนิด ด้วยเหตุนี้จะนำเสนอภาพกว้างๆว่า หากใช้อย่างเหมาะสมและรอบคอบจะมีส่วนช่วยในการบำบัดโรคได้อย่างไร

ข้อมูลสื่อ

326-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 326
มิถุนายน 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์