ยารักษาฝ้า
การรักษาฝ้าที่มีประสิทธิภาพควรใช้ยาลอกฝ้าร่วมกับยากันแดด เพราะว่ายาลอกฝ้ามีฤทธิ์รักษาฝ้า ส่วนยากันแดดช่วยปกป้องผิวหนังจากแสงแดด
โรค "ฝ้า" เป็น รอยจุดสีน้ำตาล-ดำบนใบหน้า
ฝ้าเป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในเมืองไทย โดยเฉพาะสตรีที่มีผิวสีน้ำตาลอ่อน หรือที่นิยมเรียกกันว่า ผิวสีแทน (tan) ซึ่งเป็นสีผิวของชาวเอเชีย โรคนี้เป็นโรคผิวหนังอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ไม่ส่งผลเสียโดยตรงต่อการทำงานตามปกติของสุขภาพร่างกาย แต่มีผลต่อภาพลักษณ์ ความสวย และความงามของใบหน้า ทำให้เกิดรอยด่างดำ ไม่น่าดู "ฝ้า" เกิดจากความผิดปกติของผิวหนัง เป็นภาวะที่เซลล์ผิวหนังมีสีเข้มคล้ำกว่าบริเวณรอบข้าง เพราะเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังสร้างเม็ดสีผิวออกมามากเกินไป เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงแดดจะทำให้เกิดเป็นผิวสีเข้มคล้ำแตกต่างจากผิวบริเวณรอบๆ อย่างเห็นได้ชัด
ชนิดของฝ้า
ฝ้าแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด ตามความลึกของการเกิดฝ้า คือ ฝ้าแบบตื้น และฝ้าแบบลึก
ฝ้าแบบตื้น จะอยู่ในระดับผิวหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) มักมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลขอบชัด เกิดได้ง่าย และสามารถรักษาให้หายได้เร็ว นอกจากนี้ ฝ้าชนิดนี้ยังรักษาโดยการใช้ยาทาฝ้าอ่อนๆ และยากันแดด ก็สามารถลบเลือนให้หายได้
ฝ้าชนิดที่สอง คือ ฝ้าแบบลึก จะมีอาการผิดปกติ อยู่ในชั้นที่ลึกกว่าชนิดแรก โดยจะเกิดฝ้าในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า จะเกิดความผิดปกติในระดับชั้นผิวหนังแท้ มีลักษณะเป็นสีม่วงๆ อมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัด รักษาได้ยากกว่าฝ้าชนิดตื้น และไม่ค่อยหายขาด การใช้ยาทาฝ้าอ่อนๆ และยากันแดด เพียงแต่ช่วยให้ดีขึ้นเท่านั้น
บางคนก็เป็นฝ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจจะเป็นทั้ง ๒ ชนิดพร้อมกันก็ได้ ในการวินิจฉัยแยกชนิดของฝ้าว่าเป็นชนิดใดนั้น ต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือที่มีชื่อเรียกว่า Wood's lamp
ตำแหน่งที่พบฝ้าได้บ่อย
ตำแหน่งที่พบฝ้าได้บ่อย ได้แก่ บริเวณใบหน้าที่มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดดมากๆ เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก จมูก เหนือคิ้ว และบริเวณเหนือริมฝีปาก ซึ่งมักเป็นทั้งด้านซ้ายและขวาของร่างกายอย่างสมมาตรกัน ในบางคนอาจพบรอยดำได้ บริเวณหัวนม รักแร้ ขาหนีบ หรืออวัยวะเพศร่วมด้วย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า
ส่วนใหญ่มักพบฝ้าในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เริ่มตั้งแต่ในวัยเจริญพันธุ์ หรืออายุประมาณ ๓๐ ปีขึ้นไป พบมากในชาวเอเชีย ชนเชื้อสายสเปน และชาวอินเดียนแดงที่มีสีผิวโทนสีแทน หรือน้ำตาล สาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดฝ้า ได้แก่ แสงแดด ฮอร์โมน กรรมพันธุ์ สารเคมี และความเครียด แสงแดด หรือแสงไฟแรงๆ เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ทำให้เกิดสีผิวเข้มขึ้นหรือเป็นฝ้า ฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง ทั้งโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน สังเกตได้จากการเกิดฝ้าในหญิงตั้งครรภ์ (pregnancy mask) ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิด และผู้หญิงวัยทองที่ใช้ยาฮอร์โมนทดแทน ซึ่งล้วนมีโอกาสทำให้เกิดฝ้าได้ แต่ฝ้าชนิดนี้มักหายได้เอง เมื่อคลอดบุตร หรือหยุดยา แต่จะต้องใช้เวลานานประมาณ ๒ เท่า ของระยะเวลาที่ใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการคุมกำเนิดหรือทดแทนฮอร์โมน เชื่อว่ากรรมพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า เพราะพบในคู่แฝด และพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน สารเคมี น้ำหอม และเครื่องสำอางบางชนิด อาจจะทำให้เกิดฝ้าได้ ดังนั้น เมื่อเริ่มใช้ควรสังเกตการเกิดฝ้า และหลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้เกิดฝ้าได้ ความเครียด ก็เชื่อว่ามีส่วนสำคัญทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบฝ้าดำได้ ในผู้ป่วยโรคเนื้องอกของ รังไข่ โรคแอดดิสัน เป็นต้น
การดูแลตนเอง
เนื่องจากแสงแดดหรือแสงไฟแรงๆ ช่วยกระตุ้นให้เกิดฝ้า จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรือแสงไฟแรงๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงการออกแดดกลางแจ้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็นต้องออกแดด อาจป้องกันด้วยการใช้ร่มกันแดด หรือสวมหมวกชนิดที่มีปีก พร้อมทั้งใช้ยาทากันแสงแดด ควรเลือกชนิดที่มีค่า SPF (sun protective factor) ตั้งแต่ ๑๕ ขึ้นไป และทาบริเวณที่ต้องการปกป้องวันละ ๑-๒ ครั้ง เพื่อช่วยป้องกันแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม และเครื่องสำอาง เพราะมีเครื่องสำอางและน้ำหอมบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดฝ้าขึ้นได้ นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด อนึ่ง ค่า SPF (sun protective factor) หมายถึง จำนวนเท่าของการปกป้องแสงมาทำลายผิวหนังเมื่อทา ยาเปรียบเทียบกับเมื่อไม่ได้ยาทา เช่น SPF ๑๕ แสดงว่า ยานี้สามารถปกป้องผิวหนังได้นานเป็น ๑๕ เท่า ของภาวะปกติของผิวหนัง
ยารักษาโรคฝ้า
ในการรักษาโรคฝ้าแนะนำให้ใช้ยาลอกฝ้าร่วมกับยากันแดด (ปกติใช้เวลามากกว่า ๓ เดือน) ทั้งนี้เพราะยาลอกฝ้า จะมีฤทธิ์รักษาอาการของฝ้า ในขณะเดียวกัน ยากันแดดจะช่วยปกป้องผิวหนังจากแสงแดด ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดฝ้า ดังนั้นในการรักษาฝ้าจึงควรใช้ยาทั้ง ๒ ชนิดนี้ร่วมกัน
- ยาลอกฝ้า
ยาลอกฝ้ามีหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้และปลอดภัย คือ ไฮโดรควิโนน (hydroquinone) อยู่ในรูปยาทา ขนาดความเข้มข้นร้อยละ ๒-๔ ทาวันละ ๒ ครั้ง จะช่วยลดการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง ทำให้ฝ้าจางลงได้ แต่เนื่องจากยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ที่ผิวหนังได้ ก่อนใช้ทาฝ้าบริเวณใบหน้า จึงควรทดสอบด้วยการทายานี้บางๆ ที่แขนแล้วทิ้งไว้ ๒-๓ วัน (ห้ามล้างออก) ดูว่ามีผื่นแดงหรือไม่ ถ้ามีอาการแพ้ ก็ห้ามใช้ยาชนิดนี้ เพราะอาจเป็นอันตรายแก่ใบหน้าได้ ยาไฮโดรควิโนนนี้มีอยู่ในรูปครีม หรือโลชั่น ในความเข้มข้นร้อยละ ๒-๔ ได้ผลดีในการลดฝ้า ยิ่งความเข้มข้นมากขึ้นก็ยิ่งให้ผลต่อการลดฝ้าได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน แต่ควรระวังผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อยได้แก่ ระคายเคืองผิว มีความไวต่อแสงมากขึ้น เกิดการอักเสบ หรือสีผิว รอบข้างมีสีจางลง นอกจากนี้ ยังนิยมนำยาไฮโดรควิโนนผสมกับกรดเรติโนอิกขนาด 0.01-0.05% และสตีอรอยด์ชนิดครีม ๒ ชนิดหรือ ๓ ชนิดร่วมกัน จะช่วยให้การออกฤทธิ์ ลดฝ้าได้ดียิ่งขึ้น
- ยากันแสง
ยากันแสง มีหลายชนิด เช่น พาบา (PABA ซึ่งย่อมาจาก para-aminobenzoic acid) ทาตอนเช้า หรือก่อนออกกลางแดด ควรใช้ชนิดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ ๑๕ ขึ้นไป ยานี้อาจทำให้แสบตา แสบจมูก เป็นสิว หรือแพ้ได้ โดยทั่วไปมักจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าอาการจะดีขึ้น และจะต้องใช้ยากันแสงไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการกลับ มาเป็นฝ้าอีก
นอกจากนี้ ยา azelaic acid, glycolic acid และ kojic acid ก็มีการนำมาใช้เป็นยาเดี่ยวหรือร่วมกับยาอื่นๆ ในการรักษาฝ้า ในการรักษาอาจต้องใช้เวลานานมากกว่า ๓ เดือน จึงจะได้ผลดี หรือในบางรายอาจไม่หายขาด จะต้องใช้ยากันแสงและยาลอกฝ้าติดต่อกันไปเรื่อยๆ เพื่อควบคุมฝ้า เพราะถ้าหยุดยา อาจกำเริบได้ใหม่ ฝ้าที่อยู่ตื้นๆ หรือชนิดที่เป็นสีน้ำตาล-น้ำตาลเข้ม มักจะรักษาได้ผลดี แต่ฝ้าที่อยู่ลึก หรือชนิดที่เป็นสีน้ำตาลเทา-ดำ อาจได้ผลช้า หรือไม่ได้ผลเลย ถ้าไม่ดีขึ้นใน ๑-๒ เดือน หรือแพ้ยาที่ทารักษาฝ้า หรือสงสัยเป็นโรคอื่นควรปรึกษาแพทย์ทางโรคผิวหนังซึ่งอาจเปลี่ยนไปใช้รักษาฝ้าชนิดอื่นแทน อนึ่ง ยารักษาฝ้าบางชนิดมีส่วนผสมของสารปรอท อาจจะไปทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes) ทำให้หน้า ด่างขาว หรือเป็นรอยแดงหรือรอยด่างอย่างน่าเกลียด ดังนั้น จึงควรระมัดระวังอย่าซื้อยาลอกฝ้าที่มีส่วนประกอบของ ปรอท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่โฆษณาว่าทำให้หายได้ทันที ยาลอกฝ้าที่เข้าสารปรอท อาจทำให้ฝ้าจางลง แต่อาจมีอันตรายจากการสะสมปรอทที่ผิวหนังและในร่างกายได้
ฝ้าจากการตั้งครรภ์
ฝ้าที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (pregnancy mask) อาจหายได้เองหลังการคลอดบุตร ฝ้าที่เกิดจากยาเม็ดหรือยาฉีดคุมกำเนิด หลังหยุดใช้ยาคุมกำเนิด อาจทำให้ฝ้าจางลงได้เอง ซึ่งต้องใช้เวลาเป็น ๒ เท่าของระยะเวลาที่ใช้ยาคุมกำเนิด เช่น ถ้าฉีด ยาคุมกำเนิดนาน ๒ ปี ก็อาจใช้เวลานานถึง ๔ ปี ในการ ที่ฝ้าจะจางหายไปได้เอง
ฝ้าอาจเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอกของรังไข่ โรคแอดดิสัน เป็นต้น นอกจากนี้ โรคเอสแอลอี ก็อาจมีผื่นแดงขึ้นที่แก้ม คล้ายรอยฝ้าได้ ดังนั้นถ้าพบมีอาการ ผิดสังเกตอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย เป็นลมบ่อย ปวดข้อ ผมร่วง เป็นไข้เรื้อรัง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ ถึงตอนนี้ก็พอเข้าใจเรื่องฝ้าและวิธีดูแลรักษาตนเองในเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยการหาสาเหตุของฝ้าว่าเกิดจากสาเหตุใด ถ้าเกิดจากการตั้งครรภ์ หรือการใช้ยาคุมกำเนิด ก็อาจหายได้เอง ถ้าคลอดบุตร หรือหยุดยาคุมกำเนิด แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากสาเหตุทั้งสอง ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นฝ้ามากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยก็อาจใช้แป้งหรือเครื่องสำอาง ทากลบเกลื่อนรอยฝ้าได้ แต่ถ้าเป็นมากพอสมควร ก็ควรใช้ยาลอกฝ้าอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป็นเวลานานประมาณ ๓ เดือนขึ้นไป กว่าจะเห็นผลดี และควรใช้ยากันแดดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันแสงแดดกระตุ้นให้เกิดฝ้าขึ้นมาใหม่
สิ่งสำคัญที่สุด ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือแสงไฟ แรงๆ ซึ่งกระตุ้นการเกิดฝ้า พร้อมทั้งรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป
ส่วนรายที่มีประวัติแพ้ยาและสารเคมีได้ง่าย ควรทดสอบยาทาทุกชนิดก่อนใช้ยาด้วยการทาที่ท้องแขนแล้วทิ้งไว้สัก ๑-๒ วัน เพื่อทดสอบการแพ้ยา ก่อนนำไปทาที่ใบหน้าเลย หากใช้แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยในเรื่องยาหรือสุขภาพ ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ตามร้านยาทั่วไปได้
- อ่าน 25,291 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้