• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มดตะนอยต่อยคนตาย

มดตะนอยต่อยคนตาย


ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากถูกมดตะนอยต่อยเพียงตัวเดียว ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เสียชีวิตรายนี้ เป็นชายไทยอายุ ๓๙ ปี ถูกนำตัว ส่งโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ในสภาพโคม่า เป็นเจ้าชายนิทรา ๖ วัน ก็เสียชีวิต ญาติใกล้ชิดที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ตนและผู้ตายออกไปหาปลาในแม่น้ำน่าน ขณะกำลังหาปลาอยู่นั้นผู้ตายร้องด้วยความ ตกใจบอกว่าถูกมดตะนอยต่อย จึงรีบเข้าไปช่วยเหลือ ปกติแล้วผู้ตายเป็นคนแพ้มดและแมลงที่มีเหล็กในอย่างรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกมดกัดและผึ้งต่อยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์เคยเตือนให้ระมัดระวังตัว ขณะที่เข้าไปช่วยเหลือ ผู้ตายนอนหมดสติและ มีมดตะนอยขนาดใหญ่กัดติดอยู่ที่ง่ามมือ ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล อาการทรุดหนัก หน้าดำคล้ำ และเป็นเจ้าชายนิทราตั้งแต่นั้น แพทย์ผู้รักษาแจ้งให้ทราบว่าอาการแพ้อย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตาย หายใจไม่ออก อาการหน้าดำ เนื่องจากอาการแพ้ที่เกิดขึ้นทำให้หลอดลมในปอดหดตัว จนทำให้ลมหายใจ ไม่สามารถเข้าไปในถุงลมปอดเพื่อฟอกเลือดได้ ภาวะแพ้ชนิดนี้มักจะทำให้ความดันเลือดลดลง ทำให้ร่างกายและสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เซลล์สมองตาย ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

สำหรับการแพ้สัตว์มีพิษอย่างรุนแรงและเสียชีวิตนี้ นับว่าพบได้เพียง ๑ ในล้านคนเท่านั้น รศ.นพ.วินัย วนานุกูล ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เมื่อถูกแมลงกัดความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นมีได้ ๒ ชนิดคือ พิษจากแมลงโดยตรง และการเกิดการแพ้สารที่แมลงปล่อยออกมา มีการแพ้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "anaphylaxis" สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ตามหลักฐานข้อมูลทางวิชาการพิษจากแมลงที่พบบ่อยว่าทำให้เกิดอาการเป็นพิษจนถึงขั้นเสียชีวิตที่พบบ่อยจะเป็นตัวต่อหรือผึ้งในจำนวนมากกว่า ๒๐ ตัวต่อย ส่วนมดนั้นยังไม่มีรายงานว่าพบทำให้เกิดพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะมดตัวเดียว กรณีนี้จึงไม่น่าจะเกิดจากพิษโดยตรงของมด แต่เป็นจากการแพ้มากกว่า การแพ้สารพิษในแมลง กรณีนี้ไม่ขึ้นกับจำนวน หรือขนาดของสารที่ได้รับอาจจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของแต่ละคน เช่น บางคนโดนต่อต่อย แต่ไม่มีการแสดงอาการใดๆ ในขณะที่อีกคนร่างกายแพ้สารพิษจากตัวต่อ แม้ได้รับพิษจากต่อเพียง  ๑ ตัว ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นอันตรายต่อร่างกาย จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เหมือนกับการแพ้ยาหรือแพ้อาหารบางชนิด ซึ่งคนที่ร่างกายไม่แพ้ก็จะไม่มีปฏิกิริยา ใดๆ ตรงข้ามกับผู้ที่แพ้จะมีอาการแสดงออกมาอย่างชัดเจน

อาการแพ้พิษจากแมลงสามารถสังเกตได้ โดยอาการเริ่มต้นจะมีผื่นบวมแดงขึ้นตามตัวอย่างผิดปกติ บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียร่วมด้วย ตามมาด้วยอาการหายใจลำบาก อึดอัด แน่นหน้าอก ความดันเลือดตก ซึ่งจะเป็นอันตรายหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยระยะเวลาในการแสดงอาการจะต่างกันออกไป ตั้งแต่เป็นนาที จนถึงเป็นชั่วโมง เมื่อได้รับพิษจากแมลง สัตว์ และเกิดอาการแพ้โดยมีอาการเหมือนข้างต้น จะต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะ หากปล่อยให้อาการหนักจนถึงขั้นหายใจไม่ออก ความดันตก จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สามารถรักษาได้แต่ต้องไปพบแพทย์ให้ทันเวลา ส่วนการกินยาแก้แพ้เพื่อรักษาตนเองนั้นมักจะไม่ได้ผลทันเวลา โดยเฉพาะถ้าเป็นอาการแพ้ชนิดที่รุนแรง จำเป็นต้องให้ยาอีกชนิดหนึ่งชื่อ เอพิเนฟริน (epinephrine) หรืออะดรีนาลิน (adrenalin) และต้องฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือใต้ผิวหนังเพื่อขยายหลอดลมและเพิ่มความดันโลหิตโดยตรง ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ทันทีจึงจะสามารถช่วยได้ทัน ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากช้าเกินไปจนสมองขาดออกซิเจนก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน 

ดูแลตนเองเบื้องต้น

  • ได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ จำพวก ผึ้ง ต่อ แตน มด

๑. มีเหล็กในอยู่ในแผลจะต้องเอาเหล็กในออกให้หมด (เฉพาะผึ้ง)
๒. ประคบความเย็น เพื่อลดความเจ็บปวด
๓. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วทาครีมสตีรอยด์
๔. ถ้าปวดมาก ให้กินยาพาราเซตามอล
๕. รายที่ถูกต่อต่อยควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย
๖. ถ้าผื่นมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๒ นิ้ว หรือ คลื่นไส้ อาเจียนปวดท้องหรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือถูกกัดต่อยเป็นจำนวนมากกว่า ๒๐ จุด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

  • ได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ จำพวก แมงป่อง ตะขาบ

๑. ล้างบริเวณแผลด้วยน้ำสะอาด
๒. ประคบความเย็นหรือน้ำแข็ง
๓. ถ้าปวดให้กินยาพาราเซตามอล
๔. ทาบริเวณที่ถูกกัดหรือต่อยด้วยครีมสตีรอยด์ หรือแอมโมเนีย
๕. ถ้ามีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และรู้สึกตัวน้อยลง จะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

  • เมื่อได้รับพิษจากแมลง สัตว์ และเกิดอาการแพ้โดยมีอาการเหมือนข้างต้น จะต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยให้อาการหนักจนถึงขั้นหายใจไม่ออก ความดันตกจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ข้อมูลสื่อ

327-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549