• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้อ้วนจริงหรือ?

ยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้อ้วนจริงหรือ?


ยาเม็ดคุมกำเนิด ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความสำคัญต่อชาวโลก โดยเฉพาะเพศหญิงอย่างมาก ถ้าไม่มียาคุมกำเนิด พลโลกอาจเพิ่มขึ้นจนล้นโลก เกิดการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงมีความสำคัญต่อมวลมนุษย์อย่างมาก และเป็นยาที่มีปริมาณการใช้มากที่สุดในโลก เพราะผู้หญิงที่แต่งงานแล้วนิยมใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีการวางแผนครอบครัวมากที่สุด และจะต้องกินทุกวันต่อเนื่องตลอดเวลา
 
ประโยชน์ของยาเม็ดคุมกำเนิด
ยาเม็ดคุมกำเนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ในผู้หญิง และเพิ่มอุปสรรคสำหรับเชื้ออสุจิที่จะเดินทางเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ ทำให้ยามีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ยับยั้งการปฏิสนธิของไข่และเชื้ออสุจิได้อย่างดี แต่จะได้ผลดีเพียงใด คงต้องขึ้นอยู่กับการใช้ที่ถูกต้องตามชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนั้นๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด ๒๘ เม็ด ใน ๑ แผง จะมียาเรียงกัน ๒๘ เม็ด ซึ่งก็ควรใช้ยาทุกวัน วันละ ๑ เม็ด ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผลในการคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพที่ดี
      
ความปลอดภัยของยาเม็ดคุมกำเนิด
ยาเม็ดคุมกำเนิดมีประวัติการใช้มากว่า ๕๐ ปีแล้ว ถือว่าเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยมาก ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ทุกวันติดต่อกันก็ตาม จะมีผลข้างเคียงบ้างในระยะสั้น
ทางด้านคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว และในระยะยาวอาจมีผลต่อการไหลเวียนเลือดบ้าง แต่พบได้น้อย นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติจะแนะนำให้ผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอติดต่อกัน แต่ไม่ควรใช้นานเกิน ๓-๔ ปี หรือถ้าจำเป็นต้องใช้นานกว่านั้น ควรใช้ยามาเป็นระยะเวลาสัก ๓ ปี แล้วหยุดการใช้ยาสัก ๖ เดือน แล้วจึงกลับมาใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนี้ได้ใหม่ ในระหว่างที่หยุดยาเม็ดคุมกำเนิดแนะนำให้ใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดอื่นๆ แทน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น

ความอ้วน : กระแสสังคมยุคใหม่
ความอ้วนเป็นกระแสหนึ่งของสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่คนยุคใหม่ วัยรุ่นและวัยทำงานที่ชอบความทันสมัย ตามแฟชั่น ไม่ตกยุค ถ้าใครตามไม่ทัน จะถือว่าเชย ในหมู่วัยรุ่นนี้จะนิยมให้ไม่อ้วน ไม่มีหน้าท้อง และยิ่งผอมจะยิ่งเป็นที่นิยม
    
ความอ้วน : ปัญหาหนึ่งของสุขภาพ
อีกด้านหนึ่งเรื่องความอ้วนนี้ก็ถูกจัดให้เป็นปัญหา สุขภาพที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ในทางการแพทย์จะถือว่าความอ้วนเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ข้อเสื่อม เป็นต้น 
    
กลัวอ้วน
กระแสสังคมของวัยรุ่นและปัญหาทางการแพทย์ ทำให้เกิดกระแสหรือปรากฏการณ์ "กลัวอ้วน" ขึ้นในสังคมไทย จนทำให้มีผลิตภัณฑ์และบริการด้านนี้ ถึงขนาดที่จะต้องมีการบำบัดรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อลดความอ้วน (ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บตัว เจ็บใจ สูญเสีย ทรัพย์ และเสียชีวิต) ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเป็นข่าวคึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์กันมาแล้ว 
    
ความหวังในการลดความอ้วน
ถ้ามีวิธีการใดๆ ก็ตามที่จะช่วยลดความอ้วนได้ ก็จะเป็นที่กล่าวขวัญ เสาะแสวงหา และทดลองเพื่อตอบสนองความต้องการ ความพึงพอใจ ลดความเครียด และบรรเทาเรื่องกลัวอ้วนของแต่ละคน พร้อมทั้งเป็นช่องทางการค้าที่มีวงเงินผลประโยชน์มหาศาล เหมือนเป็นธุรกิจของการสร้าง "ความหวัง" สำหรับผู้ที่มีความปรารถนาลดความอ้วน
    
สิ่งกระตุ้นให้ "อ้วน"
ในทางตรงกันข้ามถ้ามีปัจจัยใดที่ส่งผลให้เกิดความอ้วน คนเราก็จะหลีกเลี่ยงและหลีกหนีกันสุดตัว จนถึงขนาดขั้นรังเกียจและกลัวกันเลย และหนึ่งในจำเลยที่ทำให้อ้วนก็คือ "ยาเม็ดคุมกำเนิด" ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกนำมาเกี่ยวข้องว่าเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความอ้วน 
    
ธรรมชาติของผู้หญิง
ก่อนจะเข้าผลของยาเม็ดคุมกำเนิดกับความอ้วนขอกล่าวถึงตามธรรมชาติของรอบประจำเดือนของผู้หญิงก่อน ระหว่างมีรอบประจำเดือนจะมีการสะสมของน้ำและสารอาหารอื่นๆ ของร่างกายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของรอบประจำเดือน (๑๔ วันหลังของรอบประจำเดือน) เพื่อเตรียมความพร้อมให้ตัวอ่อนที่อาจเกิดจากการปฏิสนธิมาฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโตต่อไปเป็นทารกในครรภ์ ทำให้ในระยะนี้ของทุกรอบประจำเดือน ผู้หญิงทุกคนจะรู้สึกถึงการสะสมและความเต่งตึงของร่างกายนี้ และปรากฏการณ์ของร่างกายนี้จะลดน้อย ลงตามธรรมชาติได้เองเมื่อมีรอบประจำเดือน ดังนั้นทุกรอบของประจำเดือนจะเกิดลักษณะนี้ทุกครั้ง เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมีความเต่งตึงและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของรอบประจำเดือน และจะลดลงเมื่อมีรอบประจำเดือนเป็นธรรมชาติของผู้หญิงทุกคน
    
สาเหตุที่แท้จริงของความอ้วน
แต่เมื่อมาพิจารณาสาเหตุของความอ้วน จะพบว่า ความอ้วนเกิดจาก "ความไม่พอดีหรือไม่สมดุล" ของอาหารที่ร่างกายได้รับ (กิน) กับการใช้อาหารนั้นออกมาในรูปของพลังงานแก่ร่างกายของเรา (ใช้) เมื่อกินหรือกินมากกว่าใช้ ก็จะมีอาหารส่วนที่เหลือซึ่งจะถูกนำไปสะสมในร่างกายของเราในรูปของไขมัน หรือความอ้วนที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ ถ้าต้องการลดน้ำหนักก็ควรลดการกิน หรือเพิ่มการใช้พลังงาน เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น
    
วิธีลดความอ้วน
นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นยาหรือกรรมวิธีในการรักษาต่างๆ เพื่อลดความอ้วน แต่สิ่งเหล่านี้มักจะได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อหยุดยาแล้วมักกลับมาอ้วนได้เท่าหรือมากกว่าเดิมเสียอีก ทั้งนี้เพราะการได้รับอาหารของร่างกายยังคงมากกว่าการใช้อาหาร จึงกลับมาสะสม เป็นไขมันและความอ้วนได้อีก และในบางครั้งยาและวิธีในการลดความอ้วนก็อาจเกิดผลอันไม่พึงประสงค์จากยาหรือการรักษาอีกด้วย 
    
ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่มีผลต่อความอ้วน
ถ้าพิจารณากันอย่างละเอียดพิสดาร จะพบว่าสาเหตุที่ทำให้อ้วนนั้น เกิดจากการได้สารอาหารเข้าสู่ร่างกายมากกว่าการใช้สารอาหาร และเหลือสะสมเป็นไขมันหรือความอ้วน ไม่ได้เกิดจากยาเม็ดคุมกำเนิด หรืออาจกล่าวได้ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดไม่ได้เป็นสาเหตุของความอ้วนเลย มีรายงานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือได้ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดทุกชนิดไม่มีผลต่อความอ้วน หรือถ้าผู้ป่วยอ้วนขึ้นก็เกิดจากการกินอาหารมากกว่าที่ใช้จริงหรือ กินอาหารมากเกินไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิดเลย
    
ทำไมผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงอ้วนขึ้น
ประเด็นที่ถกเถียงกัน คือทำไมผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงอ้วนขึ้น? ในความเห็นส่วนตัวและจากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย คิดว่าก่อนแต่งงานสุภาพสตรีส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการรักษาทรวดทรงองค์เอว โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องใส่ชุดเจ้าสาวในวันสำคัญวันแต่งงาน ซึ่งต้องทุ่มเททุกอย่างเพื่องานนี้ (ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต) รวมถึงเรื่องความสวย ความงาม และความผอมด้วย แต่เมื่อหลังจากงานแต่งงานแล้ว สิ่งจูงใจในการรักษาหุ่นก็หมดไป ยิ่งเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ด้วยความห่วงใยในความสมบูรณ์ของลูก จึงมีการบำรุงกันอย่างเต็มที่ และมีหลายรายที่ก่อนคลอดน้ำหนักตัวของแม่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง ๑๐-๒๐ กิโลกรัม เมื่อคลอดลูกแล้ว ลูกมีน้ำหนัก ๓ กิโลกรัม บวกกับน้ำหนักของรกและอื่นๆ ก็อีกเล็กน้อย น้ำหนักที่เหลือจึงเป็นอานิสงส์หรือผลพลอยได้จากการตั้งครรภ์ ซึ่งหลายคนก็สามารถลดน้ำหนักกลับมาใกล้เคียงเดิมได้ แต่อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถลดน้ำหนักให้เท่าเดิมได้ จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงอ้วนขึ้น ยาเม็ดคุมกำเนิดทุกชนิดไม่มีผลต่อความอ้วน ทั้งนี้ขอสนับสนุนให้รักษาร่างกายให้สมส่วน มีสมดุล ไม่อ้วนจนเกินไป จะด้วยการลด ควบคุม เลือกชนิดอาหาร หรือการออกกำลังกายก็ตาม ถ้าร่างกายมีน้ำหนักเพิ่มสัก ๕ กิโลกรัม ก็เหมือนกับเวลาเราไปไหนมาไหนจะต้องหิ้วของเพิ่มขึ้นอีก ๕ กิโลกรัม ตามน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น เพราะปกติหิ้วส้ม ๒-๓ กิโลกรัม สักพักก็เมื่อยแล้ว

ข้อมูลสื่อ

327-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด