• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อผมเป็น “ไฟลามทุ่ง”

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมถูกไฟลามทุ่งเล่นงาน
เรื่องของเรื่องก็เพราะความสะเพร่า และความประมาทของผม
ประมาณ ๑ สัปดาห์ก่อนสิ้นปี ผมได้รับเชิญไปบรรยายที่เชียงราย เลยถือโอกาสพาครอบครัวไปเที่ยวรับลมหนาวและชมดอกไม้งามที่เชียงใหม่และเชียงราย

เช้าวันสุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพฯ หลังอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ผมเผลอไปเดินกระแทกขอบเตียงที่โผล่ยื่นออกมาเข้าอย่างจัง เจ็บกระดูกหน้าแข้งตรงใต้หัวเข่าซ้ายจนน้ำตาเล็ด เลิกขากางเกงขึ้นก็พบมีแผลปริยาวเกือบ ๑ ซม. กว้าง ๒-๓ มม. มีเลือดซิบ ใช้ผ้าสะอาดซับเลือดและกดปากแผลสักพักเลือดก็หยุดไหล เห็นว่าแผลสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน จึงไม่ได้ล้างแผล รีบเดินทางไปบรรยายตามตารางกำหนด ปล่อยแผลเปิดไว้จนกระทั่งเย็นจึงค่อยหาพลาสเตอร์มาปิดแผลเพื่อกันน้ำเวลาอาบน้ำ

วันนั้นทั้งวันและวันต่อๆ มา ผมก็ยังคงเดินมากเช่นปกติ ทั้งๆ ที่รู้สึกปวดกระดูกหน้าแข้งตรงที่โดนกระแทก
เช้าของวันที่ ๒ หลังเกิดเหตุ ผมเริ่มสังเกตเห็นรอยเส้นสีแดงเป็นแนวจากใต้แผลลงมายาวประมาณ ๕-๖ ซม. ใช้หลังมือคลำดูออกร้อนแผ่วกว่าผิวหนังปกติ

ผมสังหรณ์ใจว่ารอยเส้นสีแดงออกร้อนนั้นน่าจะเป็นอาการติดเชื้ออักเสบของท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใต้ผิวหนัง แต่ประหลาดใจว่าบริเวณแผลปริกลับไม่มีร่องรอยของการอักเสบแต่อย่างใด และก็ไม่มีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ ซึ่งมักพบร่วมด้วยกับโรคติดเชื้อแบบนี้ได้

ผมลังเลว่าจะรีบกินยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อเลย หรือรอดูอาการเปลี่ยนแปลงตอนเย็นดี เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี

ใจหนึ่งก็กลัวว่าผมกำลังถูกไฟลามทุ่งเล่นงานเข้าให้เสียแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ครึ่งวัน เชื้ออาจลุกลามรุนแรง เพราะเคยเห็นอาการติดเชื้อรุนแรงของคนที่เป็นโรคนี้ที่ปล่อยปละละเลยไว้นาน จนต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเสียหลายวัน

ในที่สุดผมก็ตัดสินใจกินยาปฏิชีวนะ ที่มีชื่อว่า “โคอะม็อกซีคลาฟ (co-amoxiclav)” (ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด) ในเช้าวันนั้น
ต่อมาก็พิสูจน์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและทันกาล มิได้ประเมินต่ำจนปัญหารุนแรง เอาไม่อยู่ และมิได้ประเมินสูงเกินไปจนเป็นการแก้ปัญหามากเกินเหตุ (สิ้นเปลืองและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยา)

หลังจากกินยาปฏิชีวนะได้ ๒ วันเต็ม รอยเส้นสีแดงก็จางหายไป แสดงว่าอาการติดเชื้ออักเสบนั้นทุเลาขึ้นแล้ว
แต่กลับพบรอยผื่นแดงแผ่เป็นปื้นกว้าง ๓ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. แล้ววันต่อๆ มาแผ่กว้างขึ้นและลุกลามลงมาที่ตาตุ่ม เป็นไปในลักษณะของไฟลามทุ่ง ทีแรกออกร้อนนิดๆ แต่ต่อมาเพียง ๑-๒ วันก็กลับเย็นเป็นปกติ ไม่มีอาการปวด บวม หรือเป็นตุ่มน้ำพองแบบอาการไฟลามทุ่งที่เคยพบ

ผมแน่ใจว่าใช้ยาควบคุมการติดเชื้อได้ผล แต่สงสัยว่าทำไมกลับมีการลุกลามของผื่นแดงต่อไป

ผมคาดเดาว่าคงเกิดจากการกัดเซาะของพิษของเชื้อโรคไปตามใต้ผิวหนัง เพราะเชื้อบางชนิดสามารถปล่อยพิษออกมาได้

เมื่อทำการค้นหาข้อมูลใน google.com ก็พบรายงานหนึ่งกล่าวไว้ชัดเจนว่า ผื่นแดงที่ลุกลามนี้เกิดจากพิษ (exotoxin) ที่เชื้อโรคปล่อยออกมา ไม่ได้เกิดจากตัวเชื้อโรคโดยตรง แม้ว่าเชื้อจะถูกกำจัดไป พิษนี้ก็ยังกัดเซาะเป็นผื่นแดงลุกลามได้นานถึง ๒-๓ สัปดาห์จึงจะหายไปเอง

ผมเฝ้าสังเกตดูอาการเปลี่ยนแปลงของผื่นแดงทุกวัน และถ่ายภาพไว้เปรียบเทียบทุกวัน ก็พบว่ามีผื่นแดงอยู่นานเพียง ๑๐ วันก็หายสนิท
ผมกินยาอยู่ ๑๐ วัน เมื่อแน่ใจว่าหายดีแล้วจึงหยุดกิน

อาการไฟลามทุ่งของผมถือว่าเป็นไม่มากและฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องเพราะได้รีบให้การรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ประกอบกับร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ไม่เป็นโรคเบาหวานที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ (ผู้ป่วยเบาหวานถ้าเป็นโรคติดเชื้อมักจะรุนแรง) และออกกำลังกายเป็นประจำ (การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ก็ได้เห็นประโยชน์ของสิ่งนี้ในคราวนี้)

บทเรียนคราวนี้ของผมก็คือ ความสะเพร่านำพาให้เกิดอุบัติเหตุ และเมื่อเกิดบาดแผลมีความประมาท ไม่รีบรักษาความสะอาดด้วยการล้างน้ำกับสบู่ และปิดพลาสเตอร์ตั้งแต่แรก จึงทำให้เกิดการติดเชื้อ

ส่วนบทเรียนที่ดีก็คือ การเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ค้นพบปัญหาการติดเชื้อตั้งแต่แรกและให้ยารักษาได้ทันกาล โรคจึงไม่ได้ลุกลามรุนแรง
ท่านที่สนใจเรื่อง “ไฟลามทุ่ง” ก็ขอเชิญอ่านในคอลัมน์ “สารานุกรมทันโรค” ฉบับนี้ได้
 

ข้อมูลสื่อ

394-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 394
กุมภาพันธ์ 2555
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ