เคยอ่านกระทู้ที่มีผู้โพสต์โดยเปิดประเด็นว่า “พระสงฆ์หรือแม่ชีไปรักษาสิวจะได้ไหม”
ผมจึงลองสืบค้นหาดูว่ามีโรคอะไรบ้างที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล ได้ข้อมูลจากตำราเรียนกระบวนวิชา GB 406 หัวข้อ “โรคชนิดต่างๆ ในพระไตรปิฎก” ว่า… พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า แต่ก่อนมีโรคร้ายอยู่เพียง ๓ ชนิดคือ โรคอยาก โรคหิว และโรคชรา แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนสัตว์จึงทำให้มีโรคเพิ่มขึ้นถึง ๙๘ ชนิด
โรคทั้ง ๙๘ ชนิดนี้คือโรคที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล แบ่งเป็นกลุ่มได้ประมาณ ๖ กลุ่มคือ โรคผิวหนัง โรคลม โรคในท้อง โรคเกี่ยวกับอวัยวะ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคผิวหนังที่ระบุไว้ว่าพบในสมัยพุทธกาล เช่น
- โรคเรื้อน โรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งติดต่อได้ทำให้ผิวหนังเป็นผื่น มีหลายชนิดบางชนิดทำให้นิ้วมือนิ้วเท้ากุด เรียกว่า เรื้อนกุฏฐัง บางชนิดมีลักษณะเป็นผื่นคันทำให้ผิวหนังหนาหยาบ และอาจแตกมีน้ำเหลืองไหลหรือตกสะเก็ดในระยะหลัง มักเป็นตามบริเวณข้อเท้า หัวเข่า หรือที่มือเอื้อมไปเกาถึง เรียกว่า เรื้อนกวาง บางชนิดแผลมีสีขาวเรียกว่า เรื้อนน้ำเต้า
- โรคฝี โรคชนิดหนึ่งเป็นต่อมบวมขึ้น กลัดหนองข้างใน เรียกชื่อต่างๆ กันหลายชนิด เช่น ฝีคัณฑมาลา ฝีดาษ ฝีประคำร้อย
- โรคฝีดาษ โรคฝีชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นตามลำตัวเป็นเม็ดเล็กๆ ดาษทั่วไป บางครั้งเรียก ไข้ทรพิษ คนโบราณเรียกว่า ไข้หัว
- โรคสิว โรคที่มีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดเล็กๆ ที่มีหนองเป็นไตสีขาวๆ อยู่ข้างใน ขึ้นบริเวณใบหน้า และส่วนต่างๆ ของลำตัว
- โรคเริม โรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ พองใสติดกันเป็นกลุ่ม มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน
- โรคพุพอง เป็นเม็ดผุดขึ้นพองใสตามลำตัว แล้วแตกออกมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดน้ำหนอง
- โรคหิด โรคติดต่อชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวใสเป็นเงาในเนื้อ ขึ้นตามผิวหนัง มีอาการปวดและคันเรียกว่า หิดด้าน เมื่อเม็ดแตกมีน้ำหนองไหลเยิ้มเรียกว่า หิดเปื่อย
- โรคละลอก โรคผิวหนังชนิดหนึ่งเป็นเม็ดมีหนอง
- โรคหูด โรคผิวหนังชนิดหนึ่งขึ้นเป็นไตแข็ง
- โรคคุดทะราด การเป็นแผลเรื้อรัง บางรายแผลบานเหวอะหวะออก มีกลิ่นเหม็น เป็นแม่แผลให้เกิดแผลอื่นจำพวกเดียวกันพุพองออกไปอีก...
ดังนั้น จึงจัดว่าโรคสิวเป็นโรคผิวหนังที่มีอยู่จริงตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว สำหรับชื่อโรคที่อาจไม่คุ้นหู ขอให้ความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ไว้ดังนี้
- กุฏฐัง-โรคเรื้อน ทําให้อวัยวะเช่นมือและเท้ากุดเหี้ยนไป
- ฝีคัณฑมาลา-ชื่อฝีชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นแถวตามคอ
- ฝีประคำร้อย- ชื่อฝีชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นบริเวณลำคอ เป็นเม็ดเรียงกันรอบคอ
- หิด-ชื่อโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Sarcoptes scabiei ลักษณะเป็นเม็ดสีขาว ใสเป็นเงาในเนื้อ ขึ้นตามผิวหนัง มีอาการปวดและคันเรียกว่า หิดด้าน เมื่อเม็ดแตกมีนํ้าเหลืองไหลเยิ้มเรียกว่า หิดเปื่อย
- คุดทะราด-ชื่อโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เป็นแผลเรื้อรัง บางรายแผลนั้นบานเหวอะหวะออก มีกลิ่นเหม็น เป็นแม่แผลให้เกิดแผลอื่นจําพวกเดียวกันพุออกไปอีก
ในการแพทย์ปัจจุบันถือว่าสิวเป็นโรค และบางครั้งอาจจัดว่าเป็นโรคเรื้อรัง เพราะต้องการการรักษาที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน โรคสิวนั้นนอกจากก่อความเจ็บป่วยทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อจิตใจอีกด้วย
ดังนั้น หากพระหรือแม่ชีท่านเป็นโรคสิวมีการอักเสบจนเจ็บปวด การไปรักษาสิวในกรณีนี้ก็น่าจะทำได้ ซึ่งพระธรรมกิตติเมธี (ต่อมาท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพรหมเมธี) โฆษกมหาเถรสมาคม เคยให้ความเห็นไว้ว่า “พระสงฆ์ที่เข้าไปในร้านเสริมความงามคงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นการผิดศีลข้อ ๘ คือ ต้องเว้นจากการทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ซึ่งเป็นเครื่องประดับ ทั้งนี้พระภิกษุที่ประพฤติดังกล่าวจะอาบัติขั้นปาจิตตีย์ เป็นอาบัติเบาไม่ร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมีข้อยกเว้น หากพระทาแป้งหรือโลชันเพื่อรักษาโรคผิวหนัง (เช่น ผื่นแดง ตุ่มแดง) หรือเป็นโรคผิวหนังที่ต้องทำการรักษา ตรงนี้ถือเป็นข้อยกเว้น
สำหรับการเข้าไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการทางผิวหนังสามารถปฏิบัติกิจได้ เราต้องดูที่เจตนาของพระสงฆ์เป็นสำคัญ หากเป็นไปเพื่อการรักษาโรคคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นการกระทำเพื่อเสริมความงามคงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”
สำหรับคนทั่วไปที่เป็นสิว “เมื่อไรควรไปพบแพทย์” คำตอบคือ
๑. เมื่อใช้ยาทาเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น
๒. เมื่อสิวอักเสบมาก ปวดบวมแดง หรือสิวหายแล้วมักเป็นแผลเป็น
๓. ผู้หญิงที่เป็นสิวที่ขนขึ้นตามใบหน้า หรือประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์
๔. ถ้าสิวเลวลงมาก สิวอักเสบบวมแดงมาก และมีไข้ ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจแสดงว่ามีการอักเสบและติดเชื้ออย่างรุนแรง
๕. รู้สึกอายที่เป็นสิว หรือรู้สึกหดหู่
๖. เป็นคนผิวคล้ำเมื่อสิวหายแล้วทิ้งรอยดำไว้นานมาก
- อ่าน 7,785 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้