• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปรับสภาพกลไก กาย-ใจ (4) อาสนะ

การปรับสภาพกลไก กาย-ใจ (4) อาสนะ


โศลกทั้ง 2 อธิบาย ว่าเราควรฝึกอาสนะอย่างไรเพื่อบรรลุผลตามที่ระบุ และเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราทำอาสนะด้วยวิธีนี้ แต่ก็แปลกที่คนทั่วไป และครูโยคะหลายคนกลับบอกให้ลูกศิษย์ใช้แรงมากๆ ทั้งๆ ที่ปตัญชลีระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เราจะได้รับผลสูงสุดเมื่อทำโดยปราศจากความพยายาม prayatna saithilyat เมื่อฝึกอาสนะด้วยความผ่อนคลาย เมื่อฝึกประกอบกับการใส่ใจไปยังสภาวะแห่งอนันท์ ananta samapatti กล่าวคือให้ผู้ฝึกลองรู้สึกว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นอนันท์ รู้สึกไปพร้อมๆ กันขณะทำท่า

และทั้งๆ ที่มีการระบุไว้อย่างมากมายถึงการทำอาสนะด้วยการผ่อนคลาย แต่กลับพบว่าครูเพียงจำนวน น้อยที่แนะนำให้ลูกศิษย์ทำตามคำแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ในแง่ของระบบประสาท-สรีรวิทยา เราจะกล่าวถึงประเด็นนี้อีกครั้ง แต่จะอธิบายประเด็นของปตัญชลีเกี่ยวกับผลที่ได้รับเสียก่อน ปตัญชลีได้อธิบายถึงผลที่จะได้รับ หากฝึกอาสนะ ตามที่แนะนำคือนำไปสู่ dvandvanabhighatah หรือปราศจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ตรงข้ามกัน คำถามต่อมา ได้แก่ สิ่งที่ตรงข้ามกันคืออะไร ซึ่ง "วยาสะ" ได้เขียน อรรถกถาถึงโศลกนี้ว่า เพื่อกำจัดอังกะเมจยตวาการรบกวนของจังหวะการทำงานตามปกติของร่างกาย และอธิบายคำ dvandva ว่า ตรงกันข้าม โดยยกตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยในปรัชญาอินเดีย คือ ความร้อนกับความเย็น ความพอใจกับความเจ็บปวด ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ตัวอย่าง เรื่องความร้อนเย็นนี้ อาจไม่เชื่อมโยงกับประเด็นอังกะเมจยตวาที่กำลังกล่าวถึง แต่มิได้หมายความว่าอาสนะจะไม่ทำให้เกิดความสามารถในการทนต่อความรู้สึก ร้อน เย็น (ต่อกรณีผลของอาสนะที่ทำให้ผู้ฝึกมีความอดทนสูงขึ้นเป็นเรื่องของปรัทยาหาระ ซึ่งเป็นอีกประเด็นต่างหาก)

เรากำลังพิจารณาเรื่องประสาท-สรีรวิทยา ซึ่งมีการศึกษายืนยันอย่างเหลือเฟือจากห้องทดลอง แต่ก็ไม่ใช่ผลจากเพียงการฝึกอาสนะเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเรากำลังพูดถึงอังกะเมจยตวา ซึ่งโศลกที่ 3 ก็อธิบายครอบคลุมมาถึงด้วย จากจุดนี้เราพบว่าปตัญชลีได้อธิบายไว้อย่างลงตัวว่า เราจะเป็นอิสระจากอังกะเมจยตวาได้อย่างไร ปตัญชลีอธิบายว่า อังกะเมจยตวานั้น เกิดเพราะความไม่สมดุลระหว่างสัญญาณประสาท 2 ขั้ว ซึ่งใช้คำว่า ปราณ ทั้งอธิบายชัดเจนว่า หากปฏิบัติอาสนะอย่างเหมาะสม ก็จะหยุดความไม่สมดุลนี้ และเอาชนะสภาวะการสั่นเทิ้มของกาย ฟื้นคืนการทำงานที่สอดประสานอย่างเป็นองค์รวมของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท-กล้ามเนื้อ เราต่างรู้ดีว่าสัญญาณประสาทมี 2 ชนิด สั่งการและยับยั้ง ซึ่งสัญญาณประสาทที่ดูแลการทำงานตามปกติก็มี 2 ชนิดเช่นเดียวกัน กล้ามเนื้อก็เช่นกัน มีการจัดวางการเคลื่อนไหวที่ข้อต่อแทบจะในทิศทางตรงข้ามกัน กล่าวคือ เมื่อสัญญาณประสาทส่งไปยังกล้ามเนื้อเพื่อหดตัว สัญญาณประสาทส่วนตรงกันข้ามจะส่งไปยัง กล้ามเนื้อด้านตรงกันข้ามให้คลายตัวอย่างเป็นสัดส่วนกัน ทำให้การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งการงอ การเหยียดที่บริเวณข้อต่อ หน้าที่ตรงข้ามกันแบบนี้ กระจายอยู่ทุกระบบในร่างกาย และการทำงานที่สอดประสานอย่างนุ่มนวลของกาย-ใจก็ขึ้นกับความตรงข้ามนี้ ที่ปตัญชลีมีอยู่ในใจ คำว่า dvandva คือ กลไกการทำงานที่ตรงข้ามกันของร่างกาย และที่ปตัญชลีตั้งใจจะอธิบายคือ หากทำอาสนะได้อย่างเหมาะสมก็จะไม่เกิดความขัดแย้ง abhighata ระหว่างมัน ในทางตรงกันข้าม กลับจะเป็นการฟื้นฟูการทำงานร่วมกัน ทำให้กายและใจเริ่มทำงานได้อย่างประสานกลมกลืนกันอีกครั้ง หรือโดยสรุป dvandva ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งภายนอก แต่หมายถึงกลไกภายใน เราจะอธิบายเป็นภาษาสมัยใหม่ ในกลไกประสาท- สรีรวิทยาต่อไป

เชอริงตัน แมกนัส ไคลน์ และคณะได้ศึกษาความผิดปกติของกลไกตอบสนองของสัตว์ และคนป่วยในระบบประสาทส่วนกลางทำให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของระบบประสาทกล้ามเนื้อ ประการที่หนึ่ง คือ (1) ความพิการในการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มาจากความเสียหายของระบบประสาทส่วนกลางหลัก ที่ทำหน้าที่รักษาอิริยาบถ และควบคุมการเคลื่อนไหว (2) กล้ามเนื้อทำงานเป็นกลุ่มประสานกัน โดยบางส่วนจะควบคุมบางส่วนจะยึด บางส่วนจะผ่อนคลาย กลไกนี้ค่อยๆ วิวัฒนาการมาตามกาลเวลาของสิ่งมีชีวิต (3) การเคลื่อนไหวของส่วนที่สั่งการได้ voluntary movement ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติ และอยู่นอกเหนือจิตสำนึก ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการจัดปรับอิริยาบถต่างๆ ของร่างกาย (4) ระบบประสาทส่วนกลางใช้ศูนย์ประสาทส่วนล่างในการรักษาอิริยาบถและการทรงตัว ศูนย์กลางที่ทำหน้าที่ อย่างเป็นองค์รวมนี้อยู่ใน medulla, pons, cerebellum, mid-brain, และ basal ganglia เมื่อมันโดนรบกวนจากศูนย์สมองส่วนอื่น โดยเฉพาะ cortex การตอบสนองของอิริยบถก็จะปรากฏออกมาในรูปแบบที่ไม่เป็นปกติ การตอบสนองเหล่านี้จะมีรูปแบบที่คล้ายๆ กัน ซึ่งอาจใช้กล้ามเนื้อบางส่วนหรือใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน กลไกการตอบสนองที่เป็นการทำงานอย่างเป็นองค์รวมของสมองส่วนล่างนอกเหนือจิตสำนึกนี้ เรียกว่า พื้นฐานการเคลื่อนไหว principal motility กลไกนี้ไม่อาจสังเกตได้จากมนุษย์ปกติ เพราะการเคลื่อนไหวของมนุษย์ปกตินั้นส่วนใหญ่จะมีสมองส่วนบนมาเกี่ยวพันอย่างสลับซับซ้อน และเรายังไม่มีความสามารถพอที่จะแยกแยะรายละเอียดได้ เราจึงศึกษากลไกตอบสนองของคนป่วยที่ระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลาย แต่ละรายทำให้สามารถวิเคราะห์ เรียนรู้รูปแบบเฉพาะเจาะจงของกลไกตอบสนองส่วนย่อยๆ แต่ละส่วนที่มีผลต่อพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของคนป่วยคนนั้น และเรียนรู้กลไกตอบสนองอื่นๆ จากผู้ป่วยที่สมองไม่ถูกทำลายมากนัก กล่าวได้ว่า เรายังไม่เข้าใจกลไกการทำงานของระบบตอบสนองโดยละเอียด แต่ก็พอจะศึกษาระดับการตอบสนองของกล้ามเนื้อเป็นส่วนๆ เป็นกรณีเฉพาะๆ ได้บ้าง

ข้อมูลสื่อ

328-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 328
สิงหาคม 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์