• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยา...แต่พอเพียง

การใช้ยา...แต่พอเพียง


ถ้ามีการใช้ยาเท่าที่จำเป็น และใช้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ยานั้นก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ยา แต่ถ้าใช้ยาโดยไม่มีความจำเป็นก็อาจเกิดโทษขึ้นได้ ทั้งในระยะสั้นหรือในระยะยาว เมื่อกล่าวถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ทำให้คิดถึงความพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หรือที่เรียกกันว่า "ทางสายกลาง" ตามปรัชญาของพระพุทธศาสนา แต่ในความหมายนี้จะครอบคลุมถึงความเหมาะสม บนพื้นฐานของหลักเหตุผลหรือความจำเป็นอยู่ด้วย
 
"ยา" ไม่ใช่ "อาหารหรือขนม"
การนำแนวคิดนี้มาใช้กับเรื่องยา จึงเป็นเรื่องที่  ทันสมัย มีความพอดี และมีความเหมาะสม ทั้งนี้เพราะ "ยา" ไม่ใช่ "อาหารหรือขนม" หรือ "ยามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยาเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ใช้เพื่อรักษา ป้องกัน หรือส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรง ยกตัวอย่างเช่น ยาพาราเซตามอลที่ใช้แก้ปวด ลดไข้ ก็ถือว่าเป็นยาชนิดหนึ่ง หรือวัคซีนที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรค ก็ถือว่าเป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ป้องกันโรค หรือวิตามินที่ใช้เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ก็ถือว่าเป็นยาอีกชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน
 
"ยามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์"
ถ้ามีการใช้ยาเท่าที่จำเป็น และใช้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ยานั้นก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ยา แต่ถ้าใช้ยาโดยไม่มีความจำเป็นก็อาจเกิดโทษขึ้นได้ ทั้งในระยะสั้นที่เห็นผลเสียทันที หรือในระยะยาวที่ผลเสียค่อยๆ ปรากฏขึ้นอย่างช้า (ซึ่งในบางครั้งอาจนานจนไม่ได้นึกถึงว่าจะเป็นผลจากยา) หรือในระดับอ่อนๆ (ไม่รุนแรง) จนถึงขนาดที่รุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้
 
การแพ้ยา...อาจเกิดกับใครก็ได้
ตัวอย่างที่ ๑ การแพ้ยา ซึ่งอาจเกิดกับผู้ที่ใช้ยาได้ทุกคน ไม่ว่าจะเคยมีประวัติแพ้ยามาแล้วหรือไม่ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาแล้ว เมื่อมาใช้ยาที่เคยแพ้อีก จะแพ้ยาได้ทันที และมีระดับความรุนแรงของการแพ้มากยิ่งขึ้น แต่ในผู้ที่ไม่เคยแพ้ยาเลย ก็มีโอกาสแพ้ยาทุกชนิดที่ตนเองใช้ได้เช่นกัน แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย (แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้) คนที่เคยใช้ยาแล้วไม่แพ้ ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่า ผู้นั้นจะไม่แพ้ยาต่อไปในอนาคต ดังนั้นจึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นไม่ใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ เกินความจำเป็น
 
โรคยาทำ หรือโรคที่เกิดจากการใช้ยา

ตัวอย่างที่ ๒ โรคยาทำ หรือโรคที่เกิดจากการใช้ยา เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อหลายชนิดในอดีต ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ใช้ยานี้ ๑ ใน ๕๐,๐๐๐ คน มีความผิดปกติของเลือด ที่เรียกว่า ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranolocytosis) ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ปัจจุบันทางการแพทย์ไม่นิยมใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลและจัดยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษที่จะต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น 
 
การติดหรือพึ่งยา และการทนหรือดื้อต่อยา
ตัวอย่างที่ ๓ ยานอนหลับเป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้กันเป็นประจำโดยนิยมจ่ายให้ผู้ป่วยกินก่อนนอน เพื่อช่วยลดความเครียด ช่วยให้ได้พักผ่อนนอนหลับ  แต่ถ้ามีการใช้ติดต่อกันนานๆ เป็นเดือนๆ อาจทำให้ร่างกายของผู้ที่ใช้ยาเคยชินต่อยานอนหลับ เมื่อใดที่ไม่ได้รับยาก็มักจะนอนไม่หลับ หงุดหงิด เหนื่อย ใจสั่น ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า การติดยาหรือการพึ่งพายา ถ้าขาดยาทันทีก็อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ เมื่อใช้ยานอนหลับไปนานๆ ร่างกายจะเริ่มปรับตัว ทำให้การใช้ยาในขนาดเดิม แต่ได้ผลในการรักษาลดน้อยลง ทำให้ต้องเพิ่มขนาดของยาจึงจะให้ผลในการรักษาได้ดีเท่าเดิม ทำให้ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นๆ เรื่อยๆ จากเดิมที่เคยใช้เพียงครึ่ง หรือหนึ่งเม็ด ก็ได้ผลดีแล้ว เมื่อใช้ไปนานๆ เป็นปีๆ ก็จะต้องเพิ่มยาเป็น ๒, ๓, ๔, ...จนกระทั่งกินครั้งละ ๑๐ เม็ด หรือมากกว่านี้ จึงจะทำให้นอนหลับได้ ลักษณะอาการที่ต้องเพิ่มขนาดยา เพื่อให้ได้ผลดีเท่าเดิมนี้เรียกว่า การทนต่อยา หรือการดื้อยา จากปัญหาการทนต่อยาและการพึ่งพายา จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นเมื่อมีอาการ หรือนอนไม่หลับ เหนื่อย เครียด หรือใจสั่น และถ้าไม่มีอาการดังกล่าว เช่น ง่วงนอน และหลับได้เอง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ก่อนนอน

จาก ๓ ตัวอย่างข้างต้นที่แสดงถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาที่ไม่พอเพียง หรือไม่เหมาะสม ซึ่งในชีวิตจริงยังมีผลเสียที่เกิดจากการใช้ยาอีกมากมาย เช่น การดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรีย ยาบางชนิดลดการทำงานของหัวใจ ยาบางชนิดมีผลทำลายตับ การสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เป็นต้น 
 
ข้อควรปฏิบัติของ "การใช้ยา...แต่พอเพียง"
ดังนั้น ควรใช้ยา...อย่างพอเพียง หรือใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติเพื่อให้การใช้ยาแต่พอเพียง และมีประสิทธิภาพรักษาได้ผลดี ปลอดภัย ดังนี้

๑. ก่อนใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาชนิดใหม่ เพราะถ้ามียาใหม่ ควรสอบถามสรรพคุณการใช้ยา และวิธีใช้ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง

๒. ใช้ยาเท่าที่จำเป็น ตามแพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ ไม่ควรเพิ่มหรือลดด้วยตนเอง หรือนำตัวอย่างยาที่แพทย์เคยจ่ายไปซื้อเอง เพราะยาหลายชนิดจะทำให้เกิดพิษหรืออันตรายได้ เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ หรือโรคบางโรคต้องมีการปรับขนาดของยา หรือสลับสับเปลี่ยนยาตามภาวะของโรคในแต่ละช่วงเวลาที่อาจแตกต่างกันได้

๓. ใช้ยาอย่างเหมาะสม เช่น 

  •  ยาบางชนิดเป็นยารักษาตามอาการ ก็ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น เมื่อหายดีแล้ว หรือไม่มีอาการแล้ว ก็ไม่ควรใช้ยานั้น
  •  ยารักษาโรคเรื้อรัง ได้แก่ ความดันเลือดสูง ไขมันในหลอดเลือด เป็นต้น การใช้ยาในโรคเหล่านี้ ควรใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อยาจะช่วยควบคุมความผิดปกติให้อยู่ในระดับปกติ พร้อมทั้งไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลการใช้ยา และอาจมีการปรับเพิ่มหรือลดขนาดของยา หรือเปลี่ยนชนิดของยา ให้แก่ผู้ป่วยตามสภาวะของโรคของผู้ป่วยในขณะนั้น
  •  ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่ควรได้รับติดต่อกันจนครบกำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและ/หรือชนิดความรุนแรงของการติดเชื้อ เพราะยากลุ่มนี้จะไปมีผลฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย จึงควรกินให้ครบกำหนด เพื่อกำจัดเชื้อให้สิ้นซาก

๔. ในกรณีที่มีการใช้ยาชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกร ทราบด้วย เพราะยาบางชนิดอาจไปส่งผลต่อยาที่แพทย์จ่าย ทำให้เพิ่มความเข้มข้นของยา เป็นผลให้เพิ่มผลในการออกฤทธิ์ และเกิดอันตรายได้ หรือในทางตรงกันข้ามอาจทำให้ความเข้มข้นของยาลดลง ทำให้ได้ผลในการรักษาลดลง หรือไม่ได้ผลในการรักษา

การที่ยาชนิดหนึ่งไปส่งผลต่อยาอีกชนิดหนึ่ง เราเรียกว่า ยาตีกัน หรือ drug interaction ซึ่งอาจไม่มีผลในการรักษาเลย หรือมากจนขนาดเป็นอันตรายถึงชีวิตก็มีรายงาน

ข้อมูลสื่อ

328-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 328
สิงหาคม 2549
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด