• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๙)

บนเส้นทางหนังสือ (๑๙)


คราวที่แล้วท่านทะไล ลามะ ถามหมอคัตเลอร์ว่าการเกลียดตัวเองเกิดขึ้นได้ อย่างไร
หมอคัตเลอร์จึงอธิบายจิตวิทยาของการเกลียดตัวเองให้ท่านฟังอย่างสั้นๆ เขาอธิบายว่า มโนภาพของตัวเองก่อรูปขึ้นจากบิดามารดาและการเลี้ยงดู ซึ่งจะบอกเป็นนัยให้เรารู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร หมอคัตเลอร์ได้ชี้ให้เห็นสภาวะบางอย่างที่ทำ ให้เรามีภาพทางลบเกี่ยวกับตัวเราเอง และกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกลียดตัวเอง เช่นเมื่อพฤติกรรมของเราที่ไปไม่ถึงภาพในอุดมคติของตัวเราที่ถูกสร้างขึ้น เขาได้อธิบายถึงว่าการเกลียดตัวเองถูกทำให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไรโดยวัฒนธรรม โดยเฉพาะในผู้หญิงและคนกลุ่มน้อย

ขณะที่หมอคัตเลอร์กำลังพูดอยู่อย่างนี้ ท่านทะไล ลามะ พยักหน้าอย่างครุ่นคิด แต่ก็ยังสงสัยแนวคิดเกี่ยวกับการเกลียดตัวเองที่ดูแปลกประหลาดนี้ กรูโฌ มาร์ก เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า "ฉันไม่เคยเข้าร่วมสโมสรที่ยอมรับฉันเป็นสมาชิก" มาร์กทเวนขยายภาพของการดูถูกตัวเองแบบนี้ออกไปอีกว่า "ไม่มีใครเลยที่ลึกลงไปในหัวใจที่เป็นส่วนตัวของเขาที่จะนับถือตัวเอง" โดยถือเอาการมองในแง่ร้ายของมนุษย์เช่นนี้ ไปเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยา

นักจิตวิทยาชื่อ คาร์ล รอเจอร์ส เคยกล่าวว่า "คนเกือบทั้งหมดไม่พอใจตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าและไม่น่ารัก" เป็นความเห็นทั่วๆ ไปในสังคม (ตะวันตก) ที่นักจิตบำบัดร่วมสมัยเห็นด้วยว่าการเกลียดตัวเองนั้นพบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมตะวันตก แม้ว่าสิ่งนี้จะมีอยู่จริง แต่ก็ไม่ได้แพร่หลายมากอย่างที่หลายคนเชื่อ แน่ละในหมู่ผู้ที่แสวงหาการรักษาด้วยจิตบำบัดมันก็จะต้องพบมาก แต่นักจิตบำบัดก็อาจจะมีทรรศนะเอียงไปจากการเห็นคนไข้ที่มาที่คลินิกของตน ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นคนจำนวนน้อย แต่ข้อมูลจากการวิจัยแสดงว่าคนส่วนใหญ่มองตัวเองในทางที่ดี มักให้คะแนนตัวเองว่า "ดีกว่าส่วนเฉลี่ย" ดังนั้น แม้ว่าการเกลียดตัวเองจะไม่มากอย่างที่เชื่อกันโดยทั่วไป แต่มันก็เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ของหลายๆคน หมอคัตเลอร์แปลกใจในปฏิกิริยาของท่านทะไล ลามะ ต่อแนวคิดเรื่องการเกลียดตัวเอง มีเรื่องควรสังเกต ๒ ประการ เกี่ยวกับปฏิกิริยาของท่าน

๑. ท่านไม่คุ้นเคยกับแนวคิดเรื่องการเกลียดตัวเอง
การเชื่อว่าการเกลียดตัวเองพบมากในหมู่มนุษย์ ทำให้เกิดความฝังใจว่ามันเป็นธรรมชาติที่ฝังลึกในจิตมนุษย์ แต่ความจริงที่ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับการเกลียดตัวเองเป็นสิ่งที่บางวัฒนธรรมในที่นี้คือวัฒนธรรมทิเบต ไม่เคยได้ยินเอาเสียเลย แสดงว่าสภาพจิตทางลบเช่นนี้ไม่ใช่ธรรมชาติภายในจิตของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ครอบงำเราอยู่อย่างทำอะไรไม่ได้ เป็นลักษณะที่ลบออกไม่ได้ จริงๆ แล้วเราสามารถขจัดมันออกไปได้ เพียงสำนึกโดยถูกต้องอย่างนี้ก็จะลดทอนอำนาจของมันลงไป ให้ความหวังแก่เรา ทำให้เราตั้งใจที่จะขจัดมันมากขึ้น

๒. เกี่ยวกับปฏิกิริยาแรกของท่านที่ว่า "เกลียดตัวเอง? เรารักตัวเองมากกว่า"
สำหรับคนที่มีปัญหาในการเกลียดตัวเอง และรู้จักคนที่เป็นแบบเดียวกันนี้ก็จะคิดว่าท่านไม่รู้อะไร แต่ว่าถ้ามองดูลึกๆ มีความจริงที่ลึกซึ้งบางอย่างในการที่ท่านพูดเช่นนั้น ความรักยากที่จะนิยามและอาจมีคำนิยามหลายอย่าง แต่คำนิยามอย่างหนึ่งของความรัก ซึ่งอาจจะบริสุทธิ์และประเสริฐที่สุด คือ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุขโดยไม่คาดหวังอะไรตอบแทน เป็นความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะให้ผู้อื่นมีความสุขโดยไม่คำนึงถึงว่าเขาจะชอบเราหรือทำร้ายเราหรือไม่ ลึกลงไปในหัวใจของเรา ไม่ต้องสงสัยว่าเราทุกคนปรารถนาความสุข ดังนั้น ถ้านิยามว่าความรัก คือ ความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข เราทุกคนก็รักตัวเอง ทุกคนปรารถนาให้ตัวเองมีความสุขด้วย หมอคัตเลอร์ว่า ในการดูคนไข้ทางจิตเวชของเขาบางครั้งก็พบคนที่เกลียดตัวเองอย่างรุนแรงจนเขาคิดฆ่าตัวตายอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แม้ในรายที่สุดโต่งเช่นนี้ การคิดฆ่าตัวตายก็เพื่อจะให้พ้นทุกข์ (ไม่ใช่ฆ่าเพราะเกลียดตัวเอง)

ดังนั้น ท่านทะไล ลามะ คงจะไม่พลาดไปจากความจริงในความเชื่อของท่านที่ว่าเราทุกคนรักตัวเอง ความคิดเช่นนี้น่าจะเป็นยารักษาโรคเกลียดตัวเอง เราอาจจะคิดกลับกันเสียที่ว่าเกลียดตัวเองนั้นที่แท้แล้วไม่ว่าเราจะไม่ชอบบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราเอง แต่เบื้องลึกแล้วเราปรารถนาความสุข และนั่นก็คือ ความรัก (ตัวเอง) อย่างลึกซึ้ง ในการไปเยี่ยมธรรมศาลาครั้งหลังๆ หมอคัตเลอร์ได้ปรารภเรื่องการเกลียดตัวเองอีก ตอนนั้นท่านทะไล ลามะ คุ้นเคยกับแนวคิดนี้แล้ว และเริ่มที่จะพัฒนาวิธีรักษาโรคนี้

"ในทัศนะทางพุทธ" ท่านอธิบาย "การอยู่ในสภาวะซึมเศร้า ในสภาวะที่ไม่มีกำลังใจ เป็นสภาวะสุดโต่งที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราไม่สามารถทำอะไรให้บรรลุวัตถุประสงค์ สภาวะการเกลียดตัวเองยิ่งสุดโต่งยิ่งกว่าการขาดกำลังใจ และนี่เป็นสิ่งที่มีอันตรายมาก สำหรับนักปฏิบัติในวิถีพุทธ ยารักษาโรคเกลียดตัวเอง คือการใคร่ครวญดูว่าคนทุกคนรวมทั้งตัวเราเองด้วยมีพุทธสภาวะอยู่ในตัว เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการบรรลุธรรม ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะที่แย่อย่างไรในปัจจุบัน ดังนั้น คนที่ปฏิบัติในวิถีพุทธที่กำลังเกลียดตัวเอง ไม่ควรจะเพ่งพิจารณาว่าชีวิตเป็นทุกข์ แต่ควรจะเพ่งไปที่ด้านบวกของการมีชีวิต เช่น ศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ และโดยการเพ่งพินิจถึงโอกาสและศักยภาพ เขาจะสามารถเพิ่มความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีศักยภาพ"

หมอคัตเลอร์ถามในฐานะที่ไม่ใช่ชาวพุทธ "แล้วสำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธจะใช้อะไรเป็นยารักษา ในฐานะที่เขาไม่รู้แนวคิดของพุทธสภาวะในตัว"

"สิ่งหนึ่งโดยทั่วไปที่เราอาจชี้ให้คนเช่นนี้เห็นก็คือเรามีพรสวรรค์ ในฐานะที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้แก่ ปัญญาอันมหัศจรรย์ของมนุษย์ ยิ่งกว่านั้น มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในตัวที่จะจงใจให้ไปทางไหนก็ได้ ดังนั้น ถ้าเราระลึกรู้ถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์เช่นนี้อยู่เนืองๆ จนมันเกิดเป็นโลกทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์ รวมถึงเกี่ยวกับตัวเองด้วย ก็จะช่วยลดความรู้สึกท้อแท้ ความรู้สึกช่วยตัวเองไม่ได้ และการดูถูกตัวเอง"

ท่านทะไล ลามะ หยุดพูดชั่วคราว แล้วก็พูดต่ออย่างพยายามเจาะปัญหาและค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ อาตมาคิดว่า "มีอะไรคล้ายๆ วิธีรักษาการเจ็บป่วยทางกาย เมื่อแพทย์รักษาคนไข้ นอกจากจะให้ยาปฏิชีวนะแล้ว ยังจะต้องให้แน่ใจว่าสภาพร่างกายของคนไข้สามารถรับและทนยานั้นได้ เพื่อจะให้แน่ใจเช่นนั้น แพทย์อาจต้องดูแลเรื่องโภชนาการ ให้วิตามินหรืออะไรอื่นเพื่อบำรุงร่างกาย เมื่อร่างกายแข็งแรงก็สามารถเยียวยาตัวเองจากความเจ็บป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา เช่นเดียวกัน เมื่อเรารู้ว่าเรามีปัญญาเป็นพรสวรรค์ และมีความสามารถที่จะก่อให้เกิดเจตจำนงไปทางบวกได้ เราก็มีสุขภาพจิตที่ดีเป็นพื้นฐาน พื้นฐานที่แข็งแรงนี้ มาจากการตระหนักรู้ในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ การตระหนักรู้ความจริงเช่นนี้จะเป็นกลไกภายในที่ทำให้เราเผชิญกับความยากลำบากใดๆ โดยไม่สูญเสียความหวังและตกเข้าไปสู่การเกลียดตัวเอง"

โดยการเตือนตัวเองตลอดเวลาถึงคุณลักษณะอันยิ่งใหญ่แห่งความเป็นคนที่เพื่อนมนุษย์ทุกคนมีเหมือนๆ กัน จะช่วยขจัดการคิดว่าตัวเองไม่ได้ความ คนทิเบตจำนวนมากทีเดียวที่ภาวนาอยู่เช่นนี้เป็นประจำวัน นั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมในวัฒนธรรมทิเบต จึงไม่มีเรื่องการเกลียดตัวเอง

ข้อมูลสื่อ

328-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 328
สิงหาคม 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี