• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครื่องสำอางกรดผลไม้

เครื่องสำอางกรดผลไม้


กรดผลไม้ หรือ AHA ซึ่งย่อมาจาก alpha hydroxy acid เป็นกรดที่ได้มาจากหลายอย่าง มีฤทธิ์ทำให้ผิวลอกเล็กน้อย กรดเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากผลไม้ จึงเรียกง่ายๆ กันว่า กรดผลไม้ หรือ fruit acid นอกจากผลไม้แล้วยังพบ AHA ในขิง อ้อย นม น้ำมะเขือเทศ และไวน์ และห้องทดลองยังสามารถผลิต AHA ด้วย


กรดผลไม้ที่รู้จักกันดีที่สุดคือ กรดไกลคอลิก (glycolic acid) ซึ่งเตรียมได้จากน้ำอ้อยและองุ่นดิบ ที่รู้จักรองลงมาคือ กรดแล็กติก (lactic acid) ซึ่งมาจากน้ำมะเขือเทศ และนมเปรี้ยว นอกจากนั้นก็ยังมีกรดผลไม้ที่เตรียมจากแอปเปิลคือ กรดมาลิก (malic acid) เตรียมจากองุ่นและไวน์คือ กรดตาร์ตาริก (tartaric acid) เตรียมจากส้มและสับปะรดคือ กรดซิตริก (citric acid) กรดผลไม้ที่รู้จักกันดีที่สุดและมีงานวิจัยต่อเนื่องกันมานานนับ ๒๐ ปี คือ กรดไกลคอลิก และกรดแล็กติก จึงแนะนำให้ใช้กรดพวกนี้เพราะรู้จักกันมานาน ส่วน BHA หรือ beta hydroxy acid ตัวที่สำคัญที่สุดคือ กรดซาลิซิลิก (salicylic acid) ได้จากเปลือกต้นไม้ เชื่อว่า BHA ก็ช่วยให้ผิวใสขึ้นได้บ้าง และยังอาจรักษาสิวได้ สำหรับกรดซาลิซิลิกนี้ ถ้าใช้ในความเข้มข้นสูงนำมาใช้รักษาหูดและตาปลา การใช้กรดผลไม้และทำให้ผิวหน้าลอกบ่อยๆ นี้ ในทางตรงข้ามอาจก่ออันตรายต่อผิวหนัง เพราะเซลล์ชั้นนอกสุดหลุดลอกออกไป ทำให้ผิวได้รับผลเสียจากรังสียูวีในแสงแดด ผู้ที่ใช้กรดผลไม้จึงต้องทายากันแดด และหลบเลี่ยงการโดนแสงแดดจัด

วิธีเลือกเครื่องสำอางผสมกรดผลไม้
การเลือกซื้อเครื่องสำอางประเภท AHA และ BHA ควรจะต้องทราบ ๒ เรื่องนี้ คือ ความเข้มข้นของตัวกรด และเรื่องที่ ๒ คือ ค่ากรดด่าง (pH) ของผลิตภัณฑ์นั้น 
เครื่องสำอาง AHA ส่วนใหญ่มีความเข้มข้นของกรด AHA ตั้งแต่ร้อยละ ๑-๑๕ ความเข้มข้นของ AHA ที่ต่ำที่สุดที่ทำให้ผิวลอกได้คือ ร้อยละ ๔ ถ้าความเข้มข้นสูงถึงร้อยละ ๒-๑๕ ผิวจะลอกมาก และอาจทำให้ผิวระคายเคือง สำหรับค่าความเป็นกรดด่างนี้ควรเลือกผลิตภัณฑ์ ที่มีค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง ๓-๕ ถ้าค่าต่ำกว่านี้ผลิตภัณฑ์จะมีฤทธิ์เป็นกรดมากและทำให้ระคายเคืองสูง ถ้าค่า pH สูง ผลิตภัณฑ์จะมีฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้ผิวไม่ลอกคือ ใช้แล้วก็ไม่ได้ผลนั่นเอง

ก่อนซื้อควรดูฉลาก เพื่อตรวจสอบส่วนผสม ถ้าพบว่าชื่อของ AHA เป็นส่วนผสมที่อยู่ท้ายๆ ของรายชื่อสารเคมีทั้งหมด อาจแสดงว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นมีส่วนผสมของ AHA น้อยเกินไปจนไม่ออกฤทธิ์ ในทางตรงข้าม ถ้าชื่อของ AHA ปรากฏเป็นอันดับแรกของรายชื่อ ก็แสดงว่าอาจมี AHA สูงเกินไปจึงควรปลอดภัยไว้ก่อนด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อ AHA เป็นลำดับรอง หรือกลางบัญชีรายชื่อ ถ้าผลิตภัณฑ์ใดมีส่วนผสมของทั้ง AHA และ BHA ก็ต้องแน่ใจว่าทั้ง ๒ นี้ไม่ได้มีความเข้มข้นมากด้วยกันทั้งคู่ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ทำให้ผิวระคายเคืองมาก

เนื่องจากกรดผลไม้ทำให้ผิวลอกและระคายเคืองได้ง่าย จึงต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่มากเพราะจะยิ่งทำให้ผิวระคายเคือง ควรเลือกซื้อกระปุกที่เล็กที่สุดมาลองใช้ดูก่อน ถ้าเป็นไปได้ลองเตรียมกระปุกสะอาดไปเองและขอแบ่งผลิตภัณฑ์มาลองใช้ดูก่อน ขั้นแรกอาจลองทาดู ที่ท้องแขนประมาณ  ๑ สัปดาห์ ถ้าผิวไม่แดงไม่ลอกจึงค่อยลองใช้กับใบหน้า เมื่อเริ่มใช้เครื่องสำอางกลุ่มนี้ ต้องจำไว้ว่าผิวจะลอกและระคายเคืองง่ายอยู่แล้ว จึงต้องงดเว้นการใช้สบู่ที่ผสมเม็ดขัดถูใบหน้า งดการใช้ผ้าขนหนู ฟองน้ำ ใยบวบ หรือสิ่งใดๆ ก็ตามมาขัดถูใบหน้า เครื่องสำอางกรดผลไม้มีหลายรูปแบบ ได้แก่ ครีม เจล และโลชั่น ถ้ามีผิวแห้ง แนะนำให้ใช้ในรูปของครีม แต่ถ้าผิวมันอาจลองใช้เจลหรือโลชั่น ในคนผิวปกติทั่วไป แนะนำให้ใช้ AHA เริ่มต้นที่ความเข้มข้นร้อยละ ๗-๘ ทาต่อเนื่องกัน ๔-๖ สัปดาห์ แล้วจึงอาจใช้ความเข้มข้นสูงกว่านี้

เครื่องสำอางกรดผลไม้ : ข้อควรปฏิบัติและการใช้

๑. ทำความสะอาดผิวหน้าให้หมดจดก่อนทาเครื่องสำอาง ล้างคลีนเซอร์ให้เกลี้ยงเกลา เพราะถ้ายังมีตกค้างจะต้านฤทธิ์ของกรดผลไม้

๒. หลังล้างหน้ารอให้หน้าแห้งก่อน ๑๕ นาที แล้วจึงทาเครื่องสำอางนี้ เพราะถ้าผิวเปียกชื้นแล้วทาเครื่องสำอางกรดผลไม้ ผิวจะระคายเคืองได้ง่าย

๓. ค่อยๆ ป้ายเนื้อครีมทีละขนาดเท่าเม็ดถั่ว เกลี่ยเบาๆ ไม่ต้องนวด ไม่ต้องดึง ไม่ต้องดันผิวหนัง ครีมจะซึมและแห้งไปเอง

๔. ทาเครื่องสำอางนี้เริ่มต้นวันละ ๑ ครั้งก่อนนอน ถ้าผิวแห้งหรือลอกมาก อาจลดมาเป็นทาวันเว้นวัน ถ้ายังลอกอยู่อาจต้องใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นต่ำกว่านี้

๕. ถ้าทาเครื่องสำอางครบ ๔-๖ สัปดาห์แล้ว ผิวยังไม่และดูดีขึ้น และไม่มีปัญหาผิวแห้งและระคายเคือง อาจเพิ่มการทาครีมเป็นวันละ ๒ ครั้ง หรือใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นสูงกว่านี้

๖. ต้องใช้ยากันแดดร่วมไปด้วย โดยเป็นยากันแดดที่มี SPF อย่างต่ำ ๑๕

๗. ปัจจุบันมีเครื่องสำอางกรดผลไม้ผลิตแยกเป็นส่วนๆของร่างกาย เช่น ใช้ทารอบตา รอบคอ ลำคอ ต้นขา เท้า และเล็บโดยเฉพาะ ซึ่งไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง เท่าที่จำเป็นคือใช้ชนิดที่มี AHA ความเข้มข้นสูงทาตัว และความเข้มข้นต่ำทาหน้า ไม่ใช้เครื่องสำอางกรดผลไม้ทาเปลือกตาหรือทาริมฝีปากโดยเด็ดขาด

๘. เมื่อได้ผลิตภัณฑ์กรดผลไม้ที่ถูกใจแล้ว ให้ทาวันละ ๑-๒ ครั้ง ต่อเนื่องกันไป ๖ เดือนถึง ๑ ปี หรือจนกระทั่งไม่สามารถสังเกตเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นไปได้อีก ก็อาจลดการทาครีมลงได้ครึ่งหนึ่ง

๙. การลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ หรือ AHA (alpha hydroxy acid) นั้น จะช่วยให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดคือ ชั้นขี้ไคลซึ่งเป็นผิวหนังชั้นที่ตายแล้ว หลุดลอกออกไป ทำให้ผิวดูสดใสและเรียบเนียนขึ้นได้บ้าง

เพื่อความปลอดภัยควรให้แพทย์ผิวหนังเป็นผู้ลอกหน้าให้

การลอกหน้าด้วยกรดผลไม้นิยมใช้ AHA ความเข้มข้นร้อยละ ๒๐-๗๐ ก่อนลอกหน้าต้องล้าง และเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดก่อน ต้องใช้ผ้าก๊อซปิดตาหรือหลับตาให้สนิท เพราะถ้าน้ำยาเข้าตา ตาจะอักเสบระคายเคืองอย่างรุนแรง หลังทาน้ำยาจะมีอาการคันเล็กน้อย ทิ้งไว้ ๒-๓ นาที แล้วล้างหน้าให้สะอาด หลังลอกหน้าด้วยวิธีนี้ ผิวอาจจะบวมแดงเล็กน้อย และลอกเป็นขุยในอีก ๒-๓ วันต่อมา ทั่วไปนิยมลอกหน้าด้วย AHA ต่อเนื่องกัน ๖ ครั้ง โดยเว้นระยะครั้งละ ๒-๓ สัปดาห์ แต่จะใช้น้ำยาความเข้มข้นสูงหรือต่ำขนาดใด และลอกบ่อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคน เนื่องจากการลอกหน้าด้วย AHA ทำให้ผิวหนังบางลง จึงทำให้ผิวได้รับอันตรายจากรังสียูวีในแสงแดดได้ง่ายขึ้น ซึ่งผลเสียนี้ทำให้ผิวหนังเหี่ยวแก่เร็วและเกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่าย จึงไม่แนะนำให้ผู้ที่มีผิวขาวอยู่แล้วลอกหน้าด้วย AHA และผู้ที่ลอกหน้าด้วย AHA จะต้องหลบเลี่ยงการโดนแดดจัด ต้องทายากันแดดที่มีค่า SPF อย่างต่ำ ๑๕ ร่วมด้วยเสมอ 

ขอบคุณภาพจาก www.showwallpeper.com

ข้อมูลสื่อ

329-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร