แอสไพริน อันตราย
"สั่งคุมใช้ยาแอสไพรินในเด็ก หลังหนูน้อยที่ลพบุรีเสียชีวิต"
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวเด็กหญิงอายุ ๙ ขวบ ที่จังหวัดลพบุรี ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่เสียชีวิตจากการใช้แอสไพรินลดไข้ จนกลายเป็นโรคเรย์ซินโดรม (Reye's Syndrome) แทรกซ้อน เกิดอาการตับวาย ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายและมาตรการในการควบคุมการใช้แอสไพริน สำหรับบรรเทาอาการไข้ในเด็ก
แอสไพริน (aspirin) เป็นยาสามัญประจำบ้านใช้บรรเทาปวดลดไข้ ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป แม้แต่ร้านขายของชำในหมู่บ้าน มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดผงบรรจุซอง มียี่ห้อดังๆ อยู่หลายชนิดที่ชาวบ้านรู้จักมักคุ้นกันดี ยานี้มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี แรกเริ่มเดิมทียานี้ทำมาจากเปลือกต้นหลิว (willow tree) ชนิดหนึ่ง เมื่อทราบ โครงสร้างทางเคมี บริษัทยาก็ได้ทำการสังเคราะห์ ผลิตเป็นอุตสาหกรรมออกจำหน่ายไปทั่วโลก ยานี้นับว่ามีราคาถูกมากๆ ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมานับหลายชั่วคนแล้ว เด็กเล็กเวลาตัวร้อนหรือเป็นไข้หวัด พ่อแม่ก็จะซื้อแอสไพรินชนิดซองให้เด็กกินเองเป็นเบื้องต้น ต่อเมื่ออาการไม่ทุเลา จึงค่อยพาเด็กไปหาหมอ นักเรียน นักศึกษา เวลาปวดหัว ตัวร้อน ปวดประจำเดือน ก็จะขอยาจากห้องพยาบาลของโรงเรียนกินบรรเทา กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา มีอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน ก็นิยมกินแอสไพรินบรรเทา
เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน คนกลุ่มนี้นิยมกินยาแก้ปวดชนิดซองสูตรเอพีซี (APC) ซึ่งเป็นสูตรยาผสม ๓ ตัว ได้แก่ แอสไพริน (aspirin) เฟนาซีทิน (phenacetin) และกาเฟอีน (cafeine) มีการเสพกันเป็นประจำทุกวัน จนเกิดโรคแทรกซ้อนจากยาแอสไพรินคือ กระเพาะอักเสบ หรือเป็นแผลเลือดออกในกระเพาะอาหาร และกระเพาะทะลุ วงการแพทย์ได้รณรงค์ในการแก้ปัญหานี้อยู่หลายปี ในระยะแรกมีการถอนเฉพาะตัวยาเฟนาซีทินออกไป แต่ปัญหาไม่ได้ลดลง เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคน่าจะติดกาเฟอีน (คล้ายติดกาแฟ) แต่ได้รับพิษภัยจากแอสไพรินที่ผสมอยู่ในซองเดียวกัน จนเมื่อประมาณ ๑๔-๑๕ ปีก่อน จึงได้ถอนกาเฟอีนออกไป เหลือเพียงแอสไพรินอย่างเดียวในยาแก้ปวดชนิดซอง หลังจากนั้น พบว่ามีการใช้ยาลดลง และโรคแทรกซ้อนดังกล่าวก็เบาบางลงไปอย่างมาก
ความจริงวงการแพทย์ทราบกันมานานแล้วว่า แอสไพริน มีข้อควรระวังในการใช้หลายประการด้วยกัน
ประการแรก ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากมีการใช้เป็นประจำ ดังกรณีการใช้ยาสูตรเอพีซีดังกล่าว จึงมีการเตือนว่า ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
ประการที่ ๒ ยานี้ทำให้เกล็ดเลือดไม่จับตัวเป็นลิ่ม เป็นเหตุให้เลือดออกง่าย ห้ามใช้ในผู้ที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก หรือเป็นโรคเลือดที่มีภาวะเลือดออกง่าย
ประการที่ ๓ ถ้าใช้บรรเทาอาการไข้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี ที่เป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด คางทูม ฯลฯ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye's syndrome) โรคนี้จะมีอาการทางสมอง (เช่น ซึม หมดสติ ชัก) และอาการ ทางตับ (ตับโต และทำหน้าที่ไม่ได้หรือตับวาย) ซึ่งมีอัตราการตายค่อนข้างสูง
ดังนั้น ในระยะหลังๆ มานี้ แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินในการบรรเทาอาการไข้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก หรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยจึงหันมาใช้พาราเซตามอลแทน รวมทั้งในการบรรเทาอาการปวดต่างๆ ก็นิยมใช้พาราเซตามอลแทนแอสไพรินเช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน แพทย์จะใช้แอสไพรินเป็นยาป้องกันโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ในผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตีบ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ เนื่องเพราะสรรพคุณในการทำให้เกล็ดเลือดไม่จับตัวเป็นลิ่มดังกล่าวข้างต้น (ที่มีผลทำให้เลือดออกง่าย) สรรพคุณข้อนี้ของแอสไพริน จึงมีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม สำหรับประชาชนทั่วไป บางส่วนยังนิยมใช้แอสไพรินในการแก้ไข้แก้ปวด ที่น่าเป็นห่วงคือการนำมาใช้บรรเทาอาการไข้ คนทั่วไปมักแยกไม่ได้ว่ามีสาเหตุจากไข้เลือดออก หรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ หรือไม่ ถ้าหากบังเอิญใช้กับโรคกลุ่มนี้เข้าก็อาจเกิดอันตรายดังกล่าวข้างต้น
สรุปก็คือ ในการบรรเทาอาการไข้ ควรหันมาใช้พาราเซตามอลแทนแอสไพริน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากแอสไพริน อย่างไรก็ตาม การใช้พาราเซตามอลก็พึงระวัง อย่าใช้เกินขนาด (ผู้ใหญ่ควรใช้ครั้งละ ๑-๒ เม็ด ซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง อย่าใช้เกินวันละ ๘ เม็ด หรือ ๔ กรัม เด็กเล็ก ไม่ให้เกินวันละ ๑๐ ช้อนชา หรือ ๑,๒๐๐ มิลลิกรัม) มิเช่นนั้นอาจมีผลต่อตับ ทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน เป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะไตวาย ถ้ามีการใช้พาราเซตามอลเกินขนาดมากๆ หรือขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ต้องระวัง อย่ากลายเป็นหนีเสือปะจระเข้
- อ่าน 21,337 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้