• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยา...แก้ท้องเสีย

ยา...แก้ท้องเสีย


ท้องเสีย
โรคท้องเสียหรือท้องเดิน เป็นคำไทยแท้ที่ผสมระหว่าง "ท้อง" กับคำว่า "เสีย" หรือ "เดิน" สื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นปกติที่เกิดกับท้องหรือลำไส้ หรือทางเดินอาหาร โดยอาการถ่ายผิดปกติ คือ ถ่ายเหลว หรือถ่ายบ่อยครั้ง มากกว่าในภาวะปกติ โรคนี้เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล และมีสาเหตุของท้องเสียหลากหลายมากมาย แต่ที่พบบ่อยๆ และขอกล่าว ณ ที่นี้มีสัก ๒ ประเภทใหญ่ คือ ท้องเสียที่เกิดจากอารมณ์ (ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ) และท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ
    
ท้องเสียที่เกิดจากอารมณ์
ท้องเสียที่เกิดจากอารมณ์ (Irritable bowel syndrome) เป็นกลุ่มอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดเนื่องจากมีสิ่งกระตุ้นทางด้านจิตใจ ที่พบได้บ่อยๆ คือ ความเครียด เมื่อใดที่มีความเครียด ตื่นเต้น กังวล ใกล้สอบ ไปสัมภาษณ์เข้างานใหม่ เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดท้อง ต้องการถ่ายอุจจาระ และเมื่อได้ไปปล่อยทุกข์ที่ห้องสุขาหรือถ่ายอุจจาระเรียบร้อยแล้ว อาการปวดถ่ายท้องก็จะดีขึ้น หรือหายไปได้เอง โดยไม่ต้องให้การรักษาใดๆ เลย บางรายอาจมีอาการที่รุนแรงจนทำให้ปวดท้องบ่อยๆ และถี่ๆ จนรบกวนกิจวัตรประจำวันได้ แต่สังเกตลักษณะเด่นของการปวดท้องประเภทนี้ว่า มักไม่มีอาการไข้ร่วมด้วยเหมือนท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ(ที่จะกล่าวต่อไป) ถ้าปวดท้องอย่างรุนแรงบ่อยๆ และหาสาเหตุไม่ได้ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป ดังนั้น ผู้ที่ท้องเสียในลักษณะที่หนึ่งที่เกิดจากความเครียดนี้ ก็ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านอารมณ์ให้ผ่อนคลาย เข้มแข็ง มีสมาธิ หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็พอจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ลงได้

ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ
อาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อจะมีลักษณะ เด่นแตกต่างจากท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ คือ มักจะถ่ายเหลว ถ่ายบ่อยกว่าปกติ ปวดท้อง "ถ่ายอุจจาระหลายครั้งพร้อมกับอาการไข้ ตัวร้อน" อาจมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว และคลื่นไส้ อาเจียนได้ ท้องเสียชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อนี้ถือว่าเป็นกระบวนการธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายในการกำจัด สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้าไปในทางเดินอาหาร ด้วยการถ่ายออกมาทางด้านล่างหรือทางทวารหนักอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคนี้ออกจากร่างกายไปให้เหลือน้อยที่สุด บางครั้งสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเหล่านี้ถูกกำจัดออกไปจากร่างกายได้อย่างดีจนหมดเกลี้ยง ไม่เหลือเลย หรือเหลือเล็กน้อย ในปริมาณน้อยมาก ซึ่งจะถูกกระบวนการภูมิคุ้มกันของร่างกายจัดการให้หมดสิ้นไป อาการท้องเสียก็จะหายได้เอง โดยที่ยังไม่ต้องให้การรักษาใดๆ

ทว่าบางครั้งสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคอาจมีจำนวนมาก และยังหลงเหลืออยู่ หรือฝังตัวในลำไส้ และขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนแสดงอาการที่รุนแรงและอันตรายต่อร่างกายต่อไปได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้ ควรให้การรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ให้หมดไป ดังนั้น การดูแลรักษาอาการท้องเสียชนิดติดเชื้อด้วยตนเองจึงขึ้นอยู่ระดับอาการความรุนแรงของท้องเสีย ถ้าท้องเสียสัก ๑ หรือ ๒ ครั้ง แล้วกลับมาเป็นปกติ ไม่มีอาการไข้ ปวดท้อง ปวดเมื่อยเนื้อตัว ก็อาจไม่จำเป็น ต้องให้การรักษา และดูแลตามอาการเท่านั้นก็เพียงพอ เช่น ถ้ามีอาการเพลียมาก ซึ่งอาจเกิดจากการเสียน้ำและ เกลือแร่ของร่างกาย ในขณะที่ถ่ายเหลวหรือท้องเสีย  ก็ควรทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ด้วยการดื่มสารละลายผงเกลือแร่ หรือน้ำอัดลมที่เติมเกลือแกงสักเล็กน้อย (ประมาณครึ่งช้อนชา) เพื่อช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียของร่างกาย กรณีมีอาการไข้และถ่ายอุจจาระหลายๆ ครั้ง และมีทีท่าว่าจะเป็นมากขึ้นๆ เรื่อยๆ หรืออาการแย่ลง แสดงว่ามีการติดเชื้อทางเดินอาหารและเริ่มจะลุกลามมากยิ่งขึ้น ควรสังเกตอาการเพื่อช่วยแยกชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของท้องเสีย ดังนี้
    
ท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัส
ท้องเสียชนิดนี้มักพบในเด็กเล็ก มีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อยๆ ไม่รู้ตัว อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน เด็กมักเล่นได้และซนตามปกติ ซึ่งคนโบราณเรียกว่า เด็กกำลังยืดตัว เพราะอาจเป็นช่วงที่เด็กกำลังคลานและเดิน พร้อมกับท้องเสีย ถ่ายเหลว ท้องเสียชนิดนี้มีสาเหตุเกิดจากไวรัส ซึ่งไม่มียาที่ใช้ในการต้านเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้โดยตรง จึงต้องอาศัยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การตอบสนองสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านจัดการ กับเชื้อไวรัสด้วยการดูแลสุขอนามัยที่ดีของเด็ก และรักษาตามอาการด้วยการกินยาลดไข้ แก้ตัวร้อน (ถ้ามีอาการไข้ ตัวร้อน) และให้ดื่มผงเกลือแร่ในกรณีที่เด็กถ่ายเหลว และป้องกันการอ่อนเพลียของเด็ก และที่สำคัญคือ จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ ๕-๗ วัน กว่าจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และกลับมาเป็นปกติ
      
ท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย
ท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีหลายชนิด เช่น ไทฟอยด์ บิดไม่มีตัว อหิวาต์ เป็นต้น ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชื่อ นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin) ในการกำจัดเชื้อ โดยผู้ใหญ่ใช้ในขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ก่อนอาหารครึ่งถึง ๑ ชั่วโมง หรือทุก ๑๒ ชั่วโมงก็ได้ ควรใช้ติดต่อกันประมาณ ๓-๕ วัน ส่วนอาการอื่นๆ ก็รักษาตามอาการ เช่น ถ้าเป็นไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ก็อาจใช้ยาพาราเซตามอล ครั้งละ ๕๐๐ มิลลิกรัม ทุก ๔-๖ ชั่วโมง เฉพาะเวลามีอาการไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ถ้ามีอาการเพลีย ก็อาจจะดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อทดแทนได้
    
ท้องเสียจากเชื้อบิด
ท้องเสียจากเชื้อบิด พบได้ไม่บ่อยนัก มี ๒ ประเภท คือ บิดชนิดไม่มีตัว และบิดชนิดมีตัว ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านอาการที่เป็น และการรักษา

บิดชนิดไม่มีตัวแตกต่างจากบิดชนิดมีตัวอย่างไร

บิดชนิดไม่มีตัว มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่บิดชนิดมีตัวเกิดจากเชื้ออะมีบา ซึ่งเป็นจุลชีพเซลล์เดียวขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น บิดชนิดไม่มีตัวจะมีอาการไข้ ตัวร้อน และปวดเมื่อยเนื้อตัวที่รุนแรงกว่าบิดชนิดมีตัว หรืออาจไม่พบอาการไข้ ตัวร้อนและปวดเมื่อยตัวในผู้ป่วยบิดมีตัว นอกจากนี้ ลักษณะของอาการท้องเสียก็แตกต่างกัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบิดชนิดไม่มีตัว จะถ่ายเหลวอาจเป็นน้ำ และถ่ายวันละหลายๆ ครั้ง มากกว่า ๓-๕ ครั้งขึ้นไป ต่อมาจึงจะมีอาการถ่ายเป็นมูก และอ่อนเพลียมาก

ชนิดบิดมีตัว ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียน้อยกว่า วันละไม่เกิน ๓-๕ ครั้ง และมักไม่ถ่ายเหลวเป็นน้อย แต่จะถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ครั้งแรกๆ ของการติดเชื้อ ดังนั้น อาการผู้ป่วยบิดชนิดมีตัวจึงดูน้อยกว่าและ ดีกว่าบิดไม่มีตัว และดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ จนชาวบ้านเรียกบิดมีตัวว่าบิดเดินได้ หมายความว่า ป่วยเป็นบิด แต่ก็เดินเหินไปไหนมาไหนได้เป็นปกติ

การรักษาบิดชนิดไม่มีตัวจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin) ในการกำจัดเชื้อ โดยผู้ใหญ่ใช้ในขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ก่อนอาหารครึ่งถึง ๑ ชั่วโมง หรือทุก ๑๒ ชั่วโมงก็ได้ ควรใช้ติดต่อกันประมาณ ๓-๕ วัน

การรักษาบิดชนิดมีตัว ควรใช้ยาเมโทรนิดาโซล (metronidazole) ขนาด ๒๐๐ หรือ ๒๕๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า กลางวัน เย็น ติดต่อกัน ๕-๗ วัน (ระหว่างกินยานี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด)

ส่วนอาการอื่นๆ ก็ให้รักษาตามอาการ
    
เวลาท้องเสียควรใช้ยาหยุดถ่ายหรือไม่
ยาหยุดถ่าย หมายถึง ยาที่มีฤทธิ์ลดการบีบตัวหรือลดการเคลื่อนที่ของลำไส้ ซึ่งมีการใช้รักษาท้องเสีย ท้องเดิน ช่วยลดจำนวนครั้งของการถ่าย ตัวอย่างเช่น ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร อีโมเดียม (ชื่อตัวยาว่า โลเปอราไมด์) โลโมติล เป็นต้น ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ในรายที่มีการติดเชื้อ เพราะการถ่ายท้องเป็นการกำจัดเชื้อตามธรรมชาติ ยกเว้นรายที่ถ่ายเหลวจำนวนครั้งมากๆ แต่ควรใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อที่เป็นต้นเหตุด้วย เพราะยากลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ เพียงแต่เป็นการรักษาอาการลดการถ่ายบ่อย หรือหยุดถ่าย ถ้าไม่ได้ยาฆ่าเชื้อ เชื้อที่หลงเหลือยู่ในลำไส้จะขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ขณะที่ลำไส้หยุดเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้เกิดเชื้อจำนวนมากมาย และก่อให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ การใช้ยาหยุดถ่ายควรใช้ขนาดที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะถ้าใช้มากเกินไปจะหยุดการเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นเวลานานๆ และอาจทำให้เกิดท้องผูกได้

ผงเกลือแร่เป็นยาที่มีฤทธิ์รักษาท้องเสียหรือไม่
คำตอบคือ ไม่ได้รักษาสาเหตุของอาการท้องเสีย แต่เป็นการชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายต้องสูญเสียไปในระหว่างที่มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ควรให้ผงเกลือแร่แก่ผู้ป่วยที่ท้องเสียร่วมกับอาการอ่อนเพลีย และพิจารณาอาการของท้องเสียว่าเกิดจากสาเหตุใด จะได้ดูแลรักษาปฏิบัติตนเองได้อย่างถูกต้อง

ข้อมูลสื่อ

329-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด