• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๒๐)

บนเส้นทางหนังสือ (๒๐)


ภาคที่ ๕ ตอนสุดท้าย
การสะท้อนความหมายถึงการมีชีวิตบนวิถีทางจิตวิญญาณ

 
บทที่ ๑๕
คุณค่าพื้นฐานทางจิตวิญญาณ

ศิลปะแห่งความสุขมีองค์ประกอบหลายอย่าง อย่างที่เราเห็นมันเริ่มจากการสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของความสุข แล้วต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเหตุแห่งความสุข ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างวินัยภายในจิตใจของตน เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ถอนรากสภาวะทางจิตที่ทำลายความสุข และแทนที่มันด้วยสภาพจิตที่สร้างสรรค์ เช่น ความกรุณาปรานี ความอดกลั้นและการให้อภัย ในการค้นหาปัจจัยที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์และมีความสุข โดยสรุปองค์ประกอบรวบยอดสุดท้ายคือ จิตวิญญาณ มีความโน้มเอียงที่จะคิดว่าจิตวิญญาณเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา วิธีการของท่านทะไล ลามะ ในการบรรลุความสุข ได้มาจากการหล่อหลอมนานปีในวิถีแห่งการเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านได้รับการเคารพในวงกว้างว่าเป็นนักวิชาการทางพุทธที่เด่นมาก แต่สำหรับคนจำนวนมาก เสน่ห์ของท่านไม่ได้อยู่ที่ความเข้าใจปรัชญาอันซับซ้อน แต่อยู่ที่ความเป็นกันเอง อารมณ์ขัน และวิธีการตีนติดดินของท่าน ในการพูดคุยกันโดยตลอด หมอคัตเลอร์สัมผัสความเป็นมนุษย์ของท่านยิ่งกว่าการเป็นพระในพุทธศาสนา ถึงแม้จะโกนศีรษะ ถึงแม้จะห่มผ้าเหลือง ถึงแม้จะอยู่ในฐานะผู้นำทางศาสนาที่โดดเด่นของโลก สุ้มเสียงของการสนทนาก็ง่ายๆ เช่นเพื่อนมนุษย์พึงมีต่อกัน คุยกันถึงปัญหาชีวิตที่มนุษย์มีร่วมกัน

เพื่อจะช่วยให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของจิตวิญญาณ ท่านทะไล ลามะ เริ่มโดยอธิบายความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณและศาสนา ดังนี้
"อาตมาเชื่อว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องรู้ว่ามนุษย์มีศักยภาพมาก และเข้าใจความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง ซึ่งทำได้ด้วยการพัฒนาจิต บางทีอาตมาก็เรียกว่าชีวิตที่มีมิติทางจิตวิญญาณ มีมิติทางจิตวิญญาณ ๒ ระดับ ระดับหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา ในโลกนี้มีผู้คนมากมายและมีหลากหลายความคิด มีคนประมาณ ๕ พันล้านคน ก็ควรมี ๕ พันล้านศาสนา เพราะว่าความคิดมีหลากหลายมาก อาตมาเชื่อว่าแต่ละคนควรจะมีวิถีทางจิตวิญญาณที่เหมาะกับความเชื่อของตัวเอง ซึ่งขึ้นกับพื้นฐานทางธรรมชาติ อารมณ์ ความเชื่อ ครอบครัว และวัฒนธรรม

"เช่น ในฐานะเป็นพระในพุทธศาสนา อาตมาพบว่าพุทธศาสนาเหมาะสมที่สุด สำหรับอาตมาเอง อาตมาพบว่าพุทธศาสนาเหมาะสมที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่า พุทธศาสนาดีสำหรับทุกคน นั่นเป็นเรื่องที่ชัดเจนและแน่นอน ถ้าอาตมาเชื่อว่าพุทธศาสนาดีที่สุดสำหรับทุกคน นั่นจะเป็นการโง่เขลามาก เพราะแต่ละคนมีความเชื่อที่ต่างกัน  ดังนั้น ในเมื่อมีความหลากหลายของผู้คน ก็ควรมีความหลากหลายของศาสนา วัตถุประสงค์ของศาสนาก็เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ถ้าเรามีเพียงศาสนาเดียว ในไม่ช้าก็จะไม่สามารถให้ประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมากได้ สมมุติว่าเรามีภัตตาคารที่มีอาหารชนิดเดียว วันแล้ววันเล่าและทุกมื้อ ภัตตาคารนี้ในไม่ช้าก็ไม่เหลือลูกค้าสักกี่คน ประชาชนต้องการอาหารที่หลากหลาย เพราะมีความชอบต่างๆ กัน ในทำนองเดียวกันศาสนามีขึ้นเพื่อให้อาหารแก่จิตวิญญาณของมนุษย์ เราควรจะเรียนรู้คุณค่าของความหลากหลายของศาสนา บางคนก็นับถือศาสนายูดาย บางคนก็คริสเตียน หรืออิสลาม ว่าดีที่สุดสำหรับพวกเขา ดังนั้น เราควรเคารพและเห็นคุณค่าของศาสนาทุกศาสนาในโลก

"ศาสนาทั้งหมดสามารถทำประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ศาสนามีไว้เพื่อทำให้แต่ละคนเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น และโลกเป็นโลกที่ดีขึ้น แต่การที่ศาสนาจะมีผลให้โลกดีขึ้น ผู้ปฏิบัติศาสนาแต่ละศาสนาจะต้องปฏิบัติด้วยความจริงใจต่อศาสนานั้น จะต้องบูรณาการคำสอนทางศาสนาเข้าไปในชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนๆ ก็สามารถใช้ศาสนาเป็นพลังภายในของตนเอง และจะต้องพยายามเข้าใจหลักธรรมของศาสนาของตนให้ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่เป็นความรู้เท่านั้น แต่ต้องเข้าไปสู่ความรู้สึกลึกๆ ในตัวเอง ทำให้เป็นประสบการณ์ภายในตัวตนของเรา

"อาตมาเชื่อว่า เราทุกคนควรจะบ่มเพาะความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อศาสนาทุกศาสนา เหตุผลหนึ่งที่ควรเคารพศาสนาต่างๆ เหล่านี้ก็คือ ศาสนาต่างๆ เหล่านี้นำมาซึ่งกรอบทางศีลธรรมที่ควบคุมพฤติกรรมและมีผลทางบวก ตัวอย่างเช่น ในศาสนาคริสเตียนความเชื่อในพระเจ้าก็อาจนำมาซึ่งกรอบทางศีลธรรมที่ชัดเจน ซึ่งจะดูแลพฤติกรรมและวิถีชีวิต และอาจจะเป็นวิธีการที่มีพลังมาก เพราะการสนิทแนบแน่นอยู่กับพระเจ้า ก็ต้องแสดงความรักต่อพระเจ้าโดยแสดงความรักและความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์อาตมาเชื่อว่ามีเหตุผลคล้ายๆ กันนี้อีกหลายอย่างที่จะต้องเคารพศาสนาอื่นๆ เช่นเดียวกัน ศาสนาใหญ่ๆ ทั้งหมดได้ทำประโยชน์ให้มนุษย์เป็นร้อยๆ ล้านคนในหลายๆ ศตวรรษที่ผ่านมา และแม้ในปัจจุบันนี้เองคนเป็นร้อยล้านคนก็ยังได้รับประโยชน์ ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาต่างๆ เรื่องนี้ชัดเจน และในอนาคตก็เช่นเดียวกัน ศาสนาต่างๆ จะก่อให้เกิดความบันดาลใจต่อคนเป็นล้านๆ ที่เป็นคนรุ่นถัดไป นี่คือความจริง ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจความจริงนี้และเคารพศาสนาอื่นๆ

"อาตมาคิดว่าวิธีหนึ่งที่จะเพิ่มความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างศาสนาก็คือ การติดต่อกันอย่างใกล้ชิดระหว่างศาสนา ติดต่อกันที่ระดับบุคคล ใน ๒-๓ ปีที่ผ่านไป อาตมาได้พบและสานเสวนากับชุมชนคริสเตียนและชุมชนยิว ซึ่งอาตมาคิดว่ามีประโยชน์ โดยการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้เราเรียนรู้ว่าศาสนาต่างๆ ได้ทำประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างไร เราอาจจะค้นพบวิธีการและเทคนิคบางอย่างเพื่อมาปรับใช้ในการปฏิบัติของเราก็ได้ ดังนั้น เราควรสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาต่างๆ และโดยวิธีนี้เราจะสามารถร่วมกันทำประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้ามาแบ่งแยกมนุษยชาติ มีปัญหามากมายในโลก ศาสนาควรช่วยลดความขัดแย้งและ ความทุกข์ในโลก ไม่ควรจะเป็นเหตุ อีกอย่างหนึ่งของความขัดแย้ง


"เราได้ยินพูดกันบ่อยๆ ว่ามนุษย์ทั้งหมดเท่าเทียมกัน ในที่นี้เราหมายถึงว่าเราทุกคนต้องการมีความสุข ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นคนมีความสุขและทุกคนมีสิทธิที่จะเอาชนะความทุกข์ ดังนั้น ถ้าคนใดคนหนึ่งได้รับความสุขหรือประโยชน์จากศาสนาใดศาสนาหนึ่ง จึงสำคัญยิ่งนักที่เราจะต้องเคารพสิทธิของคนอื่น และเราต้องเรียนรู้ที่จะเคารพศาสนาใหญ่ๆ ของโลกทั้งหมด นี่ก็ชัดเจน"

ในช่วงสัปดาห์แห่งการบรรยายของท่านทะไล ลามะ ที่เมื่อทูซอน สปิริตแห่งความเคารพซึ่งกันเกิดขึ้นจริงๆ ใช่จะเป็นเพียงความปรารถนาเท่านั้น ในหมู่ผู้ฟังนี้ก็หลายศาสนา รวมทั้งมีนักบวชคริสต์จำนวนมากด้วย แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนา แต่บรรยากาศแห่งสันติสมานฉันท์ซึมซ่านทั่วไปในห้องประชุม ทุกคนก็รู้สึกได้ มีสปิริตแห่งการพูดคุยแลกเปลี่ยน และคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธก็สนใจในวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณของท่านทะไล ลามะ ความสนใจนี้ทำให้ผู้ฟังคนหนึ่งถามขึ้นว่า
"ไม่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นพุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกชนในศาสนาที่ต่างกัน การปฏิบัติภาวนาจะได้รับการตอกย้ำ ทำไมการปฏิบัติภาวนาจึงมีความสำคัญในวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ"

ท่านทะไล ลามะ ตอบว่า "อาตมาคิดว่าการปฏิบัติภาวนา ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เตือนความจำเป็นประจำวันถึงหลักการและความเชื่อที่เรายึดถือ อาตมาเองจะท่องบทกลอนทางพุทธบางบททุกเช้า บทกลอนนี้อาจคล้ายคำสวด แต่ว่าที่แท้ก็คือ การเตือนสติ เตือนสติในการพูดกับคนอื่น ในการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น และวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น โดยเกือบทั้งหมด การปฏิบัติภาวนาของอาตมาคือการเตือนสติ ทบทวนความสำคัญของความเมตตากรุณา การให้อภัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ และแน่นอนก็ยังรวมถึงกรรมฐานในวิถีพุทธถึงธรรมชาติของสัจจะสภาวะ และการสร้างมโนภาพบางอย่าง ในการปฏิบัติภาวนาประจำวันของอาตมา ถ้าตามสบายก็จะใช้เวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง นานโขทีเดียว"

การคิดถึงปฏิบัติภาวนาที่ใช้เวลาถึงวันละ ๔ ชั่วโมงทำให้ผู้ฟังอีกคนหนึ่งถามขึ้นว่า "ดิฉันเป็นแม่ที่ทำงาน และมีลูกเล็กๆ ไม่มีเวลาว่างมาก สำหรับคนที่มีงานยุ่งจะมีเวลาที่จะปฏิบัติภาวนาเช่นนี้ได้อย่างไร"

"ในกรณีของอาตมา ถ้าอาตมาต้องการจะอุทธรณ์ ก็อาจจะอุทธรณ์ว่าไม่มีเวลาได้เหมือนกัน" ท่านทะไล ลามะ ว่า "อาตมามีงานยุ่งมาก แต่ถ้าคุณพยายาม คุณจะหาเวลาได้เสมอ เช่นเวลาเช้ามืด นอกจากนั้นก็อาจมีเวลาอื่น เช่นวันสุดสัปดาห์ คุณอาจจะสละความสนุกสนานบางอย่างออกไปบ้าง" ท่านพูดพลางหัวเราะ "ดังนั้น อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง หรือถ้ามีความพยายาม ก็อาจได้ ๓๐ นาทีตอนเช้า และอีก ๓๐ นาทีตอนเย็น และถ้าคุณพยายามคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงใจ คุณอาจจะมีวิธีทำให้มีเวลาบ้างก็ได้

"อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดถึงความหมายอันแท้จริงของการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ มันเป็นเรื่องของการฝึกและพัฒนาจิต ทัศนคติ และสภาวะทางจิตอารมณ์และสุขภาวะ คุณไม่ควรจำกัดความเข้าใจของปฏิบัติการทางจิตวิญญาณอยู่เฉพาะทางกายและทางวาจา เช่น การท่องมนต์เท่านั้น ถ้าความเข้าใจการปฏิบัติทางจิตวิญญาณจำกัดอยู่เฉพาะกิจกรรมนี้เท่านั้น คุณก็จะต้องการช่วงเวลาจำเพาะสำหรับการนี้ เพราะ คุณไม่สามารถทำงานบ้านต่างๆ เช่น ทำครัว ขณะที่กำลังสวดมนต์ ซึ่งอาจจะทำให้คนรอบๆ ตัวรำคาญ แต่ถ้าคุณเข้าใจ การปฏิบัติทางจิตวิญญาณในความหมายที่แท้จริง คุณอาจใช้เวลาเพื่อการนี้ได้ทั้ง ๒๔ ชั่วโมงเลย มิติทางจิตวิญญาณคือทัศนคติทางจิตที่คุณปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ เช่น ถ้าคุณพบว่าคุณกำลังอยากจะทำร้ายคนอื่น แล้วคุณก็ดูแลตัวเองให้ยับยั้งการที่จะทำอย่างนั้น หรือคุณกำลังจะอารมณ์เสีย คุณเกิดตั้งสติได้และพูดกับตัวเองว่า นี่ไม่ใช่วิถีทางที่เหมาะสม นี้ที่แท้ก็คือ การปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ถ้าเห็นอย่างนี้คุณก็จะมีเวลาเสมอ

"เมื่อพูดถึงตรงนี้ ทำให้อาตมานึกถึงครูสอนลัทธิกะดัมปาของทิเบตคนหนึ่งชื่อโปโตวา ผู้ซึ่งกล่าวว่า สำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่มีความมั่นคงภายในถึงระดับหนึ่ง เหตุการณ์และประสบการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราเป็นคำสอนชนิดหนึ่ง เป็นประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ที่อาตมาคิดว่าเป็นความจริงทีเดียว ดังนั้น ด้วยทัศนะอย่างนี้ เมื่อคุณประสบบางสิ่งบางอย่าง เช่น ความรุนแรง และเซ็กซ์ เหมือนในโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ คุณก็อาจจะเห็นมันอย่างมีสติรู้ว่าเป็นโทษอย่างไรที่ไปสุดโต่งเช่นนั้นแล้ว แทนที่จะถูกภาพนั้นครอบงำ คุณก็อาจจะใช้ฉากนั้นเป็นดรรชนีชี้วัดถึงผลของอารมณ์ร้ายอันปราศจากการควบคุม มันเป็นอะไรบางอย่างที่คุณเอามาเป็นบทเรียน"

ในฐานะชาวพุทธ ระบบการปฏิบัติทางจิตวิญญาณของท่านทะไล ลามะ มีลักษณะพิเศษที่เป็นพุทธ ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านเล่าถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มีจิตภาวนาแบบพุทธ เพื่อพิจารณาสัจธรรม และการสร้างมโนภาพ ท่านอาจจะพูดถึงเรื่องเหล่านี้เพียงสั้นๆ แต่หมอคัตเลอร์จากการที่ได้สนทนากับท่านเป็นปีๆ ได้มีโอกาสได้ยินท่านพูดถึงหัวข้อเหล่านี้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นการพูดถึงสิ่งที่ซับซ้อนยิ่งกว่าเรื่องใดๆ ที่หมอคัตเลอร์เคยได้ยิน การพูดถึงสัจธรรมของท่านเต็มไปด้วยข้อถกเถียงและการวิเคราะห์ทางปรัชญาที่ซับซ้อน ท่านอธิบายการสร้างมโนภาพแบบตันตระก็ละเอียดอ่อนอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นกรรมฐานและการสร้างมโนภาพซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างแผนที่รวมของจักรวาลขึ้นในจินตนาการ ท่านใช้เวลาตลอดชีวิตของท่านในการศึกษาและบำเพ็ญจิตภาวนาในแนวพุทธ โดยระลึกรู้ภูมิหลังของท่านอย่างนี้ และรู้ถึงความพยายามอันมีขอบเขตใหญ่โตของท่าน หมอคัตเลอร์จึงถามท่าน ดังต่อไปนี้

ข้อมูลสื่อ

329-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี