โรคละลอก
ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงโรคผิวหนังที่พระไตรปิฎกระบุว่ามีอยู่ในสมัยพุทธกาล เช่น โรคเรื้อน โรคฝี โรคฝีดาษ โรคสิว โรคกลาก โรคเริม โรคพุพอง โรคหิด โรคละลอก โรคหูด โรคคุดทะราด โดยได้กล่าวถึงโรคสิวไปแล้ว ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงโรคผิวหนังโบราณที่ชื่ออาจไม่คุ้นหูนักในปัจจุบันบันนี้คือโรคละลอก
เมื่อเอ่ยถึงโรคละลอกนี้คงต้องกล่าวถึงการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนเด็กๆ เรียนมาว่าพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตด้วยพระยอดพิษขึ้นที่พระนลาฏ คือเป็นฝีอักเสบมากที่หน้าผาก ดังพงศาวดารจารึกว่า
“เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๔๗ สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปต่อสู้กับพระเจ้าอังวะ ทรงตั้งค่ายที่เมืองหาง และทรงพระประชวรเป็นพระยอดพิษที่พระนลาฏ จนถึงเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง พระชันษา ๕๐ พรรษา รวมเวลาเสวยราชสมบัติเป็นเวลา ๑๕ ปี”...
แต่ต่อมาพอเป็นหมอผิวหนัง ก็เปลี่ยนมาเชื่อว่าท่านอาจสวรรคตด้วยทรงเป็นสิวหัวช้าง (nodulocystic acne) และอาจจะเพราะทรงแกะสิว หรือสิวแตกเอง แล้วเชื้อแบคทีเรียลุกลามตามหลอดเลือดดำใบหน้า เข้าไปสู่หลอดเลือดดำที่อยู่ใต้สมอง จนเกิดการอักเสบของหลอดเลือดดำที่ใต้สมองที่เรียกว่า cavernous sinus thrombosis ทำให้เกิดอาการตามัว หรืออาจตาบอด ปวดศีรษะ ใบหน้าบวมเป่ง ใบหน้าเป็นอัมพาต
เมื่อมีการติดเชื้อเกิดการอักเสบจะเกิดอาการบวม แดง ร้อน ตามมา แต่พอไปเกิดการอักเสบที่หย่อมหลอดเลือดนี้ที่อยู่ใต้สมองจะเพิ่มความดันในสมอง เพราะสมองถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ เมื่อเกิดก้อนบวมโตในสมองก้อนนี้ก็จะไปกดศูนย์กลางการทำงานในสมองที่จำเป็นในการดำรงจึงอาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงต้องพร่ำเตือนกันว่าอย่าแกะสิวเลยครับ
ที่จริงแล้วโรค cavernous sinus thrombosis พบได้น้อยมาก แต่ถึงพบน้อยมากก็น่ากลัวมากเพราะโรคนี้มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ ๓๐
ที่น่าสนใจคือบางตำราระบุว่า “สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวละลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต...”
คำว่า “ละลอก” หรือ “ระลอก” นี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ แปลว่าชื่อโรคชนิดหนึ่ง พองเป็นหัวเล็กๆ คล้ายฝี
ส่วนคำว่า “บาดทะพิษ” แปลว่า แผลที่ตัวเชื้อโรค Streptococci เข้าไปทําให้เลือดเป็นพิษ จึงน่าจะเข้าได้กับข้อมูลดั้งเดิมที่เคยเรียนรู้สมัยยังเด็กว่าท่านสวรรคตด้วยเป็นฝี หรือสิวหัวช้าง และเชื้อลุกลามตามหลอดเลือดดำเข้าสู่สมอง
แต่ก็มีบางท่านสันนิษฐานว่าพระองค์ท่านอาจเป็นโรคไฟลามทุ่ง ที่ศัพท์แพทย์เรียกว่า erysipelas สมัยก่อนโรคไฟลามทุ่งนี้มักเป็นที่ใบหน้า และเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus pyogenes แต่ยุคสมัยปัจจุบันนี้โรคนี้มักเป็นที่ขา และอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ non–group A streptococci โรคนี้จะมีผิวหนังอักเสบบวมแดงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสมชื่อไฟลามทุ่ง
ยังมีบางตำนานที่เชื่อว่าท่านเสด็จสวรรคตเพราะโดนผึ้งต่อย หากเป็นจากผึ้งต่อยก็จะเป็นการสวรรคตจากการแพ้อย่างรุนแรง จนหมดพระสติ หรือช็อกไปนั่นเอง
นอกจากผึ้งแล้ว ต่อและแตนก็ทำให้แพ้อย่างรุนแรงจนเสียชีวิตได้เช่นกัน และก็ขอสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า...
นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ในเว็บไซต์ของนิตยสารสารคดี (www.sarakadee.com) ระบุว่าในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้ง ๒ พระองค์...”
- อ่าน 11,441 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้