• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นม... พระเอกหรือผู้ร้าย

เป็นที่ทราบกันดีว่า นมเป็นแหล่งของสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินบี ๒ วิตามินดี อีกทั้งเป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดี จึงทำให้นมนั้นเป็นอาหารที่ถูกคัดเลือกให้บรรจุอยู่โภชนบัญญัติและธงโภชนาการ

กระทรวงสาธารณสุขแนะนำคนไทยดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย โดยเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและวัยรุ่น ปริมาณที่พอเหมาะคือ ดื่มวันละ ๒-๓ แก้ว ส่วนผู้ใหญ่ดื่มวันละ ๑-๒ แก้ว และควรเป็นนมพร่องมันเนย 

ข้อดีของนมและผลิตภัณฑ์นมนั้น นอกเหนือจากให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ทำให้สะดวกต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในสังคมเมืองทุกวันนี้ที่มีแต่ความเร่งรีบ  อีกทั้งราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีการกล่าวอ้างจากกลุ่มคนที่ต่อต้านการดื่มนม ว่านมเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ หลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค จนทำให้บางคนมีความคิดว่า จะเลิกดื่มนมกันไปเลย ดังนั้น เรามาตามล่าหาความจริงกันว่า “Is milk bad for you?” “นม” ไม่ดีต่อสุขภาพของคุณจริงหรือ

 
นมกับโรคมะเร็ง

มีการกล่าวอ้างว่านมทำให้เกิดมะเร็งในกลุ่มคนทางตะวันตก เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมีความสัมพันธ์กับการดื่มนม อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งมีการกินอาหารที่มีไขมันปริมาณ สูงรวมถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ติดมัน และตอนท้ายของรายงานนี้ยังสรุปอีกด้วยว่า ไม่ยืนยันว่านมทำให้เกิดมะเร็งต่อผู้บริโภคจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมหลังจากนั้นมีงานวิจัยใหม่ออกมาหลายฉบับ ได้ข้อสรุปคือปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยัน ทั้งงานวิจัยทางด้านระบาดวิทยา และงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ ว่านมเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ หากแต่ในทางตรงกันข้ามพบว่านมมีผลต่อการลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยสารอาหารที่เป็นพระเอกในการป้องกันคือ แคลเซียม 

นอกจากนี้ เคซีน (casein) เวย์โปรตีน (whey) และโบไวน์ แล็กโทเฟอร์ริน (bovine lactoferrin) ก็มีส่วนช่วยป้องกันมะเร็ง โดยโบไวน์ แล็กโทเฟอร์ริน มีฤทธิ์กระตุ้นเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน (Natural killer cell) ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และสามารถกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเกิดการตายแบบ Apoptosis ในเซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งลำไส้ และเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร โดยแล็กโทเฟอร์รินสามารถควบคุมการแสดงออกของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ มีรายงานวิจัยเพิ่มเติมจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นว่าแล็กโทเฟอร์รินสามารถกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ Caspase-1 และ สาร interleukin-18 (IL-18) ส่งผลสำคัญในการยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง และแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ มีรายงานวิจัยพบว่าการใส่นมลงไปในชา สามารถช่วยเพิ่มฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมในหนู

 
นมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด
มีการกล่าวอ้างว่าการดื่มนมมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และส่งผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ
ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยทางระบาดวิทยาใดๆ ที่ยืนยันว่านมทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนผิดปกติและทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ 
ในทางตรงกันข้ามกลับมีรายงานว่า นมและผลิตภัณฑ์นม ประเภทนมเปรี้ยวชนิดครีมและนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งส่งผลให้ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบตันได้

นอกจากนี้ นมยังมีไขมันชนิดหนึ่งที่พบมากในเยื่อหุ้มเซลล์ ชื่อ Sphingomyelin รายงานว่าสารนี้สามารถช่วยเพิ่มระดับของคอเลสเตอรอลชนิดดีหรือเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ได้แล้วช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวหรือแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL cholesterol) ลงได้ 

ยังมีหลักฐานยืนยันอีกว่าหากให้อาสาสมัครที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดื่มผงโกโก้ร่วมกับนม ทำให้ค่าลิพิดโพรไฟล์ของอาสาสมัครดีขึ้น โดยมีค่าเอชดีแอลที่สูงขึ้น และแอลดีแอลต่ำลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มผงโกโก้เพียงอย่างเดียว 

นอกจากสารดังกล่าวแล้ว สารอาหารพระเอกที่พบมากอย่างแคลเซียมจากผลิตภัณฑ์นม ยังส่งผลดีมากในเรื่องของการลดน้ำหนักและการลดปริมาณไขมันในร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งจะต่างจากแคลเซียมที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

 
นมกับโรคภูมิแพ้
มีการกล่าวอ้างที่ว่านมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หอบหืด ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล ท้องเสียเรื้อรัง 
ข้อเท็จจริงคือ นมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ แต่อาการแพ้นมเกิดจาก อาการแพ้น้ำตาลแล็กโทสที่อยู่ในนม เนื่องจากร้อยละ ๘๐ ของคนเอเชียขาดเอนไซม์แล็กเทสที่ย่อยน้ำตาลแล็กโทส เมื่อดื่มนมเข้าไป จุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้จะนำน้ำตาลแล็กโทสไปใช้ เกิดการสร้างกรดและแก๊ส ทำให้เกิดอาการปวดท้อง เสียดท้อง แน่นท้อง และท้องเสียหลังจากดื่มนม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับโรคภูมิแพ้ เนื่องจากการเกิดโรคภูมิแพ้เกี่ยวข้องกับเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
 
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้นม คือ โปรตีนที่อยู่ในนม มักพบเด็กทารกเนื่องจากทารกมีน้ำย่อยที่ยังไม่สมบูรณ์ อาจทำให้โปรตีนโมเลกุลใหญ่ของนมถูกดูดซึมไปได้ ก่อให้เกิดอาการ แพ้โปรตีนของนม เช่น เป็นผื่นคัน ท้องเดิน อาเจียน หรือหอบ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเด็กทารกควรดื่มนมแม่ดีที่สุด อาการแพ้โปรตีน จะเกิดขึ้นในเด็กทารกช่วง ๑-๒ ปีแรก เมื่อเด็กโตขึ้น ระบบน้ำย่อย จะเข้าสู่ภาวะสมบูรณ์ อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเข้าสู่วัยเรียนและไม่ค่อยพบในวัยผู้ใหญ่ 
 
ส่วนคำกล่าวอ้างที่ว่าการดื่มนมทำให้เกิดการสร้างเมือก (Mucus) มากขึ้นที่ลำไส้และทางเดินหายใจ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันในคนปกติ 
สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด มีรายงานวิจัยกล่าวว่า ถ้าดื่มนมอาจจะทำให้เกิดการสร้างเมือกมากขึ้นได้ และมีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ขัดแย้งกันเป็นจำนวนมาก จนยังหาข้อสรุปไม่ได้ 
อย่างไรก็ตาม สภาโรคหอบหืดแห่งชาติของออสเตรเลียรายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าเมื่อผู้ป่วยโรคหอบหืดงดดื่มนมจะช่วยลดอาการหอบได้ อีกทั้งยืนยันว่านมไม่ได้ทำให้เกิดเมือกในระบบหายใจเพิ่มขึ้น 
 
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเชื่อว่านมทำให้มีการผลิตเยื่อเมือกมากขึ้น National Dairy Council กล่าวว่าเกิดจากความรู้สึก (Sensory perceptions) ของผู้บริโภค คือเมื่อดื่มนมเข้าไปแล้วจะรู้สึกลื่น เหมือนมีอะไรมาเคลือบที่ลิ้น เพราะหลังจากดื่มนมเข้าไปแล้ว milk emulsion จะเข้าไปเคลือบลิ้นและภายในลำคอของเราชั่วคราวเท่านั้น เพียงแค่ดื่มน้ำเปล่าตามความรู้สึกนี้ก็จะหายไป ซึ่งพบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณการสร้างเยื่อเมือกในร่างกายแต่อย่างใด 
 
นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้วยังมีการกล่าวอ้างที่ว่านมทำให้เกิดโรคอื่นๆ อีกเช่น โรคกระดูกพรุน สิวอักเสบ สมาธิสั้น กระตุ้นให้เด็กสาวเข้าสู่ภาวะวัยรุ่นเร็วขึ้น เนื่องจากได้รับฮอร์โมนที่อยู่ในนมวัวมากเกินไป ทั้งนี้เมื่อสืบหาข้อมูลจากงานวิจัยที่น่าเชือถือได้ ล้วนได้ข้อสรุปที่ว่าขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าว
ทั้งนี้ การเกิดโรคในคน อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็จริง แต่มีปัจจัยอื่นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ได้แก่ พันธุกรรม เพศ อายุ สิ่งแวดล้อม รูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งการกล่าวหาว่านมเพียงอย่างเดียวเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 
 
ผู้เขียนขอแนะนำว่า การดื่มนมปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายของคนไทย ตามที่ในธงโภชนาการระบุไว้ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย และไม่ควรดื่มมากเกินไป ควรมีการกินอาหารให้หลากหลายด้วย และถ้าจะให้ดีนั้นขอแนะนำให้เลือกชนิดของนมที่ดื่มด้วย
 
 
สำหรับผู้ที่ต้องควบคุมไขมันในร่างกายนั้นควรจะเลือกนมพร่องมันเนย (Low fat milk) หรือนมขาดมันเนย (Skim milk) 
ส่วนคนปกติหากดื่มปริมาณที่ไม่มากเกินไปและมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม สามารถเลือกดื่มชนิดใดก็ได้ 
 
กรณีของคนที่เพิ่งจะเริ่มหันมาดื่มนมให้สบายท้องคือ ขอให้ดื่มทีละน้อยก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณ ควรดื่มนมหลังอาหาร ที่สำคัญคือไม่ควรดื่มนมขณะท้องว่าง แต่ให้ดื่มหลังอาหาร หรือพร้อมกับอาหาร เช่น อาจกินขนมปังตอนเช้า พร้อมกับนม ๑ กล่อง โดยแบ่งดื่มทีละครึ่งกล่องก็ได้ เมื่อทำอย่างนี้บ่อยๆ ร่างกายจะเริ่มปรับตัวได้ สามารถลดอาการไม่สบายท้อง แน่นท้อง และท้องเสียได้ 
 
ถ้าทดลองวิธีนี้ข้างต้นแล้วยังมีอาการไม่สบายท้องอยู่ อาจเปลี่ยนไปกินนมเปรี้ยวชนิดครีม หรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่มแทนได้ เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไป ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลแล็กโทส ที่อยู่ในนมแล้ว 
 
ผู้ที่ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือแพ้นมจริงๆ สามารถเลือกผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น นมถั่วเหลือง ผักใบเขียว และปลาตัวเล็ก เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดแคลเซียม
สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้บริโภคว่า ปัจจุบันเป็นยุคของโลกออนไลน์ ข้อมูลทุกอย่างสามารถสืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าเราอยากรู้เรื่องอะไรเพียงแค่พิมพ์แล้วกดปุ่ม Enter ก็จะมีข้อมูลทุกอย่างขึ้นมาให้เลือกอ่านได้อย่างสบายใจ แต่ข้อเสียของโลกออนไลน์ก็คือ ข้อมูลที่ได้มีทั้งจริงและไม่จริง อีกทั้งยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ปัญหาเกี่ยวกับการหลอกหลวงผู้บริโภคหรือนำเสนอข้อมูลให้ผู้บริโภคเข้าใจแบบผิดๆ ยังมีให้เห็นกันอยู่มาก ผู้บริโภคจึงต้องระวังและมีการไตร่ตรองข้อมูลที่รับมา โดยพิจารณาให้รอบคอบ 
ทั้งนี้อาจนำหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ใน “กาลามสูตร” ที่ท่านสอนไม่ให้เชื่อสิ่งต่างๆ อย่างงมงาย ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ดีมากและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน ดังคำกล่าวที่ว่า ศรัทธาต้องมาคู่กับปัญญาเสมอ โดยผู้เขียนขอยกความดีให้กับ รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียนเอง ที่ท่านมีส่วนช่วยให้เข้าใจหลักธรรมข้อนี้มากขึ้น 
 
ดังนั้น หากผู้บริโภคจะเชื่อข้อมูลข่าวสารด้านอาหารและโภชนาการ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบที่ต้นตอของที่มาว่าน่าเชื่อถือได้เพียงไร หรือถ้าไม่แน่ใจก็ให้ถามไปที่นักโภชนาการ หรือนักวิชาการ 
 
ถ้าต้องการสืบค้นของมูลในเว็บไซต์ ขอแนะนำให้หาข้อมูลจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือได้ เช่น 
- สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 
- สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
- เว็บไซต์ของต่างประเทศ ได้แก่ U.S. Food and Drug Administration, Food and Nutrition Service และ National Dairy Council
 
เอกสารอ้างอิง
1.  รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล. ดื่มนมตอนท้องว่าง. หมอชาวบ้าน. เล่มที่ ๒๒๕ เดือน/ปี ๑๒/๒๕๔๐.
2. PARODI, P. W. 2012. Impact of cows’ milk estrogen on cancer risk. International Dairy Journal, 22, 3-14.
3. TSUDA, H., SEKINE, K., USHIDA, Y., KUHARA, T., TAKASUKA, N., IIGO, M., HAN, B. S. & MOORE, M. A. 2000. Milk and dairy products in cancer prevention: focus on bovine lactoferrin. Mutation Research/Reviews in Mutation Research, 462, 227-233.
4. WEISBURGER, J. H., RIVENSON, A., GARR, K. & ALIAGA, C. 1997. Tea, or tea and milk, inhibit mammary gland and colon carcinogenesis in rats. Cancer Letters, 114, 323-327.
 
 

 

ข้อมูลสื่อ

398-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 398
มิถุนายน 2555
ดร.ดาลัด ศิริวัน