ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๙๒
ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายชาวบราซิล อายุ ๕๗ ปี ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เพราะเป็นที่รักและชื่นชมของนักเตะและแฟนฟุตบอลทั่วโลกในความรู้ความสามารถของท่านทั้งในและนอกสนามฟุตบอล โดยท่านได้รับการยืนสงบนิ่งไว้อาลัยในการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญๆ ทั่วโลกในวันต่อๆ มา
ท่านคือ “หมอโสคราเตส” (Dr.Socrates) ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่นักฟุตบอล (นักเตะและแฟน) ใช้เรียกท่านแทนชื่อจริงซึ่งยาวมาก คือ Socrates Brasileiro Sampaio de Sousa Vicra de Oliviera (ชื่อแรกของท่านตรงกับปราชญ์ชาวกรีก ช่วง พ.ศ.๗๐-๑๔๐ โดยประมาณ ที่เราขนานนามนักปราชญ์ท่านนี้ว่า “โสเครตีส”)
ท่านเกิดที่เมืองเบเลม (Belem) ในประเทศบราซิล เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๗ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอัลเบิร์ตไอน์สไตน์ (Albert Einstein Hospital) ในนครเซา เปาโล (Sao Paulo) ประเทศบราซิล หลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการอาหารเป็นพิษ ในคืนวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ และเสียชีวิตด้วยภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (septic shock) เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ในวัย ๕๗ ปี
ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเตะชั้น “เทพ” ในระดับเดียวกับนักเตะ เช่น ซิโก้ (Zico) ของบราซิล โดยมักเล่นเป็น “กองกลางรุก” (attacking midfielder) และนำทีม Corinthians ชนะเลิศ Sao Paulo Championship ใน พ.ศ.๒๕๒๒, ๒๕๒๕ และ ๒๕๒๖ และนำทีม Flamingo ชนะเลิศ Rio de Janeiro Championship และ Rio Cup ใน พ.ศ.๒๕๒๙
ท่านเป็นหัวหน้าทีมฟุตบอลบราซิลชุดชิงแชมป์โลกใน พ.ศ.๒๕๒๕ โดยทำได้ ๒๒ ประตู และ ๖๐ caps สำหรับทีมบราซิล และแม้จะไม่ได้แชมป์โลกในปีนั้น แต่บรรดานักฟุตบอลต่างยกย่องความสามารถและความเป็นสุภาพบุรุษนักกีฬาของท่าน และชื่นชมกับลีลาและวิธีการเล่นที่สวยงาม สง่าและนิ่มนวลที่หาคนเทียบได้ยาก
ท่านเคยไปร่วมทีม Fiorentina ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ในประเทศอิตาลี ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๓๐ ท่านให้สัมภาษณ์ใน พ.ศ.๒๕๕๓ ว่า “วิถีชีวิตในยุโรปอยู่ในระเบียบแบบแผนและขั้นตอนมาก ไม่เหมือนในบราซิลที่เป็นไปตามธรรมชาติมากกว่า (more spontaneous)… ผมอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ประมาณ ๑ ปีกับทีม Fiorentina และบางครั้งผมไม่รู้สึกอยากฝึกซ้อมเลย แต่อยากไปเที่ยวกับเพื่อน ไปปาร์ตี้หรือสูบบุหรี่ เพราะรู้สึกดีต่อชีวิตมากกว่าฟุตบอล”
อย่างไรก็ตาม ท่านกลับไปบราซิล และเล่นฟุตบอลให้กับทีม Santos ใน พ.ศ.๒๕๓๑-๒๕๓๒ และทีม Botafogo ใน พ.ศ.๒๕๓๒ ก่อนจะลาออกจากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพใน พ.ศ.๒๕๓๒
นอกจากการเป็นนักเตะฟุตบอลที่มีชื่อเสียงแล้ว ท่านยังมีชื่อในด้านการเป็นนักเคลื่อนไหวฝีปากกล้าในทางการเมืองและต่อต้านเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจปกครองบราซิลระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๒๕ โดยใน พ.ศ.๒๕๒๕ ท่านถึงกับนำทีมฟุตบอลสวมเสื้อที่ด้านหลังมีข้อความว่า “ฉันต้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฉัน” ลงในสนามแข่งขันฟุตบอล ทั้งที่ไม่มีใครกล้ากระทำเช่นนั้นในยุคเผด็จการทหาร
ท่านได้พยายามศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จเป็นแพทย์ (doctorate in medicine) แต่ไม่ค่อยจะโด่งดังในด้านการแพทย์ โดยกลับโด่งดังและกว้างขวางในฐานะพิธีกรโทรทัศน์และนักเขียน ที่มีแนวคิดต่างจากคนอื่น โดยเฉพาะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการกีฬา
ท่านเคยให้รายชื่อวีรบุรุษในดวงใจ คือ ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) นายแพทย์เช กูวารา (Che Guevara) และนักร้องจอห์น เลนนอน (John Lennon)
ท่านสูบบุหรี่และดื่มสุราเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเป็นนักเตะฟุตบอล และเคยให้สัมภาษณ์นักข่าวการกีฬาทางโทรทัศน์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ว่า
“ผมไม่เคยมีปัญหากับแอลกอฮอล์ เพราะผมไม่ได้เสพติดสุรา เนื่องจากผมไม่เคยมีอาการถอนสุรา (alcohol withdrawal symptoms) หลังหยุดดื่มเป็นเวลานานๆ ตลอดเวลาที่ผมเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ผมถือว่าแอลกอฮอล์เป็นเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่ท่านเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ จากเลือดออกในทางเดินอาหาร ท่านได้ตระหนักว่าภาวะดังกล่าวเป็นผลร้ายจากการดื่มสุรามากเกินไปในสมัยเป็นนักฟุตบอล แม้ท่านจะยืนกรานว่าสุราไม่ได้มีผลกระทบต่อการเล่นฟุตบอลของท่าน
แต่คงยากจะปฏิเสธว่า สุราไม่ได้มีผลต่อสุขภาพของท่านและทำให้ท่านเสียชีวิตในวัยเพียง ๕๗ ปี
เพราะภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งท่านยอมรับว่าน่าจะเป็นผลจากการดื่มสุรามากในวัยหนุ่ม ทำให้เดาว่าภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องกับตับที่ทำงานลดลงจากพิษของสุราหรืออาจถึงขั้นเป็นโรคตับจากพิษสุราได้
แต่การตระหนักและยอมรับพิษร้ายของสุราที่ดื่มมากในวัยหนุ่ม และเพิ่งมาปรากฏอาการอย่างรุนแรงใน พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นการตระหนักรู้ที่ช้าและสายเกินไป
เพราะนอกจากสุราจะทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารแล้ว ยังทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงด้วย
ดังนั้น เมื่อท่านเกิดภาวะอาหารเป็นพิษในคืนวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ท่านจึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากการติดเชื้อในกระแสเลือดในวันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔
นี่เป็นตัวอย่างผู้ป่วยที่แม้ว่าจะเป็นนักกีฬาและเป็นแพทย์ แต่ก็ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพราะความประมาท ไม่ดูแลสุขภาพของตนเอง และเสพสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (บุหรี่และสุรา) เป็นประจำในวัยหนุ่ม จนเมื่อเกิดอาการรุนแรงและตระหนักว่ามีสาเหตุจากพิษภัยของสิ่งที่เสพนั้น ก็สายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้แล้ว
โดยทั่วไป นักกีฬาระดับชาติและระดับโลก จะได้รับการตรวจสุขภาพ (รวมทั้งการตรวจเลือดและอื่นๆ) เป็นประจำ แต่คงไม่พบความผิดปกติใดๆ “หมอโสคราเตส” จึงเพิ่งจะตระหนักถึงพิษภัยของสุราเมื่อเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารขณะที่มีอายุถึง ๕๗ ปีแล้ว
การตรวจสุขภาพที่กระทำกันทั่วไป จึงมักจะก่อให้เกิดความประมาท ถ้าผลการตรวจเลือดและเล็บต่างๆ ออกมาเป็นปกติ ทั้งที่พฤติกรรมของผู้ที่ตรวจสุขภาพแสดงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอย่างชัดเจน
การหยุดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ จึงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มากกว่าการตรวจสุขภาพที่กระทำกันโดยทั่วไป
การสูบบุหรี่ก็เช่นเดียวกัน กว่าพิษภัยร้ายแรงจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ก็จะเกิดหลังสูบบุหรี่เป็นประจำอยู่หลายสิบปี เช่น โรคมะเร็งปอด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น ซึ่งเมื่อปรากฏอาการชัดเจน และ/หรือรุนแรง ก็มักจะสายเกินแก้แล้วเช่นเดียวกัน
- อ่าน 4,041 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้