• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รังแคที่ผิวหน้า เซ็บเดิร์ม...ภัยผิวหน้าหน้าหนาว

 รังแคที่ผิวหน้า เซ็บเดิร์ม...ภัยผิวหน้าหน้าหนาว


เดือนตุลาคมบรรยากาศปลายฝนต้นหนาว เริ่มมีสายลมหนาวพัดเข้ามา อากาศเย็นสบาย แต่มีหลายคนบ่นว่ามีผื่นคันที่ผิวหน้า

สังเกตกันให้ดีๆ พบว่าเมื่อลมหนาวโชยมาบวกกับความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ จะส่งผลให้เกิดปัญหาผิวหนังคืออาการคัน หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าอาการคันเหล่านี้เกิดจาก ผิวแห้ง หรือจากความสกปรก จึงใช้สบู่กระหน่ำฟอกถูทาบริเวณนั้นมากขึ้น อาการก็หนักมากขึ้นเช่นกัน บวกกับสาเหตุจากความเครียด และการอยู่ห้องแอร์เป็นเวลานาน หรือถูกแสงแดดจัด ดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้ แต่การนิยมดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด ทำให้คนเราถูก "โรคเซ็บเดิร์ม" (seborrheic dermatitis) หรือรังแคของผิวหน้าเล่นงานเอาได้ ซึ่งเป็นโรคที่พบในคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวเช่นนี้

โรคเซ็บเดิร์มพบบ่อยมากในฤดูหนาวเพราะอากาศแห้ง ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับรังแค (dandruff) และโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis)  แต่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่ไม่ติดต่อ แสดงอาการเป็นผื่นแดงตามหน้าผาก ข้างแก้ม คิ้ว หรือเป็นผื่นมีขุยที่เหนือคิ้ว ร่องจมูก แนวไรผม (ภาพที่ ๑)ถ้าเป็นชนิดรุนแรง ผื่นจะเห็นได้ชัดเจนมากซึ่งดูแล้วไม่ต่างไปจากโรค สะเก็ดเงิน  นอกจากพบผื่นที่ใบหน้าแล้วยังอาจพบผื่นที่หนังศีรษะคล้ายรังแค (ภาพที่ ๒) แต่หนังศีรษะจะมีผื่นแดงและ ยังพบตามตำแหน่งอื่นๆ ที่มีต่อมไขมันมาก ได้แก่ รูหู หลัง หู สะดือ หน้าอก และหัวหน่าว เป็นต้น (ภาพที่ ๓) บางรายอาจมีอาการคัน ตำแหน่งที่พบเซ็บเดิร์มมักจะเป็นตำแหน่งเดียวกับที่พบสิว นั่นคือบริเวณที่ต่อมไขมันทำงานมากเช่นกัน ที่ผ่านมาพบชาวฝรั่งตะวันตกเป็นโรคเซ็บเดิร์มมาก แต่ปัจจุบันคนไทยมีวิถีชีวิตคล้ายชาวตะวันตกและมีความเครียดสูงขึ้น จึงทำให้พบอาการเช่นนี้ มากขึ้นตามไปด้วย 

ปัจจัยที่ทำให้โรคเซ็บเดิร์มหรือรังแคของผิวหน้ากำเริบ ได้แก่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหน้าแห้งจากการล้างหน้าฟอกสบู่บ่อยครั้งเกินไป หรืออยู่ในห้องปรับอากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ถูกแสงแดดจัด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัด เหล่านี้ล้วนทำให้รังแคของผิวหน้ากำเริบได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคเอดส์จะเป็นเซ็บเดิร์มอย่างรุนแรง แต่คนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นโรคเอดส์ก็พบโรคเซ็บเดิร์มได้บ่อยเช่นกัน จึงไม่ควรวิตกกังวลว่าถ้าเป็นเซ็บเดิร์มแล้วจะต้องเป็นเอดส์เสมอไป
แนวทางการรักษา "รังแคที่ผิวหน้า" คือหลีกเลี่ยง ปัจจัยกระตุ้นดังกล่าว

หากเป็นมากควรพบแพทย์ผิวหนัง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาทาที่เหมาะสม เช่น ครีมทาลดเชื้อยีสต์ เช่น คีโทโคนาโซล หรือครีมสตีรอยด์อย่างอ่อนทา ถ้ามีผื่นคันของหนังศีรษะร่วมด้วยก็อาจต้องใช้แชมพูยา เช่น แชมพูน้ำมันดิน (Tar shampoo) แชมพู คีโทโคนาโซล (Ketoconazole) หรือแชมพูซิงก์ไพริไทออน (Zinc pyrithion) สระผม โดยควรสระแล้วหมักไว้ ๕-๑๐ นาที เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ แล้วจึงล้างออก เนื่องจากโรคนี้มักเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะจะทำให้เครียดและโรคยิ่งกำเริบขึ้น

ข้อมูลสื่อ

330-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 330
ตุลาคม 2549
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร