• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะ...ละทุกข์

"คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น คืนนั้นคืนไหนใจเพ้อฝัน คืนและวันฝันไปไกลลิบโลก ดั่งนกน้อยลิ่วล่องลอยแรงลมโบก พออับโชคตกลงกลางทะเลใจ"
ข้างต้นเป็นบางส่วนของเพลง "ทะเลใจ" ที่ผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักดี และคงอีกเช่นกันที่หลายท่านคงเคยประสบกับช่วงเวลา "กายแพ้ใจ ใจพ่ายกาย" ซึ่งดูจะเป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย และหมดสิ้นหนทาง แต่โยคะสามารถที่จะเยียวยาได้อย่างน่าอัศจรรย์

โยคะคืออะไร
โยคะคือศาสตร์โบราณที่ถือกำเนิดในประเทศอินเดียมากว่า ๕,๐๐๐ ปี เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่สำคัญยิ่งของมวลมนุษยชาติ เป็นการฝึกตนเอง              เพื่อปรับสมดุลระหว่างกายกับใจ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ความเป็นมนุษย์ในตัวผู้ฝึกสู่ความสามารถสูงสุด ศักยภาพในที่นี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางกายภาพเท่านั้น                     หากยังรวมถึงศักยภาพทางจิตใจด้วย ซึ่งในปัจจุบันศาสตร์ทรงคุณค่าสาขานี้ได้แพร่หลายออกจากอินเดียสู่ทุกประเทศ ทั้งตะวันตกจดตะวันออก ในประเทศไทยเองก็มี สถาบันโยคะวิชาการ เป็นผู้บุกเบิกนำโยคะสายสถาบันไกวัลยธรรม มาเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปด้วย

สิ่งที่จะได้รับจากการฝึกโยคะ
๑.การรวมกายกับจิตเข้าด้วยกัน อันหมายถึงการมีสติรู้อยู่กับกายตลอดเวลา เป็นจุดสำคัญของการฝึกโยคะ ที่ผู้ฝึกต้องกำหนดจิตให้รู้ตัวว่าตนเองทำอะไรอยู่ทุกขณะจิต
๒.ความสมดุล การฝึกโยคะเป็นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งสมดุลระหว่างกายกับใจของตนเอง และสมดุลระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อม
๓.การพัฒนาจิต กระบวนการของโยคะเป็นการฝึกจิต โยคะทำให้จิตเกิดสมาธิ สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิอยู่กับกาย ก็จะสามารถมองเห็นปัญหา หรือสิ่งที่จะเกิดได้ง่ายขึ้น

เทคนิค (พื้นฐาน) โยคะ ๖ ประการ
๑.อาสนะ คือการฝึกฝนร่างกายด้วยท่าต่างๆ เหมือนกับที่ผู้อ่านหลายท่านเคยเห็น เช่น ท่าศพ ท่างู ท่านั่งเพชร ท่ากงล้อ เป็นต้น โดยในแต่ละท่าจะให้ประโยชน์               แก่ร่างกายแตกต่างกันออกไป การทำอาสนะนั้น ผู้ฝึกจะต้องรู้สึกสบายกาย จิตนิ่ง ใช้แรงแต่น้อย มีสติใช้จิตรับรู้ทุกการเคลื่อนไหวของร่างกาย
๒.ปราณยามะ คือการฝึกควบคุมลมหายใจ มีสติรับรู้ลมหายใจของตนเอง หายใจเข้าให้รับรู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกให้รับรู้ว่าหายใจออก
๓.พันธะและมุทรา คือการเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อในบางส่วน โดยใช้จิตรับรู้ทุกการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อส่วนนั้น จะมีผลทำให้เกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและจิต
๔.กริยา คือการชำระล้าง
๕.สมาธิ คือการกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง ลมหายใจ หรือการเกร็งกล้ามเนื้อ ในการฝึกโยคะนั้น หากผู้ฝึกไม่สามารถกำหนดจิตให้มีสมาธิได้      ก็เท่ากับว่าการฝึกนั้นล้มเหลว
๖.การฝึกอบรมทัศนคติ คือการมีศีลและวินัยในการปฏิบัติ

 มรรค ๘ (ข้อควรปฏิบัติ ๘ ประการ) ของโยคะ
๑.ยามะ หรือศีล ๕
หลายท่านคงแปลกใจเมื่อรู้ว่า การเริ่มต้นฝึกโยคะ ต้องเริ่มจากการถือศีล ๕ ของโยคะ คือ อหิงสา ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดปด ประพฤติพรหมจรรย์          และไม่ยึดมั่นถือมั่นกับวัตถุมากเกินไป ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ทีเดียว
๒.นิยามะ หรือวินัย ๕ คือ เมื่อมีศีลที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนแล้ว จากนั้นต้องมีการสร้างวินัย ๕ ให้กับตนเองดังนี้ อดทน สันโดษ ชำระกายใจให้บริสุทธิ์ หมั่นศึกษาตนเอง และมีศรัทธา
๓.อาสนะ หรือการดูแลร่างกาย คือ เมื่อจิตใจตั้งอยู่ในศีลกับวินัยแล้ว ต้องมีการดูแลตนเองด้วย อาสนะไม่ใช่การออกกำลังกายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการปรับสมดุลให้กับระบบต่างๆ ของร่างกาย ขั้นตอนในการฝึกอาสนะ ได้แก่ การเตรียมพร้อม ฝึกท่าอาสนะ ปิดท้ายด้วยการผ่อนคลาย
๔.ปราณยามะ หรือการฝึกลมหายใจ คือ เมื่อร่างกายสมดุลเป็นปกติ ก็พร้อมต่อการฝึกควบคุมลมหายใจ เพื่อควบคุมกลไกระบบประสาทอัตโนมัติของตนเอง ลำดับขั้นของการฝึกลมหายใจ คือ เข้าใจระบบหายใจของตนเอง มีสติรู้ลมหายใจของตนเองตลอดเวลา หายใจช้าลง เพื่อให้ลมหายใจสงบขึ้น
๕.ปรัทยาหาระ หรือสำรวมอินทรีย์ คือ เมื่อร่างกายนิ่ง ลมหายใจสงบ จากนั้นจะเป็นการฝึกควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะปรวนแปรไปตามสิ่งเร้าต่างๆ หากจะกล่าวให้ง่ายขึ้น คือการควบคุมประสาททั้ง ๕ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
๖.ธารณะ หรือการเพ่งจ้อง คือ เมื่อมีอารมณ์ที่มั่นคง จึงเริ่มอบรมจิต ธารณะเป็นการฝึกอบรมจิตให้นิ่ง จิตนิ่งสงบจะเป็นจิตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้กิจกรรมต่างๆสำเร็จขึ้นโดยง่าย
๗.ฌาน คือ จิตที่ผ่านการอบรมอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถดื่มด่ำอยู่กับสิ่งที่ทำ เป็นจิตที่รู้เห็นตามความเป็นจริงของโลก ไม่หลงทางอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง
๘.สมาธิ ในที่นี้จะมีความแตกต่างจากสมาธิของศาสนาพุทธเล็กน้อย สำหรับโยคะแล้วสมาธิ คือผลสูงสุดที่ได้จากการฝึกโยคะ เป็นการรวมกายและใจเข้าเป็นหนึ่งเดียว (โยคะแปลว่าการรวมเป็นหนึ่ง ) เกิดเป็นภาวะโมกษะ หรือภาวะแห่งความหลุดพ้น เป็นอิสระจากเครื่องพันธนาการทั้งปวง คือความต้องการสูงสุดของมนุษย์ทุกหมู่ชน

ประนอม  เตโชภาส อาจารย์สอนโยคะของสถาบันโยคะวิชาการ "จุดเด่นของโยคะ คือการมีสมาธิรู้กายและใจ นำทั้ง ๒ สิ่งมาอยู่รวมกันจนถึงจุดสมดุล โดยโยคะจะช่วยให้กายและใจของมนุษย์อยู่นิ่ง ทำให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะจิต เช่น คนที่มีความเครียดจากการทำงาน  เมื่อเริ่มฝึกโยคะจะทำให้เข้าใจว่า ตนเองนั้นเครียดเรื่องอะไร แล้วเรื่องนั้นมีสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง"

ทันตแพทย์พิชัย  ลิ้มจำรูญรัตน์ กลุ่มงานทันตกรรม และประธานชมรมจริยธรรม โรงพยาบาลสิงห์บุรี "โยคะเป็นการเจริญสติพร้อมมีการบริหารร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง โยคะจะช่วยเยียวยามนุษย์ทั้งในด้านร่างกาย คือระบบเลือด ฮอร์โมน กล้ามเนื้อ สมอง และด้านจิตใจ คือช่วยลดพฤติกรรมที่เลวร้ายของมนุษย์ โดยโยคะจะทำให้จิตนิ่งขึ้น เมื่อจิตนิ่งก็จะไม่สั่นไหวไปตามกิเลสที่รุมเร้าเข้ามา  มีช่องว่างให้เกิดความคิดดีตามมา"

นายแพทย์กำพล  พันธ์ชนะ แพทย์จากโรงพยาบาลสิงห์บุรี "ในความคิดของผมนั้น การฝึกโยคะเป็นการฝึกจิตเสียส่วนใหญ่  ผลประโยชน์ที่ได้กับร่างกายนั้นเป็นเพียงกำไร เนื่องจากจิตเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ร่างกายของมนุษย์อยู่ในสภาพดีหรือทรุดโทรม  การฝึกโยคะในอีกแง่หนึ่ง เป็นการเรียกหาจิตใจที่หลงอยู่ในถนนกิเลส          ให้กลับมาหากายได้ถูกทาง พูดได้ง่ายขึ้นว่าโยคะทำให้มนุษย์สามารถจัดระเบียบความคิดของตนเองได้สมบูรณ์ขึ้น"

สนใจฝึกโยคะตามแนวทางสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน สอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ๐๒-๙๑๐-๖๙๗๘-๘๐  
  
 


 

ข้อมูลสื่อ

324-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
รายงานพิเศษ
เสกสรร หวังใจสุข