• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยมะ นิยม : ไตร่ตรอง ตระหนักถึงคุณค่า


ขอย้ำอีกครั้งว่า “ยมะ นิยมะ”  ไม่ใช่เพียงเรื่องของการกำกับควบคุมอารมณ์จนหมดไป และอย่ามอง “ยมะ นิยมะ” ว่าเป็นเพียงมิติทางอารมณ์ แต่หากเป็นเรื่องของการพิจารณาไตร่ตรองจนตระหนักถึงคุณค่า ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะพาเราไปยังเป้าหมาย 
     
ท่ามกลางสิ่งเย้ายวน ความขัดแย้งภายในก็จะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ระหว่างการไตร่ตรองกับแรงกระตุ้นของอารมณ์ ซึ่งปตัญชลีได้แนะนำให้เราขวางลมที่จะพัดเรือแห่งอารมณ์โดยยืนกรานที่จะใช้หนทางแห่งอุเบกขาหรือการวางเฉย โดยไม่ถึงกับต้องทำแบบสุดโต่ง เช่น ไม่ถึงกับต้องทำใจรักคนที่เกลียด อาจเริ่มจากการตั้งใจจะลดความเกลียดลง หรือเพิ่มการวิเคราะห์ พิจารณาเพิ่มขึ้น 

การพิจารณาทัศนะที่สปิโนซ่าได้กล่าวไว้ “เราอาจเอาชนะความเกลียดด้วยความรักได้ง่ายกว่า” เพราะความเกลียดกับความรักนั้นมันอยู่ใกล้กันแค่เอื้อม เพราะความเกลียดจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความรู้สึกเกลียดตอบกลับมา (เช่นเดียวกับความรัก!) 
     
ในอีกแง่หนึ่งอาจจะพูดได้ว่า แท้จริงแล้ว ความเกลียดก็คือการยอมจำนนในความรู้สึกด้อยของตนเอง ลองพิจารณาดูให้ดี ไม่มีใครเกลียดศัตรูที่รู้ว่าเราสามารถเอาชนะเขาได้!  ความเกลียดที่เอาชนะได้ด้วยความรักจะกลายเป็นความชื่นชมยินดี
     
ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรโดยปกติ ไม่มีใครรักคนที่ตนเกลียดได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ทั้งจะสำเร็จได้แค่ไหน ยังขึ้นอยู่กับระดับของความรู้สึกเกลียดที่เคยมีอยู่ด้วย มันคงเกลียด-ทำใจ เป็นเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะคลี่คลาย 

แม้เราจะไม่สามารถเปลี่ยนความเกลียดเป็นความรัก อย่างน้อยเราสามารถตั้งคำถามกับตนเองถึงสาเหตุของความเกลียด สามารถตั้งคำถามกับตนเองว่าความเกลียดนี้มันจะนำเราไปสู่เป้าหมายอะไร ความเกลียดนี้ทำให้เราเป็นคนดีขึ้นหรือเปล่า เพราะอย่างไรเสียคำตอบของความเกลียดก็เป็นเรื่องลบอยู่แล้ว  หนทางที่ดีที่สุดก็คือหมั่นถามตนเอง ซึ่งวยาสะ (ผู้เขียนอรรถกถาของโยคะสูตร) ก็อธิบายในแนวทางนี้ เพราะเราก็ไม่ใช่คนไม่มีเหตุผล  ด้วยความพยายามผลดีต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ฟรอยด์อาจไม่ใช่บุคคลแรกที่นำเสนอทฤษฎี Eros และ Thannatos ที่อธิบายถึงสัญชาต-ญาณ 2 ชนิดในตัวมนุษย์ แต่ที่แน่ๆ มันแสดงถึงทัศนะใหม่ของเขาซึ่งปฏิเสธในสิ่งที่เขาเคยเขียนไว้เดิม 

ฟรอยด์กล่าวไว้ชัดเจนว่า นอกจากสำนึกที่เป็นปกติ ที่เป็นสิ่งที่กำหนดควบคุมได้ มนุษย์ยังมีชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง เขาอธิบายถึงแรงกระตุ้นจากจิตใต้สำนึก ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความปรารถนาที่ซ่อนลึกอยู่ภายในด้านมืดของจิตใจ ซึ่งมีอิทธิพลและมีส่วนชี้นำการกระทำของมนุษย์ 

ฟรอยด์ยังชี้ว่ามนุษย์ลำเอียงเวลาอธิบาย เวลาให้เหตุผลในการกระทำของตน ซึ่งผลักดันด้วยจิตใต้สำนึก ฟรอยด์ระบุว่ามนุษย์มักจะแก้ตัว และรู้สึกชอบธรรมกับสิ่งที่ทำไปโดยจิตใต้สำนึก  ซึ่งสัญชาตญาณทั้ง 2 นี้ ก็เป็นบุคลิกภาพอีกประการหนึ่งของมนุษย์ด้วย

ดังนั้น ข้อค้นพบของฟรอยด์ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ชัดขึ้น เช่น ความสงบระงับ (prasupta), การขวาง-การบัง (vicchinna), ความอ่อนโยน (tanu), และความอิสระ (udara), ที่โยคะอธิบายประกอบอยู่ในกิเลส  โดยเฉพาะที่อธิบายไว้ในราคะและโทสะ  

เป็นที่รู้กันว่า มนุษย์ที่มีวิถีทางโลกโดยทั่วไปสามารถที่จะแสดงออกได้เพียง ๒ แง่มุมของกิเลสเท่านั้น คือการขวางและความอิสระ กล่าวคือ ถ้าไม่มีอะไรมาขวางกั้น ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ กิเลสก็จะแสดงความเป็นอิสระเต็มที่  

อย่างไรก็ตาม จากอรรถกถาเดิมของโยคะสูตร การบัง-การขวางนี้ เกิดจากความชอบใจ ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว 

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ชายรักผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเบื่อผู้หญิงคนอื่น แต่อารมณ์ของเขาจะแสดงออกเต็มที่กับผู้หญิงคนนี้เพราะปัจจัยเฉพาะนี้ และในกาลข้างหน้า เขาอาจจะแสดงอารมณ์เต็มที่เช่นนี้กับผู้หญิงคนอื่นได้อีกด้วย  หากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย  นี่เป็นการอธิบายคำว่าการขวางแบบคร่าวๆ ซึ่งยังไม่ใช่ความหมายทั้งหมดของคำว่ากิเลส  

รากศัพท์ของคำว่ากิเลสหมายถึงทุกข์หรือขุ่นเคือง หากเราเข้าใจฟรอยด์ ที่ให้นิยามคำว่า “ความรู้สึกที่ตรงข้าม” นี้ และทำความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งของอารมณ์ในระดับจิตใต้สำนึก เราก็จะเข้าใจว่าทำไมโยคีโบราณจึงตระหนักว่าสันดานเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่  มีแต่โยคะเท่านั้นที่ระบุว่า การฝึกโยคะเป็นเวลาต่อเนื่องจึงจะลดทอนกำลังของกิเลส ทำให้กิเลสอ่อนแอลง ทำให้มันหยุดสร้างปัญหา แม้ว่ามันจะยังคงคาอยู่ในใจมนุษย์

เพื่อที่จะขจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิง เพื่อให้เป็นอิสระจากการกระทบทางอารมณ์อย่างแท้จริง เราต้องกำจัดที่ต้นตอ ซึ่งสำหรับโยคะก็คือ ความมีตัวตน ความเป็นฉัน หรืออัสมิตา ซึ่งในรายละเอียด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความมีตัวตนกับความรู้สึกที่ตรงกันข้าม ดร.เบอร์โรวได้กล่าวไว้ในหนังสือ Neurosis of man โรคประสาทของคน ซึ่งจะพูดถึงในบทที่ 5

เป็นที่รู้กันว่า “ความมีตัวตน” ไม่ได้เป็นปัญหาเพียงแค่เรื่องทางด้านจิตวิทยาเท่านั้น
ดร.เบอร์โรวอธิบายว่า ความมีตัวตนในเชิงกายภาพ เช่น วัย ก็มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งปัจจัยทางชีวะ ทางประสาท ทางกายภาพ ซึ่งเป็นรากฐานของมนุษย์ก็ล้วนมีผลต่อความรู้สึกทั้งสิ้น หากไม่จัดการปัจจัยทั้งหมดให้เหมาะสม ความขัดแย้งในตัวมนุษย์ก็จะดำเนินต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โยคะมีเทคนิคในการจัดการปัญหาที่ครอบคลุมทั้งด้านกายภาพและจิตใจ  เป็นธรรมดา การจะคลี่คลายสิ่งที่สะสมมาเป็นเวลานานต้องใช้เวลามาก ตำราวาสิทธากล่าวว่า “โอ้ราม นิสัยทางโลก ที่สะสมมากว่า 100 ชั่วอายุคน ไม่สามารถถูกขจัดได้ในเวลาสั้นๆ สะสมมานานแค่ไหน ก็ต้องฝึกปฏิบัติเพื่อชำระล้างนานเท่านั้น” 

โยคีโบราณจึงกำหนดกฎข้อปฏิบัติในการควบคุมพฤติกรรมของผู้ฝึก เพื่อเป็นการปกป้องผู้ฝึกจากการถูกรบกวนทางจิตใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระบวนการนี้เรียกว่า จิตตประสาธนา หรือการชำระจิตให้บริสุทธิ์ กล่าวคือ นอกเหนือไปจาก ยมะ นิยมะแล้ว โยคะยังแนะนำ ไมตรียะอธิภาวนา หรือการหมั่นใส่ใจเพื่อฟูมฟักความสัมพันธ์อันดี รวมทั้งมิตรภาพ ฯลฯ 

ไมตรียะอธิภาวนากำหนดให้เราหลีกเลี่ยงความอิจฉา ความโกรธ ตลอดจนความคิดเชิงลบทั้งหลาย เราพยายามที่จะปลูกเพาะความรู้สึกของมิตรภาพ (ไมตรี) ต่อคนที่เราขุ่นเคือง สร้างความรู้สึกอาทร (กรุณา) ต่อคนที่เราไม่ชอบ  สร้างความรู้สึกชื่นชมยินดี (มุทิตา) กับคนที่เราอิจฉา  ซึ่งทัศนคติทั้ง 3 นี้ อาจกล่าวครอบคลุมด้วยคำว่า              “ความรู้สึกที่เป็นมิตร” และท้ายสุด กับคนที่มีสันดานแย่เสียจนไม่อาจรับรู้อะไรได้ ก็ให้ใช้วิธีการวางเฉย (อุเบกขา) หลีกเลี่ยงที่จะคบหาด้วย

แม้การพัฒนาจิตไม่อาจเกิดได้หากปราศจากการปรับเปลี่ยนทางด้านกายภาพด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่มีการออกกำลังกายชนิดใดที่จะทำให้เกิดความสุข  ได้หากเป็นไปโดยที่จิตใจยังคงขุ่นมัว  ดังนั้น เราต้องตั้งใจที่จะทำจิตให้สงบด้วย และประคองความสงบนั้นไว้จนเป็นนิสัย เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต  อย่างน้อยก็ด้วยความเพียรที่จะควบคุมความขัดแย้งในอารมณ์ที่มีอยู่เดิม แล้วค่อยๆ ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่ด้วยความเพียรแบบเดียวกัน  

หลักคำสอนแรกของโยคะคือ ใช้พฤติกรรมมาช่วยสร้างรากฐานเพื่อการพัฒนาจิต ไปพร้อมๆ กับการใช้จิตที่ได้รับพัฒนาสูงขึ้นมาช่วยสร้างพฤติกรรมใหม่  และดังที่ได้ย้ำมาตลอดว่าอิทธิพลของจิตต่อกายนั้นสูงกว่าอิทธิพลของกายที่ส่งผลไปยังจิต ดังนั้น โยคะจึงเน้นที่การปลูกเพาะทัศนะทางด้านจิต
     
    
 

ข้อมูลสื่อ

324-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์