• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๕)


ในตอนที่แล้ว ท่านทะไล ลามะ ได้กล่าวว่า  เราจะขจัดสิ่งที่รบกวนจิตใจออกไปได้ โดยพื้นฐาน ๓ ประการ นั่นคือ

"พื้นฐานประการที่ ๑
อารมณ์ร้ายทั้งหลายเกิดจากการมองความจริงผิดไป อารมณ์ร้ายเหล่านี้ไม่มีรากฐานจากความจริง แต่เกิดจากอวิชชา ในทางตรงข้ามสภาวะจิตใจที่ดี เช่น ความรักความเมตตา ปัญญา มีรากฐานที่มั่นคง  เมื่อจิตอยู่ในสภาวะที่ดีก็จะเห็นโลกตามความเป็นจริงได้ สภาพจิตใจที่ดีมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง  ซึ่งจะพิสูจน์ได้จากประสบการณ์ของเราเอง คือบางสิ่งบางอย่างก็มีรากฐานมาจากความเข้าใจ  แต่จิตใจที่ไม่ดี เช่น ความโกรธ ความเกลียด ไม่ได้มีรากฐานเช่นนั้น นอกเหนือไปจากนั้นสภาพจิตใจที่ดีมีความดีอยู่ที่คุณจะสามารถเพิ่มความสามารถและศักยภาพของมันขึ้นไปได้อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการฝึกปฏิบัติจนคุ้นชิน..."
ถึงตรงนั้นหมอคัตเลอร์ขัดจังหวะขึ้นว่า "ท่านจะอธิบายเพิ่มเติมได้ไหมที่ว่า สภาพจิตใจที่ดีมีพื้นฐานที่พิสูจน์ได้ ส่วนสภาพจิตใจที่ไม่ดีปราศจากพื้นฐานที่พิสูจน์ได้"

ท่านทะไล ลามะ จึงชี้แจงว่า "ตัวอย่างเช่นความเมตตากรุณาเป็นสภาพจิตที่ดี ในการสร้างความเมตตากรุณาขึ้นมาในจิตใจ  คุณเริ่มจากการที่รู้ว่า ตัวคุณเองไม่ต้องการความทุกข์ และคุณมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข จุดนี้พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ของตัวเอง แล้วคุณก็รู้ว่าก็คนอื่นก็เช่นเดียวกับคุณ ที่ไม่ต้องการความทุกข์และมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข จุดนี้เป็นพื้นฐานให้คุณสร้างความเมตตากรุณา

"โดยหลักการ มีจิตใจ ๒ แบบ คือจิตใจที่เป็นบวกกับจิตใจที่เป็นลบ จิตใจที่เป็นบวกนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุด้วยผล  ส่วนจิตใจที่เป็นลบนั้นอธิบายไม่ได้ เช่น เรื่องความต้องการ มีความต้องการที่เป็นบวกกับความต้องการที่เป็นลบ  ความต้องการในปัจจัยพื้นฐานของชีวิตถือเป็นความต้องการทางบวก ซึ่งอธิบายได้ เพราะอยู่บนความจริงที่ว่าเราต้องมีชีวิต การมีชีวิตก็ต้องการวัตถุปัจจัยที่จำเป็นบางอย่าง  ความต้องการดังนี้จึงมีรากฐานที่มีเหตุมีผล ความต้องการที่เป็นลบก็เช่น ความต้องการที่มากเกินและความโลภ ซึ่งหาเหตุผลที่สมควรไม่ได้และยังก่อให้เกิดความลำบากยุ่งยากกับชีวิตต่อไป ความต้องการชนิดนี้เกิดจากความไม่รู้จักพอ  แม้สิ่งที่ต้องการไม่มีความจำเป็นกับชีวิตเลย ความต้องการชนิดนี้จึงไม่มีเหตุผลที่ดีรองรับ ดังนั้นจึงกล่าวว่า จิตใจที่ดีมีเหตุผลที่ดีรองรับ ส่วนจิตใจที่ไม่ดีไม่มีเหตุผลรองรับ"
 
ท่านทะไล ลามะ พิจารณาแยกแยะกลไกของจิตมนุษย์ต่อไปอีกอย่างละเอียด

"พื้นฐานประการที่ ๒
จิตใจที่ดีเป็นยาถอนพิษสภาพจิตที่ไม่ดีและความหลงผิด ฉะนั้นยิ่งเราเพิ่มสภาวะจิตใจที่ดีให้มากขึ้นก็จะมีผลไปลดสภาพจิตที่ไม่ดีลง
"เมื่อเราพูดถึงการจัดสภาพจิตที่ไม่ดี มีจุดหนึ่งที่ควรจำในวิถีปฏิบัติทางพุทธ ในการบ่มเพาะคุณภาพของจิตใจ เช่น  ความอดทน ความทนได้ ความเมตตา จะเหมือนเป็นยาถอนพิษสิ่งที่ไม่ดีงามออกจากจิตใจ เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความหลง การใช้ยาถอนพิษ เช่น ความเมตตากรุณา อาจจะขจัดอารมณ์ที่ไม่ดีบางอย่างออกไปได้ แต่ก็ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะสภาพจิตที่ไม่ดีเหล่านี้มีรากลึกอยู่ในอวิชชา คือการไม่รู้ความจริง ดังนั้น ทางพุทธจึงถือว่า ที่จะเอาชนะจิตที่ไม่ดีได้อย่างแท้จริงต้องถอนรากอวิชชา นั่นคือการสร้างวิชชาหรือปัญญาขึ้นมา ปัญญาคือการเข้าใจธรรมชาติตามความเป็นจริง

"ในวิถีพุทธ เรามียาถอนพิษเฉพาะทางของสภาพจิตใจเฉพาะอย่าง เช่นความอดทนและความทนได้ สำหรับความโกรธและความเกลียด แต่เรามียาถอนพิษทุกโรคด้วย ยาที่ถอนสภาพจิตใจที่ไม่ดีทุกอย่าง นั่นคือปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมชาติ"

พื้นฐานประการที่ ๓
จิตเดิมแท้นั้นบริสุทธิ์ หรือจิตเดิมแท้นั้นปภัสสร อาจเรียกว่าเป็นพุทธจิต จิตไม่ดีนั้นจรมาพอกจิตเดิมแท้ ทำให้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าเราขจัดมลพิษทางจิตเหล่านี้ออกไป ก็จะเหลือจิตเดิมแท้ที่บริสุทธิ์

"ดังนั้น โดยอาศัยพื้นฐาน ๓ ประการนี้ พุทธศาสนายอมรับว่าสภาพจิตที่ไม่ดีนั้น สามารถขจัดออกไปได้ โดยบ่มเพาะพลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมัน เช่น ความรัก ความเมตตา ความอดทน การให้อภัย และโดยการฝึกจิตเช่นการเจริญกรรมฐาน"
หมอคัตเลอร์ว่า เรื่องจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ และเราสามารถขจัดความรู้สึกและความคิดที่ไม่ดีออกไปจากจิตใจนี้ เขาเคยได้ยินท่านทะไล ลามะ พูดถึงมาก่อน ท่านมักเปรียบเทียบจิตเหมือนน้ำขุ่นในแก้ว มีตะกอนอันไม่บริสุทธิ์แขวนลอยอยู่ ซึ่งถ้าขจัดไปก็จะเหลือน้ำใส  เขารู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นนามธรรมเกินไป จึงอยากถามสิ่งที่เป็นภาคปฏิบัติมากกว่านี้

"ถ้าเรายอมรับว่าเราอาจขจัดอารมณ์ลบออกไปจากจิตใจ แต่ว่ามันต้องใช้ความพยายามมหาศาลในการขจัดด้านมืดออกไป ต้องศึกษาฝึกฝน ต้องทำกรรมฐานอย่างหนัก อะไรต่างๆ ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับพระหรือคนที่จะมีเวลาอุทิศให้เรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่สำหรับคนทั่วไปที่มีครอบครัวและงานยุ่ง ไม่มีเวลาที่จะฝึกฝนอย่างหนัก จะทำอย่างไรสำหรับบุคคลทั่วไปเหล่านี้ จะไม่ดีกว่าหรือที่เพียงจะควบคุมอารมณ์ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน แทนที่จะไปพยายามขจัดมัน เหมือนคนเป็นเบาหวาน ที่รักษาให้หายไม่ได้ แต่ก็ดูเรื่องอาหาร ฉีดอินซูลินก็ควบคุมเบาหวานและป้องกันผลร้ายจากโรคได้"

"ใช่ นั่นคือหนทาง" ท่านทะไล ลามะ ตอบอย่างกระตือรือร้น "อาตมาเห็นด้วย ก้าวย่างใดๆแม้เป็นก้าวเล็กๆ เราสามารถเรียนรู้ที่จะลดผลร้ายของสภาพจิตใจที่เป็นลบ เป็นประโยชน์เสมอ มันช่วยให้ชีวิตมีความสุขขึ้น แต่ก็เป็นไปได้ที่สามัญชนคนทั่วไปจะยกระดับจิตวิญญาณของตนขึ้น ทั้งๆที่อยู่ในโลกของการต้องทำงาน มีครอบครัว มีเพศสัมพันธ์กับคู่ผัวเมีย ยิ่งกว่านั้นบางคนก็เริ่มไปปฏิบัติเอาตอนอายุมากแล้ว เช่น สี่สิบ ห้าสิบ หรือแม้แต่แปดสิบ แล้วก็สามารถพัฒนาจิตไปได้ไกล"

"ท่านเคยพบคนที่พัฒนาจิตไปได้ไกลเช่นนั้นหลายคนไหม"
หมอคัตเลอร์ถาม

"ก็ตัดสินยากอยู่ เพราะคนที่พัฒนาจิตสูงแล้ว ไม่แสดงตัวว่าเขาเป็นเช่นนั้น"
ท่านพูดพลางหัวเราะ
ชาวตะวันตกหลายคนหันไปหาความเชื่อทางศาสนาเพื่อความสุขในชีวิต แต่วิธีของท่านทะไล ลามะ แตกต่างไปจากนั้น ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและการฝึกฝนมากกว่าความเชื่อ ในบางด้านของท่านทะไล ลามะ ก็คล้ายกับวิทยาศาสตร์ทางจิต ที่อาจใช้ได้ทำนองเดียวกันกับจิตบำบัด แต่สิ่งที่ท่านทะไล ลามะ แนะนำไปไกลกว่าจิตบำบัด  เราอาจจะคุ้นเคยกับเทคนิคทางจิตบำบัด  เช่น พฤติกรรมบำบัดสำหรับนิสัยไม่ดีบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การโมโหร้าย แต่เราไม่คุ้นเคยกับการบ่มเพาะสิ่งดีๆ เช่น ความรัก ความเมตตา ความอดทน ความใจกว้าง ซึ่งเป็นอาวุธที่ทำลายสภาวะจิตที่ไม่ดีต่างๆ วิธีของท่านทะไล ลามะ ที่จะสร้างความสุขมีฐานอยู่ในความคิดแบบปฏิวัติ  ที่ว่าสภาวะจิตที่ไม่ดีไม่ใช่สภาพภายในของจิตเอง  แต่เป็นอุปสรรคชั่วคราวต่อธรรมชาติที่แท้ของความสุข
ในระบบจิตบำบัดของตะวันตกนั้น พยายามที่จะปรับตัวต่อการเป็นโรคประสาท มากกว่าที่จะยกเครื่องจิตใจทั้งหมดทีเดียว ในระบบจิตบำบัดแบบตะวันตกนั้น จิตแพทย์จะซักประวัติส่วนตัวอย่างละเอียด ดูความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ประสบการณ์ประจำวัน รวมทั้งความฝัน ความสัมพันธ์กับผู้รักษา เพื่อจะคลายความขัดแย้งภายในจิตใต้สำนึก ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาและความทุกข์ มีเป้าหมายอยู่ที่เพิ่มความสามารถที่จะเผชิญปัญหา การปรับตัว และการทำให้อาการน้อยลง แทนที่จะฝึกจิตให้มีความสุข

ลักษณะวิธีการของท่านทะไล ลามะ ที่เด่นมากก็คือการฝึกจิตให้สภาวะจิตที่เป็นบวกขจัดสภาวะจิตที่เป็นลบ หมอคัตเลอร์พยายามหาวิธีของตะวันตกที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเทียบ  เขาว่าสิ่งที่เรียกว่า cognitive therapy น่าจะใกล้เคียงที่สุด จิตบำบัดแบบนี้ กำลังใช้มากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่ามีประโยชน์ต่อโรคความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล cognitive therapy สมัยใหม่ ที่ Dr. Albert Ellis และ Dr.Aaron Beck พัฒนาขึ้นมามีพื้นฐานอยู่บนความคิดที่ว่า อารมณ์เสียและพฤติกรรมปรับตัวไม่ได้เกิดจากความคิดบิดเบี้ยว และความเชื่อที่ไร้เหตุผล การบำบัดนั้นประกอบด้วยช่วยให้ผู้ป่วยพิจารณาความคิดของตัวเอง และแก้ไขความคิดที่บิดเบี้ยว การแก้ความคิดให้ถูก ไปช่วยปรับความคิดที่บิดเบี้ยว อันเป็นต้นเหตุความทุกข์ของผู้ป่วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าคนหนึ่งได้รับการปฏิเสธจากอีกคนหนึ่ง แล้วตอบโต้ด้วยความรู้สึกเจ็บปวดที่มากเกินไป นักบำบัดความคิดจะช่วยคนผู้นั้นให้ค้นพบความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลของเขา เช่น คนที่เชื่อผิดๆว่า เขาจะเป็นที่รักของคนทุกคนที่มีความสำคัญในชีวิตของเขา ถ้าไม่เช่นนั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและรู้สึกตัวว่าไม่มีคุณค่า นักบำบัดก็จะเอาหลักฐานมายืนยัน ว่าความเชื่อของเขาเช่นนั้นไม่เป็นจริง  แม้จะดูตื้นๆ แต่ก็มีการศึกษาที่แสดงว่าการบำบัดความคิดได้ผลจริงๆ อย่างในกรณีของโรคซึมเศร้า นักบำบัดความคิดเห็นว่า การคิดถึงตัวเองทางลบทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ทำนองเดียวกับชาวพุทธมองว่าสภาพจิตที่ไม่ดีทั้งหมดเกิดจากความคิดเบี่ยงเบน  นักบำบัดความคิดมองการคิดที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าว่าเบี่ยงเบนไปจากความจริง ในสภาวะซึมเศร้า ความคิดอาจจะเบี่ยงเบนไปเนื่องจากการมองอะไรแบบขาวดำ หรือเกินเลยจากความเป็นจริง เช่น ถ้าตกงานหรือสอบตก ก็คิดไปว่า "ฉันล้มเหลวทั้งหมดแล้ว" หรือว่าเลือกที่จะมองเฉพาะส่วนของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เช่น สิ่งดีๆ ๓ อย่างกับสิ่งไม่ดี ๒ อย่าง อาจเกิดขึ้นในวันเดียวกัน แต่คนซึมเศร้าจะเลือกมองแต่สิ่งที่ไม่ดีเท่านั้น ดังนั้น ในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นักบำบัดความคิดจะแนะให้ผู้ป่วยเฝ้ามองความคิดทางลบที่เกิดขึ้น (เช่น "ฉันไม่มีคุณค่าเสียเลย") แล้วแก้ไขความคิดแบบผิดๆนี้โดยรวบรวมหลักฐานที่แสดงว่าการคิดแบบนั้นมันไม่จริง (เช่น "ฉันทำงานได้และเลี้ยงลูกได้ตั้ง ๒ คน" ,"ฉันร้องเพลงเพราะ" , "ฉันเป็นเพื่อนที่ดี" ,"ฉันทำงานยากๆได้สำเร็จ" เป็นต้น) นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า การทดแทนการคิดแบบเบี่ยงเบนด้วยข้อมูลหลักฐานที่แม่นยำ  ทำให้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกและอารมณ์ได้

ความจริงที่ว่าเราอาจเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกทางลบ โดยปรับเปลี่ยนวิถีคิดนี้สนับสนุนความคิดของท่านทะไล ลามะ ว่าเราสามารถขจัดอารมณ์ทางลบได้โดยใช้อารมณ์ทางบวก และเมื่อเราเอาความจริงนี้มาบวกกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกันเมื่อเร็วๆนี้ว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและหน้าที่ของสมองได้โดยปลูกฝังวิธีคิดใหม่  ความคิดที่ว่าเราสามารถสร้างความสุขได้โดยการฝึกฝนจิต  ก็ดูจะเป็นความจริงอยู่มากทีเดียว

บทที่ ๑๓
การจัดการความโกรธและความเกลียด
"ถ้าเราพบคนถูกลูกธนูปักอกอยู่ เราไม่ควรเสียเวลาไปถามหาว่าลูกธนูมาจากไหน คนยิงอยู่วรรณะใด ลูกธนูทำด้วยไม้ชนิดใด หรือหัวลูกธนูมีรูปร่างอย่างไร สิ่งที่ควรทำคือถอนลูกธนูออกให้เร็วที่สุด"

พระศากยมุนีพุทธเจ้า

เราจะมาพิจารณากันถึง "ลูกธนู" นั่นคืออารมณ์ทางลบที่ทำลายความสุขของเรา และยาที่จะถอนพิษมัน สภาวะทางลบของจิตใจทั้งหมด คืออุปสรรคต่อความสุขของเรา  แต่เราจะเริ่มกันที่ความโกรธ  ซึ่งจะเป็นอุปสรรคขัดขวางก้อนใหญ่ที่สุด  นักปรัชญาสายสโตอิคที่ชื่อเสเนกา กล่าวถึงความโกรธว่าเป็น "อารมณ์ที่น่าขยะแขยงและบ้าที่สุด" ผลในทางทำลายของความโกรธและความเกลียดได้รับการศึกษาอย่างดีทางวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้  แต่ว่าจริงๆแล้วเราไม่ต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เลยที่จะบอกว่า  ความโกรธทำให้จิตใจขุ่นมัว  ทำให้รู้สึกไม่สบายอย่างสุดๆ และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ประสบการณ์ของเราเองก็บอกได้อย่างนั้น  แต่ว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการบันทึกผลร้ายทางกายภาพของความโกรธและความโหดร้าย  การวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า  ความโกรธเป็นบ่อเกิดของโรคและทำให้อายุสั้น นักวิจัยบางคน เช่น Dr.Redford Williams แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก และ Dr.Robert Sapolsky แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้แสดงให้เห็นว่าความโกรธ ความเดือดดาล และความโหดร้าย ทำลายระบบหัวใจและหลอดเลือด  จนถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงทำนองเดียวกันหรือยิ่งกว่าปัจจัยเสี่ยงที่รู้กันอื่นๆ เช่น โคเลสเตอโรลสูง ความดันโลหิตสูง

เมื่อรู้ถึงผลร้ายของความโกรธแล้ว คำถามต่อไปคือแล้วเราจะเอาชนะมันได้อย่างไร
ในชีวิตวันแรกของการเป็นจิตแพทย์ที่ปรึกษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  เมื่อหมอคัตเลอร์เพิ่งจะเข้าไปนั่งในห้องทำงานของเขา  ก็ได้ยินเสียงตะโกนก้องมาจากห้องโถง
"ฉันโกรธ..."
"ดังขึ้นอีก"
"ฉันโกรธ"
"ดังขึ้นอีก แสดงให้ผมดู แสดงให้ดู"
"ฉันโกรธ ฉันโกรธ ฉันเกลียดคุณ ฉันเกลียดคุณ"

มันฟังดูน่ากลัวมาก ผมพูดกับสตาฟฟ์ว่าดูเหมือนจะมีเรื่องฉุกเฉินที่ต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วน
"อย่ากังวลเลย" เธอหัวเราะ "เขากำลังทำกลุ่มบำบัดที่ห้องนั้น  เขาช่วยให้ผู้ป่วยสัมผัสกับความโกรธของตัวเอง"

ต่อมาภายหลังในวันเดียวกันนั้น หมอคัตเลอร์ได้พบกับผู้ป่วยคนนั้นเป็นการเฉพาะ ดูเธอหมดเรี่ยวแรง

"ฉันรู้สึกผ่อนคลายมาก"
เธอกล่าว "การรักษาแบบนั้นได้ผลดีทีเดียว  ฉันได้รู้สึกเหมือนได้ขับไล่ความโกรธออกไปจากตัวหมดสิ้น"

ในการพบกันครั้งต่อไปในวันรุ่งขึ้น  คนไข้รายงานว่า "ฉันไม่ได้ขับไล่ความโกรธออกไปจากตัวได้จริงๆหรอก  หลังจากฉันออกจากที่นี่เมื่อวาน  ขณะที่กำลังขับรถออกจากที่จอดรถ  มีไอ้บ้าระห่ำคนหนึ่งขับรถตัดหน้า ฉันฉุนเฉียวขึ้นมาทันที และฉันก็ด่าไอ้ตัวนั้นตลอดทางที่กลับบ้าน ฉันคิดว่าต้องการการบำบัดอีกหลายครั้งทีเดียวกว่าจะขับไล่ความโกรธที่ตกค้างออกไปได้หมด"

ในการเตรียมตัวที่จะขจัดความโกรธและความเกลียด ท่านทะไล ลามะ เริ่มจากการพิจารณาถึงธรรมชาติของอารมณ์ทางลบนี้

"พูดโดยทั่วไป"
ท่านอธิบาย "อารมณ์อันเป็นโทษนี้มีหลายชนิดแตกต่างกัน เช่น ความทะนงตน ความยโสเย่อหยิ่ง ความอิจฉา ความต้องการตัณหา ความใจแคบ เป็นต้น แต่ทั้งหมดเหล่านี้ความเกลียดและความโกรธถือเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายที่สุด  เพราะมันเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดของความเมตตากรุณาและการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น มันทำลายคุณค่าและความสงบของจิต"

"พูดถึงความโกรธอาจมี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งอาจเป็นบวก เกิดจากเจตนาดี ความโกรธอาจเกิดจากความเมตตากรุณาและความรู้สึกรับผิดชอบ  เมื่อความโกรธเกิดจากความเมตตากรุณาอาจจะใช้เป็นพลังกระตุ้นการกระทำทางบวก ในสถานการณ์อย่างนี้ อารมณ์โกรธอาจเป็นพลังที่นำไปสู่การกระทำอย่างรวดเร็ว  มันสร้างพลังงานที่ทำให้บุคคลลงมือทำอย่างรวดเร็วเฉียบขาด ความโกรธอย่างนี้อาจเป็นบวก  แต่อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ความโกรธอย่างนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการปกป้อง และนำมาซึ่งพลังงานเกินธรรมดา  แต่พลังงานนี้ขาดปัญญา ฉะนั้นจึงไม่แน่ว่าในที่สุดแล้ว มันจะสร้างสรรค์หรือทำลาย
 
"ดังนั้น แม้นานทีปีหนความโกรธบางชนิดอาจเป็นประโยชน์บ้าง  แต่โดยทั่วไปแล้ว ความโกรธนำไปสู่ความรู้สึกที่ไม่ดีและความเกลียด พูดถึงความเกลียดแล้วมันไม่เคยเป็นบวก ไม่มีประโยชน์อันใดเลย เป็นโทษเสมอ

"เราไม่อาจเอาชนะความโกรธและความเกลียดได้โดยไปกดมันไว้ เราต้องบ่มเพาะสิ่งล้างพิษความเกลียด  นั่นคือความอดทนและความทนได้  ทำตามวิธีที่เคยพูดมาแล้ว ที่จะบ่มเพาะความอดทนและความทนได้ให้สำเร็จ  ท่านจะต้องสร้างความกระตือรือร้น  ต้องการที่จะทำให้ได้จริง ยิ่งกระตือรือร้นมากเท่าไร ความสามารถที่จะสู้กับความยากลำบากก็จะเพิ่มขึ้น ในการฝึกปฏิบัติสร้างความอดทนและความทนได้ นั่นแหละคุณกำลังทำสงครามกับความเกลียดและความโกรธแล้ว  เพราะมันเป็นสงครามคุณต้องทำให้ได้ชัยชนะ  แต่ว่าคุณต้องเตรียมรับความพ่ายแพ้  ดังนั้น  ระหว่างที่คุณกำลังทำสงคราม จะต้องไม่ลืมว่าในกระบวนการนั้นคุณจะต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง  คุณจะต้องมีความสามารถที่จะทนทานต่อความยากลำบากนี้ บางคนที่เอาชนะความเกลียดความโกรธได้โดยผ่านกระบวนการที่กลิ้งครกขึ้นภูเขานี้สมควรจะเป็นวีรบุรุษ

"โดยทราบความยากลำบากเช่นนี้  เราจึงต้องมีความกระตือรือร้นอย่างแรง  ความกระตือรือร้นเป็นผลมาจากการเรียนรู้และครุ่นคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดจากความอดทนและความทนได้ และความเสียหายที่เกิดจากความโกรธและความเกลียด และการที่ตระหนักรู้ดังกล่าวนั่นแหละ ก็นำคุณเข้าไปสู่ความอดทนและความทนได้ และระมัดระวังความคิดทางโกรธและเกลียด  ตามปกติแล้วเราไม่ไปสนใจต่อความเกลียดและโกรธ มันเกิดขึ้นของมันเอง แต่เมื่อเราสร้างนิสัยระมัดระวังต่ออารมณ์อันเป็นโทษนี้ ก็จะเป็นมาตรการป้องกันความโกรธและความเกลียดขึ้นมาเอง
  

 

ข้อมูลสื่อ

324-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี