• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หวัดมรณะ สุขภาพเหนือเศรษฐกิจ

หวัดมรณะ สุขภาพเหนือเศรษฐกิจ


โรคหวัดมรณะ หรือ ซาร์ส (severe acute respiratory syndrome) ระบาดทำให้เห็นความจริงที่สำคัญที่บางครั้งเราไม่ค่อยสำนึก นั่นคือ สุขภาพมีความสำคัญเหนือเศรษฐกิจ เพราะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด กระทบจีดีพี ถ้าเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เช่น ปิดบังไว้เพราะกลัวกระทบการท่องเที่ยว ผู้คนก็จะล้มตายเป็นเบือ
โลกขณะนี้เอาเศรษฐกิจเป็นความสำคัญสูงสุด ทำให้แย่งชิงกัน ทำให้ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากรประเทศแถวอาหรับ เช่น อิรักมีน้ำมันมากถูกมหาอำนาจเข้าไปแย่งชิงเข่นฆ่าอย่างทารุณ ทั้งหมดคือการทำลายสุขภาวะหรือสุขภาพ

ในนามของเงินทำอะไรก็ได้ เมื่อเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง หรือโลภจริต จึงเกิดโทสะหรือความรุนแรง ในศตวรรษที่แล้ว คนตายเพราะสงครามถึง ๒๐๐ ล้านคน แต่ที่ตายเพราะความยากจน และความอยุติธรรมในสังคมมากกว่านั้นมาก แสดงว่าโลกไม่มีสุขภาวะหรือสุขภาพ

สุขภาพหรือสุขภาวะควรมีความสำคัญสูงสุด
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณหรือการมีจิตใจสูง เศรษฐกิจหรือการทำมาหากินก็มีความสำคัญ แต่อยู่ภายใต้สุขภาพ การปรับทิฏฐิจากการเอาเศรษฐกิจเป็นความสำคัญสูงสุดก็ต้องมีการปรับระบบเศรษฐกิจ จากการทำอะไรก็ได้ขอให้ได้เงิน ซึ่งเยอะทีเดียวที่ทำมิจฉาอาชีวะ ไปเป็นสัมมาอาชีโว ซึ่งเป็นองค์ที่ ๕ ในมรรรค ๘ คือการมีอาชีพอันไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียน สิ่งแวดล้อม สัมมาอาชีโวจึงเป็นไปเพื่อสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจจึงควรเน้นการมีสัมมาอาชีวะเต็มพื้นที่ ไม่ใช่เน้นการได้เงินสูงสุด การวัดความเจริญก็ต้องเปลี่ยนจากการวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ไปเป็นการวัดการเติบโตของความสุขหรือจีดีเอช ( H = Happiness )

สุขภาพเป็นบรมธรรม
ในร่าง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ เพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพจึงมีมาตราหนึ่งกำหนดว่า สุขภาพคืออุดมการณ์ของชาติ (ไม่ใช่เศรษฐกิจ) ด้วยประการฉะนี้

ข้อมูลสื่อ

289-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546
ศ.นพ.ประเวศ วะสี