เคล็ดลับ จัดการลูกอ้วน
จากการศึกษาที่ผ่านมาชี้ว่า เด็กที่อ้วนมักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน โดยเด็กที่อ้วนในระยะเข้าสู่วัยรุ่นจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วน จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพและโภชนาการในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ร้อยละ ๑๐-๒๐ ของทารกที่อ้วนจะยังคงอ้วนเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก ร้อยละ ๔๐ ของเด็กที่อ้วนจะยังคงอ้วนในวัยรุ่น และร้อยละ ๗๕-๘๐ ของวัยรุ่นที่อ้วนจะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วน การป้องกันโรคอ้วนจึงนับเป็นงานที่จำเป็นและเร่งด่วน และควรป้องกันมิให้เป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็ก เพราะการป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนเท่ากับเป็นการลดจำนวนประชากรผู้ใหญ่อ้วน
นอกจากการควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารของเด็กแล้ว การดำเนินชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กก็มีผลต่อความอ้วนด้วยเช่นกัน ผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์มากกว่า ๕ ชั่วโมงต่อวัน จะมีน้ำหนักตัวมากกว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง ถึงกว่า ๕ เท่า ดังนั้นจึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตเสียใหม่ ให้ลูกได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น จะเห็นได้ว่า โรคอ้วนเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ยิ่งเริ่มปฏิบัติเร็วเท่าใด ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้นการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกอ้วนได้ ต่อไปนี้จะขอ เสนอแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและลดความอ้วน
เด็กทารกและเด็กเล็ก
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้จริงๆ ควรเลือกนมผสมที่ไม่มีน้ำตาลหรือกลูโคส
- ไม่ควรเริ่มให้อาหารเสริมเร็วเกินไป อย่างน้อยควรเริ่มเมื่ออายุ ๔ เดือนขึ้นไป และไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำหวาน
- ไม่ควรปล่อยให้ทารกนั่งอยู่ในรถเข็น เก้าอี้ เตียงนอน หรือในที่ที่จำกัดเป็นเวลานาน
- พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เครื่องในสัตว์ หนังไก่ หนังเป็ด อาหารทอด น้ำมัน เป็นต้น ควรกินอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผัก ผลไม้ต่างๆ
- กินอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่เร่งรีบ
- กินคำเล็กๆ และควรกินที่โต๊ะอาหารทุกครั้ง
- ใช้ภาชนะที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม วางช้อนและส้อมขณะเคี้ยว
- เมื่อรู้สึกอิ่ม ควรหยุดกินทันที
เด็กวัยเรียนและเด็กวัยรุ่น
- ไม่ควรกินอาหารร่วมกับการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ เพราะอาจทำให้ลืมความอิ่มและกินอาหารมากเกินความต้องการได้
- กินอาหารให้ตรงเวลา เพื่อขจัดความเครียดจากความหิว
- ควรปรุงอาหารกินเอง และควรกินอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัวเท่าที่จะทำได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ของจุบจิบที่ทำจากแป้ง น้ำตาล
- เลี่ยงการระบายความเครียด เหงา เบื่อ หรือวิตกกังวล ด้วยการกินอาหาร
- ควรลดการกินอาหารนอกบ้าน เพราะอาหารตามร้านอาหาร ภัตตาคารมักมีไขมันสูง และปริมาณที่เสิร์ฟค่อนข้างมาก ทำให้ร่างกายได้รับอาหารมากเกินไป
- ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกระบวนการซื้อและเตรียมอาหาร ซึ่งจะเป็นช่วงที่เหมาะในการสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ
- ทำความเข้าใจและให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่เด็ก พร้อมทั้งฝึกให้เด็กรู้จักน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และเฝ้าระวังน้ำหนักของตัวเอง
- ควรลดเวลาการนั่งดูโทรทัศน์ วีดิโอ หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ และจัดให้กิจกรรมการเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็ก
- พ่อแม่และสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวควรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายนับว่ามีความสำคัญต่อการควบคุมและลดน้ำหนัก และควรกระทำไปพร้อมๆ กัน การควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถทำให้การควบคุมน้ำหนักได้ผล สมาชิกในครอบครัวนับว่ามีส่วนสำคัญในการให้ความสนับสนุน และกำลังใจอันจะทำให้การลดหรือควบคุมน้ำหนักมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- อ่าน 3,482 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้