• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปราณยามะ (๑)

ปราณยามะ (๑)


หมอชาวบ้านได้ลงบทความโยคะต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๔ ปีแล้ว และที่ผ่านมาเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นที่เทคนิคอาสนะ ซึ่งเป็นเทคนิคเด่นมากของโยคะ (ขอย้ำว่าเทคนิคที่เด่น ไม่ได้แปลว่าเป็นเทคนิคที่สำคัญสูงสุด) หากแต่ฉบับนี้ไป ขอนำผู้อ่านไปพบเทคนิคใหม่ปราณยามะ หรือเทคนิคการควบคุมลมหายใจ

ตำราแม่บทโยคะสูตร ระบุถึงปราณยามะ ว่าเป็นมรรคขั้นที่ ๔ ของวิถีโยคะโดยอาสนะ เป็นมรรคขั้นที่ ๓ หมายความว่าปราณยามะอยู่สูงกว่าโยคะ หรือกล่าวได้ว่าเมื่อฝึกอาสนะแล้ว โยคีก็จะฝึกปราณยามะต่อไป ด้วยข้อมูลนี้เอง เราจะเห็นได้ว่าบุคคลผู้สนใจโยคะ ผู้ฝึกฝนโยคะมากขึ้นๆ จะไปฝึกหายใจมากขึ้น ไม่ใช่ไปฝึกท่าอาสนะที่ยากขึ้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพื่อทำความเข้าใจกับลมหายใจในมุมมองของโยคะ เรามาอ่านนิทานกันสักเรื่อง ชื่อว่ายักษ์ปีนต้นไม้

..เรื่อง "ยักษ์ปีนต้นไม้"...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีชายตัดฟืนอาศัยอยู่ในป่า ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และแน่นอน จนกระทั่งวันหนึ่งจึงปรากฏเทวดาตรงหน้าชายตัดฟืน 

"เราจะมอบของล้ำค่า เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนที่เจ้าเป็นคนดี มันคือยักษ์วิเศษ" เทวดากล่าว และบรรยายสรรพคุณต่อ "เจ้ายักษ์ตนนี้มีความสามารถสูงมาก มันเกิดมาเพื่อทำงาน มันสามารถทำงานให้เจ้าได้ทุกสิ่ง ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมันทำงานได้เร็วมากๆ เลย"  "แต่..." เทวดาเว้นวรรคเล็กน้อย แล้วจึงกล่าวต่อ "เจ้าต้องระวัง หากเจ้าไม่สามารถหางานให้มันทำได้ละก็...มันจะกลับมาเล่นงานเจ้าเอง มันจะเล่นงานเจ้าถึงตายเชียวนะ"

ชายตัดฟืนตัดสินใจรับยักษ์วิเศษไว้ เขาพามันกลับบ้าน ทันทีที่เข้าบ้าน ยักษ์ตนนั้นก็เริ่มกล่าวว่า "นายๆ มีอะไรให้ข้าฯ ทำบ้าง"
ชายตัดฟืนมอบหมายให้ยักษ์ไปทำความสะอาดบ้านที่รกรุงรัง ตัวเองก็กระหยิ่มใจที่จะได้พัก ขณะที่เขากำลังจะเอนตัวลงงีบ ก็ได้ยินเสียงดังชัดเจนข้างหูว่า "นายๆ ข้าฯ ทำความสะอาดบ้านเสร็จแล้ว มีอะไรให้ข้าฯ ทำอีก"

ชายตัดฟืนมองกวาดไปรอบๆ บ้านอย่างไม่เชื่อสายตาตนเอง บ้านสะอาดหมดจด ไม่มีที่ติ เหงื่อ เม็ดโป้งผุดขึ้นเต็มหน้าผาก เขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สั่งให้ยักษ์ไปผ่าฟืนที่เขาทำค้างไว้ มันเป็นงานชิ้น ใหญ่ที่ทำให้เขาพอมีเวลา จากนั้นชายตัดฟืนรีบไปปรึกษาท่านผู้รู้ประจำหมู่บ้าน หลังฟังคำแนะนำ ชายตัดฟืนกลับถึงบ้าน เจ้ายักษ์ก็เสร็จงานผ่าฟืนพอดี

"นายๆ ผมผ่าฟืนเสร็จแล้ว มีอะไรให้ผมทำอีก"  น้ำเสียงของเจ้ายักษ์นั้นส่อเลศนัยว่ามันคงจะได้กินชายตัดฟืนเป็นอาหารแน่ๆ

ชายตัดฟืนเริ่มทำตามแผนทันที เขาสั่งยักษ์ให้พาตนไปยังต้นไม้สูงกลางป่า ณ ตรงต้นไม้นั้น เขาสั่งเจ้ายักษ์ให้ลิดกิ่ง ลิดใบออกจนหมด ต้นไม้สูงต้นนี้จึงดูเหมือนเสาโล้นๆ ต้นหนึ่ง "นับจากนี้ไป" ชายตัดฟืนกล่าว "เมื่อใดที่เจ้ายืนอยู่ที่โคนต้น งานของเจ้าคือให้ปีนขึ้นไปจนสุดปลาย ยอดไม้" เขาเว้นเล็กน้อยก่อนจะกล่าวต่อ "และเมื่อใดที่เจ้าอยู่ที่ปลายยอดไม้ งานของเจ้าคือ ให้ปีนลงมายังโคนต้นไม้"

คำสั่ง ๒ คำสั่งนี้ ทำให้เจ้ายักษ์ทำงานเป็นวงจรอันไม่รู้จบ  ผลก็คือ เมื่อใดที่ชายตัดฟืนมีงานให้ทำ เขาก็เรียกเจ้ายักษ์มาใช้ ครั้นเมื่องานเสร็จสิ้นลง เขาก็ใช้เจ้ายักษ์ไปปีนต้นไม้...

ยักษ์วิเศษตนนี้ก็คือความคิดของมนุษย์นั่นเอง  ใช่หรือไม่ที่ความคิดของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความสามารถสูง เป็นสิ่งที่เร็วยิ่ง มนุษย์มีเทคโนโลยีอันทันสมัย เดินทางไปถึงดวงจันทร์ได้ ก็เพราะความคิดนี่เอง  แต่...บ่อยครั้งที่เราพบว่าความคิดนี่แหละ กลับมาเล่นงานมนุษย์เสียเอง บางคนคิดมากจนบั่นทอนสุขภาพ บ้างถึงกับต้องจบชีวิตตนเองลงด้วยซ้ำ ก็เพราะเจ้าความคิดนี่เอง ต้นไม้ในนิทานก็คือลมหายใจในตัวเรานั่นเอง  ซึ่งจะเดินทางขึ้นลง จากปอดขึ้นสู่จมูก จากจมูกลงสู่ปอดเท่านั้น 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าผู้มีปัญญาย่อมรู้จักที่จะใช้ความคิดของตนให้เกิดประโยชน์ ครั้นเมื่อว่างจากการคิด ก็ควรหมั่นฝึกนำจิตของตนมารู้อยู่กับลมหายใจเข้าและลมหายใจออก  ผู้ที่ทำได้เช่นนี้ ก็จะยังชีวิตที่เป็นประโยชน์และเป็นสุข

โยคีหาได้มองลมหายใจเป็นเพียงเรื่องของกายภาพ เรื่องของการเปลี่ยนถ่ายก๊าซออกซิเจน-คาร์บอนไดออกไซด์ไม่ สำหรับโยคะแล้ว ลมหายใจมีนัยสำคัญที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก ลมหายใจเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งต่อการควบคุมตนเอง หากพูดว่าอาสนะนั้นช่วยให้มนุษย์ควบคุมกายได้ดีขึ้น ก็ไม่เป็นการกล่าวที่เกินเลยแต่อย่างใด ถ้าจะพูดว่าปราณยามะนั้นช่วยให้มนุษย์ควบคุมจิตของตนให้ได้ดีขึ้น การฝึกโยคะที่ขอฝากไว้สำหรับฉบับนี้คือ เมื่อไหร่ที่ว่าง เมื่อไหร่ที่ระลึกขึ้นมาได้ อย่าลืมจับยักษ์ของเรามาปีนต้นไม้ซะ

ข้อมูลสื่อ

289-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์