• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคมะเร็ง...ในทรรศนะของแพทย์ (ผู้รักษา)

โรคมะเร็ง...ในทรรศนะของแพทย์ (ผู้รักษา)


ในการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ มีหลายโรคที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างฉับพลันทันที แต่โรคอันตรายเหล่านั้นก็ไม่ทำให้ผู้ป่วย ทั้งหลายรู้สึกหวาดกลัว ท้อแท้ สิ้นหวัง และหมดกำลังใจได้มากมายเท่ากับเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง ทั้งๆ ที่มะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายได้ นอกจากนี้ เสียงลือเสียงเล่าขานที่ผิดเพี้ยนบางประเด็นเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ทำให้คนส่วนใหญ่มีทัศนคติในแง่ลบต่อวิธีการรักษาโดยแพทย์ บางคนปฏิเสธการรักษาที่ถูกต้องตามกระบวนการอย่างสิ้นเชิง แล้วดูแลกันเองตามวิธีการที่แนะนำต่อๆกันมา ซึ่งสุดท้าย มักจะจบลงที่ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราฟัง เราพูด เราคิดกันเอง แบบชาวบ้านกันมามากแล้ว ลองฟังความเห็นของผู้มีหน้าที่รักษาและช่วยชีวิตดูบ้าง บางทีอาจจะเข้าใจอะไรดีขึ้น นายแพทย์สถาพร ลีลานันทกิจ ที่ปรึกษาสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ให้โอกาสกับ "หมอชาวบ้าน" ซักถามในประเด็นต่างๆ ที่ผู้คนข้องใจ

สถานการณ์ของโรคมะเร็งในบ้านเราขณะนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ
มะเร็งตอนนี้เป็นสาเหตุการตายของโรคที่ไม่ติดต่อเป็นอันดับ ๑ ครองแชมป์มา ๓ ปีแล้ว ความ จริงจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง มีมากมานานแล้ว แต่ตัวเลขสถิติบ้านเราไม่ค่อยได้มาตรฐาน บางทีผู้ป่วยมะเร็งตาย ก็จะบอกว่าตายด้วยโรคหัวใจ ดังนั้นโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงขึ้นอันดับ ๑ มาตลอด ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มจัดระบบใหม่ ให้แพทย์ระบุชัดเจนว่า สาเหตุนำของการตายคืออะไร สาเหตุตามคืออะไร เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ตัวเลข สถิติชัดเจนเลยว่าโรคหัวใจลงมาอยู่อันดับ ๓

มะเร็งที่พบมากและเป็นสาเหตุการตายในประเทศไทยคืออะไร
แล้วแต่เพศ...ถ้าเป็นชายสาเหตุตายอันดับ ๑ คือ ตับ ๒. ปอด ๓. ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ๔. โรคเลือด ๕. โรคมะเร็งช่องปาก ในผู้หญิง อันดับการตาย คือ ๑. ปากมดลูก ๒. ตับ ๓. เต้านม ๔. ปอด ๕. มะเร็งช่องปาก อันนี้เป็นสถิติล่าสุดที่ทำเอาไว้เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างจากตัวแทนจังหวัดทั้ง ๔ ภาค คือ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และ กรุงเทพฯ ส่วนข้อมูลล่าสุดที่ทำอยู่ยังไม่เสร็จ

ปัจจุบันสามารถฟันธงได้หรือไม่ว่า สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเกิดจากอะไร
ยังไม่มีครับ แต่สามารถบอกได้ว่าอาจเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง เช่น เรื่องของกรรมพันธุ์ที่อาจจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ (มีบ้างแต่ไม่มาก) ความไม่สมดุลของฮอร์โมน ภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง ภาวะทุพโภชนาการ คือ กินอาหารขาดบ้าง เกินบ้าง โดยเฉพาะอาหารไขมันสูงและเค็มมาก มีการระคายเคืองต่อเนื่องยาวนาน เช่น คนที่ชอบดื่มน้ำชาร้อนๆ เป็นประจำ คนแก่ที่เคี้ยวหมาก อันนี้เป็นสาเหตุจากภายในร่างกาย ส่วนสาเหตุจากภายนอก ก็ได้แก่สิ่งแวดล้อม พวกควันพิษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควันบุหรี่ ที่ต้องนับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำ ให้เสี่ยงกับการเป็นมะเร็งมาก ทั้งผู้ที่สูบเองโดยตรงและผู้ที่สูดควันทางอ้อมเป็นเวลานาน การกินอาหารที่มีเชื้อรา อาหารใส่สี หรืออาหารปิ้ง ย่างบ่อยๆ รังสีความร้อน จุลินทรีย์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งตับ หรือมะเร็งปากมดลูก การกินปลาดิบที่ทำให้เป็นมะเร็งตับ นี่คือสาเหตุหลักๆ

มะเร็งชนิดไหนคะที่ร้ายแรงที่สุด
บอกลำบากนะ...แล้วมะเร็งบางส่วนของอวัยวะก็ตรวจยาก บางทีตรวจเจอโดยบังเอิญ ถ้ามีอาการแล้วไปหาหมอ บางทีสายไปแล้ว เช่น มะเร็งตับ คือถ้ามีอาการแสดงออกมา พูดได้เลยว่าโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดเกือบไม่มีแล้ว อีกอย่างก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินของโรค หรือการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยด้วย และกำลังใจมีความสำคัญมาก มะเร็งบางชนิดแม้จะไม่หายขาด อย่างน้อยๆ ก็ผ่อนหนักเป็นเบา สามารถรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวได้ และไม่เจ็บปวดทรมานด้วย แต่ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ดูแลเอาใจใส่ตัวเอง ก็จะรู้สึกทุกข์ทรมานมาก ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเตือนเล็กๆ น้อยๆ มักจะคิดว่าไม่เป็นไร ยังพอทนได้เลยไม่ไปหาหมอ แล้วพอทนไม่ไหวไปหาหมอ ถึงตรงนั้นก็มักจะสายเกินแก้แทบทุกราย นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องมีการรณรงค์ให้มีการตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ

มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูด... บางคนซื้อรถมา เขาบอกว่าทุก ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุก ๕,๐๐๐ กิโลเมตร ต้องเข้าอู่เช็ก รถคันหนึ่งอาจจะราคา ๑ ล้านบาท ๒ ล้าน บาท ๓ ล้านบาท แต่ชีวิตคนมีค่ามากกว่านั้น บางคนไปนั่งเฝ้ารอ รถที่อู่ได้เป็นครึ่งวันค่อนวัน พอถึงชีวิตตัวเองที่ควรจะดูแลเอาใจใส่มากกว่ากลับดูดาย คิดว่าการไปหาหมอทำให้เสียเวลา หรือไม่มีเวลา ทั้งๆ ที่ไปหาหมออาจจะเสียเวลาแค่ ๑-๒ ชั่วโมง หรือครึ่งวันเท่านั้น แต่ขี้เกียจไป กลับให้ความสำคัญกับรถมากกว่าชีวิตตัวเอง รถเป็นอะไรนิดหน่อยจะรีบเข้าอู่ทันที พอถึงคราวตัวเองเจ็บป่วย กลับปล่อยปละละเลย เมื่อมาถึงหมอส่วนใหญ่จะอาการมากแล้ว

ถ้าเป็นโรคมะเร็งหมายถึงการถูกพิพากษาประหารชีวิตใช่หรือไม่
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า มะเร็งหลายชนิดยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ก็มีมะเร็งหลายชนิดที่ถ้าพบตั้งแต่ต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือถ้าไม่หายขาด แต่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิน ๑๐ ปีขึ้นไป มะเร็งที่หายขาด คือ มะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่มีสาเหตุจากไฝดำ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก พวกนี้ถ้าเจอตั้งแต่เริ่มต้นแล้วผ่าตัด เรียกว่ารักษาเกือบหายขาดเลย อย่างมะเร็งเต้านม ถ้าหมั่นตรวจร่างกายด้วยตนเอง หรือมีการคลำเต้านมตัวเองสม่ำเสมอ หากพบตั้งแต่แรก เรียกว่าเกือบหายขาดเลย แล้วมะเร็งปากมดลูก แพทย์เราก็มีการรณรงค์ให้ไปตรวจ เป็นระยะๆ ทุก ๕ ปี คือตั้งแต่อายุ ๓๕-๔๐-๔๕-๕๐-๕๕-๖๐ รับรองโอกาสตายจากมะเร็งปากมดลูกแทบจะหมดไป

การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีวิธีใดบ้างคะ
การรักษาขึ้นอยู่กับมะเร็งที่เป็น และระยะของโรคว่าเป็นขั้นไหน อย่างเช่น ถ้าเป็นระยะเริ่มต้น การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาออก ถอนรากถอนโคนไปเลย ถ้าก้อนมะเร็งโต ผ่าไม่ได้เพราะเสี่ยงอันตรายมาก ต้องใช้วิธีฉายแสง หรือให้เคมีบำบัดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ๒ วิธีร่วมกัน ให้ก้อนเนื้อเล็กลง เช่น จากระยะ ๔ ลงมาสู่ระยะ ๒ ระยะ ๒ ลงมาสู่ระยะ ๑ หรือระยะ ๓ ลงมาระยะ ๑ เพื่อให้การผ่าตัดเกิดอันตรายน้อยที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุด แล้วค่อยผ่าตัด ถ้าเป็นมาก การรักษาคืออาจผ่าตัด แล้วตามด้วยเคมีบำบัด หรือฉายแสงร่วมด้วย หรือทั้ง ๓ วิธีร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันยาเคมีบำบัด คุณภาพดีมาก แม้ว่าราคาจะสูงสัก หน่อย บางครั้งก็มีการใช้ฮอร์โมน เข้ามารักษาด้วย ถ้าเป็นระยะท้ายๆ ซึ่งการรักษาเป็นการเฉพาะไม่ได้ผลแล้ว แต่หมอก็ไม่ทิ้งการรักษา เราก็ดูแล โดยจัดเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยให้การดูแลแบบประคับประคอง รักษาตามอาการ ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งอาจกลับไปรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ โดยมีทีมงานจากโรงพยาบาลตามไปดูแลอย่างใกล้ชิด

การรักษาแบบไหนดีที่สุด
ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด เลวที่สุด ต้องดูว่าโรคอยู่ในระยะไหน คนไข้ พร้อมแค่ไหน เหมือนสำนวนที่ว่า "ลางเนื้อชอบลางยา" ผู้ป่วยโรคเดียวกัน ระยะเดียวกัน แต่ตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจแพ้ยา แต่บางคนไม่แพ้ ก็ต้องดูอาการและการสนองตอบของผู้ป่วยแต่ละคน

ได้ยินว่ามียาฉีดเข็มละเป็นแสนบาท คุณภาพดีแค่ไหนคะ
อันนี้ขึ้นอยู่กับยาบางตัว และมะเร็งบางชนิด เพราะจริงๆ แล้วมะเร็งมีตั้ง ๒๐๐-๓๐๐ ชนิด แล้วมะเร็งแต่ละอวัยวะก็มีเซลล์แตกต่างกัน ถามว่ายาตัวใหม่ที่เข้ามารักษา มะเร็งหายไหม...ตอบว่าไม่!! ถ้าโรคที่เป็นอยู่ลุกลามไปมากหรือเป็นมะเร็งที่ไม่สนองตอบต่อยา เพียงแต่ยาตัวใหม่อาจช่วยให้คนไข้ที่มีโอกาสรอดชีวิตเพียงร้อยละ ๕ เพิ่มโอกาสรอดเป็นร้อยละ ๑๕ หรือร้อยละ ๒๐ เท่านั้นเอง ตอนนี้มียามะเร็งชนิดหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้ามาในไทยกำลังทดลองอยู่ทั่วโลก มีขายเฉพาะที่สิงคโปร์และญี่ปุ่นเท่านั้นเอง ราคาแพงมาก ว่ากันว่าเป็นยารักษามะเร็งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับปอด แต่ก็ไม่ได้หายทุกรายมีประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐ เท่านั้น ที่รักษาหายหรือทุเลา เวลาเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม กำลังใจสำคัญที่สุดที่จะทำให้อาการดีขึ้น เพราะนอกจากยารักษาแล้ว การปฏิบัติตัวของคนไข้ก็มีส่วน แล้วอยู่ที่ว่าเป็นมากเป็นน้อย แค่ไหน และบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมเหมือนกัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลัวเรื่องเคมีบำบัด
ต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อเคมีบำบัดเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็งแล้ว ก็จะฆ่าเซลล์ปกติด้วย ก็มีผลกระทบตรงนี้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าฆ่าทั้งหมด เหมือนกับเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆหรอก ต้องแลกกัน แล้วหากมีผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แพทย์เราก็มียาที่จะช่วยแก้อาการเหล่านั้นได้

มีความเห็นเรื่องการรักษาแบบการแพทย์ทางเลือกอย่างไร
คนไข้มากมายมาที่นี่แล้วถามว่าจะรักษาแบบแพทย์ทางเลือกได้ไหม แพทย์ทางเลือกคืออะไร... แพทย์ทางเลือกไม่ได้หมายถึงบวกหรือลบ หน้าหรือหลัง แต่หมายถึงการนำมาผสมผสาน เอามาช่วยกันทุกวิธี เมื่อคนไข้บอกว่าจะรักษาแบบแพทย์ทางเลือก เราก็จะบอกข้อมูลการรักษาต่างๆ ให้เขาฟัง แล้วให้เขาตัดสินใจในการรักษาชีวิตของเขาเอง คนไข้ที่เจาะจงจะรักษาแบบแพทย์ทางลือก ผมอยากถามว่ามีสถิติในการรักษาอะไรบ้างไหม ผมยังไม่เคยเห็นใครมาบอกว่า รักษาแบบแพทย์ทางเลือกกินสมุนไพรโน่นนี่ แล้วหายขาด แต่ถ้าเป็นการรักษาแผนปัจจุบัน จะสามารถบอกได้ว่าเป็น มะเร็งขั้นไหน จะสามารถรักษาให้หายขาดได้แค่ไหน เราพูดกันแบบตรงไปตรงมา แต่ถ้ารักษาแบบแพทย์ทางเลือกจะไม่มีโอกาสรู้เลยว่าโอกาสที่จะหายเป็นอย่างไร แต่เชื่อเพียงเพราะ "เขาเล่ามา" "เขา บอกว่า..." แล้วไปเสี่ยงชีวิตโดยไม่มี ข้อมูลอะไรเลย ซึ่งน่ากลัวกว่า

ส่วนใหญ่คนที่ไปรักษาแบบแพทย์ทางเลือก มักจะถูกหลอกไปเสียเงินมากมายเป็นหมื่นเป็นแสน แล้วนึกบ้างไหมว่าสมุนไพรนั้นๆ กินแล้วมีผลข้างเคียงหรือเปล่า แล้วจะรักษาอย่างไร มียาแก้ไหม และคุณภาพชีวิตจะแย่ลงหรือไม่ ที่นี่เราไม่ได้ปฏิเสธการแพทย์ทางเลือก อะไรดีก็นำมาเสริมในการรักษาได้ เช่น ดนตรีบำบัด การสะกดจิต หรือการทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ไม่ใช่ วันๆ เอาแต่คิดว่าเมื่อไหร่จะตาย แล้วก็ทุกข์ทรมาน

แล้วเรื่องสมุนไพรล่ะคะ เห็นว่ามีหลายชนิดรักษามะเร็งได้
จริงๆ ที่สถาบันมะเร็งเราก็มีศูนย์วิจัยอยู่ แต่บอกตรงๆ ว่ายัง ไม่มีตัวใดตัวหนึ่งชัดเจนว่ารักษามะเร็งได้ เพียงมีพืชบางชนิดที่แสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมการ เจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้บ้าง จากการทดลองในหลอดแก้ว (ซึ่งตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าสมุนไพรนั้น คืออะไร) เช่น เห็ดชนิดหนึ่งที่มีการออกมาให้ข่าวเมื่อหลายปีก่อน ทั้งที่ผลวิจัยยังไม่ชัดเจน ซึ่งคนก็ฮือฮากันมาก ปัจจุบันกลายเป็นอาหารเสริมไปแล้ว แต่ไม่มีผลในการรักษามะเร็งเลย ส่วนหญ้าปักกิ่งก็ยังไม่มีการวิจัยชัดเจน แต่ถ้ากินแล้วไม่มีอันตราย กินแล้วสบายใจ มีกำลัง ใจต่อสู้โรคมากขึ้น ก็กินไปเถอะ แต่อย่าลืมไปพบหมอตามนัด ตาม กำหนดการรักษา สมุนไพรต่างๆ ช่วยเสริมการรักษาได้ แต่ไม่ใช่ใช้เป็นการรักษาหลัก ขอร้องว่าอย่าทิ้งการรักษาที่ได้รับจากแพทย์มาก่อน 

มะเร็งบางชนิดจะมีระยะหยุดการเจริญเติบโตของโรคช่วง ๑-๒ ปี บางคนไปกินสมุนไพรช่วงนี้ ก็คิดเอาว่าหายเพราะสมุนไพร บางคนรักษาแผนปัจจุบันกำลังจะหาย อยู่แล้ว หันไปรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ก็คิดว่าหายเพราะแพทย์ทางเลือก จนสุดท้ายอาการกำเริบ จึงกลับมาหาหมอ และเสียชีวิตในที่สุด หมอที่นี่จะไม่ซ้ำเติมคนไข้ เพียงแต่เสียดายที่คนไข้ทิ้งโอกาสช่วงหนึ่งของการรักษาที่ถูกต้องไป

ส่วนใหญ่คนที่เป็นมะเร็งแล้วเสียชีวิต เพราะเหตุใดคะ
อันแรกคือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีความรู้ คิดเอาเองว่าถ้าเป็นมะเร็ง แล้วรักษาแบบแผนปัจจุบันจะต้องตาย คือเห็นคนอื่น เขาเป็นแล้วตาย ก็เลยฝังใจเชื่อ อย่างนั้น โดยไม่ได้วิเคราะห์ว่าที่คนคนนั้นตาย ตายเพราะอะไร เขามาหาหมอช้าเกินไปหรือเปล่า บางคนตรวจเจอแล้วไม่รักษา หนีไปหาหมอเถื่อน หมอพระ ไปกินสมุนไพรอะไรต่างๆ มากมาย ผิดบ้าง ถูกบ้าง อีกเรื่องหนึ่งคือความจน บางคนอย่าว่าแต่จะไปรักษาเลย ค่ารถจะไปหาหมอยังไม่มี ก็เลยรักษาตามมีตามเกิด จนอาการเพียบหนัก เมื่อมาหาหมอก็แทบจะรักษาไม่ได้แล้ว

อาหารอะไรบ้างที่ช่วยต้านมะเร็งได้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ามะเร็งไม่ใช่หวัด ที่วันนี้ติดเชื้อแล้วพรุ่งนี้แสดงอาการ มะเร็งบาง อย่างใช้เวลาก่อตัวนาน ๕ ปี ๑๐ ปี บางชนิด ๒๐ ปี กว่าจะแสดง อาการของโรค แล้วถ้ากินอาหารไม่ดีมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เด็กๆ วัยหนุ่มวัยสาวจะมาเปลี่ยนเอาวันสองวันคงช่วยไม่ได้ มีอาหารบางชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันมะเร็งได้ เช่น อาหารที่มีกากใยมากๆ อาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ผักสีเขียวเข้ม อาหารที่มีวิตามินซีสูง ผักในตระกูล กะหล่ำ เครื่องเทศต่างๆ อาหารเหล่านี้มีงานวิจัยออกมา มีการพิสูจน์และเชื่อถือได้ แต่ถ้าบอกว่าเป็นมะเร็งแล้วกินน้ำผัก กินน้ำข้าวต่างๆ แล้วหาย ตรงนั้นยังไม่มีการพิสูจน์ออกมาชัดเจน

แล้วจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็นมะเร็ง
มะเร็งเป็นโรคที่ป้องกันได้ และมีหลายขั้นตอน ขั้นตอนแรกต้องเริ่มมาตั้งแต่เด็กๆ ต้องลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่กินปลาร้าก็ไม่ต้องเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ไม่สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ โอกาสเป็นมะเร็งปอดก็น้อยลง คือ ค่อยๆ ลดเหตุปัจจัยต่างๆ ลงทีละเรื่อง

ขั้นตอนที่สองต่อมาคือ การตรวจร่างกายตามเวลาที่แพทย์แนะนำ เมื่อถึงวัยที่ควรตรวจ หรือหากมีอะไรผิดปกติก็รีบพบแพทย์ ตรงนี้สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้เยอะมาก

ขั้นตอนที่สามสำหรับคนที่เป็นแล้ว การผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา คือ การป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม คนไข้ควรต้องเชื่อหมอ อย่าฟังใครง่ายๆ ให้เชื่อคนที่รู้จริง ชีวิตเป็นของคุณเอง อย่าให้คนอื่นจูง หมอไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร กับคนไข้ ยิ่งมีผู้ป่วยมาก หมอก็ยิ่งงานเยอะ เพราะฉะนั้น วิธีที่หมอจะรักษา หมายถึงหนทางจะช่วยชีวิตคุณได้ ผลข้างเคียงจากการรักษามีแน่นอน ขนาดเรากินอาหารริมถนน ก็ยังมีผลข้างเคียงเลย บางคนอาจจะท้องเสีย หรือบางคนไม่เป็น อะไรก็ได้ แต่เมื่อเป็นแล้วมาหาหมอ หมอก็จะรักษาไม่ให้คนไข้ทุกข์ทรมานมาก

ท้ายสุดขั้นตอนที่สี่ เมื่อโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ลุกลามจนเกินกว่าจะรักษาให้หายขาดหรือเป็นการเฉพาะได้ หมอก็สามารถช่วยป้องกันอาการต่างๆ ที่อาจเกิดหรือเกิดขึ้นแล้วให้ทุเลาลง ทำให้สามารถใช้ชีวิตที่ยังเหลืออยู่อย่างปกติสุข และมีคุณภาพชีวิตมากสุดเท่าที่จะเป็นได้ 

ก็นี่แหละ...มะเร็งเมื่อเป็นแล้วก็รักษาตามขั้นตอนอย่างนี้ อาจจะไม่หายขาด ส่วนการป้องกันก็ป้องกันเป็นขั้นตอน ทำมาตั้งแต่ เด็กๆ คุยกับคุณหมอมาถึงตรงนี้ คนสัมภาษณ์อยากสรุปกับตัวเองว่า คนเราหว่านพืชอย่างไร ก็ได้ผลอย่างนั้น เพราะแทบจะไม่เคยได้ข่าวเลยว่า คนที่ดูแลปฏิบัติตัวเป็นอย่างดี จะเป็นโรคร้ายอย่างที่กลัวๆ กัน แล้วหากกลัวไม่อยากเป็นโรคมะเร็ง ก็ต้องเริ่มกันที่ประโยค อมตะ "ป้องกันดีกว่าแก้ไข"  เพื่อสุดท้ายจะได้ "แก่อย่างสง่าและตายอย่างสงบ"

ข้อมูลสื่อ

289-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546