• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปราณยามะ (๒) สรีรวิทยาของการหายใจ

ปราณยามะ (๒) สรีรวิทยาของการหายใจ


ผู้ที่ได้ทำการบ้านมา ๑ เดือนแล้วก็จะเริ่ม "รู้จัก" ลมหายใจของตนเอง ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ (ใครยังไม่ได้ทำ ให้ลองทำ ณ ขณะนี้เลย)

ระบบหายใจของมนุษย์ทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ในหลายๆ ห้วงขณะที่เราไม่ได้ใส่ใจอยู่กับการหายใจ เช่น ตอนหลับ ตอนที่เราทำอะไรเพลินๆ จนไม่ได้คิดถึงลมหายใจก็สามารถทำงานได้ด้วยตัวของมันเอง

ในทำนองเดียวกัน มนุษย์ก็พอจะควบคุมลมหายใจของตนเองได้บ้าง กล่าวคือ มนุษย์สามารถบังคับลมหายใจของตนเองได้ตามปรารถนาว่าจะให้มันหายใจเข้า จะให้มันหายใจออก หรือจะกลั้นลมหายใจ เช่น การที่เราพูด ร้องเพลง ว่ายน้ำ เป็นต้น โดยมีข้อจำกัดว่า ช่วงที่ควบคุมนี้ทำได้ไม่นาน คือ ไม่เกิน ๑-๓ นาทีเท่านั้น

จากทั้ง ๒ ข้อข้างต้น เราสรุปได้ว่า ระบบหายใจของคนเราเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ คือ ทำการหายใจได้เอง โดยเมื่อไหร่ที่ต้องการจะควบคุมก็สามารถทำได้ แต่ไม่นานนัก และด้วยคุณสมบัติข้อนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุให้โยคะสนใจกับการฝึกลมหายใจเป็นอย่างมาก เพื่อทำความเข้าใจถึงความสำคัญในการฝึกลมหายใจของโยคะ ขออนุญาตย้อนกลับไปเล็กน้อย ดังที่ได้กล่าวมาตลอดว่า โยคะเป็นเรื่องของการที่มนุษย์คนหนึ่งตั้งใจจะพัฒนาตนเองไปสู่สภาวะสูงสุดทั้งกาย-ใจ ความใฝ่ฝันของโยคี คือ เป็นผู้มีร่างกายที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อันได้มาโดยการฝึกท่าอาสนะ และเป็นผู้มีจิตใจสมบูรณ์ ปลอดจากความเครียด ความกังวล ความขุ่นข้องทั้งปวง อันได้มาโดยการฝึกจิต (ซึ่งตำราโยคะขั้นสูงระบุวิธีการฝึกจิตไว้ ๔ ขั้นตอน)

ในการฝึกให้ร่างกายสมบูรณ์ด้วยท่าอาสนะนั้นเป็นเรื่องไม่ยากนัก เพราะอิริยาบถกล้ามเนื้อต่างๆ ทำงานภายใต้การกำกับควบคุมของตนเองอยู่แล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม จิตทำงานโดยอัตโนมัติ การกำหนดควบคุมจิตให้ได้ตามประสงค์นั้นเป็นเรื่องยาก ที่น่าสังเกตคือ ระบบหายใจของมนุษย์ที่เป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ โยคีตระหนักในธรรมชาติของกลไกมนุษย์เหล่านี้ และเชื่อว่าหากมนุษย์ฝึกควบคุมลมหายใจตนเองไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งผู้ฝึกก็จะสามารถควบคุมจิตของตนเองได้ ดังนั้นสำหรับโยคะแล้ว ลมหายใจคือประตูสำหรับโยคี ที่จะก้าวเข้าไปควบคุมจิตของตนนั่นเอง

กลับมายังเรื่องของการรู้จักลมหายใจจากการเฝ้าดูลมหายใจตนเอง นอกจากรู้ว่าลมหายใจมนุษย์เป็นระบบกึ่งอัตโนมัติแล้ว เรายังพบว่า ตลอดเวลาที่เราหายใจนั้น

ทรวงอกกระเพื่อมขึ้น-ลง ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อ บริเวณซี่โครงเกร็งยกขึ้นสูง ทำให้ช่องทรวงอกขยายขึ้น ด้านบนและขยายออกด้านข้าง ส่งผลให้ลมหายใจเข้าสู่ปอด จากนั้นกล้ามเนื้อบริเวณซี่โครงคลายตัวตกลง ทำให้ช่องทรวงอกคืนตัวตกลง ปิดแคบ ส่งผลให้ลมหายใจออกจากปอด

ช่องท้องพอง-ยุบซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกะบังลม (อยู่ภายในช่องท้อง) เกร็ง ลดต่ำลง ทำให้ช่องทรวงอก ขยายตัวลงทางด้านล่างด้วย ส่งผลให้ลมหายใจเข้าสู่ปอด (การที่กะบังลมลดต่ำลงช่องท้องนี่เอง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าท้องพองออกมาด้านหน้า) จากนั้นกล้ามเนื้อกะบังลมคลายตัวคืนกลับบน ทำให้ช่องทรวงอกหดตัวลง ส่งผลให้ลมหายใจออกจากปอด พร้อมๆ กับที่เรารู้สึกว่าท้องแฟบลง

กล่าวคือ ในการหายใจโดยอัตโนมัติของมนุษย์นั้น กล้ามเนื้อที่รับผิดชอบเป็นหลักมีอยู่ ๒ ส่วน คือ กล้ามเนื้อซี่โครงและกล้ามเนื้อกะบังลม

เทคนิคที่ฝากเป็นการบ้านสำหรับฉบับนี้ นอกจากคอยเฝ้าดูลมหายใจของตนเองในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอแล้ว คือ

๑. ช่วงที่เรามีเวลา เช่น ยามเช้าหลังฝึกอาสนะเสร็จ ช่วงกลางคืนก่อนนอน ให้นั่งในท่าอาสนะเพื่อสมาธิที่ตนถนัด แล้วมานั่งดูลมหายใจตนเองเป็นการเฉพาะเจาะจงเลย อาจใช้เวลา ๕ นาที ไปจนถึง ๑ ชั่วโมง ตามแต่เวลาจะเอื้ออำนวย ทำสม่ำเสมอทุกวัน

๒. ตลอดเวลาที่นั่งดู คอยสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะกำลังหายใจด้วย ซึ่งก็คือทั้งที่บริเวณทรวงอกกระเพื่อม และที่บริเวณช่องท้องพองยุบ

๓. เมื่อเฝ้าสังเกตไปเรื่อยๆ เราอาจจะจับความรู้สึกได้ละเอียดลง คือรู้สึกได้ถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ ซี่โครง และกล้ามเนื้อกะบังลม

๔. เมื่อเราเฝ้าสังเกตจนชำนาญขึ้น ยิ่งสามารถรับรู้ได้ละเอียดลงไปอีก บางคนอาจจะรับรู้ได้ถึงเสี้ยววินาทีที่ร่างกายรู้สึกขาดอากาศก่อนที่จะเกิดการหายใจเข้าและเสี้ยววินาทีที่ร่างกายรู้สึกอิ่มอากาศก่อนที่จะหายใจออก

๕. ผู้ที่สังเกตได้ลึกลง อาจรับรู้ได้ถึงสัญญาณประสาทอัตโนมัติของร่างกาย รับรู้สัญญาณประสาทที่เริ่มทำงาน ส่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อซี่โครงและกะบังลม (ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว หายใจเข้า) และรับรู้ช่วงที่สัญญาณประสาทหยุดการทำงาน (ทำให้กล้ามเนื้อทั้ง ๒ คลายตัว หายใจออก)

๖. ตลอดเวลาที่ฝึกและหลังจากฝึกเสร็จ อย่าลืมสังเกตผลที่เกิดขึ้นต่อจิตของเรา สังเกตดูว่าจิต-อารมณ์ของตนสงบลง นิ่งลง ว่างลงหรือไม่ อย่าลืมว่า สุดท้ายแล้วโยคะนำเราไปสู่การมีจิตที่สมบูรณ์ ปลอดจากความเครียด ความกังวล ความขุ่นข้องทั้งปวง

ข้อมูลสื่อ

290-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 290
มิถุนายน 2546
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์