• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษารอยแผลเป็น

เรื่อง “แผลเป็น” มีคนจำนวนมากถามหาผลิตภัณฑ์หรือยาที่จะช่วยให้แผลเป็นมีสีจางลง และแบนราบ ไม่เป็นสีเข้มหรือนูนเด่น จนมีผลต่อความสวยความงามของร่างกาย

รอยแผลเป็น เกิดได้อย่างไร
แผลเป็นเกิดจากกระบวนการรักษาแผลที่เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ มีการสร้างเนื้อเยื่อซึ่งเป็นคอลลาเจน (collagen) มาทดแทนเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป เป็นกระบวนการสมานรักษาแผลตามธรรมชาติ และเมื่อแผลหายดีแล้ว ก็ทิ้งรอยแผลเป็นไว้เป็นหลักฐาน ณ บริเวณที่เกิดแผล
แผลที่มักทำให้เกิดรอยแผลเป็น ได้แก่ แผลผ่าตัด แผลจากอุบัติเหตุ แผลไฟไหม้ แผลสิว แผลจากโรคสุกใส เป็นต้น 
รอยแผลเป็นที่เห็นกันทั่วไปจะเป็นรอยแผลเป็นที่ผิวหนังภายนอกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงรอยแผลเป็นเกิดขึ้นได้กับอวัยวะภายในได้ด้วยเช่นกัน
   
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดแผลเป็น
โอกาสเกิดรอยแผลเป็นในแต่ละคนได้มากน้อยขึ้นอยู่กับ ๒ ขั้นตอน 
๑. ขั้นตอนการเกิดแผลเป็น  มีความรุนแรงของแผลหรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อว่า ตื้นลึกเพียงใด
๒. ขั้นตอนการรักษาแผลให้หาย มีการดูแลรักษาแผลอย่างไร 
ถ้าเกิดบาดแผลเพียงผิวๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่น ในระดับของหนังกำพร้า ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นบางๆ ชั้นนอกสุด เมื่อแผลหายดีแล้วก็อาจทำให้เกิดแผลเป็นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่งรอยแผลเป็นก็จะจางหายไปได้เอง หรืออาจจะไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นเลยก็เป็นได้ 
แต่ถ้าบาดแผลหรือการฉีกขาดเจาะลึกลงถึงชั้นหนังแท้หรือลึกกว่านั้น เช่น บาดแผลลึกจนถึงชั้นของกล้ามเนื้อ กระดูก เป็นต้น แผลเหล่านี้เมื่อหายดีแล้ว ก็อาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้เป็นที่ระลึกได้ 
อีกประเด็นหนึ่ง คือการดูแลรักษาแผล ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดี และทำให้แผลหายเร็ว รอยแผลเป็นก็จะลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลรักษาที่ไม่ดี มีความสกปรก และแผลหายช้า

ธรรมชาติของรอยแผลเป็น
เมื่อแผลหายเป็นปกติแล้ว มักจะทิ้งรอยแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลและนูนขึ้น แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้กระบวนการตามธรรมชาติจะช่วยให้รอยแผลเป็นจางลงพร้อมทั้งแบนราบลงได้เอง หลังจากนั้นประมาณ ๑-๒ ปีเป็นต้นไป ยกเว้นในบางกรณีที่รอยแผลเป็นอาจมีอาการคันและเจ็บปวดได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าในเด็กโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ โดยพบว่าในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้บ่อยกว่าในวัยอื่นๆ ในเพศหญิงจะมีโอกาสการเกิดแผลเป็นได้บ่อยและมากกว่าในเพศชาย ในคนผิวคล้ำจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนผิวขาว และผู้ที่มีประวัติเคยเกิดแผลเป็นและมีประวัติของครอบครัวเกิดแผลเป็นจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประวัติดังกล่าว

ชนิดของแผลเป็น
รอยแผลเป็นมีมากมายหลายชนิด แต่ที่เป็นปัญหาหลักๆ จะมี ๒ ชนิดใหญ่ ดังนี้
๑. รอยแผลเป็นนูนหนา (Hypertrophic scar) คือ แผลเป็นที่มีสีแดงและนูนขึ้นมาจากผิวหนังปกติ แต่ยังอยู่ในขอบเขตของรอยแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของแผลเดิม แผลเป็นชนิดนี้เกิดจาการสร้างคอลลาเจนมากเกินไป และมักไม่ขยายกว้างขึ้นเกิดจากรอยโรคเดิม
๒. คีลอยด์ (Keloid) คือ แผลเป็นที่มีอาการนูนและแดงคล้ายกับรอยแผลเป็นนูนหนา แต่มีความผิดปกติทำให้เกิดการขยายตัวกว้างขึ้นเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบๆ รอยโรคของแผลตอนแรกเริ่ม
   
การป้องกันแผลเป็น
สิ่งสำคัญอย่างแรกในการลดแผลเป็นคือ ควรลดสาเหตุและระดับความรุนแรงของการเกิดแผล แต่ในกรณีที่เกิดแผลขึ้นแล้ว ควรดูแลรักษาทำความสะอาดแผลอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้แผลหายเร็วที่สุด ยิ่งแผลหายเร็วเท่าใดโอกาสการเกิดแผลเป็นก็จะน้อยหรือเบาบางลงเท่านั้น
ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการหายของแผล ได้แก่ อายุ ยาคอร์ติโคสตีรอยด์ การขาดอาหาร การสูบบุหรี่ อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดด่าง และออกซิเจน โดยพบว่าแผลจะหายได้ดีขึ้นในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิที่อบอุ่นได้ดีกว่าอากาศเย็น ความชื้น ความเป็นกรดด่าง ๗.๔ และออกซิเจนจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นเช่นกัน
   
ทำอย่างไรให้แผลหายเร็ว
ดังนั้น ในการรักษาแผลจึงควรรักษาสภาวะแวดล้อมและความสะอาดของแผลให้เหมาะสม มีอุณหภูมิที่อบอุ่น มีความชื้นเพียงพอ ความเป็นกรดด่าง และออกซิเจน เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
สำหรับการดูแลแผลเล็กๆ น้อยๆ เบื้องต้น เริ่มต้นการล้างหรือเช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ตามด้วยการปิดทำแผลโดยปราศจากเชื้อ ไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์หรือยาฆ่าเชื้อ เช่น โพรวิโดนไอโอดีน เพราะส่งผลเสียต่อการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายช้า
ส่วนชนิดของแผลที่ควรแนะนำไปพบแพทย์ ได้แก่ แผลที่เลือดไหลไม่หยุด แผลขนาดใหญ่หรือแผลลึกมาก แผลที่เกิดจากแมลงพิษกัด แผลบริเวณข้อต่อหรือข้อพับ และแผลที่แดง อักเสบ และปวดรุนแรงหรือเป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้ 
ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลร้ายต่อการหายของแผลคือ การสูบบุหรี่ การขาดวิตามินซี และธาตุสังกะสี ซึ่งควรรักษาระดับวิตามินซี และสังกะสีให้อยู่ในระดับปกติ ในทางตรงกันข้ามการได้รับวิตามินซี และสังกะสีในขนาดสูงหรือปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของร่างกายก็ไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น 
นอกจากนี้ การเกิดแผลเป็นอาจลดลง ถ้าให้ปากแผลแนบสนิทกันพร้อมทั้งลดแรงตึงต่อแผลลง
    
การรักษารอยแผลเป็น
ในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่นำมาเพื่อใช้รักษาหรือลดขนาดของแผลเป็นให้ลดน้อยลง เช่น การผ่าตัด การฉีดยาคอร์ติโคสตีรอยด์ การฉายรังสี การใช้ความเย็น การรักษาด้วยเจลซิลิโคน (silicone gel) ครีมวิตามินอี ยาครีมบางชนิด การปล่อยให้ดีขึ้นเอง เป็นต้น 
อย่างไรก็ดี วิธีการรักษาแผลเป็นส่วนใหญ่มักไม่มีเอกสารทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือเพียงพอว่าได้ผลดี 
ตามแนวทางการดูแลรอยแผลเป็น ของ The International Clinical Guidelines for Scar Management 2002 ได้สรุปไว้ว่า การรักษาแผลเป็นที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือเพียงพอ มีเพียง ๒ วิธี เท่านั้น ได้แก่ แผ่นเจลซิลิโคน (silicone gel sheet) และการฉีดคอร์ติโคสตีรอยด์ (intralesional steroid injection) 
๑. แผ่นเจลซิลิโคน (silicone gel sheet) 
เป็นแผ่นซิลิโคนใสที่เหมาะสำหรับแผลเป็นที่มีสีแดงหรือสีคล้ำหรือนูน ซึ่งมีรายงานว่าเมื่อใช้แผ่นเจลซิลิโคนแล้วจะช่วยให้สีของแผลจางลงและแผลแบนราบลงได้
ในการใช้แผ่นเจลซิลิโคนนี้ไม่ควรจะใช้ในขณะแผลเปิด ควรเริ่มใช้ทันทีที่แผลปิดสนิทหรือหลังตัดไหมสำหรับแผลเย็บ โดยปิดแผ่นเจลซิลิโคนนี้ทับแผลเป็นหรือคีลอยด์เป็นระยะเวลานานมากกว่า ๑๒ ชั่วโมงต่อวัน (อาจเริ่มต้นด้วยระยะเวลาน้อยๆ และเพิ่มขึ้นจนมากกว่า ๑๒ ชั่วโมงต่อวัน) จะช่วยให้แผลเป็นนี้ยุบลงได้ โดยที่ไม่เจ็บ แต่ใช้เวลาอาจจะประมาณ ๔-๖ เดือน 
แผ่นซิลิโคนใสนี้ สามารถนำมาล้างทำความสะอาด ใช้สบู่ฟอก ใช้น้ำสะอาดล้าง แล้วผึ่งให้แห้ง นำมาใช้ปิดแผลเป็นได้จนกว่าจะปิดไม่อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถใช้ได้นาน ๑๔-๒๘ วัน
๒. การฉีดยาคอร์ติโคสตีรอยด์ (Intra lesional corticosteroid) 
การฉีดยาสตีรอยด์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่ง (plastic surgeon) จะฉีดยาสตีรอยด์นี้เข้าใต้ตำแหน่งของแผลเป็น ซึ่งจะช่วยให้แผลเป็นนั้นนุ่มลงและแบนราบลงได้ 
ยานี้ควรใช้เมื่อใช้แผ่นซิลิโคนใสแล้วยังไม่หายดี ขนาดของยาที่ใช้อยู่ระหว่าง ๑๐-๑๒๐ มิลลิกรัมต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็น ควรให้ทุก ๔-๖ สัปดาห์ ซึ่งได้ผลพอใช้ได้ แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บขณะที่ฉีดยา และต้องมาฉีดเป็นระยะตามที่แพทย์นัด นอกจากนี้ ในบางรายอาจทำให้แผลยุบตัวและสีผิวเปลี่ยนได้ 
การใช้ทายาสตีรอยด์ทาบริเวณแผลเป็น จะช่วยบรรเทาอาการคัน ตึง ปวด เพื่อไม่ให้ลุกลามขึ้น แต่ไม่ช่วยให้แผลเป็นหรือคีลอยด์ยุบลงได้
๓. การผ่าตัด
การผ่าตัดจะช่วยจัดตำแหน่งร่องรอยแผลเป็นให้ดูดีขึ้นได้ แต่ทุกครั้งที่มีการผ่าตัดก็จะเกิดแผลเป็นใหม่แทนที่แผลเป็นเก่าเสมอ การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ได้ผลดีพอสมควร แต่ยังขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็นด้วย
๔. การทาด้วยครีมวิตามินอี 
 มีบางรายงานที่อ้างว่า วิตามินอี ช่วยเร่งให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งแพทย์บางคนแนะนำให้ใช้ แต่มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบขี้ผึ้งวิตามินอีกับยาหลอก พบว่าขี้ผึ้งวิตามินอีไม่ช่วยให้แผลเป็นดีขึ้นแตกต่างจากยาหลอก อีกทั้งมีรายงานการเกิดผื่นแพ้สัมผัสจากขี้ผึ้งวิตามินอี ถึง ๑ ใน ๓ ของผู้ที่ใช้ขี้ผึ้งวิตามินอีอีกด้วย 
   
การปล่อยให้แผลเป็นจางลงเองตามธรรมชาติ
 แผลเป็นอาจหดและจางลงได้เองในระดับหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น ศัลยแพทย์ตกแต่งจำนวนมากจะแนะนำให้ทิ้งไว้เฉยๆ สัก ๑ ปี จนแผลจางลงเต็มที่ก่อนให้การรักษา
นอกจากนี้ การใช้แสงเลเซอร์ก็ได้ผลปานกลางขึ้นอยู่กับขนาดคีลอยด์ การใช้เครื่องสำอางตกแต่งแผลเป็น เป็นต้น
การรักษารอยแผลเป็นให้จางลงหรือหายสนิทเป็นทั้งความหวังและความสวยงาม ตลอดจนความมั่นใจในชีวิต 
    
อย่างไรก็ตาม ในท้องตลาดมักพบผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่โฆษณาหรือสื่อความหมายให้เข้าใจว่า ได้ผลดีช่วยให้รอยแผลเป็นหายได้ ไม่ว่าจะเป็นครีมต่างๆ หลายชนิด ซึ่งแพทย์ผิวหนังหลายท่านยืนยันว่าไม่ได้ช่วยให้รอยแผลเป็นจางลงเลย
     
   

 

ข้อมูลสื่อ

321-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 321
มกราคม 2549
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด