• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๒)

บทที่ ๑๑
การหาความหมายในความเจ็บปวดและความทุกข์
 
หมอคัตเลอร์เล่าในหนังสือเล่มนี้ถึงจิตแพทย์ยิวคนหนึ่งที่ถูกนาซีคุมขังในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาชื่อวิคเตอร์ แฟรงเคิล ผู้กล่าวว่า “มนุษย์พร้อมและเต็มใจที่จะรับความทุกข์ทรมานได้ทุกชนิด ตราบใดที่เขารู้ความหมายของมัน” 
    
แฟรงเคิลได้ใช้ประสบการณ์ของเขาที่เผชิญกับความทารุณกรรมอันเหี้ยมโหดและไร้มนุษยธรรมในค่ายกักกันมาทำให้เกิดความเข้าใจว่ามนุษย์สามารถรอดชีวิตจากความหฤโหดได้อย่างไร โดยการสังเกตว่าคนที่รอดชีวิตกับไม่รอดชีวิตต่างกันอย่างไร เขาพบว่าไม่เกี่ยวกับอายุหรือความแข็งแรงทางร่างกาย แต่เกี่ยวกับความแข็งแรงของความมุ่งมั่น และการค้นพบความหมายของชีวิตและประสบการณ์
 
การพบความหมายของความทุกข์ เป็นวิธีการที่ทรงพลังที่ช่วยให้เราเผชิญกับความทุกข์ยากในชีวิต  แต่การหาความหมายจากความทุกข์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะ  ไร้สาระ  โดยไม่เลือกว่าเป็นใคร  ปราศจากความหมาย อย่าว่าแต่ว่ามีวัตถุประสงค์หรือความหมายอันใดเลย  และเมื่อเรากำลังเจ็บปวดและมีความทุกข์ พลังของเราทั้งหมดก็พุ่งไปสู่การที่จะหาทางให้พ้นความเจ็บปวดนั้นเร็วที่สุด  ในช่วงที่เกิดวิกฤติอย่างปัจจุบันทันด่วนและท่ามกลางความโศกเศร้า ดูจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาไตร่ตรองหาความหมายอย่างลึกๆของความทุกข์  ในเวลาเช่นนั้น  เราทำอะไรเกือบไม่ได้เลยนอกจากความอดทน  และก็เป็นธรรมดาที่จะคิดว่าความทุกข์ของเราช่างไม่มีสาระและไม่มีความยุติธรรมเสียเลย  และมักจะถามว่า “ทำไมต้องเป็นฉันด้วยล่ะ?” แต่ว่าก็โชคดีที่ในเวลาที่ยังค่อนข้างดี เช่น  ก่อนหรือหลังการเกิดความทุกข์อย่างปัจจุบันทันด่วน  เราสามารถจะคิดไตร่ตรองเรื่องความทุกข์ หาทางเข้าใจความหมายของมัน  เวลาและความพยายามที่เราใช้ไปในการหาความหมายของความทุกข์จะให้ผลคุ้มค่าเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นจริงๆ แต่การที่จะได้ประโยชน์อย่างนั้นได้  เราจะต้องเริ่มหาความหมายเสียตั้งแต่ทุกข์มันยังไม่เกิด ต้นไม้ที่มีรากแข็งแรงจะทานลมแรงได้ แต่ว่าต้นไม้ไม่สามารถงอกรากออกมาได้ทันเมื่อพายุได้เริ่มขึ้นแล้ว (อุปมาอุปไมย อีกอย่างหนึ่งที่ผมใช้ก็คือ เมื่อเรือล่มแล้วเราเพิ่งจะหัดว่ายน้ำ ไม่ใช่หนทางที่จะรอดชีวิต)
 
เเล้วเราจะเริ่มหาความหมายของความทุกข์เมื่อไรกันล่ะ  สำหรับหลายคนก็เริ่มในประเพณีทางศาสนา แม้ศาสนาต่างๆ จะมีวิธีต่างๆ กันที่จะเข้าใจความหมายและวัตถุประสงค์ของความทุกข์ ทุกศาสนาก็สอนวิธีที่จะเผชิญกับความทุกข์ตามความเชื่อของศาสนานั้นๆ พุทธศาสนาและศาสนาฮินดู สอนว่าความทุกข์เกิดจากการทำไม่ดีของตนเองในอดีต จึงมองว่าความทุกข์เป็นตัวเร่งไปสู่การพัฒนาความดี

ในทางศาสนายิวและคริสเตียน จักรวาลสร้างขึ้นโดยพระเจ้าผู้ทรงสถิตในความดีและความยุติธรรม แม้ว่าแผนแม่บทของพระเจ้าอาจจะเป็นความลี้ลับที่มนุษย์ไม่เข้าใจ แต่ศรัทธาในพระเจ้าทำให้มนุษย์ทนทุกข์ได้ง่ายขึ้น ดังที่คัมภีร์ทาลมุด (ของศาสนายิว) กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่พระเจ้าทำทรงทำอย่างดีที่สุด” แม้ชีวิตจะมีความเจ็บปวด แต่ก็เหมือนการเจ็บครรภ์ของแม่ เพื่อคลอดสิ่งที่ดีออกมา  แต่ก็ต่างจากความเจ็บปวดจากการคลอดบุตรที่เราไม่เห็นว่าสิ่งที่ดีที่จะคลอดออกมานั้นคืออะไร กระนั้นก็ตามด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระเจ้า ทำให้เชื่อในวัตถุประสงค์ของพระเจ้าดังที่นักปราชญ์เผ่าฮาซิดิคคนหนึ่งแนะนำว่า “เมื่อมนุษย์มีความทุกข์” เขาไม่ควรกล่าวว่า “มันเลวร้ายๆ” ไม่มีอะไรที่พระผู้เป็นเจ้าทำให้เกิดขึ้นจะเลวร้ายไปได้ แต่ก็ใช้ได้ ถ้ากล่าวว่า  “ช่างน่าขมขื่นๆ” เพราะว่ายาจำนวนมากที่เคี้ยวมีรสขม ดังนั้น สำหรับมุมมองทางศาสนายิวและคริสเตียน  ความทุกข์มีประโยชน์หลายอย่าง  เช่น เป็นการทดสอบและทำให้ศรัทธาของเราแข็งแรงขึ้น นำเราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นหรือทำให้เราหลุดจากโลกทางวัตถุแล้วไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า

แม้ผู้ไม่นับถือศาสนา แต่ถ้าไตร่ตรองดูอย่างลึกๆ ถึงความหมายและคุณค่าของความทุกข์ก็อาจได้รับประโยชน์ แม้ว่าความทุกข์จะไม่ทำให้เกิดความหฤหรรษ์ใดๆ เลย แต่มันก็เป็นการทดสอบและทำให้ประสบการณ์ชีวิตของเราลึกซึ้งและเข้มแข็งขึ้น ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ เคยกล่าวว่า “อะไรที่ไม่ทำลายข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าแข็งแรงขึ้น” ความทุกข์ท้าทายต่อเราและอาจนำสิ่งที่ดีที่สุดออกมาจากตัวเรา ในหนังสือชื่อ “The Third Man” เกรแฮมกรีนกล่าวว่า “ในอิตาลี ๓๐ ปี ภายใต้พวกบอจะ*มีสงครามการก่อการร้าย ฆาตกรรม เลือดตกยางออก แต่อิตาลีก็สามารถผลิตคนอย่างไมเคิล แองเจโล, ลีโอนาร์โด ดาวินซี และยุคฟื้นฟู ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มีความรัก ประชาธิปไตยและสันติภาพ เป็นเวลา ๕๐๐ ปี แล้วผลิตอะไรได้? ได้แต่นาฬิกาปลุกคุกคู!”
 
ความทุกข์บางครั้งก็ทำให้เราแข็งขึ้น  มีกำลังมากขึ้น แต่บางครั้งก็ทำหน้าที่ตรงข้าม คือทำให้เรานุ่มนวลและอ่อนไหวมากขึ้น ความไม่มั่นคงระหว่างที่เรามีความทุกข์จะทำให้เราเปิดตัวและเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น  นักกวีที่ชื่อวิลเลียม เวิดส์เวิธ เคยกล่าวว่า “ความเครียดอย่างหนักได้ทำให้วิญญาณของข้าพเจ้ามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น” เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ หมอคัตเลอร์นึกถึงคนที่คุ้นเคยกันคนหนึ่งชื่อโรเบิร์ต ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากบริษัทหนึ่ง  หลายปีมาแล้วเขาเกิดปัญหาทางการเงินอย่างหนักหน่วงอันทำให้เกิดโรคซึมเศร้าอย่างแรง โรเบิร์ตเคยเป็นคนที่มีความมั่นใจและกระตือรือร้น หมอคัตเลอร์ตกใจมากที่เห็นเขาในสภาพห่อเหี่ยวหมดหวังขนาดนั้น  ด้วยเสียงที่ปวดร้าว โรเบิร์ตพูดว่า “นี่มันเลวร้ายที่สุดในชีวิตผม ผมสลัดมันออกไปไม่ได้ ผมไม่เคยรู้เลยว่ามันจะแย่ หมดหวังและทำอะไรไม่ได้เลยขนาดนั้น” หมอคัตเลอร์ได้ส่งเขาไปรักษากับหมออีกคนหนึ่ง
    
หลายสัปดาห์หลังจากนั้น หมอคัตเลอร์พบกับคาเรนภรรยาของโรเบิร์ตโดยบังเอิญและถามถึงสามีของเธอ ”เขาดีขึ้นมาก” เธอว่า “จิตแพทย์ที่คุณแนะนำให้ไปหาได้สั่งยาแก้โรคซึมเศร้า ซึ่งช่วยได้มาก แต่คงจะใช้เวลาอีกพักกว่าจะสะสางปัญหาทางธุรกิจได้ แต่เขาก็ดีขึ้นมากแล้ว คงจะไม่เป็นไร”  
 “ผมดีใจที่ได้ทราบ”
หมอคัตเลอร์ว่า
 
คาเรนลังเลใจอยู่ชั่วครู่ แล้วสารภาพว่า “ฉันไม่ต้องการเห็นเขาซึมเศร้าเลย แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคุณ คืนหนึ่งขณะที่ตกอยู่ในความซึมเศร้าขนาดหนัก เขาร้องไห้ไม่หยุด ฉันต้องกอดเขาไว้เป็นชั่วโมงจนกระทั่งเขาหลับ ตั้งแต่แต่งงานกันมา ๒๓ ปีก็เพิ่งเคยเป็นแบบนั้น...ไม่เคยใกล้ชิดกันแบบนั้นมาก่อน หลังจากนั้นเขาค่อยยังชั่ว สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป มีความสนิทชิดใกล้มากกว่าเดิม การที่เขาให้ฉันมีส่วนร่วมในปัญหาของเขา ทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้น”
 
ในการค้นหาความหมายของความทุกข์ ท่านทะไล ลามะ ได้อธิบายให้ฟังว่า ความทุกข์ทำให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างไรในวิถีทางของชาวพุทธ
    
“ในการปฏิบัติในวิถีชาวพุทธ  ท่านอาจใช้ความทุกข์เป็นเครื่องพัฒนาความกรุณา  โดยถือโอกาสปฏิบัติตามหลัก “ต็อง-เล็น” ซึ่งเป็นวิธีของทางมหายาน โดยคิดเอาความทุกข์ของผู้อื่นมาใส่ตัว และเอาสิ่งดีๆ ของเราไปให้ผู้อื่น  อาตมาจะสอนวิธีปฏิบัตินี้ให้ละเอียดขึ้นในภายหลัง  ดังนั้น เมื่อท่านป่วยหรือเจ็บป่วยหรือมีความทุกข์ ท่านอาจจะใช้เป็นโอกาสที่จะคิดดังนี้ว่า “ขอให้ความทุกข์ของข้าพเจ้าจงรับมาซึ่งความทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหมด โดยวิธีนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้ช่วยสรรพชีวิตทั้งปวง ซึ่งอาจมีความทุกข์เหมือนข้าพเจ้า” โดยวิธีนี้เป็นการที่ท่านใช้เป็นโอกาสที่จะเอาความทุกข์ของคนอื่นมาใส่ตัวเรา
 
“แต่ว่าในการทำดังนี้ ที่ว่าเมื่อตัวท่านป่วยแล้วคิดว่าความป่วยของท่าน จงทดแทนความป่วยของคนทั้งหลาย เพื่อให้เขามีสุขภาพดี แล้วละเลยการดูแลสุขภาพของตัวเองเสีย ในการดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนอื่นต้องป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย โดยวิธีการต่างๆ เช่น กินอาหารที่ถูกต้องหรืออะไรอย่างอื่น และเมื่อป่วยก็ต้องกินยาที่เหมาะสมหรือวิธีการรักษาอื่นๆที่มีอยู่”
 
“แต่ว่าเมื่อป่วย แล้วปฏิบัติตามหลัก “ต็อง-เล็น” จะทำให้ท่านมีสุขภาพจิตที่แตกต่างไป แทนที่จะคร่ำครวญหรือเสียอกเสียใจ วิตกกังวล ท่านไม่ควรทำตัวเองให้เจ็บปวดทางจิตใจเพิ่มขึ้นไปโดยไม่จำเป็น การปฏิบัติตามหลัก “ต็อง-เล็น” อาจจะไม่ทำให้หายเจ็บป่วย แต่ว่ามันจะช่วยป้องกัน ความเจ็บปวดทางจิตใจเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ท่านอาจจะคิดว่า จากการเจ็บป่วยนี้ ขอให้ข้าพเจ้าสามารถช่วยให้คนอื่นที่กำลังเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน รอดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ทรมานของท่านก็จะมีความหมายใหม่  ที่ใช้เพื่อการพัฒนาทางจิตวิญญาณ  นอกเหนือไปจากนั้น เป็นไปได้ว่าผู้ที่ใช้เทคนิคนี้แทนที่จะเสียใจและเศร้าโศกกับความเจ็บป่วยของตนเอง  กลับเห็นไปว่านี่เป็นโอกาส อันพึงยินดีที่ทำให้ตัวเขาเป็นคนดีขึ้น”
 
หมอคัตเลอร์พูดขึ้นว่า “ท่านกล่าวว่าความทุกข์อาจนำมาใช้เพื่อปฏิบัติ “ต็อง-เล็น” และก่อนหน้านั้นท่านกล่าวว่า การพิจารณาใคร่ครวญถึงธรรมชาติของความทุกข์ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ช่วยป้องกันไม่ให้ทุกข์มากเกิน เมื่อสภาพการณ์จริงเกิดขึ้น  เพื่อสร้างการยอมรับว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิต…”
    
“จริงทีเดียว”
ท่านทะไล ลามะ กล่าว
“มีวิธีอื่นอีกไหม ที่จะมองหาความหมายของความทุกข์ หรืออย่างน้อยว่าความทุกข์ของเรามีประโยชน์อะไรในเชิงปฏิบัติ”
“มี”
ท่านทะไล ลามะ ตอบ “แน่นอนทีเดียว อาตมาคิดว่าเราได้พูดกันมาก่อนแล้วว่าในวิถีทางพุทธ การระลึกถึงความทุกข์มีความสำคัญมาก เพราะในการเข้าใจ

ธรรมชาติของความทุกข์ จะทำให้ท่านตั้งใจมากขึ้นที่จะขจัดเหตุแห่งทุกข์ และการปฏิบัติที่ไม่ดีอันนำไปสู่การเกิดทุกข์ และเพิ่มพลังความตั้งใจการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่จะนำไปสู่ความสุข”
“แล้วท่านเห็นประโยชน์อะไรบ้างไหมในการระลึกถึงความทุกข์ สำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ”
“มี อาตมาคิดว่ามันมีประโยชน์ในบางสถานการณ์ เช่น การระลึกถึงความทุกข์ อาจช่วยลดความอหังการหรือการยกหูชูหาง” ท่านทะไล ลามะ กล่าวพลางหัวเราะเสียงดัง “แต่นี่อาจจะดูว่าไม่มีประโยชน์อันใด สำหรับคนที่ไม่คิดว่าอหังการเป็นความชั่วร้าย”
 
เอาจริงเอาจังมากขึ้น ท่านทะไล ลามะ กล่าวว่า “แต่อย่างไรก็ดี อาตมาคิดว่าประสบการณ์ความทุกข์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อท่านระลึกรู้ถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ มันช่วยให้ท่านพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ช่วยให้เข้าใจความทุกข์ของคนอื่น ส่งเสริมให้มีความกรุณามากขึ้น เป็นเครื่องช่วยให้เราสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้น ซึ่งเป็นคุณค่า”
  
ดังนั้น ท่านสรุป “การมองความทุกข์โดยวิธีอย่างนี้ ทัศนคติของเราก็จะเริ่มเปลี่ยนไปว่าความทุกข์ของเราไม่ได้เลวร้ายหรือปราศจากคุณค่าอย่างที่เราคิด”

การจัดการกับความเจ็บปวดทางกาย
โดยการระลึกถึงเรื่องความทุกข์ในขณะที่ชีวิตยังสงบเป็นปกติ เราอาจจะค้นพบคุณค่าลึกๆและความหมายของความทุกข์ แต่ว่าบางครั้งเราก็เผชิญกับความทุกข์ที่ดูไม่มีคุณค่าไม่มีความหมายอะไรเลย ความเจ็บปวดทางกายดูเหมือนจะอยู่ในประเภทนี้ แต่ว่ามีความแตกต่างกันระหว่างความเจ็บปวดทางกาย ซึ่งเป็นกระบวนการทางสรีรวิทยา กับความทุกข์ซึ่งเป็นการตอบโต้ทางจิตและทางอารมณ์ต่อความเจ็บปวดทางกายนั้น ดังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นว่า : การหาความหมายและวัตถุประสงค์ของความเจ็บปวดจะมาเปลี่ยนแปลงท่าทีของเราต่อความเจ็บปวดได้ไหมและการเปลี่ยนแปลงท่าทีนั้นจะช่วยลดความเจ็บปวดทางกายได้ไหม
  
ในหนังสือชื่อ ”ความเจ็บปวด : รางวัลที่ไม่มีใครต้องการ” นายแพทย์พอล แบรนด์ ได้พยายามค้นหาความหมายและคุณค่าของความเจ็บปวดทางกาย นายแพทย์แบรนด์เป็นศัลยกรรมผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดมือและโรคเรื้อนผู้มีชื่อเสียงก้องโลก  ผู้ที่เมื่อเยาว์วัยใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย และโดยที่เป็นลูกของมิสชันนารี เขาจึงถูกแวดล้อมไปด้วยคนจนและลำบากด้วยประการต่างๆ เขาสังเกตว่าที่นั่นผู้คนคาดหมายและทนทานต่อความเจ็บปวดทางกายได้มากกว่าคนตะวันตก  นายแพทย์แบรนด์จึงเกิดความสนใจต่อระบบความเจ็บปวดในร่างกายของมนุษย์  ในที่สุดเขาได้รักษาผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อนและค้นพบเรื่องสำคัญยิ่ง เขาพบว่าความวิบัติที่เกิดขึ้นกับคนเป็นโรคเรื้อนและความพิการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัวเชื้อโรคโดยตรง แต่ว่าเกิดจากความสูญเสียความรู้สึกเจ็บปวดของแขนและขา  เมื่อขาดความเจ็บปวดที่คอยระวังระไว คนไข้โรคเรื้อนก็ขาดระบบที่จะป้องกันตัวเองจากการทำลายเนื้อหนังมังสา  นายแพทย์แบรนด์จึงเห็นคนไข้ที่เดินหรือวิ่ง โดยใช้ขาที่เป็นแผลหรือที่ลึกถึงกระดูกก็มี (เพราะไม่เจ็บปวด) ซึ่งจะทำให้เนื้อหนังร่างกายผุพังมากยิ่งขึ้น  เพราะขาดความเจ็บปวด บางครั้งคนไข้เอามือเข้าไปหยิบของในกองไฟ เขาสังเกตการไม่รู้สึกรู้สาต่อการทำลายตนเอง  ในหนังสือเล่มนี้นายแพทย์แบรนด์ได้เล่าเรื่องคนแล้วคนเล่าของความพินาศของชีวิตร่างกายที่ปราศจากความรู้สึกเจ็บปวดอันตรายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  มีรายที่หนูมากัดนิ้วมือนิ้วเท้าขณะที่คนไข้หลับ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด
  
หลังจากทำงานกับคนที่เจ็บปวดและคนที่ไม่เจ็บปวดมาตลอดชีวิต นายแพทย์แบรนด์ก็เกิดทรรศนะใหม่ว่าความเจ็บปวดไม่ใช่ศัตรูสากลอย่างที่คนตะวันตกมองกัน  แต่เป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในทางชีววิทยาที่ช่วยป้องกันอันตราย  แต่ว่าทำไมความรู้สึกเจ็บปวดจึงไม่น่าอภิรมย์เสียเลย นายแพทย์แบรนด์สรุปว่า เพราะว่าความไม่น่าอภิรมย์ของมัน หรือส่วนที่เราเกลียดมันนั่นแหละที่ช่วยปกป้องเราอย่างได้ผลในการเตือนเรา  ถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ความไม่น่าอภิรมย์ของความเจ็บปวดบังคับระบบร่างกายทั้งหมดของมนุษย์ให้สนใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าร่างกายของเราจะสามารถเคลื่อนไหวโดยรวดเร็วเป็นอัตโนมัติจากที่ที่ทำให้เจ็บ แต่ก็ความรู้สึกไม่น่าอภิรมย์นั่นแหละที่ปลุกความสนใจและบังคับให้ต้องกระทำ  และยังก่อให้เกิดการจดจำเพื่อจะหลีกหนีต่อความเจ็บปวดเช่นนั้นต่อไปในอนาคต
  
แบบเดียวกับที่การค้นพบความหมายของความทุกข์ที่ช่วยให้เราเผชิญปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น นายแพทย์แบรนด์รู้สึกว่าการเข้าใจวัตถุประสงค์ของการที่มีความเจ็บทางกาย ทำให้ความทุกข์ของเราลดลงได้เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้น ในทรรศนะของทฤษฎีนี้ หมอแบรนด์จึงเสนอแนวคิด “การรับประกันด้วยความเจ็บ” (Pain insurance) เขาคิดว่าเราอาจจะเตรียมตัวเผชิญความเจ็บปวดล่วงหน้าขณะที่ยังดีๆ อยู่ โดยปัญญาที่รู้เหตุผลของการที่ต้องมีการรับรู้ความเจ็บ และรู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีระบบรับรู้ความเจ็บ แต่ขณะที่เกิดความเจ็บขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนเราจะตั้งตัวไม่ทัน ฉะนั้นจึงควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ถ้าเราคิดว่าความเจ็บคือ การส่งข่าวของร่างกายให้เจ้าของสนใจถึงจุดอันตรายท่าทีของเราเกี่ยวกับความเจ็บก็จะเปลี่ยนไป และเมื่อท่าทีของเราต่อความเจ็บเปลี่ยนไป  ความทุกข์ของเราก็จะลดลง นายแพทย์แบรนด์ยืนยันว่า ”ผมเชื่อมั่นว่าท่าทีของเราที่เราปลูกฝังไว้ล่วงหน้าจะเป็นตัวกำหนดผลของความทุกข์เมื่อมันเกิดขึ้น” เขาเชื่อว่าเราอาจจะสร้างความรู้สึกกตัญญูต่อความเจ็บเมื่อมันเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำไป แม้เราไม่อาจจะรู้สึกขอบคุณต่อประสบการณ์ของความเจ็บ แต่เราควรขอบคุณระบบที่ทำให้รู้สึกเจ็บได้
  
ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทัศนคติและมโนทัศน์ของเรามีผลต่อระดับความทุกข์เมื่อความเจ็บปวดทางร่างกายเกิดขึ้น ตัวอย่าง เช่น มีคนสองคน หนึ่งคนเป็นช่างก่อสร้างอีกคนเป็นนักเปียโน เกิดบาดเจ็บที่นิ้ว ในขณะที่ปริมาณของความเจ็บปวดทางกายจะเท่ากัน  สำหรับทั้ง ๒ คน แต่ช่างก่อสร้างอาจมีความทุกข์เพียงเล็กน้อยเท่านั้นหรืออาจมีความสุขเสียด้วยซ้ำ ถ้าการบาดเจ็บนั้นทำให้ได้พักงานโดยยังได้ค่าจ้าง แต่นักเปียโนอาจมีความทุกข์มาก เพราะทำให้เขาขาดความสุขจากการเล่นเปียโน
  
ความคิดที่ว่าทัศนคติมีอิทธิพลต่อความสามารถของเราที่จะรับรู้และอดทนต่อความเจ็บปวดไม่ได้เป็นทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ว่าได้มีการแสดงให้เห็นด้วยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการทดลอง นักวิจัยได้ติดตามเส้นทางของความรู้สึกเจ็บ ความเจ็บเริ่มจากสัญญาณความรู้สึก ปลายประสาทรับความรู้สึกถูกกระตุ้นจากบางสิ่งบางอย่างที่อาจเป็นอันตราย สัญญาณเป็นล้านๆ ชิ้นถูกส่งจากปลายประสาทรับความรู้สึกไปยังไขสันหลัง และต่อไปยังฐานของสมอง ซึ่งจะทำหน้าที่แยกแยะและส่งต่อไปยังส่วนสมองที่สูงขึ้น สมองแยกแยะสัญญาณที่ได้รับและตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ในระยะนี้เองที่จิตเข้ามาจัดคุณค่าและความหมายของความเจ็บปวด และเพิ่มความเข้มข้นหรือดัดแปลงการรับรู้ความเจ็บปวด นั่นคือเราเปลี่ยนความเจ็บปวดทางกายเป็นความทุกข์
 (ทางจิต) เพื่อลดความทุกข์จากความเจ็บ เราต้องแยกระหว่างความเจ็บของความเจ็บจริงๆ กับความเจ็บที่เราสร้างขึ้นในความคิดของเรา ความกลัว ความโกรธ การโทษตนเอง ความว้าเหว่ ความรู้สึกว่าช่วยอะไรไม่ได้เลย ล้วนเป็นความรู้สึกทางจิตและอารมณ์ที่อาจเพิ่มความเจ็บปวด  ดังนั้น ในการหาวิธีที่จะจัดการกับความเจ็บ เราอาจจะทำที่ระดับต่ำของการรับรู้ นั่นคือใช้วิธีการทางการแพทย์สมัยใหม่ เช่น ใช้ยา แต่เราอาจจะทำที่ระดับสูงขึ้นไป อันได้แก่ดัดแปลงทรรศนะและท่าทีต่อความเจ็บ
  
นักวิจัยจำนวนมากได้สำรวจบทบาทของจิตในการรับรู้ความเจ็บ ปาฟลอฟว์ฝึกสุนัขให้เอาชนะสัญชาตญาณความเจ็บ โดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้เจ็บ ขณะเดียวกันให้รางวัลโดยให้อาหารกิน  นักวิจัยชื่อโรนัลด์ เมลซาค ได้ทำการต่อจากปาฟลอฟว์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เขาเลี้ยงลูกสุนัขพันธุ์หนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่มันจะไม่ได้รับความเจ็บปวดเลยขณะที่เจริญวัยขึ้น  สุนัขเหล่านี้สูญเสียการเรียนรู้ที่จะมีปฏิกิริยาต่อความเจ็บ เช่น เมื่อเอาเข็มไปแทงอุ้งเท้าของมัน ในขณะที่พี่น้องครอกเดียวของมันที่เลี้ยงมาตามธรรมชาติร้องโหยหวน เมื่อเอาเข็มแทงที่อุ้งเท้าของมัน จากการทดลองเช่นนี้เขาจึงสรุปว่า สิ่งที่เราเรียกว่าความเจ็บปวดรวมทั้งความรู้สึกทางอารมณ์อันไม่น่าอภิรมย์ของความเจ็บ เป็นเรื่องของการเรียนรู้มากกว่าสัญชาตญาณ การทดลองอย่างอื่นๆเกี่ยวกับมนุษย์โดยใช้การสะกดจิต และการใช้ยาหลอดได้แสดงให้เห็นว่าสภาวะของสมองในส่วนสูง (จิต) สามารถจะเอาชนะสัญญาณความเจ็บที่มาตามระบบประสาทในระดับที่ต่ำลงไปได้ นี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจิตที่มีต่อการรับรู้ความเจ็บ และการที่มีผู้พบว่ามีความแตกต่างกันมากระหว่างชนเผ่าต่างๆ ในความสามารถที่จะรับรู้และทนต่อความเจ็บ
  
ดังนั้น การที่ยืนยันว่าทัศนคติต่อความเจ็บมีอิทธิพลต่อระดับความทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บไม่ใช่เป็นเพียงการคาดคะเนทางปรัชญาเท่านั้น แต่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และถ้าการหาความหมายและคุณค่าของความเจ็บ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อความเจ็บ ความพยายามของเราดังกล่าวก็ไม่นับว่าสูญเปล่า ในการค้นหาวัตถุประสงค์ของความเจ็บ หมอแบรนด์ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจและสำคัญยิ่ง เขากล่าวถึงรายงานหลายชิ้นที่อ้างถึงคำพูดของคนเป็นโรคเรื้อนว่า “ผมมองเห็นมือและเท้าของผม แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนของร่างกายของผม มันเหมือนกับเป็นเครื่องมือเครื่องใช้เท่านั้นเอง” ดังนั้น ความเจ็บใช่แต่จะเป็นเครื่องเตือนภัยให้เรายังทำให้เกิดความเอกภาพระหว่างอวัยวะต่างๆ ในตัวเรา ถ้าปราศจากความรู้สึกเจ็บที่มือหรือเท้า ส่วนนั้นๆ ก็เสมือนไม่เป็นส่วนหนึ่งของเรา
  
ทำนองเดียวกันความเจ็บปวดทางกายเชื่อมต่อความรู้สึกเป็นกายเดียวกัน เราอาจจะมองความทุกข์ว่าเป็นพลังที่เชื่อมต่อเรากับคนอื่น และบางทีนั่นคือ ความหมายสูงสุดเบื้องหลังของความทุกข์ ความทุกข์เป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่เรามีร่วมกับมนุษย์คนอื่น เป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงเรากับสรรพชีวิตทั้งปวง
     

ข้อมูลสื่อ

321-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 321
มกราคม 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี