ปราณยามะ (8)
เมื่ออ่าน เมื่อฝึกมาถึงฉบับนี้ เราคงเห็นความแตกต่างระหว่างเทคนิคโยคะ ๒ ชนิด อาสนะกับปราณยามะ การฝึกอาสนะนั้น เป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจน ให้ประโยชน์กับผู้ฝึกในระดับหนึ่ง ส่วนการฝึกปราณยามะเป็นนามธรรม เรียนรู้ และฝึกได้ยากกว่า ปราณยามะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการพาผู้ฝึกไปสู่สมาธิ อันเป็นเป้าหมายแห่งโยคะ เมื่อเข้าใจดังนี้ ผู้ฝึกก็จะมีความพิถีพิถันในการฝึกเทคนิคโยคะทั้ง ๒ ประเภทนี้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้การฝึกโยคะของเราเกิดแต่ประโยชน์ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโทษนั่นเอง
เราได้ทำความเข้าใจกับปราณยามะมาในแง่มุมต่างๆ ทั้งลักษณะทางสรีรวิทยาของปราณยามะ ทั้งคำอธิบายตามตำราดั้งเดิม นอกจากนั้นเราก็ได้แนะนำเทคนิคต่างๆ เพื่อให้เราเข้าใจระบบหายใจของตนเอง และเริ่มรู้จักการควบคุมลมหายใจของตนเองในลักษณะ เฉพาะเจาะจงตามแบบฉบับโยคะ ที่สำคัญเราให้ความสำคัญกับการฝึกอย่างช้าๆ ค่อยๆ ขยับไปทีละขั้นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เราทำไปตามศักยภาพของตนเองโดยไม่ฝืน จะเห็นได้ว่า การควบคุมลมหายใจของโยคีนั้น ล้วนค่อยๆ ทำให้เราหายใจช้าลงๆ เช่น การจำกัดช่องทางเดินของอากาศให้แคบลง ทำให้เราใช้เวลาในการหายใจนานขึ้น หรือการกำหนดอัตราส่วนของลมหายใจ ออกให้ยาวเป็น ๒ เท่าของลมหายใจเข้า ก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อทำให้เราหายใจช้าลงๆ นั่นเอง
- อ่าน 4,707 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้