• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระยะเวลาการใช้ยา

ระยะเวลาการใช้ยา


ถาม? : ยาแต่ละชนิดมีระยะเวลาในการใช้อย่างไร?
           : ทำไมยาแก้อักเสบต้องกินติดต่อกันจนหมด?

เรื่องระยะเวลาการใช้ยาที่เหมาะสมถูกต้องตามแผน การรักษามีหลายแบบแตกต่างกัน แต่แบบที่พบได้บ่อยๆ มี ๓ ลักษณะ ดังนี้

๑. ชนิดที่ใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น (เมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้หยุดยาได้เลย)

๒. ชนิดที่ต้องใช้ติดต่อกันจนหมด

๓. ชนิดที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน (ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด)

แบบที่ ๑ ชนิดที่ใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น (เมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้หยุดยาได้เลย)
ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่รักษาเมื่อมีอาการเท่านั้น หรือที่ เรียกกันว่า "ยารักษาตามอาการ" เมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้หยุดยาได้เลยไม่ต้องใช้ยาติดต่อกันจนหมด เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ เมื่อใช้ยาไปสักระยะหนึ่ง เมื่ออาการหายดีขึ้นแล้ว หรือไม่มีอาการอีกแล้ว ก็แนะนำให้หยุดยาได้เลย เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้แล้ว การใช้ยาในลักษณะนี้เป็นแบบที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจและปฏิบัติเช่นนี้อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้ยาชนิดใด เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหยุดยาเอง ซึ่งถ้าเป็นยากลุ่มนี้ก็คงถูกต้องตามแผนการรักษา แต่ถ้าเป็นยาในแบบที่ ๒ และ ๓ ซึ่งไม่ควรจะหยุดยาทันทีเมื่ออาการดีขึ้น ดังจะกล่าวถึงในส่วนต่อไป

แบบที่ ๒ ชนิดที่ต้องใช้ติดต่อกันจนหมด
การใช้ยาแบบนี้พบได้บ่อยในโรคติดเชื้อ ไม่ว่าการติดเชื้อนี้จะเกิดจากแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้ออื่นๆ ซึ่งจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (ที่ชาวบ้านเรียกว่ายาแก้อักเสบ)  และยาต้านเชื้อชนิดอื่นๆ เหตุผลสำคัญที่ต้องใช้ติดต่อกันจนหมด คือ ในการติดเชื้อแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเพียงพอให้เกิดโรคได้ หลังจากรับเชื้อแล้ว ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการแสดงออกทันที ต้องกินระยะเวลาพอสมควร ในระหว่างนี้เชื้อจะเริ่มแพร่พันธุ์ขยายการทำลายโดยเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ จนถึงระดับหนึ่ง ที่เริ่มมีอาการแสดงออก เราจะเรียกระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นรับเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการนี้ว่า ระยะฟักตัว ซึ่งแตกต่างกันตามธรรมชาติของการติดเชื้อแต่ละชนิด บางชนิดอาจใช้เวลาเพียง ๒-๓ วัน หรือ ไม่เกิน ๑ สัปดาห์ เช่น โรคไข้หวัด แผล (ร้อนใน) ในปาก เป็นต้น แต่ในบางชนิดอาจกินเวลานานๆ เป็นเดือนๆ เป็นปี เช่น โรคเอดส์ หรือวัณโรค เป็นต้น

เมื่อถึงระยะฟักตัว ซึ่งเป็นระยะที่มีปริมาณเชื้อมากพอสมควรและมีอาการแสดงออกแล้ว ผู้ป่วยจึงรู้ตัว และเริ่มต้นการรักษา ซึ่งมักได้ยาต้านเชื้อโรคมาด้วยเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นโรคติดเชื้อบางชนิดที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง เช่น ไข้หวัด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงมักได้รับคำแนะนำให้รักษาตามอาการและรักษาสุขลักษณะที่ดี เพื่อให้หายจากไข้หวัดให้เร็วที่สุด) เมื่อได้รับยาต้านเชื้อ หรือที่รู้จักกันดี ได้แก่ ยาปฏิชีวนะมาแล้ว เมื่อเริ่มใช้ยาถ้ายาชนิดนั้นเป็นยาที่ได้ผลดี เชื้อไวต่อยา หรือยาต้านเชื้อได้ดี จำนวนเชื้อจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงจุดจุดหนึ่งที่เริ่มไม่มีอาการแสดงออกแล้ว ถ้าเป็นโรคคออักเสบ เจ็บคอ อาการเจ็บคอ ก็หายแล้ว แต่ ณ จุดจุดนี้ยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่งที่น้อยกว่าระดับที่แสดงอาการ คล้ายกับเป็นการย้อนกลับของการติดเชื้อตั้งแต่เริ่มต้นได้รับเชื้อและเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนเริ่มมีอาการในระยะฟักตัว

ในกรณีนี้ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่บ้าง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ หรือหยุดกินยา เชื้อเหล่านี้ก็อาจเพิ่มจำนวนกลับมาแสดงอาการได้ใหม่ มิหนำซ้ำเชื้อเหล่านี้ที่เหลืออยู่อาจปรับตัวและดื้อต่อยาเดิมที่เพิ่งหยุดใช้ คือ จะใช้ยาเดิมก็จะไม่ได้ผลดีแล้ว ดังนั้นในการใช้ยาต้านเชื้อ เมื่ออาการดีขึ้น หรือไม่มีอาการแล้ว จึงควรใช้ยาต่อจนครบตามจำนวนที่สั่งจ่าย เพื่อกำจัดเชื้อโรคให้เหลือน้อยที่สุด หรือหมดไปจากร่างกายของเรา โดยเฉลี่ยจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะประมาณ ๕-๗ วัน แต่ในโรคติดเชื้อบางชนิด อาจใช้น้อยกว่านี้ เช่น โรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือที่รู้จักกันดีว่าโรคขัดเบา ที่พบได้บ่อยๆ ในผู้หญิงอาจใช้ยาเพียง ๓ วัน หรือโรคหนองใน (แท้) ที่ใช้เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอในการรักษา แต่ในโรคติดเชื้อชนิดที่รุนแรง หรือโรคที่เกิดจากเชื้อที่ตายช้า เช่น โรคหนองในเทียม อาจต้องใช้ยาติดต่อกันถึง ๑๔ วัน หรือวัณโรคที่ต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างน้อย ๖ เดือน จึงจะได้ผลดี เป็นต้น

ถ้าใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีการติดเชื้อและใช้ตามการสั่งจ่าย เมื่อหายดีแล้วหรือเชื้อที่ก่อโรคตายหมดแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยานี้อีก เพราะจะทำให้เกิดผลเสีย คือเชื้อดื้อยาได้ง่ายขึ้น และต่อไปจะใช้ยานี้ไม่ได้ผลในการรักษา ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อใหม่ และมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้เท่านั้น

แบบที่ ๓ ชนิดที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน (ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด)
และแบบสุดท้ายเป็นยาที่นิยมใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น โรคเรื้อรังเหล่านี้ ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด เพราะยาเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ควบคุมอาการผิดปกติของร่างกาย ให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยที่สุด จึงต้องได้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมความผิดปกติของร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติเกิดการเสื่อมทำลายน้อย และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าโรคเหล่านี้ใช้ยารักษาและควบคุมอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

โดยทั่วไป ประชาชนผู้ใช้ยาส่วนใหญ่จะเป็นในแบบที่ ๑ คือ เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว มักหยุดยาเอง และจะกลับมาใช้ยาอีกเมื่อเริ่มมีอาการใหม่ แต่ก็บางคนที่เคยได้รับยาแล้ว และได้ใช้ยานั้นจนไม่มีอาการแล้ว ก็ยังเอาตัวอย่างยาไปหาซื้อยานั้นมาใช้อีกเรื่อยๆ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้โรคที่เป็นหายขาด จึงยังกินติดต่อกันอยู่ แต่ในลักษณะหลังนี้จะพบได้ไม่บ่อยนัก เป็นแบบที่ไม่ถูกต้อง เสียยาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ทั้งยังอาจเสี่ยงต่ออาการอันไม่พึงประสงค์ของยาได้ ดังนั้นจึงใคร่เรียนให้ท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ยาทุกท่านทั้งผู้ใช้ยา ผู้สั่งจ่าย และผู้ส่งมอบยาได้ตระหนักถึงการใช้ยาที่ถูกต้องในเรื่องประเด็น "ระยะเวลาการใช้ยา" ว่า ยาชนิดนั้น มีรูปแบบของระยะเวลาในการใช้อย่างไร และทุกครั้งที่มีการจ่ายยาจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเมื่อได้รับยาจะต้องสอบถามว่า ยาแต่ละชนิดนั้นเข้าอยู่ในประเภทไหน ๑ ใน  ๓ ชนิดหรือไม่อย่างไร ในด้านผู้สั่งยาหรือผู้จ่ายยาจะต้องแนะนำระยะเวลาที่เหมาะสมของยาแต่ละชนิดด้วย เพราะ "ยามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์" ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรใช้ยา และควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น แต่เมื่อใดที่ท่านมีข้อสงสัยในเรื่องยา อาจถามจากแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความกระจ่างชัดในการใช้ยา เพื่อประโยชน์สูงสุดควบคู่กับความปลอดภัยของการใช้ยาของท่านและคนที่ท่านรัก...

ข้อมูลสื่อ

296-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 296
ธันวาคม 2546
ภก.พุทธิพันธ์ รอดสุวรรณ