• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิถีชีวิตกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

วิถีชีวิตกับโรคหัวใจและหลอดเลือด


ชีวิตคนเราอยู่ในโลกแห่งความเสี่ยง เดินทางโดยรถยนต์ก็เสี่ยงต่ออุบัติภัยจราจร นั่งเรือก็เสี่ยงต่ออุบัติภัยทางน้ำ เดินข้างถนนบางครั้งก็ยังเสี่ยงต่อรถปีนฟุตปาทมาทับ หรือแม้แต่การเสี่ยงโชค ซื้อหวยก็เสี่ยงต่อการถูกกิน เหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นความเสี่ยงแบบฉับพลัน ที่จริงยังมีความเสี่ยงแบบเรื้อรังอยู่เหมือนกัน เช่น กินข้าวขาหมูมันๆ บ่อยๆ ก็คงเสี่ยงต่อไขมันในเลือดสูง และหลอดเลือดอุดตัน สูบบุหรี่ก็เสี่ยงต่อมะเร็งปอด มะเร็งอื่นๆ และยังเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องของโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากหรือน้อย เรามักบอกความเสี่ยงเป็นตัวเลขเพื่อบอกว่าเสี่ยงมากเพียงใด หรืออาจบอกว่าเป็นกี่เท่าของคนที่เสี่ยงน้อยกว่า เช่น โอกาสเสี่ยงเป็นหัวใจขาดเลือดในคนสูบบุหรี่เป็น ๒ เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ บางคนอาจบอกว่าเคยมีเพื่อนหรือญาติที่รู้จักไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่ค่อยกินข้าวขาหมู แต่สุดท้ายก็ตาย เพราะโรคหัวใจ แล้วจะอธิบายอย่างไร คำตอบคงไม่ยากใช่ไหม ว่าเป็นไปได้เพราะสาเหตุของหัวใจขาดเลือดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง จากอ้วน ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

เรื่องสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดสมองนั้นเกิดได้จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและทางกรรมพันธุ์ (หน่วยพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน ซึ่งสืบทอด มาจากพ่อแม่ บรรพบุรุษ) งานวิจัยบอกว่าส่วนใหญ่สาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าปัจจัยด้านพันธุกรรม ตัวอย่างก็คือ ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่สำคัญ แนวโน้มโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองคงจะไม่เพิ่มขึ้นทั้งเหมือนกับที่กำลังเพิ่มขึ้นในขณะนี้ เช่น อัตราคนน้ำหนักเกิน คนอ้วน เป็นเบาหวานในเด็กเอเชียมีมากขึ้น เพราะเกิดจากการกินมากเกินพอดี ไม่ได้หมายความว่า ยีนหน่วยพันธุกรรมที่กำหนดชะตาชีวิตของสุขภาพของเราไม่สำคัญ แต่โดยทั่วไปยีนที่ไม่ดีอาจแสดงออกของโรคเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเมื่ออายุมาก แต่การที่คนเราต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แย่ๆ ก็ทำให้ ร่นเวลาของการเกิดโรคให้แสดงอาการเมื่ออายุยังน้อยได้ วิถีชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพเริ่มได้ตั้งแต่เป็นเด็กในท้องแม่ สิ่งแวดล้อมของแม่มีอิทธิพลต่อการเจริญและความเสี่ยงของลูกในอนาคตได้ เมื่อเกิดและเติบโตขึ้น วิถีและลีลาชีวิตแบบตะวันตกของคนสมัยใหม่ทำให้พึ่งพาเทคโนโลยีทันสมัย คนใช้แรงกายน้อยลง แต่การกินอาหารแคลอรีสูงมากแต่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ ความเครียดทางจิตก็มีส่วน ความโดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคม ได้รับควันบุหรี่ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้หลอดเลือดในร่างกายเริ่มแข็งตัว และนำไปสู่หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมอง

การวิจัยพบว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทำให้ความเสี่ยงลดลง การลดความเสี่ยงหลายๆปัจจัยพร้อมกันทำให้ความเสี่ยงลดลงมากที่สุด สำหรับคนที่มีวิถีชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพมาตลอดก็ยังไม่ต้องสิ้นความหวัง การวิจัยพบว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนั้น ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงได้ ต่อไปนี้เรามาดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และจะลดปัจจัยเสี่ยงได้อย่างไร

ความดันเลือดสูง
การศึกษาวิจัยพบชัดเจนว่าภาวะความดันเลือดสูงขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญของร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ และไต ทำให้เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด ไตวาย และไม่ใช่ว่าเป็นเฉพาะในคนที่เป็นโรคความดันเลือดสูง แต่เป็นได้ในคนที่ความดันอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย หรือแม้แต่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เพราะเหตุว่า เรื่องของความดันเลือดค่าที่กำหนดว่าเป็นความดันเลือดสูงหรือไม่สูงยังไม่ค่อยเหมาะสมนัก เพราะค่านี้เป็นค่าต่อเนื่อง และความดันเลือดที่สูงขึ้นย่อมมีผลเสียมากกว่าความดันที่ต่ำกว่า แม้ว่าจะอยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ยก็ตาม ความดันเลือดจะสูงขึ้นตามอายุ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอายุได้ แต่ปัจจัยที่พบว่าสามารถปรับเปลี่ยนความดันเลือด ได้ก็คือ อาหาร โดยการลดเกลือ ลดอาหารที่มีโซเดียม เพิ่มการเคลื่อนไหวออกแรงกาย และลดการดื่มเหล้า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกร้อยละ ๖๒ ของโรคหลอดเลือดสมอง และร้อยละ ๔๙ ของโรคหัวใจขาดเลือดเกิดจากความดันเลือดสูง

การกินอาหาร
การกินอาหารประเภทอาหารมีส่วนสำคัญมากในการทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว ในสมัยก่อนนักวิจัยเน้นเกี่ยวกับไขมันโคเลสเตอรอลเป็นตัวร้ายหลักตัวหนึ่งที่เรียกว่า LDL แต่ปัจจุบันเชื่อว่ามีส่วนประกอบของอาหารหลายตัวที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่มีกากใยสูง สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน (วิตามินบี ๖  วิตามินบี ๑๒ และไนอาซิน) กรดโฟลิก ไขมันปลา (โอเมกา ๓) และโพแทสเซียม ขณะเดียวกันควรลดอาหารที่มีไขมันประเภทอิ่มตัว ไขมันที่เรียก trans-fatty แอซิด เช่น ในอาหารทอด  เนยเทียม ลดอาหารที่ให้พลังงานสูง ลดอาหารพวกเนื้อสัตว์ซึ่งมักมีไขมันติด และลดกินอาหารเค็ม ส่วนอาหารที่มีประโยชน์ ที่มีสัดส่วนมากขึ้นได้ ได้แก่ พวกพืช ผักผลไม้ ธัญพืช และปลา

งานวิจัยในตะวันตกพบว่าคนที่กินอาหารพืชผักมาก มีอัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ อาหารไทยเป็นอาหารที่มีความหลากหลายและส่วนใหญ่มีพืชผักเป็นส่วนประกอบมากจึงนับเป็นอาหารสุขภาพ ถ้าเลือกปรุงและกินอย่างเหมาะสม ในขณะที่อาหารแบบตะวันตกที่มีเนื้อสัตว์และมันมาก ถ้ากินมาก ก็น่าเป็นห่วง ควรแตะเบรกไว้บ้าง ผักและผลไม้เป็นอาหารสุขภาพ การวิจัยพบว่า การบริโภคผักผลไม้มากขึ้นช่วยลดโรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งระบบทางเดินอาหาร โดยผ่านกลไกของฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และการป้องกันจากสารอาหาร พวก flavonoid  carotenoids วิตามินซี กรดโฟลิก และอาหารที่มีกากใยสูงต่างๆ ซึ่งต้านฤทธิ์สารก่อมะเร็งต่างๆ ต้านสารที่มีฤทธิ์ oxidative ซึ่งทำอันตรายต่อ DNA จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกแสดงว่าการบริโภคผัก และผลไม้น้อยเกินไปเป็นสาเหตุของมะเร็งทางเดินอาหารกว่าร้อยละ ๑๙ เป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ ๓๑ และโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ ๑๑ ทั่วโลก

ไขมันในเลือดสูง
โคเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลักในการเกิดโรคหลอดเลือดแข็ง โดยสะสมที่ผนังของหลอดเลือดแดงทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดต่างๆ เช่นเดียวกับระดับความดันเลือด ระดับโคเลสเตอรอลเป็นค่าต่อเนื่องถ้าไขมันในโคเลสเตอรอลสูงขึ้นก็มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดมากขึ้น ไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองกว่าร้อยละ ๑๘ และเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ ๕๖

ภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน
ความอ้วนและน้ำหนักเกินนั้นกำหนดโดยใช้ค่า body mass index (BMI)** ดัชนีมวลกายใช้ประเมินภาวะน้ำหนักเกิน คือ BMI : ๒๕ กก./ม.๒ และ อ้วนคือ BMI : ๓๐ กก./ม.๒ ภาวะน้ำหนักเกินและความอ้วน นำไปสู่ผลเสียต่อความดันเลือด โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และความต้านทานต่ออินซูลิน ความเสี่ยงต่อเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง BMI เพิ่มขึ้น ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งของเต้านม ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก เยื่อบุมดลูก ไต และถุงน้ำดี เชื่อว่ากลไกที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งอาจเกี่ยวกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออ้วน นอกจากนี้น้ำหนักเกินและอ้วนยังเป็นเหตุให้ข้อกระดูกอักเสบด้วย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าภาวะน้ำหนักเกินยังเป็นเหตุของเบาหวานร้อยละ ๕๘ หัวใจขาดเลือดร้อยละ ๒๑ และร้อยละ ๘-๔๒ ของมะเร็ง

การออกกำลังกาย
การเคลื่อนไหวร่างกายทำให้ร่างกายมีการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้มากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดและเบาหวาน นอกจากนี้การเคลื่อนไหวร่างกายยังมีส่วนป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากฤทธิ์ของพรอสตาแกลนดินลดความเครียด และลดน้ำหนักตัว  ทำให้กล้ามเนื้อโครงร่างกายแข็งแรง ข้อมูลองค์การอนามัยโลกแสดงว่าการขาดการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสาเหตุของการตายกว่าปีละเกือบ ๒ ล้านคนทั่วโลก การเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น ๔ ประเภทคือ การเคลื่อนไหวจากการทำงาน (งานใช้แรงงาน) การเดินทาง (เช่น เดิน การขี่จักรยาน) งานบ้าน และกิจกรรมยามว่าง (เช่น เล่นกีฬา) งานวิจัยเป็นจำนวนมากพบว่า คนที่มีกิจกรรมทางกายอยู่เสมอมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าคนที่ไม่ค่อยออกแรงกาย อัตราเสี่ยงน้อยกว่าคนไม่ออกกำลังกายถึงร้อยละ ๒๐-๔๐ การออกแรงกายเสมอมีประโยชน์ต่อคนทุกวัย และทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น

การออกกำลังกายแบบร่างกายมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่น การเดินเร็ว การวิ่ง ว่ายน้ำ มีประโยชน์หลายประการ ทำให้ไขมันดีที่เรียก HDL เพิ่มขึ้น ร่างกายมีการใช้น้ำตาลในเลือดดีขึ้น ลดความดันเลือด ลดไขมัน ประเภทไตรกลีเซอร์ไรด์ และไขมันที่สะสมในร่างกาย การเพิ่มการออกกำลังกายมากขึ้นทำให้หัวใจทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นฉีดสูบเลือดได้มากขึ้นแต่เต้นจังหวะช้าลง ความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง สำหรับการออกกำลังกายมากเพียงใดจึงจะมีประโยชน์นั้น ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การออกกำลังกายแบบหักโหมปานกลาง เช่น การเดิน (เร็ว) ซึ่งสามารถทำได้โดยคนทั่วไป ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ไม่จำเป็นต้องหักโหมมาก แต่มีข้อแม้คือต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ควรทำทุกวัน หรืออย่างน้อย ๕ วันต่อสัปดาห์ และวันละอย่างน้อย ๓๐ นาทีขึ้นไป ภายในหนึ่งวันอาจเป็นเวลารวมของการออกกำลังกายหลายครั้งต่อวัน แต่ว่าในแต่ละครั้งควรใช้เวลามากกว่า ๘ นาทีเป็นต้นไป การเดินในชีวิตประจำวัน เช่น เดินขึ้นบันไดแทนที่จะใช้ลิฟต์ จอดรถไกลที่ทำงานแล้วเดินไกลขึ้น ล้วนแต่เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ผนวกกับชีวิตประจำวันของคนที่บอกว่าไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกายได้อย่างดี จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ร้อยละ ๑๗ ของประชากรโลกอายุ > ๑๕ ปี ที่ไม่ได้ออกแรงกายมีร้อยละ ๑๗ ส่วนที่มีการออกแรงกายบ้างแต่ไม่เพียงพอ (< ๒.๕ ชั่วโมง/สัปดาห์) มีเฉลี่ยประมาณร้อยละ ๔๑

การสูบบุหรี่
ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีสารพัดที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวก่อนเวลา ก๊าซที่เกิดในควันบุหรี่เป็นสิ่งที่ทำให้เลือดจับออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง ในขณะที่สารนิโคตินทำให้เพิ่มความดันเลือดและหัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนไปเลี้ยงมากขึ้น นิโคตินยังทำให้ผนังหลอดเลือดแข็ง ทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันง่าย และทำให้เลือดอุดตันหลอดเลือด จึงพบว่าคนที่สูบบุหรี่จัดมีโอกาสเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย คนสูบบุหรี่ยังทำให้ไขมันประเภทดี HDL ลดน้อยลงไปด้วย แต่จะกลับเพิ่มถ้าเลิกสูบ คนสูบบุหรี่จึงมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเป็น  ๒ เท่าของคนไม่สูบ และมีโอกาสหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็น ๕ เท่าของคนไม่สูบ

เบาหวาน
ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่มีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มมากขึ้น แต่หากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วเอเชีย ทั่วโลก โรคเบาหวานทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองง่ายขึ้น ปัจจุบันถือว่าเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญตัวหนึ่งของโรคหัวใจและหลอดเลือด คนที่เสี่ยงต่อเบาหวานเป็นคนประเภทอ้วน ไม่ออกกำลังกาย และคนที่มีน้ำตาลในเลือดค่อนข้างสูงแต่ยังไม่ถึงเบาหวาน (เกือบเป็นเบาหวาน) การวิจัยพบว่า คนที่มีน้ำตาลในเลือดสูงแบบเกือบเป็นเบาหวาน เมื่อเข้าโครงการลดน้ำหนัก (กินอาหาร ไขมันต่ำ) ออกกำลังกาย (ประมาณ ๑๕๐ นาทีต่อสัปดาห์) เปรียบเทียบกับคนอีกกลุ่มที่มีน้ำตาลในเลือดสูงแบบเกือบเป็นเบาหวานเช่นกันโดยไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พบว่าในกลุ่มที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต น้ำหนักตัวลดลง และลดการกินอาหารลงเฉลี่ยวันละถึง ๒๐๐ แคลอรี ปรากฏว่า กลุ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานลดลงน้อยกว่ากลุ่มไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตถึงร้อยละ ๕๐-๖๐ ในช่วงเวลา ๓ ปี การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เน้นการจัดการหลายปัจจัยเสี่ยงนั้นมีผลดีที่ชัดเจน

ภาวะจิตใจ
นอกจากนี้จิตใจ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า การขาดการเหลียวแลจากครอบครัวและสังคมก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน การวิจัยพบว่าในคนที่มีความเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานมากขึ้น ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ เกล็ดเลือดจับตัวกันง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้เกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ การวิจัยยังพบว่า ผู้ป่วยที่ผ่านโปรแกรมลดความเครียดมีการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ผ่านโปรแกรม ภาวะซึมเศร้าก็มีผลต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้เช่นกัน แต่การช่วยลดความเครียดกังวลในระยะสั้น คงไม่สามารถจะลดอัตราการเกิดหัวใจวายได้ในระยะยาวได้ ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ไม่เครียดในระยะยาว ดูเหมือนจะไม่ง่ายแต่ความตระหนักในตนเอง การปล่อยวาง ความสงบทางใจ เป็นสิ่งที่ช่วยได้ นอกจากนี้คนที่ได้รับการ ดูแล มีความอบอุ่นในครอบครัว มีการสังคมกับเพื่อน เข้ากลุ่มสังคม เข้ากลุ่มชมรม สโมสรต่างๆ ก็ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น ลดความเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่นกัน
คนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ แต่เรามีสิทธิ์เลือกวิถีชีวิตของเรา เราจะกำหนดวิถีชีวิตของเราและช่วยเกื้อหนุนคนที่ใกล้ชิดของเราให้ดี หรือจะให้สิ่งแวดล้อมภายนอก ความอร่อย ความสะดวกสบาย มากำหนดเรา เรามีสิทธิ์เลือกเองครับ!

ดัชนีมวลกาย (BMI-Body Mass Index)** ใช้ประเมินภาวะอ้วน-ผอมในบุคคลอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป โดยใช้สมการ
                    น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)
                       ส่วนสูง (เมตร)

การเปรียบเทียบค่าที่กำหนดไว้

  • น้อยกว่า ๑๘.๕ = ผอม
  • ระหว่าง ๑๘.๕-๒๔.๙  = สมส่วน
  • ระหว่าง ๒๕-๒๙.๙ = น้ำหนักเกิน
  • มากกว่า ๓๐  = อ้วน
  • มากกว่า ๔๐  = อ้วนอันตราย

ตัวอย่างเช่น บูรพา มีน้ำหนักตัว ๘๐ กิโลกรัม มีส่วนสูง ๑๘๕ เซนติเมตร (๑.๘๕ เมตร)

เทียบสูตร  = ๘๐            = ๘๐           = ๒๓.๓๙
                   ๑.๘๕        ๓.๔๒

ตัวเลขที่ได้คือ ๒๓.๓๙ ถือว่าบูรพามีร่างกายสมส่วน

ข้อมูลสื่อ

297-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 297
มกราคม 2547
รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร