• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปราณยามะ (9)

ปราณยามะ (9) ตอนสุดท้ายของปราณยามะ


ในบทสรุปนี้ ขอย้ำว่าแก่นของปราณยามะ คือ "ช่องว่างระหว่างลมหายใจเข้าและลมหายใจออก หรือก็คือ การหยุดลมหายใจ" ถ้าจะฟันธงลงไป เราก็กล่าวได้ว่า การฝึกควบคุมลมหายใจต่างๆ ของโยคะ ท้ายที่สุดก็เพื่อสร้างสภาวะของการไม่หายใจเป็นเวลานานๆ นั่นเอง เพราะโยคะถือว่า การที่ร่างกายนั่งได้สงบลมหายใจหยุด จิตก็จะสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ อันเป็นเป้าหมายของโยคะ จะเห็นได้ว่าธรรมชาติของปราณยามะ คือ การหายใจช้าลง การที่มีอากาศน้อยลง (ขอย้ำอีกครั้งว่า ปราณยามะไม่ใช่การเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายมากๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ) บางคนอาจมีความวิตกว่า ปราณยามะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบหายใจเพราะเราหายใจน้อย หรือไม่ ในข้อนี้ไม่ต้องกังวล เนื่องจากเทคนิคปราณยามะทั้งหลายไม่ได้ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย (การปีนยอดเขาสูงๆ อาจได้รับอันตรายเนื่องจากขาดออกซิเจน ได้มากกว่าการฝึกปราณยามะซะอีก)

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะฝึกปราณยามะโดยพลการ ดังที่ทราบกันว่า เทคนิคของโยคะมีหลายๆ ระดับ ในเบื้องต้นเราฝึกอาสนะซึ่งเป็นรูปธรรม จากนั้นเราก็มาฝึกปราณยามะ ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม ความเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ของปราณยามะนี่เอง ที่ทำให้เราต้องฝึกด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ในการฝึกอาสนะ หากเราทำมากเกินไปจะทำให้รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ และหยุดทำทันที ก่อนที่จะเกิดอันตราย แต่ในการฝึกปราณยามะ หากเราทำไม่ถูกต้อง เราก็อาจไม่รับรู้ และก่อให้เกิดอันตรายภายหลังได้  นั่นหมายความว่า ผู้อ่านที่สนใจปฏิบัติ ควรฝึกตามตำราโดยเคร่งครัด ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตำราหฐโยคะ ถึงกับเตือนว่า หากฝึกไม่ถูกต้องเหมาะสม อาจทำให้ผู้ฝึกวิกลจริตได้เลยทีเดียว!

เราได้ทำความรู้จักกับการฝึกลมหายใจหลายๆ วิธีเริ่มจากการหมั่นเฝ้าดูลมหายใจตนเองในชีวิตประจำวัน  การหายใจด้วยหน้าท้อง การหายใจด้วยทรวงอก การหายใจออกให้นานเป็น ๒ เท่าของลมหายใจเข้า เทคนิคปราณยามะแบบอุจจัย อนุโลมาวิโลมา เทคนิคเหล่านี้ ล้วนทำให้เราหายใจช้าลงๆ โดยในที่สุด ก็จะทำให้เรามาสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ ปราณยามะ หรือสภาวะของช่องว่างระหว่างลมหายใจ ซึ่งบางตำราเรียกว่า กุมภกะ



 

ข้อมูลสื่อ

297-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 297
มกราคม 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์