• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อเป็นมะเร็งที่อยู่ยาว (long survivor)

เมื่อเป็นมะเร็งที่อยู่ยาว (long survivor)


เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งไปงานศพญาติคนหนึ่งที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก หลังจากอยู่ร่วมกับโรคนี้มากว่า ๒๕ ปี ผู้ป่วยเริ่มพบเป็นมะเร็งชนิดนี้ในวัยหมดประจำเดือน (อายุร่วม ๕๐ ปี) โดยสังเกตว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย ภายหลังจากหมดประจำเดือนได้ ๑ ปี เมื่อไปหาหมอก็พบว่าเป็นมะเร็งระยะกลางๆ คือ ระยะที่ ๒ ต่อ ๓ จากทั้งหมด ๔ ระยะ ตามหลักถือว่าอยู่ในระยะที่ไม่สามารถเยียวยาด้วยการผ่าตัด แต่ใช้วิธีฝังแร่รังสีแทน ผู้ป่วยก็ได้รับการดูแลรักษาตามขั้นตอนของการแพทย์แผนปัจจุบันจนมีสุขภาพแข็งแรง และดำรงชีวิตอย่างปกติสุขมาเรื่อยๆ นานเป็น ๑๐ ปี จนต่างรู้สึกแปลกใจที่ผู้ป่วยอยู่ได้นานเกินคาด และอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติทั่วไป ในขณะที่เคยเห็นคนอื่นๆ ที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ อยู่รอดเพียง ๒-๓ ปี และอยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยอยู่รอดมาได้นาน (จนแทบจะพูดได้ว่า หายจากโรคมะเร็งแล้ว) นี่เองที่ทำให้ผู้ป่วยต้อง "ป่วย"  ด้วยภาวะแทรกซ้อนจากรังสีในช่วง ๑๐ ปีหลังนี้ รังสีที่ใช้บำบัดรักษาตั้งแต่ต้น ไม่เพียงแต่ฆ่าเซลล์มะเร็งให้วายวอดเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อเซลล์ดีๆ ในบริเวณข้างเคียงด้วย แต่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะยาวนาน สำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่รอดไม่นาน ผลแทรกซ้อนที่ว่านั้นจะยังไม่ทันปรากฏให้เห็นก่อนจะเสียชีวิต แต่ญาติของผม เมื่ออยู่เกิน ๑๕ ปี ก็เริ่มปรากฏภาวะแทรกซ้อนจากรังสีให้เห็น เริ่มจากท่อไตตีบจนต้องผ่าตัดไตออกไปข้างหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตเท่าไรนัก ต่อมาเริ่มมีปัญหาลำไส้ตีบจนต้องผ่าตัดลำไส้ และเปิดรูทวารเทียมที่หน้าท้องแทน ต่อมามีปัญหาหูรูดกระเพาะปัสสาวะหย่อน กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ต้องใช้ผ้าปิดซับ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ทำให้ต้องเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลอยู่หลายหน แต่ผู้ป่วยก็ยังสามารถดำรงชีวิตได้ดี มีกำลังใจดี ไม่มีความรู้สึกท้อแท้ จนใครๆ ต่างชื่นชมใน "ความทรหด"

จนกระทั่ง ๒ ปีหลังนี้ เริ่มมีปัญหาแทรกซ้อนกลุ้มรุม ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในประสบการณ์ของผม นับว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่มีชีวิตอยู่ได้นานมากที่สุดรายหนึ่ง และมีชีวิตอย่างมีคุณภาพมาตลอด ยกเว้นเฉพาะช่วง ๒ ปีท้าย อะไรทำให้ผู้ป่วยอยู่ได้นาน ก็คงจะหาคำตอบได้ยาก วงการแพทย์ พบว่า จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยนิดจำนวนหนึ่งที่เป็นโรคร้าย (เช่น มะเร็ง เอดส์)  แล้วสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้นาน (เรียกว่า long  survivor) เชื่อว่าเป็นเพราะมีภูมิต้านทานโรคดี แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบ

เอียน กอว์เลอร์ ผู้เขียนหนังสือ "เปลี่ยนชีวิต พิชิตมะเร็ง" (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ หมอชาวบ้าน) ป่วยด้วยมะเร็งกระดูกระยะท้าย แต่สามารถมีชีวิตอยู่มาถึงปัจจุบัน (ประมาณ ๒๐ ปีแล้ว) ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ long survivor ญาติผมผู้นี้ได้ใช้วิธีรักษาตามแผนปัจจุบันล้วนๆ ไม่เคยใช้วิธีอื่นใดร่วมด้วย หากบังเอิญสนใจใช้วิธีการแพทย์ทางเลือกที่ฮิตกันในยุคนี้ ก็อาจจะยกความดีให้กับการแพทย์ทางเลือก (ดังหลายกรณีที่เคยเกิดเป็นข่าวคราวเป็นระยะๆ) กรณีญาติผมนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ปัญหาก็คือ คนส่วนใหญ่ยังขาดความตื่นตัวในการไปให้หมอตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูก ระยะแรกเริ่มก่อนมีอาการ (เรียกว่า การตรวจ Pap smear) มักจะปล่อยปละละเลยจนมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด (บางครั้งเข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือน) นานอยู่เป็นแรมเดือนแรมปี จึงค่อยไปหาหมอ ก็มักจะพบว่าเป็นมะเร็งระยะท้ายเสียแล้ว การรักษานอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังได้ผลไม่มาก หรือไม่ก็มีผลแทรกซ้อนจากการรักษาตามมา ดังนั้นทางที่ดีจะต้องทำการรณรงค์ในเรื่องนี้ให้จริงจังและกว้างขวางยิ่งๆ ขึ้น ท่านที่สนใจเกี่ยวกับโรคนี้ ขอให้อ่านเรื่อง "มะเร็งปากมดลูก" ในหมอชาวบ้านฉบับเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ได้เลยครับ

ข้อมูลสื่อ

298-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 298
กุมภาพันธ์ 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ