• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปฏิวัติวิธีรักษาโรคแผลกระเพาะอาหาร

ปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
คือแพทย์ชาวออสเตรเลีย ๒ ท่าน
ชื่อ นายแพทย์แบร์รี มาร์แชลล์ (Baery marshall)
กับ นายแพทย์โรบิน วอร์เรน (Robin warren)

ท่านแรกเป็นอายุรแพทย์ด้านโรคทางเดินอาหาร ท่านหลังเป็นพยาธิแพทย์ ทั้ง ๒ ท่านได้ร่วมกันวิจัยพบว่าโรคแผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า เฮลิโค- แบกเทอร์ไพโลรีŽ (Helicobacter pylori) ซึ่งนิยมเรียก ย่อๆ ว่า เอชไพโลรีŽ (H. pylori) การค้นพบนี้เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยทั้ง ๒ ได้พบเชื้อโรคชนิดนี้แทรกอยู่ในชิ้นเนื้อของกระเพาะอาหาร ที่มีการอักเสบขณะทำการตรวจ ชิ้นเนื้อดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่าเชื้อนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับโรคแผลกระเพาะอาหาร

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะในวงการแพทย์ยอมรับกันมาแต่นานแล้วว่า โรคแผล กระเพาะอาหารเกิดจากความเครียดและพฤติกรรมการ บริโภคที่ไม่เหมาะสม ไม่เคยมีใครคิดว่าเกิดจากการติดเชื้อมาก่อน

นายแพทย์แบร์รี มาร์แชลล์ ได้ทำการพิสูจน์ความ เชื่อใหม่ของเขาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงคิดว่าน่าจะเป็นเชื้อที่ก่อโรคเฉพาะในคนเท่านั้น เขาลงทุนทดลองกับตัวเอง โดยการดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคชนิดนี้เข้าไปในกระเพาะอาหาร พบว่าเชื้อสามารถแพร่พันธุ์และก่อให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นเขากินยาปฏิชีวนะเข้าไป ก็พบว่าสามารถกำจัดเชื้อโรคดังกล่าว และอาการอักเสบของกระเพาะอาหารก็หายไปจนเป็นปกติ

เขาและเพื่อนร่วมงานจึงสรุปว่า เชื้อเอชไพโลรีเกี่ยวข้องกับการเกิดแผลกระเพาะอาหารอย่างแน่นอน และได้ส่งผลงานวิจัยของเขาไปที่วารสารแลนเซต (Lancet) ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับสากล ทางวารสารปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ผลงานของเขา เพราะดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ ต่อมาเขาได้ทำการทดลองเพิ่มเติมและ ตีพิมพ์ผลงานในวารสารการแพทย์ของออสเตรเลียใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ คราวนี้บทความของเขาได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ทั่วโลก และต่างก็หันมายอมรับข้อสันนิษฐานของเขามากขึ้น จนในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้รับรองว่าเชื้อเอชไพโลรี เป็นต้นเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และเมื่อเป็นโรคนี้จากเชื้อชนิดนี้ ก็ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์ทั่วโลกได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน

การค้นพบของนายแพทย์แบร์รี มาร์แชลล์ และนายแพทย์โรบิน วอร์เรน ในเรื่องนี้ นับว่าเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาโรคแผลกระเพาะอาหาร และช่วยให้ผู้คนมากมายรอดชีวิต และพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคกระเพาะอาหาร

ก่อนหน้านี้ เมื่อพบว่าเป็นแผลที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความเครียดและ พฤติกรรมการบริโภค ก็จะให้การรักษาด้วยการลดความ เครียด ปรับพฤติกรรมการบริโภค และให้ยาลดกรดรักษาโรคกระเพาะนานเป็นแรมเดือนแรมปี แผลก็หาย ไปได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่อหยุดยากระเพาะ แผลก็กลับกำเริบขึ้นอีก (ในสมัยนั้นไม่มีความรู้เรื่องเชื้อเอชไพโลรี จึงปล่อยให้เชื้อนี้แฝงเร้นอยู่ในกระเพาะอาหารตลอดเวลา ซึ่งทำให้แผลปะทุขึ้นซ้ำซาก) คนไข้จะต้องคอยกินยากระเพาะไปเรื่อยๆ บางคนก็เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นปลายกระเพาะตีบตัน กระเพาะเป็นแผลทะลุ หรือมีเลือดออก เป็นต้น ที่ร้ายแรงก็คือบางคนกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งมักจะหมดทางเยียวยารักษา ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเชื้อเอชไพโลรี นอกจากก่อเกิดแผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย เชื้อนี้สามารถติดต่อโดยการกินอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ที่มีเชื้อนี้ในกระเพาะอาหาร

แนวทางการรักษาแผลกระเพาะอาหารและลำไส้-เล็กส่วนต้นที่ปฏิบัติในปัจจุบัน ก็คือถ้าสงสัยว่าจะ เป็นแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จะต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยด้วยการใช้กล้องส่องเข้าไป ในกระเพาะอาหาร (endoscope) แล้วสะกิดเอาเยื่อ บุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นไปตรวจทางห้องปฏิบัติการและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

สาเหตุของโรคแผลกระเพาะอาหารที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (นิยมใช้รักษาอาการปวดข้อ) กับการติดเชื้อเอชไพโลรี ถ้าเกิดจาก ยาก็ต้องหยุดกินยากลุ่มนี้ และให้ยาลดกรดรักษาให้แผลหาย แต่ถ้าพบว่าเกิดจากเชื้อเอชไพโลรี ก็ต้องให้ยาลดกรดควบคู่กับยาปฏิชีวนะอีกอย่างน้อย ๒ ชนิด เพื่อกำจัดเชื้อเอชไพโลรี แผลก็จะหายขาด และมักไม่ กำเริบซ้ำอีก นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย
ผลงานของแพทย์ชาวออสเตรเลีย ทั้ง ๒ ท่านนี้จึงนับว่ามีความยิ่งใหญ่ จนได้รับรางวัลมากมาย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ทั้ง ๒ ท่าน ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข และปีนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการ แพทย์

ท่านลอร์ดเมย์แห่งออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นนายกราชสมาคมแห่งอังกฤษ (Britainžs Royal Society) ได้กล่าวสดุดีว่า

ผลงานของนายแพทย์แบร์รี มาร์แชลล์ และนายแพทย์โรบิน วอร์เรน ถือว่าเป็นงานที่ก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และสำคัญที่สุดในการรับรู้เกี่ยวกับภาวะโรคในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

ข้อมูลสื่อ

319-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
พฤศจิกายน 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ