• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยาในโรคความดันเลือดสูง

ความดันเลือดสูง
ความดันเลือดสูงเป็นโรคหนึ่งที่พบบ่อย โดยเฉพาะ ในผู้สูงอายุ ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกว่า 'โรคความดัน' ก็หมายถึงเป็นโรคความดันเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งในภาวะปกติระดับความดันเลือดจะน้อยกว่า ๑๒๐/๘๐ มม. ปรอท

ความดันเลือด
ความดันเลือด ๑๒๐/๘๐ มม.ปรอท มีความหมายอย่างไร
เหตุผลที่ความดันเลือดของเรามีตัวเลข ๒ ค่า ซึ่งเราเรียกตัวเลขตัวแรกที่มากกว่านี้ว่า ความดันเลือดตัวบน และเรียกตัวเลขอีกตัวที่ต่ำกว่าว่า ความดันเลือดตัวล่าง ทั้งนี้เพราะในการทำงานของหัวใจเพื่อให้ส่งเลือด ออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น หัวใจจะต้องบีบตัวขับเลือดออกไป และคลายตัวเพื่อรับเลือดเข้ามาในหัวใจ และบีบครั้งต่อไป จึงเกิดการบีบสลับกับการ คลายตัวของหัวใจ จึงทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
จากการที่หัวใจทำการบีบสลับกับการคลายตัวนี้ ระดับของความดันเลือดจึงมีสองตัวเลข คือความดันเลือดตัวบน หรือแรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว และความดันเลือดตัวล่าง หรือในขณะที่หัวใจคลายตัว

โดยปกติแล้ว ตัวเลขตัวบนและตัวล่าง ไม่ควรเกิน ๑๓๙/๘๙ มม.ปรอท เพราะถ้ามากกว่านี้ จะถือว่า เป็นความดันเลือดสูง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขตัวใดตัวหนึ่ง ก็ตาม
แต่ถ้าความดันเลือดตัวบนมีค่า ๑๒๐/๑๓๙ มม. ปรอท หรือตัวล่างมีค่า ๘๐-๘๙ มม.ปรอท เราถือว่าเป็น ความดันเลือดก้ำกึ่ง และควรระวังเพราะมีแนวโน้ม อาจพัฒนาต่อไปเป็นความดันเลือดสูงได้
ในแต่ละวันระดับความดันเลือดจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ ซึ่งพบว่าตอนนอนจะมีความดันเลือดต่ำกว่าตอนเดิน
เป็นความดันเลือดสูงหรือไม่
การที่แพทย์วินิจฉัยว่าจะเป็นความดันเลือดสูงหรือไม่ แพทย์จะต้องให้นั่งพักสัก ๕ นาที จนหายเหนื่อย แล้วจึงวัดความดันเลือด และต้องพบระดับความดันเลือดสูงหลายๆ ครั้ง (มากกว่า ๒ ครั้ง) จึงจะให้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคความดันเลือดสูง

คนส่วนใหญ่ 'ไม่รู้ตัว' ว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง
ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงเพิ่ม มากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะคนไทยอายุยืนยาวมากขึ้น หรือใช้ชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้น แต่จากรายงานพบว่า ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวž ว่าตนเอง เป็นโรคนี้ มีผู้ที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นประมาณ ๑ ใน ๔ ของผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่อายุเกิน ๓๕ ปี ควรมีการตรวจ วัดระดับความดันเลือดอย่างน้อยปีละ ๑-๒ ครั้ง เพื่อคัดกรองโรคนี้ และจากการศึกษาเดียวกันยังพบอีกว่า ผู้ที่รู้ตัวและเข้ารับการรักษาโรคความดันเลือดสูงนี้ สามารถควบคุมระดับความดันเลือดให้กลับมาเป็นปกติได้เพียงครึ่งหนึ่งของผู้ที่รักษาทั้งหมด

ไม่มีอาการความดันเลือดสูง ต้องใช้ยาต่อไปหรือไม่
เมื่อร่างกายมีความดันเลือดสูงขึ้น จะทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้แย่ลง ดังนั้น ถ้าระดับความดันเลือดสูงอยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ตา และไต เป็นต้น ทำให้เกิดโรคไตวายได้ หรืออาจทำให้เกิดการตีบตันหรือแตกของหลอดเลือด ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต หรือเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอเป็นโรคหลอดเลือดของหัวใจตีบตัน
ดังนั้น เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นโรคความดันเลือดสูง จึงควรดูแลรักษาควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ (ต่ำกว่า ๑๔๐/๙๐ มม.ปรอท)

ดูแลรักษาโรคความดันเลือดอย่างไร
การดูแลรักษาโรคความดันเลือดแบ่งเป็น ๒ ส่วนหลักๆ คือ การใช้ยา และการไม่ใช้ยา

การใช้ยารักษาโรคความดันเลือดสูง
ยารักษาโรคความดันเลือดสูงมีมากมายหลายชนิด มีหลายกลุ่ม แนวทางการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพ ของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งในเรื่องนี้ควรได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาสั่งจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือตามแบบเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก ถึง แม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน แต่สภาวะของโรคและระดับความรุนแรงก็แตกต่างกัน จึงไม่ควรใช้ยาตามอย่าง ผู้อื่นโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

ควรกินยารักษาโรคความดันเลือดสูงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
ในการใช้ยารักษาโรคนี้ ควรกินติดต่อกันอย่าง ต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการของโรคกลับมาลุกลามและอันตรายได้
นอกจากนี้ ถ้าท่านใช้ยารักษาโรคอื่นๆ อยู่ด้วย หรือใช้สมุนไพร แพทย์ทางเลือก ฯลฯ ควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลโรคนี้ทราบด้วย เพราะยาเหล่านี้อาจต้านฤทธิ์หรือ เสริมฤทธิ์กัน ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา หรืออาจทำให้ระดับยาในร่างกายสูงขึ้นจนเกิดพิษได้

การรักษาโรคความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยา
การดูแลปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง มีความสำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนกว่าการใช้ยา รวมทั้งยังช่วยเสริมฤทธิ์ของยาในการควบคุมความดันเลือดอย่างได้ผลดีอีกด้วย ซึ่งมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้
๑. การลดน้ำหนัก
ในขั้นต้นอย่าให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะถ้าน้ำ-หนักตัวเพิ่มขึ้น ความดันเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตาม ในทางตรงกันข้ามถ้าน้ำหนักตัวลดลง จะส่งผลดีช่วยลดระดับความดันเลือดได้ด้วย
๒. การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ถ้าได้ออกกำลังกายชนิดแอโรบิกอย่างเหมาะสม นานประมาณ ๓๐ นาทีต่อวัน โดยค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย อย่าหักโหมหรือเร่งให้เห็นผลในระยะสั้น เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเผาผลาญไขมัน ลด น้ำหนัก ช่วยลดความดันเลือด ช่วยผ่อนคลาย และลดความเครียดได้อย่างดี
๓. ควรลดปริมาณเกลือในอาหารลง
ในกรณีนี้แนะนำให้กินอาหารปกติ ไม่เค็มจัด หรือเติมเกลือ หรือน้ำปลา หรือซอสเพิ่มเติมในการปรุงรส และไม่แนะนำให้งด แต่ให้ลดความเค็มลงบ้าง
๔. ควรงดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
เพราะบุหรี่เป็นอันตรายในระยะยาวทั้งต่อปอด หัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งรวมถึงบุหรี่มือสอง หรือการสูบบุหรี่ของคนใกล้ชิดข้างเคียงด้วย
ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เป็นต้น ถ้าดื่มเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจมีประโยชน์บ้าง แต่ถ้าหยุดได้เลยเป็นดีที่สุด
๕. ทำจิตใจให้แจ่มใส อย่าเครียดหรืออดนอน
เรื่องจิตใจและอารมณ์ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยหลัก ที่สำคัญต่อทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต
'ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว'ž
เพราะอารมณ์ โดยเฉพาะความเครียดจะส่งผลต่อเกือบทุกระบบของร่างกาย จึงควรรักษาใจให้ตั้งมั่น มีสมาธิ ไม่หมองหม่น เศร้า หงอยเหงา เครียด กังวล รู้จักผ่อนคลาย พักผ่อนในยามเริ่มตึงเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเติมความสดชื่นในจิตใจและชีวิตอยู่เสมอ
ผู้ป่วยที่มีระดับความดันเลือดสูงไม่มาก แพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตัวทั้ง ๕ ข้อข้างต้นประมาณอย่างน้อย ๖ เดือน แล้วมาวัดความดันเลือดซ้ำ ซึ่งมีผู้ป่วย
จำนวนมากที่ระดับความดันเลือดลดลงมาสู่ในระดับปกติ ในกรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่ถ้าไม่สามารถควบคุม ได้ ก็อาจเริ่มต้นใช้ยารักษาความดันเลือดสูง
ในการปฏิบัติตัวเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาวะ ของการมีระดับความดันเลือดสูงขั้นต้น ถึงจะต้องปฏิบัติ เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง โดยทั่วๆ ไปทุกคนควรปฏิบัติในลักษณะนี้เช่นกัน เพราะเป็นการรักษา สุขภาวะž ของร่างกายให้สดใสแข็งแรง ปราศจากโรคภัยอยู่ตลอดเวลา

มาถึงตอนนี้คงพอกระจ่างแล้วว่า ถ้าสงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคความดันเลือดสูงหรือไม่ ควรทำอย่างไร เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นความดันเลือดสูงแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อเริ่มใช้ยาลดความดันเลือด สูงควรใช้อย่างไร แล้วทำไมจึงต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

สรุปโรคความดันเลือดสูงนี้ บางท่านให้ฉายาว่า 'มัจจุราชเงียบ' คือ มักไม่มีอาการอะไรมา ยกเว้นในบางคนจะมี 'ปวดมึนท้ายทอยตอนเช้าๆ' ถ้าไม่ดูแลรักษา จะทำให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จนหลอดเลือดในสมองหรือหัวใจแตกหรือตีบตันได้ จึงควรดูแลรักษาตนเอง รวมถึงการปฏิบัติตนทั้ง ๕ ข้อข้างต้น และการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอเมื่อต้องเริ่มใช้ยา

ในกรณีที่มีปัญหาสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษา

ข้อมูลสื่อ

319-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
พฤศจิกายน 2548
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด