• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะบำบัด : ทำจิตใจให้สงบ

ดูเหมือนแพทย์แผนปัจจุบันจะปฏิเสธไม่ได้
กับนิยามของโยคะโบราณนี้
ทิศทางล่าสุดได้ยอมรับสมุฏฐานของ
โรคแบบองค์รวม แทนที่จะมองโรคแบบแยกเป็น
อวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ แบบเดิม
ซึ่งกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ
ของกระบวนการทางชีวเคมี
กระบวนการทางชีวฟิสิกส์ที่ปรับเปลี่ยนไป
อย่างไม่มีวันสิ้นสุดของระบบของเหลวในร่างกาย
ส่วนของจิตที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ
กลไกภายในก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นๆ

ในอีกด้านหนึ่ง แพทย์ทางด้านกายภาพก็ไม่เพียงนำมาซึ่งคุณค่าของการควบคุม คุณค่าของการออกกำลังกาย แต่งานล่าสุดยังได้สถาปนาความสำคัญของอวัยวะภายในที่แข็งแรง ที่สามารถทำหน้าที่ตามปกติ ไม่เพียงทางด้านกลไกประสาทกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่เป็นของร่างกายโดยรวม
ที่น่าสนใจก็คือ วิถีและเครื่องมือที่แนะนำอยู่ในโยคะที่มีมาแต่โบราณนั้น ระบุแนวทางดังที่แพทย์แผนปัจจุบันเพิ่งจะค้นพบ เราจะมาพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งเมื่อพูดถึงเรื่องอาสนะ มุทรา และเทคนิคโยคะอื่นๆ ที่มีผลในการป้องกันและการรักษาโรค

ในตอนนี้เราคงให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาทัศนคติที่เหมาะสมในโยคะเพื่อการป้องกันโรค และโยคะบำบัด
โยคะทั้งหลายล้วนมีเป้าหมายเพื่อทำจิตให้สงบ เพราะมนุษย์จะค้นพบตัวตนที่แท้จริงภายในได้ก็ต่อเมื่อจิตมีความสงบเท่านั้น จิตที่ยังคงไม่สงบ คิดต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการคิดที่มีประสิทธิภาพหรือจิตที่ฟุ้งซ่าน ล้วนไม่สามารถที่จะรับรู้ธรรมชาติของสัจธรรมได้ทั้งนั้น

ในความเชื่อของโยคะ จิตและสสารล้วนมาจากสิ่งเดียวกัน มาจากพลังอย่างเดียวกัน มันเป็นเพียงแง่มุม ๒ ด้าน ที่แม้เรารับรู้ว่าเป็น ๒ อย่าง แต่ก็เป็นหนึ่งเดียว มันมาจากแก่นเดียวกันที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ดังนั้น การที่เรารับรู้ถึงความเป็นสอง จึงเป็นเพียงการตีความ ซึ่งบิดเบือนไปด้วยกิเลสที่มีการสั่งสมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกิเลสตัวหลักอันได้แก่ อวิชชา หากอวิชชายังไม่ถูกขจัด เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจกฎอันจริงแท้ หรือฤทธิ์ของโลกแห่งปรากฏการณ์นี้

สปิโนซากล่าวไว้ว่า จิตที่เข้าใจพลังของจิตเอง เข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้มากขึ้น คือจิตที่สามารถ ปลดปล่อยตัวมันเองจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกับโยคะ

โยคะบางระบบพยายามที่จะบรรลุถึงจิตที่สงบโดยผ่านทางวาสนากษัย หรือการขจัดวาสนาออกไป โยคะในกลุ่มนี้ได้แก่ ญาณโยคะ ภักดีโยคะ กรรมะโยคะ และฌานโยคะ

ขณะที่โยคะบางระบบพยายามเข้าถึงจิตอันสงบโดยการหยุดกระแสของปราณ (ปราณา สปันธนะ) โยคะในกลุ่มนี้ได้แก่ มันตราโยคะ หฐโยคะ ลายาโยคะ และราชาโยคะ

กลุ่มหลังนี้เรียกว่า ศักดิโยคะ หรือกุณฑาลินีโยคะ เพราะเป็นเรื่องของการปลุกพลังกุณฑาลินี พลังงานที่เชื่อว่านอนเนื่องอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน

ทั้ง 2 กลุ่มนี้ เรียกตามตำราโบราณว่ามหาโยคะ แน่นอนโยคะทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน และในทางปฏิบัติ การฝึกโยคะก็เป็นการผสมผสานระหว่างวิธีของ 2 กลุ่มนี้

กระทั่งในปตัญชลีโยคะสูตรก็ให้ความสำคัญมายังองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกันของทั้ง ๒ ส่วนนี้ โดยพยายามจัดการกับปัญหาของการทำจิตให้สงบจากมุมมองของกลไกกาย-จิตสัมพันธ์ ดังนั้น สำหรับปตัญชลี กิเลสไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องกายล้วนๆ หรือเรื่องจิตล้วนๆ มันเป็นกลไกกาย-จิตสัมพันธ์ และวิธีจัดการที่ดีที่สุดคือต้องจัดการทั้ง 2 ส่วนคู่กัน ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมปตัญชลีจึงแนะนำ ยมะ นิยมะ เป็นขั้นตอนการฝึกเบื้องต้น และต่อด้วยอาสนะกับปราณายามะ

เมื่อการผูกติดของจิตกับกิเลสอ่อนกำลังลงด้วยการปฏิบัติที่เรียกว่ากริยาโยคะแล้ว จึงฝึกต่อด้วยขั้นตอนถัดไป อันได้แก่ ฌาน เป็นการปฏิบัติทางจิต ซึ่ง จะฝึกได้ง่ายขึ้นเพราะได้ปฏิบัติ 4 ขั้นแรกก่อนหน้า

ปตัญชลีระบุถึงกิเลสไว้ 5 ประการ ได้แก่ อวิชชา ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสัจธรรม อัสมิตา หรือความรับรู้ถึงความเป็นอัตตา ราคะ ความยึดติด โทสะ ความโกรธ และอภินิเวสายะ การมองความเป็นตนที่ผิดไปจากความเป็นจริง โดยในการจัดการกิเลสเบื้องต้น ไม่ใช่ที่อวิชชาหรืออัสมิตา แต่ควรจัดการที่ราคะ โทสะ ซึ่งเปรียบได้กับการที่เราควรลิดกิ่งก้านที่มีอยู่มากมายก่อนที่จะโค่นต้นไม้ลง

วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการราคะ โทสะ ก็คือทางสายกลางระหว่างทั้ง 2 สิ่งนี้ กล่าวคือพัฒนาการรู้จักที่จะถอยห่างออกจากจิต เราต้องเข้าใจว่า ไวราคยะไม่ใช่ความรังเกียจ อย่างที่มักจะแปลกัน แต่หมายถึงการปราศจากอคติ หรือความไม่ไยดี (กับสภาวะจิตที่เราไม่ต้องการ) ต่างหาก

สำหรับโยคะแล้ว ราคะ โทสะนี้ไม่เพียงเป็นการกระทำของมนุษย์ออกสู่ภายนอกเท่านั้น แต่เป็นการกระทำที่ส่งผลตรงเข้าสู่ภายในตัวคนทำเองด้วย มิฉะนั้น เราก็จะไม่สามารถอธิบายกรณีของการที่คนฆ่าตัวตายซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นๆ ได้

ราคะ โทสะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน การมีอยู่ของตัวหนึ่งส่งเสริมอีกตัวหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยากได้อะไรสักอย่างมาก เราจะเกลียดทุกอย่างที่มาขวางกั้นความปรารถนาของเรา ไม่เพียงเท่านั้น เราอาจจะกระทำต่อคนคนเดียวกัน หรือสิ่งเดียวกันกลับไปกลับ มา เช่น เราอาจรักใครคนหนึ่งในขณะเดียวกับที่เราเกลียดเขา เราอาจจะรับรู้ความรู้สึกทั้ง 2 นี้ได้ ก็ต่อเมื่อยังไม่มี เหตุการณ์คับขันใดๆ แต่เมื่อคับขัน เราอาจรับรู้เฉพาะความรู้สึกที่สุดขั้วไปด้านหนึ่ง ไม่รับรู้ความรู้สึกอีกด้านหนึ่งที่โดนกดข่มอยู่หรือแอบซ่อนตัวอยู่ ซึ่งอาจแสดงตัวออกมาในลักษณะที่ปิดบัง หรือเปลี่ยนรูป นานๆ ครั้งมันก็จะระเบิดออกมา

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ทั้งที่มีต่อผู้อื่นและที่มีต่อตนเองด้วย
สภาวะคลุมเครือเช่นนี้ โยคะเรียกว่า vicchinna vastha หรือสภาวะซ่อนเร้นของกิเลส

ปรากฏการณ์นี้มนุษย์เองยังไม่สามารถเข้าใจ ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างกระจ่างชัด เราเพียงแค่รู้ว่าอาจจะพอควบคุมได้บ้าง เช่น โดยการใช้เหตุใช้ผลอย่างอ้อมๆ หรือโดยการคิดพิจารณาเทียบเคียงเอาแทน

ข้อมูลสื่อ

319-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
พฤศจิกายน 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์