• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อัมพฤกษ์อัมพาตป้องกันได้

ปัจจุบันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่พบบ่อย ซึ่งมีสาเหตุได้หลากหลายประการ

ประการหนึ่งก็คือ การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชน หรือตกจากที่สูง ทำให้สมองหรือประสาทไขสันหลังถูกทำลายจนเกิดเป็นอัมพาต การป้องกันสามารถกระทำโดยการไม่ประมาทมีสติระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุ โดยเฉพาะพฤติกรรม"ดื่มแล้วขับ"

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เกิดจากหลอดเลือดสมองเกิดการตีบตันหรือแตก จากภาวะอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการบาดเจ็บ ทำให้เซลล์สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวขาดเลือดไปเลี้ยง และทำให้เซลล์สมองส่วนนี้สูญเสียหน้าที่ อุปมาคล้ายสวิตช์ไฟเสีย เปิดไฟไม่ได้ ทำให้แขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาต ซึ่งภาษาหมอเรียกว่า "อัมพาตครึ่งซีก" อาจเป็นซีกซ้ายหรือขวาก็ได้ ขึ้นกับตำแหน่งการเกิดโรคในสมอง ถ้าเกิดโรคในสมองข้างขวา จะเป็นอัมพาตของแขนขาซีกซ้ายตรงกันข้าม ถ้าเกิดโรคในสมองข้างซ้ายก็จะเป็นอัมพาตซีกขวา

โรคอัมพาตครึ่งซีก มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันที คืออยู่ดีๆ ก็มีอาการอ่อนแรงของแขนขาซีกหนึ่ง บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หรือเป็นลมหมดสติร่วมด้วย คนไทยจึงเรียกว่า "โรคลมอัมพาต" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "สโตรก" (stroke)
โรคอัมพาตครึ่งซีก มีสาเหตุได้ ๓ ทาง คือหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดสมองมีลิ่มเลือดลอยมาอุดตัน และหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันและมีความรุนแรงต่างๆ กันไป

สำหรับหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนใหญ่นั้น เป็นผลมาจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการแข็งตัว และค่อยๆ ตีบแคบลงทีละน้อยโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว จนในที่สุดเกิดการตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ เซลล์สมองตายจึงเกิด "โรคลมอัมพาต" ขึ้นฉับพลัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักรู้สึกตัวดี ไม่มีอาการเป็นลมหรือหมดสติ เพียงแต่อยู่ๆก็มีอาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงลงทันที โรคนี้มีความรุนแรงต่างๆกันไป บางคนอาจฟื้นคืนจนเดินได้เองและช่วยเหลือตัวเองได้ บางคนต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน หรือต้องมีคนคอยช่วยเหลือในกิจวัตรต่างๆ ถ้าเป็นมากอาจลุกนั่งไม่ได้ หรือนอนแบ็บ มักไม่เสียชีวิตอย่างฉับพลัน แต่ในระยะยาวบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

ปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดสมองแข็งและตีบ ที่สำคัญได้แก่ (๑) ความเสื่อมอายุ ผู้ชายอายุมากกว่า ๕๕ ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า ๖๕ ปี ถึงแม้ไม่มีปัจจัยอื่นๆ ก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ (๒) โรคความดันเลือดสูง (๓) เบาหวาน (๔) ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ (๕) อ้วน (๖) สูบบุหรี่ (๗) ดื่มแอลกอฮอล์จัด (๘) ขาดการออกกำลังกาย (๙) กรรมพันธุ์ คือมีประวัติว่าญาติสายตรง (เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง) เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบตั้งแต่อายุก่อน ๖๕ ปี (สำหรับผู้หญิง) หรือ ๕๕ ปี (สำหรับผู้ชาย)
โดยทั่วไปเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองตีบได้ แต่ถ้ายิ่งมีปัจจัยมากอย่างร่วมกันก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น หรืออาจเกิดโรคตั้งแต่อายุไม่มากได้

ส่วนหลอดเลือดสมองมีลิ่มเลือดลอยมาอุดตัน มักพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ หรือเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ) ผนังหัวใจรั่วแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีประวัติผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น ภาวะเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดที่หัวใจ แล้วหลุดลอยขึ้นไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดโรคลมอัมพาตขึ้นฉับพลันโดยไม่มีอาการเป็นลมหมดสติแบบเดียวกับกลุ่มที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ
ส่วนหลอดเลือดสมองแตก มักเกิดจากโรคความดันเลือดสูงที่เป็นรุนแรง หรือปล่อยปละละเลยขาดการควบคุมเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดสมองเปราะและแตก มีเลือดคั่งในสมอง

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด โดยไม่ทราบสาเหตุ และผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ มาก่อน ผู้ป่วยมักจะเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ หลอดเลือดสมองที่ผิดปกติแต่กำเนิดดังกล่าว เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิด คือพออายุมากขึ้น เช่น เข้าวัยหนุ่มสาว วัยกลางคน หรือวัยสูงอายุ หลอดเลือดพวกนี้จะค่อยๆเสื่อม เปราะบางแล้วแตก (ระเบิด) ในที่สุด

เมื่อถึงจังหวะที่หลอดเลือดสมองแตก ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะรุนแรงนำมาก่อนสักพัก (อาจเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ) แล้วก็จะหมดสติและแขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาต โรคนี้มีอัตราตายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากระทบถูกสมองส่วนสำคัญ ก็มีโอกาสตายภายในไม่กี่วันโดยไม่มีทางเยียวยาได้ ในรายที่เป็นไม่รุนแรงมาก การรักษาที่ถูกต้องและทันกาล (มักจะโดยการผ่าตัดสมอง นำก้อนเลือดที่คั่งอยู่ในสมองออกไป) จะช่วยให้รอดชีวิตได้ บางคนอาจหายเป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการอัมพาตครึ่งซีกอย่างถาวร

โดยสรุปจะเห็นว่าโรคลมอัมพาต (อัมพาตครึ่งซีก) มีสาเหตุอันหลากหลาย บางอย่างเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่บางอย่างก็ป้องกันไม่ได้
ในส่วนที่ป้องกันได้ มักจะเป็นปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดสมองตีบตัน ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้
๑. อย่าสูบบุหรี่
๒. อย่าดื่มแอลกอฮอล์จัด (ถ้าจะดื่มควรดื่มแต่เล็กน้อยเป็นครั้งคราว)
๓. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
๔. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
๕. ลดอาหารพวกไขมัน น้ำตาล และอาหารแคลอรีสูง ควรกินผักผลไม้ เมล็ดธัญพืชให้มากๆ
๖. ตรวจเช็กสุขภาพเป็นระยะๆ
๗. ถ้าพบว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง เบาหวาน ไข้มันในเลือดสูงหรือผิดปกติ หรืออ้วน ควรรักษาอย่างจริงจังจนสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง
๘. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง (เช่น เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ) ควรกินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดตามที่แพทย์สั่งเป็นประจำทุกวัน ส่วนใหญ่คือแอสไพริน ขนาด ๗๕-๓๒๕ มิลลิกรัม วันละครั้ง
 

ข้อมูลสื่อ

320-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ