• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รับมือไข้หวัดนกรอบ ๓

การป้องกันโรคไข้หวัดนก
๑. ไข้หวัดนกเป็นโรคติดต่อในสัตว์ปีก เช่น นก เป็ด ไก่ สามารถแพร่เชื้อได้จากน้ำมูก น้ำลาย มูลของสัตว์ที่ป่วยหรือตาย
๒. คนติดโรคนี้ได้จากการสัมผัสกับ น้ำมูก น้ำลาย หรือมูลของสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายด้วยโรคไข้หวัดนก
๓. ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก ปอดอักเสบ
๔. หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโรคไข้หวัดนกระบาด ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
๕. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคไข้หวัดนก คือผู้ที่ทำงานในฟาร์มหรือชำแหละสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตายจากโรคไข้หวัดนก
๖. ถ้าพบสัตว์ปีกที่เลี้ยงในบ้านหรือที่อยู่นอกบ้านตายจำนวนมากผิดปกติ ให้แจ้ง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทันที
ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถแจ้งได้ที่
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ ๐-๒๖๕๓-๔๔๔๔
กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ ๐-๒๕๙๐-๓๓๓๓
กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๘-๗๔๑๗
๗. ในช่วงที่มีการระบาด ไม่ใช้มือเปล่าสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ต้องสวมถุงมือ สวมผ้าปิดปาก จมูก และล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง หากไม่มีถุงมือสามารถใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วสวมมือหลายๆ ชั้น ก่อนจับซากสัตว์ปีกที่ตายหรือป่วย ก็จะป้องกันการติดเชื้อได้เช่นกัน
๘. สัตว์ปีกที่ป่วยตาย ให้เผาหรือฝัง โดยขุดหลุมลึกอย่างน้อย ๑ เมตร ก่อนกลบดินให้ราดด้วยน้ำคลอรีนหรือโรยปูนขาว ก่อนทำการฝังกลบดินให้แน่น ห้ามโยนทิ้งตามแม่น้ำลำคลองอย่างเด็ดขาด และห้ามนำไปให้สัตว์อื่นกิน
๙. ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยง ฆ่า ขนส่ง ย้ายและขายสัตว์ปีก หรือผู้ที่สัมผัสซากสัตว์ปีก ถ้าป่วย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอแห้งๆ และอาจมีตาแดงด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ แล้วบอกประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรือเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยปอดบวมรายอื่นๆ ในรอบ ๑๐ วันก่อนมีอาการ จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
๑๐. ในช่วงที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีก หรือมีไก่ เป็ด ตายมากผิดปกติ ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เอาใจใส่ระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เตือนไม่ให้เด็กอุ้มไก่หรือนก หรือจับต้องซากสัตว์ปีกที่ตาย และให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อยๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้
๑๑. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๓๐ นาที กินอาหารให้ครบถ้วน รวมทั้งผัก ผลไม้ งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
๑๒. เป็ด ไก่ และไข่ ที่ไม่ติดเชื้อสามารถกินได้แต่ต้องปรุงให้สุก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ด้วยความร้อนมากกว่า ๗๐ องศาเซลเซียส โดยไก่ เป็ด หรือสัตว์ปีกทั้งหมดที่ตายผิดปกติ ห้ามนำมาชำแหละกินอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกได้ ต้องทำลายด้วยวิธีเผา หรือฝังตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ

สายด่วน “ไข้หวัดนก”
กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ ๐-๒๕๙๐-๓๓๓๓
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ ๐-๒๖๕๓-๔๔๔๔
กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๘-๗๔๑๗

สมุนไพรกับไข้หวัดนก
สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
วิจัยสมุนไพร “แมงลักคา” นำมาสกัดสารไฟโท-๑ (Phyto-1) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลองได้ร้อยละ ๙๓ ทดลองพิษระยะแรกพบว่าปลอดภัยทั้งในสัตว์และในคน เตรียมทดลองในคนจำนวนมาก เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ คาดว่า ๑-๒ ปีจะสรุปผลได้ และผลิตเป็นยาแคปซูลเพื่อลดการนำเข้ายารักษาไข้หวัดใหญ่ในคน “ทามิฟลู”

เภสัชกรหญิงปราณี ชวลิตธำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถาบันวิจัยสมุนไพรได้ทดลองใช้สมุนไพร “แมงลักคา” เพื่อหาสรรพคุณในการรักษาโรคมาประมาณ ๕ ปีแล้ว แต่เพิ่งทดลองใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกได้ประมาณ ๑ ปีที่ผ่านมานี้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดครั้งใหญ่ในช่วง ๑-๒ ปีจากนี้ไป

จากการทดลองพบว่าสมุนไพรไฟโท-๑ ได้ผลดีในการฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนไข้หวัดนกนั้นอยู่ระหว่างการทดลอง จากนี้ไปจะมีการทดลองทางคลินิกในระยะที่ ๒ ซึ่งเป็นการทดลองในคนประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ คน และการทดลองทางคลินิกในระยะที่ ๓ จะทดลองในคนประมาณ ๑,๐๐๐ คนขึ้นไป
คาดว่าอีก ๑-๒ ปีข้างหน้าจะสรุปผลได้ แต่หลังจากทดลองในคนได้ประมาณ ๔๐-๕๐ คนก็น่าจะได้แนวทางว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ภายใน ๗-๘ เดือน
 

แมงลักคา หรือ ไฟโท-๑ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า (Hyptis suaveolens Poit. วงศ์ Labiatae)
ชื่อไทย เรียกว่า การา (สุราษฎร์ธานี) หรือ แมงลักคา (ชุมพร) ชาวบ้านอาจเรียกแมงลักป่าหรือกะเพราผี
ชื่อจีน เรียก เซ๋อไป๋จื่อ (she-bai-zi)
ชื่ออังกฤษ เรียก mild spikenard bushtea, pugnet west Indian spikenard
แมงลักคาเป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง ใช้ทั้งต้นเป็นยาพอกแก้ปวดท้อง รักษาโรคผิวหนัง และไล่แมลง
ใบและปลายยอด ใช้รักษาอาการชักกระตุกและโรคปวดข้อ
ราก ใช้ขับระดู และเคี้ยวดับกลิ่นปาก

การศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าสมุนไพรไฟโท-๑ มีฤทธิ์ลดปริมาณการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอช ๓ เอ็น ๒ (H3N2) ของเซลล์เพาะเลี้ยงได้ร้อยละ ๙๓ มีความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้ในสัตว์ทดลอง

การทดสอบความปลอดภัยในอาสาสมัคร (ระยะที่ ๑) พบว่า สารสกัดแมงลักคาแคปซูลมีความปลอดภัยและไม่พบอาการผิดปกติใดๆ โดยมีความปลอดภัยในอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง

จากข้อมูลเบื้องต้น คณะผู้วิจัยจึงเห็นควรทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยในอาสาสมัคร (ระยะที่ ๒) ต่อไป หากการทดลองได้ผลก็จะนำมาพัฒนาเป็นยาแคปซูลรักษาไข้หวัดใหญ่แทนการนำเข้ายาทามิฟลู

ขอขอบคุณที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
๑. นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
๒. ภญ.ปราณี ชวลิตธำรง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
๓. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
๔. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายวัน
๕. หนังสือพิมพ์มติชน

 

ข้อมูลสื่อ

320-006-2
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ