• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยานอนหลับ

เริ่มเข้านอน จะนอนหลับยาก ต้องใช้เวลานานๆ กว่าจะหลับ โดยทั่วๆ ไป เมื่อเข้านอนแล้ว ถ้าใช้เวลา ๔๕-๖๐ นาทีแล้ว ยังไม่สามารถหลับได้ จะจัดว่าเป็นคนที่นอนหลับยาก

อาการนอนไม่หลับ (insomnia) เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในสังคมยุคปัจจุบัน ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ และแข่งขันกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาหรือเป็นช่วงวิกฤติของชีวิต ซึ่งจะพบได้มากขึ้นในบุคคลที่มีอายุมากขึ้น ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หรือในสภาวะแวดล้อมภายนอกที่วิกฤติเป็นปัญหาอุปสรรค เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย น้ำมันแพง สึนามิ เป็นต้น

ชนิดของการนอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับอาจแบ่งเป็น ๓ ชนิดใหญ่ ดังนี้
. เมื่อเข้านอนแล้วหลับได้ยาก
หมายถึง ในตอนเริ่มเข้านอน จะนอนหลับยาก ต้องใช้เวลานานๆ กว่าจะหลับ โดยทั่วๆไป เมื่อเข้านอนแล้ว ถ้าใช้เวลา ๔๕-๖๐ นาทีแล้ว ยังไม่สามารถหลับได้ จะจัดว่าเป็นคนที่นอนหลับยาก
๒. หลังจากที่นอนหลับไปแล้ว เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วนอนต่อไม่ได้
ในกรณีนี้จะไม่มีปัญหาตอนเข้านอน แต่เมื่อนอนหลับไปสักระยะหนึ่ง จะมีเหตุทำให้ต้องตื่นมากลางดึก และเมื่อเข้านอนอีกครั้งก็ไม่สามารถนอนต่อได้ หรือต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะหลับต่อได้ ทำให้ระยะเวลาในการพักผ่อนลดลงจากปกติ หรือน้อยกว่า ๖ ชั่วโมงต่อวัน (ซึ่งถือว่าในแต่ละวันควรได้รับการพักผ่อนนอนหลับวันละ ๖-๘ ชั่วโมงในคนทั่วไป)
๓. ประเภทตื่นบ่อย
โดยมากมักจะตื่นบ่อยคืนหนึ่งหลายๆครั้ง การที่ตื่นบ่อยๆ จะทำให้การนอนหลับสนิทหรือหลับลึกได้น้อย เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ ถ้าคืนหนึ่งตื่นมากกว่า ๕ ครั้ง ก็จะถือว่าเป็นปัญหาการนอนไม่หลับชนิดนี้

ผลกระทบจากการนอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับทั้งสามชนิดนี้ล้วนทำให้ช่วงระยะเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อนหรือเวลาหลับสนิทลดน้อยลงกว่าปกติ ส่งผลต่อความพร้อมและความสดชื่นของสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น แจ่มใส ง่วงเหงา หาวนอน ขาดสมาธิในการทำงาน ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานได้

สาเหตุของการนอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลหรือความเครียด การกินสารกระตุ้นการทำงานของร่างกาย และพฤติกรรมการนอนหลับหรือลักษณะจำเพาะของแต่ละคน
ความกังวลหรือความเครียด เป็นต้นเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันที่รีบเร่ง เร่งรัด แข่งขัน วัตถุนิยม น้ำมันแพง หรือปัญหาสามี-ภรรยา ปัญหาลูกหลาน เป็นต้น ทำให้เกิดความเครียดหรือกังวลเกินควร ส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับ ซึ่งอาจทำให้มีอาการผิดปกติอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดหัวตึงเครียด โรคแผลในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
การกินสารกระตุ้นการทำงานของร่างกาย ที่พบได้บ่อยคือ เครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และเครื่องดื่มกาเฟอีน หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ซึ่งสารกาเฟอีนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง ทำให้ไม่ง่วงนอน และทำงานได้นานยิ่งขึ้น ถ้ามีการดื่มใกล้เวลาเข้านอน เช่น ในช่วงบ่าย เย็น หรือค่ำ สารกระตุ้นเหล่านี้อาจยังไม่หมดฤทธิ์ทำให้ไม่ง่วงนอน ตาแข็ง นอนไม่หลับได้
พฤติกรรมการนอนหลับหรือลักษณะของแต่ละคน เช่น คนที่จำเป็นต้องเข้านอนไม่เป็นเวลา อันได้แก่ผู้ที่ต้องทำงานเป็นผลัดสลับระหว่างกลางวันและกลางคืน ทำให้การปรับตัวของระบบนาฬิกาชีวิตปรับตัวได้ไม่ดี ทำให้เกิดการนอนไม่หลับ หรือในบางคนจะเป็นคนที่ไวต่อเสียงหรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอก ต้องนอนในที่ที่เงียบสนิท ถ้ามีเสียงเพียงเล็กน้อย ก็จะตื่นได้ง่าย เป็นต้น

การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ
การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับสามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
๑. การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา
๒. การใช้ยานอนหลับ

การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา
เรามักได้รับการสอนแต่เด็กแต่น้อยว่า ถ้านอนไม่หลับ ก็ให้คอย “นับลูกแกะ” ไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้เคลิ้มหลับได้ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม และได้ผลดี นอกจากนี้ การสวดมนต์ การทำสมาธิ หรือ การฟังเพลง ก็อาจจะช่วยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจริตหรือลักษณะของแต่ละคน
เนื่องจากปัญหาการนอนไม่หลับส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดและกังวล ซึ่งถ้ามี ‘การแก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุของความเครียด’ ได้ ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับได้ แต่ในกรณีที่ต้องใช้เวลาในการขจัดปัญหาของชีวิต ก็อาจปรับทัศนคติของผู้ป่วย เช่น ทุกปัญหาล้วนมีแนวทางการแก้ไข แต่อาจจะต้องใช้เวลา หรือถึงแม้ว่าจะครุ่นคิดในขณะนี้ (วิตกกังวลในตอนเข้านอน) ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ ในเวลานี้ควรพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้สดชื่นแจ่มใส จะได้คิดหาแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป เป็นต้น

การใช้ยานอนหลับ
ยานอนหลับ คือ ยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน และมักช่วยบรรเทาอาการตึงเครียดได้อย่างดีอีกด้วย ปัจจุบันมียานอนหลับหลายชนิดด้วยกัน ในทางการแพทย์เราถือว่า ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการใช้ โดยจะต้องอยู่ในความดูแลสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถซื้อได้ด้วยตนเองจากร้านขายยาทั่วไป
ดังนั้นในกรณีที่มีการจำหน่ายในร้านขายยา จึงเป็นการลักลอบจำหน่ายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ ซึ่งถือเป็นความผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างรุนแรง

ผลเสียของยานอนหลับ
การใช้ยานอนหลับอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็นในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย เมื่อนอนหลับสบายดีแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ยานอนหลับอีกต่อไป
ถ้ามีการใช้ยานอนหลับอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ก็อาจเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้ นั่นคือการดื้อยาและการติดยา
การดื้อยา คือเมื่อใช้ยาติดต่อกันสักระยะหนึ่งโดยใช้ยาในขนาดเท่าเดิมแต่ได้ผลน้อยลง ต้องใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้นๆ เรื่อยๆ จนอาจเกิดพิษจากยาได้
การติดยา คือเมื่อใช้ยาติดต่อกันสักระยะหนึ่งแล้ว หยุดไม่ใช้ยา อาจทำให้นอนไม่หลับ จึงต้องใช้ยาอยู่ตลอดทุกวัน เหมือนกับการติดยาหรือต้องพึ่งยาจึงจะช่วยให้นอนหลับได้

นอกจากนี้ยังมีมิจฉาชีพบางประเภทมีการนำยานอนหลับไปใช้มอมยาเหยื่อ เพื่อการละเมิดหรือลักทรัพย์ของเหยื่อได้ ดังที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์บ่อยๆ
อนึ่ง ยากลุ่มแก้แพ้ (antihistamines) เป็นยากลุ่มที่บรรเทาอาการในโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ เช่น แพ้อากาศ ผื่นคัน ลมพิษ เป็นต้น ยากลุ่มนี้เมื่อใช้แล้ว มักทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ มีอาการง่วงนอนได้ จึงไม่ควรใช้ขณะที่ทำงานกับเครื่องจักรกล หรือขับขี่ยานพาหนะ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่มีบางคนที่มีปัญหาการนอนไม่หลับได้ทดลองนำยากลุ่มนี้มาใช้เพื่อช่วยให้นอนหลับ จากผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงนอน ซึ่งหลายคนก็ได้ผลดี ทำให้นอนหลับได้ โดยยากลุ่มนี้เป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ด้วยตนเองที่ร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ในกรณีที่มีความจำเป็น เป็นครั้งเป็นคราวก็อาจใช้ยากลุ่มนี้ได้

การดูแลตนเองเพื่อการนอนหลับปกติ
นอกจากการรักษาปัญหาการนอนไม่หลับแล้ว การปฏิบัติตนเองให้อยู่ในสุขลักษณะที่ดี ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดปัญหาการนอนไม่หลับได้ เช่น ควรตื่นนอนในตอนเช้าให้เป็นเวลาทุกวันสม่ำเสมอ ควรเข้านอนเมื่อรู้สึกง่วง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรหลีกเลี่ยงยาหรือสารกระตุ้นสมองบางตัวที่จะมีผลต่อการนอนหลับ เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น

ถ้านอนไม่หลับ ควรตั้งสติ ทำใจเย็นๆ ติดตามว่า ตนเองคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ ก็อาจช่วยให้หลับได้
ถ้าจะมีการงีบหลับ ไม่ควรงีบหลับในช่วงบ่ายแก่จนถึงตอนหัวค่ำ และไม่ควรเกิน ๑-๒ ชั่วโมง เพราะอาจมีผลต่อการนอนหลับในคืนนั้นๆ ได้
ควรระมัดระวังเรื่องการใช้ยานอนหลับ ไม่ควรใช้ยานอนหลับอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการใช้ยานอนหลับอย่างต่อเนื่องในระยะหนึ่งนั้นจะไปมีผลรบกวนต่อการนอนหลับของเราเองได้

ในกรณีที่นอนไม่หลับติดต่อกันนานกว่า ๒ สัปดาห์ และส่งผลต่อการทำงานตามปกติ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ตามร้านขายยา ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ



 

ข้อมูลสื่อ

320-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด