• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โน้ตบุ๊ก : สะดวกแต่เสี่ยงโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กคือ โน้ตบุ๊กจะมีขนาดเล็กกว่าและไม่สามารถปรับระดับจอและแป้นพิมพ์ได้

ปัจจุบันนี้มีการใช้โน้ตบุ๊กกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความสะดวกสบายที่โน้ตบุ๊กเป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำพาไปได้เกือบทุกที่ อีกทั้งประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กก็ไม่ด้อยไปกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และเทคโนโลยียุคปัจจุบันเช่น wireless LAN ยิ่งสนับสนุนให้มีการใช้โน้ตบุ๊กมากขึ้นแม้ในสนามหรือสวนหลัง

จากการที่โน้ตบุ๊กถูกออกแบบมาเพื่อการนำไปใช้งานในที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก แต่ก็ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในแง่มุมของการใช้งานเป็นเวลานานๆ เนื่องจากลักษณะท่าทางการทำงานกับโน้ตบุ๊กจะไม่ถูกลักษณะที่ดี สู้การทำงานกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไม่ได้

ที่ผ่านมาปัญหาการใช้โน้ตบุ๊กเกิดขึ้นไม่มาก เพราะการใช้งานโน้ตบุ๊กเป็นเพียงการใช้ชั่วคราวเท่านั้น แต่ปัจจุบันหลายๆ คนใช้โน้ตบุ๊กแทนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะกันแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะจัดโน้ตบุ๊กให้เหมาะสมกับผู้ที่ใช้แต่การจัดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะโน้ตบุ๊กที่ออกแบบอยู่ในรูปแบบที่จำกัด

ฉบับนี้จะวิเคราะห์ให้เห็นถึงข้อที่อาจทำให้เกิดโทษของการใช้โน้ตบุ๊ก เพื่อการระมัดระวังในการใช้งาน และขอเสนอแนวทางการแก้ไขเพื่อลดการเกิดปัญหาทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้นเมื่อทำงานกับโน้ตบุ๊กเป็นเวลานานๆ

ข้อแตกต่างระหว่างโน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กคือ โน้ตบุ๊กจะมีขนาดเล็กกว่าและไม่สามารถปรับระดับจอและแป้นพิมพ์ได้ หากย้อนถึงวิธีการปรับระดับจอและแป้นพิมพ์จะพบว่า
๑. เมื่อปรับระดับแป้นพิมพ์ให้สูงพอเหมาะกับแขนเพื่อให้แขนและมือวางอย่างสบาย และให้มีการยกไหล่น้อยที่สุดจะทำให้จอโน้ตบุ๊กอยู่ค่อนข้างต่ำทำให้ต้องก้มคอหรือโน้มตัวเข้าใกล้จอมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อคอและหลังทำงานหนักและอาจเกิดอาการเมื่อยล้าได้เมื่อทำงานนานๆ
๒. ขณะเดียวกันถ้าปรับตั้งจอให้อยู่สูงขึ้นเพื่อให้คอและลำตัวไม่ต้องก้ม ก็จะทำให้แป้นพิมพ์อยู่สูงเกินส่งผลทำให้ต้องยกบ่าและไหล่ขึ้น กล้ามเนื้อที่บ่าและไหล่ก็จะทำงานหนัก ทำให้มีอาการปวดเมื่อยล้าที่บ่าได้เมื่อทำงานนานๆ และที่บริเวณข้อมืออาจมีการกดของบริเวณข้อมือกับขอบของแป้นพิมพ์หรือขอบโต๊ะได้ง่าย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อ เอ็น และเส้นประสาทที่ข้อมือได้
๓. ตัวแป้นพิมพ์ของโน้ตบุ๊กเองมีขนาดค่อนข้างเล็กและหลายๆ รุ่นไม่สามารถปรับให้มีการเอียงของแป้นพิมพ์ได้ ส่งผลทำให้มีแรงกดที่ข้อมือหรือข้อมือมีการเอียง บิด ขณะที่ทำงาน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ เอ็น หรือเส้นประสาทได้เช่นกัน
๔. ลักษณะของเมาส์ถูกแทนที่ด้วย track ball หรือ pad ซึ่งควบคุมได้ยากกว่าเมาส์และเมื่อยล้าได้ง่ายเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ 
                                                                                                                   
ภาพที่ ๑ การวางใช้งานโน้ตบุ๊กตามปกติ ซึ่งมีผลทำให้ต้องก้มตัว และเมื่อยกจอให้สูงขึ้นแล้วใช้แป้นพิมพ์ภายนอกจะทำให้หลังตรงขึ้นมุมมองดีขึ้น

วิธีแก้ไขให้โน้ตบุ๊กให้ได้ท่าทางการทำงานที่ถูก
จากการที่โน้ตบุ๊กเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในระยะสั้นๆ แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้โน้ตบุ๊กเป็นระยะเวลานานๆ หรือใช้แทนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสามารถทำได้ดังนี้
๑. หาแป้นพิมพ์และเมาส์มาใช้เพิ่ม และวางโน้ตบุ๊กบนหนังสือหรือเก้าอี้เล็กๆ ให้สูงขึ้นมาจากโต๊ะจนกระทั่งขอบบนของจออยู่ที่แนวการมองของตาเมื่อมองไปตรงๆ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ลงทุนน้อยที่สุดแต่นั่นหมายความว่าขนาดของจอโน้ตบุ๊กต้องใหญ่พอสมควร
๒. หากจอโน้ตบุ๊กมีขนาดเล็ก วิธีแก้ไขก็คือใช้โน้ตบุ๊กต่อกับจอภายนอก โดยให้ปรับระดับของจอตามตำแหน่งที่ต้องการเหมือนกับจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไป แล้วใช้แป้นพิมพ์จากตัวโน้ตบุ๊ก แต่แป้นพิมพ์ต้องปรับให้เอียงลาดเล็กน้อยเพื่อให้ข้อมือไม่งองุ้มและถูกกด
๓. การจัดที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือ ใช้โน้ตบุ๊กโดยต่อกับจอ แป้นพิมพ์ และเมาส์ภายนอก นั่นหมายถึงเราสามารถปรับทุกอย่างได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยใช้ตัวซีพียูของโน้ตบุ๊ก ทำให้ทำงานในลักษณะท่าทางที่เหมาะสมได้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่ต้องโอนถ่ายข้อมูล เมื่อต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงาน
๔. คำแนะนำจาก OSHA (the Occupational Safety and Health Administration) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงานของสหรัฐอเมริกา
คำแนะนำจาก OSHA นี้ให้ใช้อุปกรณ์เสริมในลักษณะเอียงประมาณ ๓๐ องศา สำหรับวางโน้ตบุ๊ก ทำให้แป้นพิมพ์เอียงตัวขึ้น จอสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ปรับการนั่งเก้าอี้ให้เอียงไปด้านหลัง (ภาพที่ ๒) ซึ่งมีผลต่อระดับการมองทำให้ไม่ต้องก้มศีรษะ แขนและข้อมือ ไม่มีการกด การบิดและการเอียงของข้อมือมากนัก ขณะเดียวกันหลังพักอยู่เบาะแรงกดต่อหมอนรองกระดูกก็ลดลง


                                                                                               
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                    

ภาพที่ ๒ ภาพการวางโน้ตบุ๊ก บนตัวเสริมแล้วปรับการนั่งให้เอียงไปด้านหลัง

ขอให้ลองใช้วิธีแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวมาร่วมกับวิธีการจัด จอ แป้นพิมพ์ เมาส์ เอกสารที่จะพิมพ์ ตลอดจนโต๊ะ เก้าอี้ ตามที่เคยได้นำเสนอมาบ้างแล้วในการจัดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและอุปกรณ์สำนักงาน หวังว่าคงช่วยลดปัญหากระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานกับโน้ตบุ๊กได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่าโน้ตบุ๊กเหมาะสำหรับการใช้ชั่วคราว ใช้เมื่อทำงานนอกสถานที่หรือเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย ดังนั้น ไม่ควรใช้โน้ตบุ๊กต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ



 

ข้อมูลสื่อ

320-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา