• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๑)

การค้นพบมุมมองใหม่

หมอคัตเลอร์เล่าว่าในความพยายามที่จะประยุกต์วิธีของท่านทะไล ลามะ ในการเปลี่ยนมุมมอง “ศัตรู” เขาได้พบเทคนิคอีกอันหนึ่งในบ่ายวันหนึ่ง ในช่วงที่กำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาได้เข้าไปฟังการสอนของท่านทะไล ลามะ ทางฝั่งตะวันออก (ของสหรัฐอเมริกา) ขากลับเขาจับเครื่องบินที่ตรงไปเมืองฟินิกซ์เขาจองที่นั่งติดทางเดิน แม้ว่าจะเพิ่งไปฟังการสอนทางจิตวิญญาณมาสดๆ แต่อารมณ์เขาก็ไม่ค่อยดีเพราะเครื่องบินแน่นมาก และยังถูกจัดให้นั่งที่นั่งตรงกลางอีกด้วยความผิดพลาดของทางการบิน เขานั่งอยู่ระหว่างชายอ้วนคนหนึ่งที่นิสัยไม่ดีชอบเอาแขนอันใหญ่ของเขาข้ามเท้าแขนมาเบียดตัวเขา และอีกข้างหนึ่งก็เป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่เขาไม่ชอบขี้หน้าทันที เพราะรู้สึกมาแย่งที่นั่งติดทางเดินที่ควรจะเป็นของเขา และก็มีอะไรบางอย่างที่น่ารำคาญเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้ จะเป็นเพราะเสียงกรี๊ดเกินไปหรือเพราะกิริยามารยาทสูงส่งเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่แน่ หลังจากเครื่องบินขึ้นเธอก็เริ่มคุยไม่หยุดปากกับผู้ชายที่นั่งข้างหน้าเธอ ชายผู้นั้นคือสามีของเธอนั่นเอง หมอคัตเลอร์จึงเสนอแลกที่นั่งกับชายผู้นั้น แต่ทั้งคู่ไม่ต้องการ เพราะต้องการนั่งติดทางเดินทั้งคู่ หมอคัตเลอร์ก็ยิ่งรำคาญหนักขึ้น และเมื่อนึกถึงว่าจะต้องนั่งติดกับผู้หญิงคนนี้ถึง ๕ ชั่วโมงเต็มๆ ดูจะเป็นสภาวะที่สุดทนทาน

ระลึกรู้ว่าเขากำลังมีปฏิกิริยาอย่างแรงต่อผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาก็ไม่รู้จักเลย เขาจึงคิดว่ามันจะต้องมีเหตุอะไรที่เชื่อมต่อมาสู่อารมณ์เช่นนี้ หรือว่าเธอจะไปคล้ายใครคนใดคนหนึ่งที่เขาฝังใจมาแต่วัยเด็ก เช่น ความรู้สึกที่เขาเกลียดแม่เขาที่ฝังลึกหรืออะไร เขาพยายามใช้สมองค้นอย่างเต็มที่ว่าเธอเหมือนใคร แต่ก็คิดไม่ออก
แล้วเขาก็คิดได้ว่านี่เป็นโอกาสที่จะฝึกความอดทน หมอคัตเลอร์ก็เลยทดลองเทคนิคที่เห็นไปว่าจริงๆ แล้วศัตรูที่นั่งติดกับเขาในที่นั่งติดทางเดินเป็นผู้มาทำคุณประโยชน์ให้เขา เพื่อให้เขาได้ฝึกความอดทนและอดกลั้น หลังจากพยายามอยู่ประมาณ ๒๐ นาทีก็ต้องเลิก เธอก็ยังรบกวนจิตใจเขา เขาก็ยอมตกอยู่ในสภาพหงุดหงิดตลอดเวลาบินที่เหลือ ด้วยความโกรธจัด เขามองดูมือข้างหนึ่งของเธอที่ล่วงล้ำมาวางอยู่บนเท้าแขนของเขา เขาเกลียดทุกสิ่งทุกอย่างของผู้หญิงคนนี้ เขากำลังมองเล็บที่หัวแม่มือของเธอ เมื่อเขาฉุกคิดขึ้นได้ว่า เขาเกลียดเล็บนั้นหรือ? เปล่า ไม่ใช่หรอก ก็เป็นเล็บธรรมดาๆ หลังจากนั้นเขาก็ชำเลืองดูตาของเธอและถามว่า เขาเกลียดตานั้นหรือ? ใช่เขาเกลียดมัน (โดยไม่มีเหตุผล-เป็นความเกลียดอย่างบริสุทธิ์) เขามองให้ลึกเข้าไปอีก เขาเกลียดรูม่านตาของเธอหรือ? เปล่า เขาเกลียดแก้วตา ม่านตาหรือผนังลูกตาหรือ? เปล่า อ้าว! ดังนั้นเขาเกลียดตานั้นหรือ? เขาก็ต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้เกลียดลูกตา ถ้างั้นมันอะไรกัน เขาขยับไปมองข้อนิ้ว ขากรรไกร ข้อศอก เขาแปลกใจว่ามีส่วนต่างๆ ของร่างกายของผู้หญิงคนนี้ที่เขาไม่ได้เกลียด ในการมุ่งไปดูรายละเอียดของส่วนต่างๆ แทนที่จะคิดอย่างรวบยอด ทำให้จิตใจอ่อนตัวลง และเปลี่ยนแปลงอย่างนุ่มนวล ในการเปลี่ยนมุมมองนี้ ทำให้หมอคัตเลอร์สามารถเจาะอคติของตนเองให้เปิดกว้าง และมองเธอว่าที่แท้จริงแล้วก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ขณะที่เขากำลังรู้สึกอย่างนี้ เธอหันมาหาเขาอย่างทันทีทันใดและชวนคุย เขาจำไม่ได้ว่าคุยกันเรื่องอะไร เป็นเรื่องสัพเพเหระ แต่เมื่อบินถึงที่หมายความโกรธและความรำคาญของเขาหายไป แม้เขาไม่คิดว่าเธอเป็นเพื่อนคนใหม่ที่ดีที่สุด แต่เธอก็ไม่ใช่ “คนชั่วร้ายที่มาแย่งที่นั่งแถวติดทางเดินของเขา" ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เฉกเช่นตัวเขาที่เคลื่อนไปในวิถีชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้

จิตละมุน
ความสามารถที่จะเปลี่ยนมุมมอง ความสามารถที่จะมองปัญหาของตัวเองจากมุมมองใหม่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากจิตที่อ่อนตัว ประโยชน์ของการมีจิตละมุนคือทำให้เราเปิดกว้างต่อชีวิตทั้งหมด มีชีวิตชีวาและหัวใจของความเป็นมนุษย์ วันหนึ่งหลังจากบรรยายธรรมต่อสาธารณะที่เมืองทูซอน ท่านทะไล ลามะ เดินกลับห้องของท่านในโรงแรม ขณะนั้นเมฆฝนสีม่วงกำลังกระจายตัวเต็มท้องฟ้า ทำให้อากาศมัวลง ส่งให้เทือกเขาคาทาลิตกอยู่ในหลืบของความทะมึนสีม่วง สภาพอย่างนี้บอกว่ากำลังจะมีลมพายุทะเลทรายนอรัน ท่านทะไล ลามะ หยุดเดิน มองบรรยากาศรอบๆ และพูดถึงความงามของฉากทัศน์ต่อหน้า ท่านเดินต่อไป แต่ไม่กี่ก้าวก็หยุดอีก ก้มลงดูตุ่มดอกลาเวนเดอร์บนต้นเล็กๆ ท่านแตะเบาๆ สังเกตความบอบบางและถามถึงชื่อของดอกไม้ หมอคัตเลอร์รู้สึกประหลาดใจในการเคลื่อนตัวอย่างคล่องแคล่วในจิตของท่านทะไล ลามะ จากภูมิทัศน์ใหญ่มาสู่ดอกไม้ดอกเล็กๆ ไปพร้อมกัน เป็นความสามารถที่จะรับเอาเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตเข้ามาสู่ตัวเอง

เราทุกคนสามารถที่จะพัฒนาจิตอันอ่อนตัวเช่นนี้ มันจะเกิดขึ้นได้อย่างน้อยก็บางส่วน จากการขยายมุมมอง และจากการพยายามหามุมมองใหม่ ผลก็คือการตระหนักรู้ทั้งภาพใหญ่และส่วนย่อยไปพร้อมกัน ทวิทัศน์อย่างนี้คือการเห็น "โลกใหญ่" และ "โลกเล็ก" พร้อมๆ กัน อาจช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าอะไรสำคัญในชีวิต อะไรไม่สำคัญ
ในกรณีของหมอคัตเลอร์เองท่านทะไล ลามะ ต้องจี้ไชในการสนทนาที่จะทำให้เขาหลุดออกจากมุมมองอันคับแคบได้ โดยธรรมชาติและการฝึกอบรม หมอคัตเลอร์ว่าตัวเขามีความโน้มเอียงที่จะมองปัญหาจากจุดยืนที่เป็นพลวัตส่วนบุคคล คือกระบวนการทางจิตที่อยู่เฉพาะภายในกรอบของจิตเท่านั้น ทัศนะทางสังคมหรือทางการเมืองไม่เคยเข้ามาสู่ความสนใจของเขาเลย ในการคุยกับท่านครั้งหนึ่งเขาถามท่านถึงความสำคัญของการมีทัศนะกว้าง กินกาแฟเข้าไปหลายถ้วยก่อนหน้านั้น หมอคัตเลอร์ว่าการคุยของเขาชักมีสีสัน เขาเริ่มพูดถึงว่าความสามารถที่จะเขยื้อนทัศนะว่าเป็นกระบวนการทางจิต เป็นความมุ่งมั่นของบุคคลที่ตัดสินใจอย่างมีสติที่จะทำให้มีทัศนะที่ต่างไปจากเดิม

ในระหว่างที่หมอคัตเลอร์พูดอย่างออกสนุกอยู่นั้น ท่านทะไล ลามะ ได้แทรกเตือนขึ้นว่า “เมื่อท่านพูดถึงการปรับทัศนะให้กว้างขึ้น นี้จะต้องรวมถึงความร่วมมือกับคนอื่นด้วย เช่น เมื่อคุณเผชิญวิกฤตที่เป็นวิกฤตระดับโลก เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบันนี้จะต้องการความร่วมมือผสานกันของคนจำนวนมาก ด้วยความรู้สึกผิดชอบและพันธะ นี้เป็นเรื่องที่กว้างกว่าเป็นส่วนบุคคลหรือปัจเจก"

หมอคัตเลอร์รู้สึกรำคาญที่ท่านดึงเรื่องโลกเข้ามาขณะที่กำลังเพ่งเล็งอยู่ในเรื่องปัจเจก (ความรู้สึกเช่นนี้ เขายอมรับอย่างละอายว่ามันเกิดขึ้นในขณะที่กำลังคุยกันถึงเรื่องขยายทัศนะให้กว้าง!)

“แต่สัปดาห์นี้" หมอคัตเลอร์ยังพยายามดันทุรัง “ในการคุยของเราและในการปาฐกถาต่อสาธารณะ ท่านได้พูดเป็นอันมากถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภายในตัวตน ผ่านการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน( Transformation) ในตัวเองเช่น ท่านพูดถึงความสำคัญของการพัฒนาความกรุณา การมีหัวใจของความเป็นมนุษย์ การเอาชนะความโกรธความเกลียด การปลูกฝังความอดทนอดกลั้น…”

"ใช่ แน่นอน การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากภายในของบุคคล แต่เมื่อท่านพยายามหาทางแก้ปัญหาโลก ท่านต้องพยายามทำจากจุดยืนในระดับปัจเจกบุคคลพร้อมๆกับระดับสังคมใหม่ ฉะนั้น เมื่อท่านพูดถึงการมีความยืดหยุ่น การมีทัศนะที่เปิดกว้าง จำเป็นต้องสามารถที่จะมองปัญหาจากหลายระดับ ระดับบุคคล ระดับชุมชน ระดับโลก
"เช่น ในการบรรยายต่อสาธารณะเมื่อเย็นวันก่อน อาตมาได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องลดความโกรธความเกลียดโดยบ่มเพาะความอดทนอดกลั้น การลดความเกลียดลงก็เหมือนการปลดอาวุธภายในจิตใจ แต่อาตมาได้พูดว่าการปลดอาวุธภายในจิตใจจะต้องควบคู่ไปกับการปลดอาวุธภายนอกด้วย เรื่องนี้อาตมาคิดว่าสำคัญมาก โชคดีที่หลังอาณาจักรโซเวียตล่มสลายลง อย่างน้อยในช่วงขณะนี้ไม่มีสัญญาณแห่งการทำลายล้างโลกด้วยนิวเคลียร์อีกต่อไป ดังนั้นนี้เป็นเวลาที่ดี ที่จะเริ่มต้นที่ดี เราไม่ควรพลาดโอกาสนี้ อาตมาคิดว่าเราจะต้องเพิ่มพลังเพื่อสันติภาพ สันติภาพอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ว่าไม่มีความรุนแรงหรือไม่มีสงคราม การไม่มีสงครามอาจเกิดขึ้นเพราะการมีอาวุธ เช่น การมีอาวุธต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ การเพียงแต่ว่าไม่มีสงครามยังไม่ใช่สันติภาพที่แท้และถาวร สันติภาพต้องเกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากอาวุธเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน อาตมาจึงคิดว่าขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องหาทางขจัดอาวุธเหล่านี้ เรื่องนี้สำคัญมาก แต่เราก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน คงทำทีละก้าวๆ แต่เราต้องทำเป้าหมายสุดท้ายของเราให้ชัด โลกทั้งผองต้องปราศจากกำลังรบ ดังนั้น ในระดับหนึ่ง เราต้องสร้างสันติภาพในจิตใจ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องพยายามลดอาวุธและสร้างสันติภาพภายนอกด้วย พยายามทำแม้เล็กน้อยเท่าที่เราจะทำได้ เป็นความรับผิดชอบของเรา"

ความสำคัญของการคิดอย่างยืดหยุ่น
มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตละมุนกับความสามารถที่จะปรับทัศนะ จิตที่อ่อนตัวช่วยให้เรามองปัญหาได้จากหลากหลายทัศนะและในทางกลับกันความพยายามที่จะมองปัญหาจากหลากหลายทัศนะก็เป็นการฝึกจิตให้มีความยืดหยุ่น ในโลกทุกวันนี้ความพยายามคิดอย่างยืดหยุ่นไม่ใช่การหลบหลีกเข้าไปอยู่ในตัวเองด้วย ความเกียจคร้านทางปัญญา แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอดของโลกทีเดียว แม้ในทางวิวัฒนาการ พันธุ์พืชสัตว์ที่ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมจึงอยู่รอดมาได้ ชีวิตทุกวันนี้มีลักษณะที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่ได้คาดหมาย และบางทีก็รุนแรง จิตที่อ่อนตัวช่วยให้เราสมานกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว มันจะช่วยให้เราบูรณาการความขัดแย้งภายใน ความไม่คงเส้นคงวา ความคาบลูกคาบดอก ปราศจากการบ่มเพาะจิตที่ยืดหยุ่น ทัศนะของเราก็จะเปราะบาง และความสัมพันธ์ของเรากับโลกก็จะมีลักษณะของความหวาดกลัว โดยการมีจิตที่ยืดหยุ่น อ่อนโยนต่อชีวิต จะทำให้เรารักษาความสงบใจไว้ได้ท่ามกลางสภาพที่ปั่นป่วน โดยความพยายามที่จะมีจิตใจที่ยืดหยุ่น เราจึงจะสามารถหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต

หมอคัตเลอร์ว่าเมื่อเขารู้จักท่านทะไล ลามะ มากขึ้น เขาทึ่งถึงความสามารถในความยืดหยุ่นของท่านและความสามารถในการมีความหลากหลายของทัศนะ เราย่อมคาดหวังว่าในบทบาทอันโดดเด่นของท่านในฐานะชาวพุทธที่ดีได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก จะทำให้ท่านอยู่ในฐานะที่จะต้องต่อสู้ป้องกันความเชื่อของตัวเอง
โดยมีเรื่องนี้อยู่ในใจ เขาจึงถามท่านว่า "ท่านเคยพบว่าตัวเองมีทัศนะที่แข็งกระด้างเกินไปไหมโดยคิดอย่างคับแคบ?"

"อึมม์... "
ท่านคิดอยู่ครู่หนึ่งและตอบอย่างแข็งขัน "ไม่หรอก อาตมาไม่คิดอย่างนั้น ที่จริงตรงข้ามมากกว่า บ่อยๆครั้งอาตมายืดหยุ่นมาก จนถูกกล่าวหาว่าไม่คงเส้นคงวา ว่าแล้วท่านก็ระเบิดหัวเราะเสียงดัง" บางคนก็มาหาอาตมาและเสนอความคิดบางอย่าง อาตมาก็คิดตามเหตุผลที่เขาพูดและเห็นด้วยและกล่าวกับเขาว่า "โอ้...วิเศษมาก" แต่เสร็จแล้วก็มีคนอื่นมาพูดในสิ่งที่ตรงกันข้าม อาตมาก็เห็นเหตุผลของเขาและเห็นด้วยอีกเหมือนกัน อาตมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องแบบนี้และถูกเตือนว่าเรามีพันธะที่ต้องทำในวิถีนี้ สำหรับเวลานี้เราต้องอยู่กับทางนี้"

โดยการพูดอย่างนี้บางคนอาจคิดว่าท่านทะไล ลามะ ป็นคนโลเล ไม่มีหลักการและที่จริงแล้วนั่นเป็นความจริงทีเดียว ท่านทะไล ลามะ มีความเชื่อพื้นฐานในตัวท่านที่กำหนดการกระทำของท่าน : ความเชื่อในความดีที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทั้งหมด ความเชื่อในคุณค่าของความกรุณา นโยบายแห่งความกรุณา ความรู้สึกร่วมกับสิ่งมีชีวิตทั้งโลก

ในการพูดถึงความสำคัญของความยืดหยุ่น ความอ่อนโยน การปรับตัวได้ไม่ได้หมายความว่าจะแนะนำให้เป็นกิ้งก่าเปลี่ยนสี เปลี่ยนสีไปเรื่อยตามสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนอัตลักษณ์ของตัวเอง รับความคิดอะไรก็ได้ที่ผ่านเข้ามา ความงอกงามระดับสูงของเราขึ้นอยู่กับบางอย่างที่ชี้นำเรา ระบบคุณค่าที่ทำให้มีความต่อเนื่อง และความอยู่กับร่องกับรอยในชีวิตของเรา ที่เราใช้วัดประสบการณ์ของเราระบบคุณค่าที่ช่วยให้เราตัดสินใจว่าเป้าหมายอะไรมีคุณค่า การทำอะไรไว้ไร้ความหมาย

คำถามก็คือว่า เราจะรักษาคุณค่าพื้นฐานพร้อมๆ กับมีความยืดหยุ่นได้อย่างไร ท่านทะไล ลามะ ดูจะทำสำเร็จได้โดยลดระบบความเชื่อของท่านให้เหลือความจริงพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง : (๑) เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง (๒) เราต้องการความสุขไม่ต้องการความทุกข์ (๓) มนุษย์คนอื่นๆก็เช่นเดียวกับตัวเรา ที่ต้องการความสุขไม่ต้องการความทุกข์ โดยเน้นที่จุดร่วมของมนุษย์ทั้งหมดทดแทนที่ที่จุดต่างๆ ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาตินำไปสู่ความเชื่อพื้นฐานในแห่งคุณค่าของความกรุณาและการเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น โดยวิธีอย่างนี้จะมีประโยชน์มากถ้าเราใช้เวลาพินิจพิจารณาถึงระบบคุณค่าของเรา แล้วพยายามลดทอนลงให้เหลือแต่หลักการพื้นฐานจริงๆ ความสามารถที่จะลดทอนระบบคุณค่าให้เหลือแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด และก็ดำรงชีวิตตรงจุดสูงสุดนั้น จะทำให้เรามีเสรีภาพและความยืดหยุ่นสูงสุดที่จะเผชิญปัญหานานัปการที่ดาหน้าเข้ามาในชีวิตประจำวัน

การค้นหาความสมดุล
การพัฒนาความยืดหยุ่นในชีวิตใช่แต่จะเป็นเครื่องมือให้เราเผชิญกับปัญหาประจำวันเท่านั้นก็หาไม่ แต่มันยังกลายเป็นเสาหลักแห่งการมีชีวิตที่เป็นสุขนั่นคือ ความสมดุล
ลงนั่งอย่างสบายบนเก้าอี้ในเช้าวันหนึ่ง ท่านทะไล ลามะ อธิบายถึงคุณค่าของการดำเนินชีวิตที่สมดุล
"ทักษะชีวิตที่สมดุล พยายามหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง เป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน เรื่องนี้มีความสำคัญในทุกด้านของชีวิต เช่น ในการปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ เริ่มต้นเราจะต้องทำด้วยฝีมือนุ่มนวลความชื้นมากไปก็ทำให้มันตายได้ แสงแดดมากไปก็ทำลายมันได้ ถ้าน้อยเกินไปก็ทำลายมันได้เหมือนกัน สิ่งที่ต้องการคือความสมดุลที่ทำให้ต้นกล้างอกงามได้อย่างดี หรืออย่างสุขภาพทางกายของบุคคล อะไรที่มากเกินหรือน้อยเกินไปก็ทำลายได้ เช่น โปรตีนมากไปก็ไม่ดี หรือน้อยไปก็ไม่ดี

"ทักษะแห่งความนุ่มนวล โดยระมัดระวังไม่ให้สุดโต่ง ใช้ได้สำหรับสุขภาพทางจิตด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ถ้าเราพบว่าตัวเองอหังการมากเกินไป ตัวพองด้วยความสำคัญของตัวเอง ความสำเร็จของตัวเอง ยารักษาโรคนี้ก็คือการคิดถึงปัญหาของตัวเอง ความทุกข์ของตัวเอง พิจารณาถึงด้านลบของชีวิตนี้จะช่วยลดความขนพองหยิ่งผยองของตัวเอง นำตัวเองลงมาสู่พื้นดิน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณพบว่าการคิดถึงความไม่น่าพึงพอใจของชีวิต ความทุกข์ ความเจ็บปวดและอื่นๆ ทำให้คุณรู้สึกแย่ ก็มีอันตรายจากความสุดโต่งไปอีกข้าง ในกรณีเช่นนี้คุณอาจจะรู้สึกหดหู่ หมดทางช่วย ซึมเศร้าคิดว่าไม่มีทางทำอะไรได้ ฉันไม่มีคุณค่าอะไรเสียเลย ในกรณีอย่างนี้ต้องสามารถยกจิตใจของคุณขึ้นโดยนึกถึงความสำเร็จ ความก้าวหน้า และคุณสมบัติด้านบวกอื่นๆ เพื่อจะยกจิตใจของคุณมาจากการจมปลักอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง ดังนั้น สิ่งที่ต้องการคือทักษะแห่งความสมดุล

" วิธีนี้ไม่ใช่จะช่วยสุขภาวะทางกายและทางจิตเท่านั้น แต่มันช่วยความเติบโตทางจิตวิญญาณด้วย ในประเพณีทางพุทธมีวิธีการปฏิบัติหลายอย่างด้วยกัน แต่การประยุกต์ใช้วิธีการต่างๆเหล่านั้นต้องการทักษะเป็นอย่างมาก และต้องไม่ไปสุดโต่ง มีความต้องการทักษะแห่งความสมดุลตรงนี้ด้วยเหมือนกัน ในการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา ต้องผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ทางทฤษฎีกับการปฏิบัติจิตภาวนา เพื่อป้องกันการไม่ได้ดุลระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ มิฉะนั้น มีอันตรายจากการเรียนรู้ทางปริยัติมากเกินจะไปฆ่าการปฏิบัติจิตภาวนา การปฏิบัติมากเกินไปโดยไม่ศึกษาปริยัติก็ทำให้ขาดความเข้าใจ ดังนั้น จึงต้องมีสมดุล…"

หลังจากครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ท่านทะไล ลามะ กล่าวเพิ่มเติม "ดังนั้น การปฏิบัติธรรม ก็มีลักษณะเหมือนเป็นเครื่องทำให้โวลเทจของกระแสไฟฟ้าคงที่ ป้องกันไม่ให้กระแสขึ้นลงวูบวาบมากเกินไป แต่ทำให้ได้รับกระแสไฟฟ้าที่สม่ำเสมอ”

"ท่านย้ำถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง" หมอคัตเลอร์สอดขึ้น" แต่ว่าความสุดโต่งไม่ใช่หรือที่ทำให้เกิดความตื่นเต้นและความมีชีวิตชีวา? การหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง เลือกเดินทางสายกลางอยู่เรื่อย ไม่ทำให้ชีวิตจืดชืดไม่มีสีสันดอกหรือ?"

สั่นศีรษะว่าไม่ ท่านทะไล ลามะ ตอบว่า "ท่านต้องเข้าใจพื้นฐานของพฤติกรรมสุดโต่ง ยกตัวอย่างเช่น ความอยากได้วัตถุ บ้าน เครื่องเรือน เสื้อผ้าและอื่นๆ ในด้านหนึ่งความยากจนเป็นความสุดโต่ง ก็เป็นการสมควรทุกอย่างที่จะเอาชนะความยากจนเพื่อความสุขสบายทางวัตถุ แต่อีกด้านหนึ่ง ความฟุ่มเฟือยเกินไป ความต้องการความมั่งคั่งมากเกินไป ก็เป็นความสุดโต่งอีกอย่างหนึ่ง วัตถุประสงค์ในที่สุดของการแสวงหาความมั่งคั่งก็คือความพึงพอใจความสุข แต่พื้นฐานของการแสวงหาให้มากขึ้น ไปอีกก็คือความไม่พอ นั่นคือความรู้สึกไม่พึงพอใจ ความรู้สึกไม่พึงพอใจของความต้องการมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ไม่ได้เกิดจากความจำเป็นของการใช้วัตถุ แต่เกิดจากสภาวะทางจิต

"ดังนั้น อาตมาคิดว่า การที่เรามีความโน้มเอียงไปสู่ความสุดโต่ง เกิดจากการไม่ได้รับความพึงพอใจ แน่นอน คงจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่นำไปสู่ความสุดโต่ง เราจะต้องรู้ว่าการไปสู่ความสุดโต่ง อาจจะดูยวนใจ หรือน่าตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องอันตราย ตัวอย่างของอันตรายจากการไปสู่สภาวะสุดโต่งมีมากมาย ถ้าพิจารณาดูให้ดีๆ ก็จะเห็นว่าการเข้าไปสู่สภาวะสุดโต่ง จะทำให้ตัวเราเองเป็นทุกข์ ตัวอย่างเช่นพูดในระดับโลก ถ้าเราจับปลามากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาว โดยปราศจากความรู้สึกรับผิดชอบ ประชากรปลาก็จะหดหาย หรืออย่างเรื่องพฤติกรรมทางเพศ แน่นอนว่ามันเกิดจากการผลักดันทางชีววิทยาที่จะสืบพืชพันธุ์ และก็มีความพึงพอใจจากกิจกรรมทางเพศ แต่ถ้ามันสุดโต่งเกินไป ขาดความรับผิดชอบ ก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่นการละเมิดทางเพศ และเพศสัมพันธ์อันไม่เหมาะสม"
“ท่านกล่าวว่านอกจากการไม่ได้รับความพึงพอใจ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่นำไปสู่สภาวะสุดโต่ง..." หมอคัตเลอร์ถาม
“ใช่ แน่ทีเดียว" ท่านพยักหน้ารับ
"ท่านจะยกตัวอย่างได้ไหม?"
"อาตมาคิดว่า ความใจแคบก็เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ความสุดโต่ง"
"ความใจแคบ ในความหมายอะไร"
"ตัวอย่างการจับปลามากเกินอันนำไปสู่ความร่อยหรอของประชากรปลาก็เป็นตัวอย่างขอการคิดอย่างแคบ มองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น ปฏิเสธการมองภาพที่ใหญ่กว่านั้น ตรงนี้เราอาจจะใช้การศึกษาและความรู้เป็นเครื่องขยายทัศนวิสัยให้กว้าง ลดการมองแคบลงได้”

ท่านทะไล ลามะ หยิบลูกประคำจากโต๊ะข้างที่นั่งมาคลึงในมืออย่างเงียบๆขณะที่คิดในเรื่องนี้ ชำเลืองมองลูกประคำท่านพูดต่ออย่างทันทีทันใด "อาตมาคิดว่า ความใจแคบนำไปสู่ความความคิดแบบสุดโต่งได้หลายทางด้วยกันทำให้เกิดปัญหา เช่น ทิเบตเป็นประเทศพุทธมาหลายศตวรรษ ธรรมดาชาวทิเบตจะคิดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีที่สุด และอาจมีความโน้มเอียงที่จะคิดว่าน่าจะเป็นการดีถ้าคนทั้งโลกเป็นชาวพุทธ ความคิดที่ว่าทุกคนควรเป็นชาวพุทธเป็นความสุดโต่งอย่างยิ่ง การคิดแบบนั้นก่อให้เกิดปัญหา แต่ว่าเมื่อพวกเราออกมาจากประเทศทิเบต มีโอกาสสัมผัสกับผู้คนในศาสนาอื่นๆ และได้เรียนรู้ ทำให้เราใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้ตระหนักรู้ว่าในหมู่มวลมนุษยชาติมีความคิดต่างๆ กัน แม้นถ้าเราจะพยายามทำให้ทั้งโลกเป็นพุทธก็มีปัญหาทางปฏิบัติ ในการได้รู้จักมักคุ้นกับศาสนาต่างๆ เราจะรู้ว่าศาสนาต่างๆ มีคุณประโยชน์เมื่อเผชิญกับศาสนาอื่น ความรู้สึกทางบวก ความรู้สึกสบายใจ ก็จะเกิดขึ้น เราก็จะรู้สึกว่าถ้าคนต่างศาสนาเขาพบว่าศาสนาของเขาเหมาะกับเขานั่นก็เป็นการดี เหมือนกับไปภัตตาคาร ใครๆ ก็เลือกอาหารที่ตนพอใจ เราอาจจะกินอาหารคนละชนิด แต่ก็ไม่มีใครทะเลาะกันว่าทำไมถึงกินอาหารต่างชนิดกัน

"ดังนั้น อาตมาคิดว่า โดยจงใจที่จะขยายทัศนวิสัยให้กว้าง เราจะเอาชนะความคิดสุดโต่งที่ก่อผลทางลบได้"

เมื่อพูดดังนี้แล้วท่านทะไล ลามะ ก็เอามือสอดเข้าไปในพวงลูกประคำตบหลังมือหมอคัตเลอร์เบาๆ ลุกขึ้นยืน เพื่อบอกว่าการสนทนาวันนี้จบลงแล้ว













 

ข้อมูลสื่อ

320-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี