• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความจำเป็นของการวิจัยโยคะ และการนำโยคะให้เป็นแบบแผนของการศึกษา

ความจำเป็นของการวิจัยโยคะ และการนำโยคะให้เป็นแบบแผนของการศึกษา


โยคะเป็นศาสตร์ที่มีมาแต่โบราณอันเปี่ยมไปด้วยคุณค่า เกิดจากความพิถีพิถันในการเฝ้าสังเกต ศึกษาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเอง สืบทอดอย่างเป็นระบบจากโยคีรุ่นหนึ่งตกทอดไปยังโยคีรุ่นถัดไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โยคะคือศาสตร์แห่งชีวิตที่นำพามนุษย์ไปสู่ศักยภาพสูงสุด โยคะ คือ ศาสตร์แห่งการยกระดับความเป็นมนุษย์ ในทุกๆ มิติ ผ่านทางการพัฒนาจิตที่ปราศจากการรบกวน ซึ่งอาศัยเทคนิควิธีทางกาย-จิตสัมพันธ์ที่หลากหลาย เช่น ท่าอาสนะ ปราณยามะ พันธะ มุทรา กริยา และ สมาธิ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้เอง ก็ยังมีรายละเอียดลึกลงไปอีกเป็นจำนวนมากตลอดเวลาที่ผ่านมา โยคะเป็นศาสตร์ที่ถูกเก็บงำ ถูกมองว่าเป็นเรื่องลี้ลับ โยคะเพิ่งจะเปิดเผยสู่สาธารณะเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโยคะเป็นจำนวนมากหลายๆ ประเด็นคนก็ยังเข้าใจผิดอยู่ แม้กระทั่งในการวิจัยเกี่ยวกับโยคะ

บางคนเข้าใจว่าการวิจัยโยคะไม่ใช่สิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพราะว่าศาสตร์ดังกล่าวมีความสมบูรณ์เพียบพร้อมในตัวอยู่แล้ว บ้างเห็นว่าการนำโยคะไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการแสวงหาทางจิตวิญญาณ เป็นการบิดเบือนโยคะ ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเห็นเหล่านี้ล้วนเกิดจากการขาดความเข้าใจต่อธรรมชาติและขอบเขตของการวิจัยนั่นเอง การวิจัย คือ ความมุมานะอย่างเป็นระบบในการสืบสวน เพื่อค้นหาหรือพิจารณาข้อเท็จจริง ทฤษฎี ตลอดจนประโยชน์ของมัน ดังนั้น ความพยายามใดๆ ที่จะเรียนรู้ข้อเท็จจริงใหม่ๆ ตลอดจนแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโยคะจึงควรได้รับการส่งเสริม เพื่อขจัดความเข้าใจผิด เพื่อเข้าใจโยคะให้มากขึ้น การวิจัยอย่างเป็นระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง แม้การวิจัยเป็นเรื่องของการแยกแยะ แจกแจงเป็นส่วนๆ แต่เราก็ควรนำมันมาใช้ทำความเข้าใจความเป็นองค์รวมของโยคะ

เป้าหมายของการวิจัยในโยคะ คือทำความเข้าใจเทคนิคโยคะที่หลากหลายอย่างเป็นเหตุเป็นผล อธิบายเทคนิคโยคะด้วยภาษาของศาสตร์ร่วมสมัย และค้นหาคุณค่าของเทคนิคเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาตินั่นเอง การวิจัยจะช่วยให้เรามีความเข้าใจต่อกระบวนการปฏิบัติได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะเกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติ การปฏิบัติซึ่งถือเป็นพื้นฐานทั้งหมดของการเรียนรู้โยคะ สวามีกุลวัลยนันท์ คือ ผู้มีวิสัยทัศน์อย่างยิ่งในงานวิจัยโยคะ ท่านแบ่งกลุ่มการวิจัยออกเป็น การวิจัยรากฐาน และการวิจัยเชิงประยุกต์ในการวิจัยรากฐาน แบ่งออกได้เป็นการวิจัยเชิงปรัชญา ประวัติศาสตร์ และการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งแบ่งแยกย่อยลงไปอีก เป็นการวิจัยทางกายภาพ จิตวิทยาและที่เหนือไปจากจิตวิทยา

ในปี พ.ศ. 2467 สวามีกุลวัลยนันท์ริเริ่มทำวิจัย เชิงวิทยาศาสตร์กับเทคนิคโยคะ เช่น อุทธิยานะ และ นาอุลิ ในห้องทดลอง โดยอาศัยเครื่องเอกซเรย์ เครื่องมาโนมิเตอร์ช่วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นยุคของการวิจัยโยคะ การวิจัยของท่านดำเนินมา 25 ปี กว่าที่การวิจัยจะเป็นที่แพร่หลายในวงการโยคะ คุณูปการของท่านสวามีกุลวัลยนันท์ คือ ท่านแสดงให้เห็นว่าเทคนิคโยคะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ การวิจัยโยคะมุ่งเน้นไปทางด้านเชิงประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสุขภาพ มีการวิจัยเชิงบำบัดโรคมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ ส่วนการวิจัยด้านป้องกันโรคแทบจะไม่มีใครคำนึงถึง

ข้อสังเกตต่องานวิจัยโยคะที่มีอยู่ในปัจจุบัน

1. งานวิจัยจำนวนมากยังขาดความเข้าใจต่อแนวความคิดพื้นฐานของโยคะ เช่น งานวิจัยที่แยกโยคะออกจากสมาธิ ว่าเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งสร้างความคลาดเคลื่อนต่อโยคะ

2. ยังไม่สามารถอธิบายเทคนิคโยคะที่ทำวิจัยได้อย่างเพียงพอ

3. บ่อยครั้ง มีการนำเทคนิคที่ไม่ใช่ของโยคะมาปนกับเทคนิคโยคะ

4. งานวิจัยทางด้านบำบัดเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ที่มีการติดตามประเมินผลภายหลังอย่างเพียงพอเหมาะสม

แนวทางการวิจัยที่น่าจะช่วยกันทำเพิ่มเติม

1. งานวิจัยเชิงรากฐานต่อเทคนิคโยคะต่างๆ ซึ่งยังมีอยู่อีกมากมายที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง

2. การพัฒนามาตรฐานของเทคนิคโยคะ

3. ผลของการควบคุมการหายใจ (ปราณยามะ) ที่มีต่อกลไก กาย-จิตสัมพันธ์

4. การวิจัยหาช่องทางต่างๆ ในความเป็นมนุษย์  เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง

5. การจัดทำตำราอ้างอิง เช่น สารานุกรม พจนานุกรม ดรรชนี บทวิเคราะห์ งานวิจารณ์ ตำราโยคะดั้งเดิม

6. คุณค่าของโยคะบำบัด ต่อความผิดปกติทางกาย-จิตสัมพันธ์ต่างๆ

7. การวิจัยถึงความเหมาะสมของเทคนิคโยคะต่างๆ ต่อธรรมชาติมนุษย์ที่แตกต่างกัน เช่น เทคนิคโยคะ  ต่อคนในวัยที่ต่างกัน ต่อเพศที่ต่างกัน ต่อกีฬาประเภทต่างๆ

การวิจัยโยคะจะทำให้เรามีข้อสรุป ข้อคิดเห็นคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งนั่นหมายความว่า ในแต่ละกรณี เราควรจะมีข้อมูลที่มากพอ ขณะเดียวกันก็เกิดจากมุมมองที่หลากหลาย โยคะโดยมันเอง ก็เต็มไปด้วยประเด็นที่จะทำการวิจัยได้อย่างหลากหลาย โยคะยังมีคุณค่ายิ่งในระบบการศึกษา และองค์กรทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ นี่คือยุคสมัยที่เหมาะอย่างยิ่งในการปฏิวัติการศึกษาด้วยโยคะ แก่นของการศึกษาคือการดึงเอาศักยภาพสูงสุด ที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคนออกมา ศักยภาพที่ว่านี้ คือสภาวะแห่งความสมดุลระหว่าง ทัศนคติ การกระทำ พฤติกรรม บุคลิก ทักษะ วิธีคิด และความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ โยคะเน้นที่คุณค่าของจิตที่มีการรวมศูนย์พร้อมแก่งาน  พลังของจิตที่มีการรวมศูนย์นี้เองคือกุญแจที่จะเอาชนะสภาวะของกาย-ใจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย

โยคะช่วยเพิ่มความสามารถในการจำ ช่วยเพิ่มสมาธิ พัฒนาความสามารถในการปรับตัว ในการควบคุมอารมณ์ ให้กับนักเรียน ทางด้านสุขภาพ หลักการของโยคะตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า โรคต่างๆ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง อาหารที่ผิด และทัศนคติที่ไม่เหมาะสม ความไม่ลงตัวเหล่านี้ล้วนสามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง และมีแต่ตนเองเท่านั้นที่จะควบคุมมันได้ เราควรนำเทคนิคที่หลากหลายของโยคะมาใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่เพียงในสถาบันการศึกษา แต่ครอบคลุมไปยังประชาชนส่วนใหญ่ผ่านองค์กรที่ทำหน้าที่ ส่งเสริมสุขภาพ โดยครูโยคะผู้เชี่ยวชาญทำการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการอบรม สัมมนา ในเวลาพอสมควร การอบรมควรเน้นที่การรู้วิธีปฏิบัติเทคนิคโยคะอันหลากหลาย ประกอบกับการเรียนทฤษฎี ทำความเข้าใจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ควบคู่กับความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ

ขอแก้ไขจากนิตสารหมอชาวบ้านฉบับที่ ๒๙๘ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เรื่อง "โยคะ วิชาการ และการประชุม"
ดร.เอ็ม แอล กาโรเต้
ครูโยคะชาวอินเดีย

ี.เค.เอส ไอเยนการ์
ลูกศิษย์ของกฤษณะมาจารยา

ข้อมูลสื่อ

299-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 299
มีนาคม 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์