• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อผมเป็นโรคความดัน

ผมเป็นโรคความดันเลือดสูงมาร่วม ๑๐ ปีแล้ว

ครั้งแรกที่ตรวจพบนั้น ไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เพียงแต่ช่วงใกล้เพลวันหนึ่งผมเดินผ่านซุ้มแสดงเครื่องมือแพทย์ในงานนิทรรศการวิชาการ ก็ลองให้เขาใช้เครื่องมือรุ่นใหม่วัดความดันดู ปรากฏว่าขึ้นไป ๑๕๐/๑๑๐ มม.ปรอท ซึ่งจัดว่าสูง เพราะในผู้ใหญ่ค่าความดันปกติต้องต่ำกว่า ๑๔๐/๙๐ มม.ปรอท ตกเย็นกลับมาบ้านใช้เครื่องที่มีอยู่ในบ้านวัดใหม่อีกครั้ง คราวนี้วัดได้เพียง ๑๑๐/๗๐ มม.ปรอท ซึ่งนับว่าปกติอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้กินยาอะไรในการลดความดันเลย

ตอนนั้นมีความคิดว่าความดันเลือดของคนเราในช่วงเย็นน่าจะสูงกว่าช่วงเช้า โดยเชื่อว่าเป็นเพราะร่างกายได้ตรากตรำงานมาทั้งวันแล้วความดันก็น่าสูงในตอนเย็น เมื่อตัวเลขออกมาผิดคาดเช่นนี้ ก็คิดว่าอาจเป็นเพราะเครื่องวัดไม่อันใดก็อันหนึ่งเกิดความคลาดเคลื่อนเป็นแน่ วันรุ่งขึ้นจึงได้เครื่องวัดที่บ้านวัดซ้ำ ตอนใกล้เพลเทียบกับช่วงเย็นอีกครั้ง น่าแปลกใจว่า ผลลัพธ์ยังคงเป็นเหมือนเดิม คือตอนเช้าสูงตอนเย็นต่ำ คราวนี้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นความ ผิดพลาดของเครื่องวัด เมื่อกลับมาทบทวนความรู้เรื่องความดันเลือด จึงได้ข้อเท็จจริงว่าความดันของคนเราจะสูงตามระดับฮอร์โมนอะดรีนาลินในร่างกาย ซึ่งปกติจะเริ่มหลั่งหลังเที่ยงคืน (สำหรับคนที่นอนกลางคืน ทำงานกลางวัน) และจะสูงสุดใกล้เพล หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดระดับลง ดังนั้น ความดันของคนเราจึงมีค่าสูงสุดตอนใกล้เพลนั่นเอง
ผมคอยวัดความดันตัวเองต่อมาอีกหลายวัน ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม เป็นอันได้ข้อสรุปว่าผมเป็นโรคความดันเลือดสูงแน่ๆ
ทีแรกก็นึกไม่ถึงว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้ไปได้ เพราะสนใจดูแลสุขภาพตัวเอง และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพมาตลอด ก็ไม่เคยพบว่าความดันสูง
ที่เป็นโรคนี้ ก็เป็นเพราะผมมีพันธุกรรมของโรคนี้อยู่ในครอบครัวนั่นเอง กล่าวคือ มีพ่อเป็น และพี่น้อง ๕ คน เป็นโรคนี้ถึง ๔ คน (นับรวมตัวผมด้วย)
พันธุกรรมเปรียบเหมือน กรรมเก่าŽ ที่ส่งทอดและกำหนดชะตาชีวิตของคนรุ่นต่อๆ มา ผู้ใด มีพันธุกรรมของโรคความดันสูง ต่อให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (ไม่อ้วน ไม่เครียด ออกกำลังกายประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า) เมื่อถึงวัยๆ หนึ่ง (อายุ ๓๐_๔๐ ปีขึ้นไป) ก็อาจหนีไม่พ้น กรรมŽ ที่ได้กำหนดไว้ แล้วแต่ถ้ามีพฤติกรรมไม่ดี โรคก็อาจปรากฏในช่วงอายุที่อ่อนขึ้น

ส่วนผู้ที่ไม่มีพันธุกรรมของโรคนี้ แต่ถ้ามีพฤติกรรมไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปล่อยให้รูปร่างอ้วน ก็อาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
ตรงนี้ขอแทรกเรื่องจริงอยู่เรื่องหนึ่ง คือมีพระเถระที่ปฏิบัติดีรูปหนึ่ง มีสายพันธุ์โรคความดันเลือดสูงกล่าวคือ ญาติโยมทั้งตระกูล (บิดา พี่น้อง ลุงป้า น้าอา) เป็นความดันสูงกันเป็นส่วนใหญ่ บางคนก็ ถึงขั้นมีโรคอัมพาตแทรกซ้อน ตอนนั้นท่านยังสบายดี ก็ปรารภว่า "เพราะฆราวาสมีความทุกข์ความเครียดจึงเป็นโรคนี้กันถ้วนหน้า ตัวเองปฏิบัติธรรม ไม่มีความเครียด จึงไม่ถูกโรคนี้เล่นงาน" แต่ต่อมาไม่นาน ท่านก็ตรวจพบว่าเป็นความดันสูงเช่นกัน...ก็เป็นอันว่า "ธรรมะสู้ยีน (พันธุกรรม) ไม่ได้"

ใครที่มีพันธุกรรมของโรคนี้ ก็จงอย่าได้ประมาท และอย่าลืมหมั่นตรวจเช็กความดันเป็นประจำก็แล้วกัน
เมื่อผมรู้ว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงแน่ ก็ได้ทำการตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียด นับว่าโชคดีที่ไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ และได้กินยารักษามาตลอด ในช่วงแรกๆ ผมหมั่นตรวจเช็กความดันตัวเองแทบทุกวัน บางครั้งวันละหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมความดันให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ต่ำกว่า ๑๔๐/๙๐ มม.ปรอท อยู่ตลอดเวลา

คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูง จำนวนไม่น้อยมีความเข้าใจอย่างผิดๆ ว่า โรคนี้จะมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือเหนื่อยง่าย เมื่อกินยาแล้ว รู้สึกสบายดี ก็นึกว่า "หาย" แล้ว เลยหยุดยา และเลิกหาหมอไปเลย โดยหารู้ไม่ว่ามีภาวะความดันสูงแฝงอยู่แบบไม่รู้ตัว บางคนปล่อยไว้นานๆ เข้า ก็อาจเกิดโรคหัวใจ อัมพาต หรือไตวายแทรกซ้อนในที่สุด

การจะรู้ว่าความดันสูงหรือไม่ จะต้องใช้เครื่องวัด จะสังเกตจากอาการแสดงไม่ได้ เนื่องเพราะโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดสังเกตใดๆ ฝรั่งจึงเรียกว่า "silent killer" (แปลว่า "นักฆ่าเงียบ" หรือ "มัจจุราชมืด")

จากการที่สามารถเฝ้าติดตามดูโรคของตัวเองอย่างใกล้ชิด ทำให้ผมได้เรียนรู้ธรรมชาติของโรค ที่น่าสนใจก็คือ
- โรคของผมเป็นไปตามธรรมชาติดังกล่าว คือตั้งแต่เป็นมา ๑๐ ปี ผมไม่เคยมีอาการผิดปกติใดๆ เลย
- โรคของผมไวต่อเกลือโซเดียม (พบว่าประมาณร้อยละ ๕๐ ของคนที่เป็นความดันสูงจะไวหรือแสลงต่อเกลือโซเดียม) ผมสังเกตว่าทุกครั้งที่กินอาหารเค็มหรืออาหารที่ใส่ผงชูรส ซึ่งมีเกลือโซเดียมความดันที่คุมได้ปกติจะกลับสูงขึ้นทันที และถ้ากินยาขับเกลือโซเดียม ได้แก่ ไฮโดรคลอโรไทอาโซด์ เพียง ๑/๔ เม็ด ความดันก็จะลดลงทันที ภายหลังจึงได้กินยาขับเกลือโซเดียมควบกับยาลดความดันเป็นประจำ เพราะการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ากินอาหารนอกบ้านหรือในงานเลี้ยง
- แม้ว่าผมจะดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องกินยารักษาความดันทุกวัน เคยเผลอลืมกินยาเพียงวันเดียว ความดันก็กลับสูงขึ้นทันที

เมื่อเราเรียนรู้ธรรมชาติของโรคที่เป็น ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้อง จนสามารถควบคุมโรคได้ ก็ย่อมมีความปลอดภัยและสุขภาพดี

ข้อมูลสื่อ

308-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ