• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้ยาเพนิซิลลินจะแพ้ยาชนิดอื่นหรือไม่

ถาม เมื่อแพ้ยาเพนิซิลลินแล้ว จะแพ้ยาชนิดอื่น
หรือไม่
ร้อยละ ๑-๕ ของผู้ที่ใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินแล้ว อาจเกิดการแพ้ขึ้นได้
ยาเพนิซิลลิน เป็นชื่อกลุ่มยาที่มีอัตราการแพ้สูงที่สุด พบได้ร้อยละ ๑-๕ ของผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้ โดยทั่วไปจะมีอาการ ผื่นคัน ลมพิษ คล้ายลมพิษ กระจายทั่วร่างกาย เมื่อหยุดยาอาการก็อาจหายได้เองเป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตามอาจพบอาการแพ้อย่างรุนแรงได้เช่นกัน แต่พบได้ร้อยละ ๐.๐๐๔-๐.๔ ของผู้ใช้ยาชนิดนี้ ซึ่งพบได้น้อยกว่า แต่มีอันตรายสูง และถึงแก่ชีวิตได้

ข้อควรปฏิบัติเมื่อแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน
เมื่อแพ้ยาเพนิซิลลินชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ควรระวัง ในการใช้ยาชนิดอื่นๆ ในกลุ่มเพนิซิลลินด้วย เพราะจะแพ้ยา ตัวอื่นๆ ในกลุ่มเพนิซิลลินได้เช่นกัน และถ้าหากมีการใช้ยาที่เคยมีประวัติแพ้อีกครั้ง ร่างกายจะตอบสนองต่อยาชนิดเดิมนี้รุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น ถ้าเคยแพ้ยาเพนิซิลลิน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเพนิซิลลินทุกชนิด เพราะถ้าใช้อีกอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ที่รุนแรงมากขึ้น จากที่เคยเป็นแค่ผื่นคัน ลมพิษตามผิวหนัง ในรายที่ใช้ยาซ้ำ อาจก่อผลเสียอย่างรุนแรงให้หลอดลมตีบตัว หายใจเหนื่อยหอบ ความดันเลือดลดลง ช็อก และถึงแก่ชีวิต ได้

ตัวอย่างชื่อยาในกลุ่มเพนิซิลลิน
ตัวอย่างยากลุ่มเพนิซิลลิน ได้แก่ เพนิซิลลิน จี (penicillin G) โพรเคน เพนิซิลลิน จี (procaine penicillin G) เพนิซิลลิน วี (penicillin V) แอมพิซิลลิน (ampicillin) อะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) คล็อกซาซิลลิน (cloxacillin) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมียาในกลุ่มนี้อีกมากมายที่มีการใช้ในทางการแพทย์ แต่สามารถจำง่ายๆว่า ชื่อยาจะขึ้นต้นด้วยคำใดก็ตาม แต่มักจะลงท้ายด้วย "-ซิลลิน" ก็ให้เดาไว้ก่อนว่าเป็นยากลุ่มเพนิซิลลิน

เมื่อแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน อาจแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินได้ แต่พบน้อยและรุนแรงน้อยกว่า
มียาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในทางการแพทย์คือ ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน ที่มีฤทธิ์และขอบเขตการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ใกล้เคียงกับยากลุ่ม เพนิซิลลิน และที่สำคัญคือ มีโครงสร้างของโมเลกุลของยาคล้ายกับยากลุ่มเพนิซิลลินมาก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

ดังนั้น ในผู้ป่วยที่เคยแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน เมื่อมาใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินจึงพบการแพ้ยาชนิดหลังนี้ได้บ้าง แต่อาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นจะแตกต่างจากการแพ้ยา กลุ่มเพนิซิลลิน คือจะเกิดอาการแพ้ยาอย่างอ่อนๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่น ผื่นคัน ลมพิษตามผิวหนัง เป็นต้น และมักไม่พบการแพ้อย่างรุนแรงที่มีอันตรายถึงชีวิต แต่เนื่องจาก อาจเกิดอาการแพ้ขึ้นได้ ในรายที่เคยแพ้เพนิซิลลิน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินด้วย

ส่วนยาชนิดอื่นนอกเหนือจากยากลุ่มเพนิซิลลินและเซฟาโลสปอรินแล้ว เช่น ยาซัลฟา (sulfonamides) ยา NSAIDs เป็นต้น ซึ่งเป็นยาที่พบการเกิดการแพ้ยาได้บ่อย รองจากยาต้านจุลชีพในกลุ่มเพนิซิลลิน แต่ถ้าผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน แต่ไม่เคยแพ้ยาทั้ง ๒ ชนิดนี้ ก็สามารถใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัย ในกรณีนี้ยกเว้นแต่ในกรณีที่ผู้ป่วยคนนั้นแพ้ยาเหล่านี้ด้วยเท่านั้น

เมื่อแพ้ยา จึงควรจดชื่อยาบันทึกและพกติดตัวอยู่เสมอ และแจ้งเมื่อรับยาทุกครั้ง
เมื่อแพ้ยาเพนิซิลลิน จึงควรจดบันทึกและพกติดตัวอยู่เสมอ เมื่อใดที่ไปพบแพทย์ หรือได้รับยา จะต้องแจ้งแก่ผู้รักษา หรือผู้สั่งจ่ายยาทุกครั้งว่า เคยแพ้ ยาเพนิซิลลิน ข้อนี้รวมถึง เมื่อไปหาซื้อยาใช้เองที่ร้านยาด้วย
นอกจากนี้ อาจสังเกตคำลงท้ายของชื่อยาที่ได้รับว่ามีชื่อลงท้ายว่า "-ซิลลิน"Žหรือไม่ และอาจจดชื่อยา กลุ่มเพนิซิลลินที่เป็นที่รู้จักไว้และพกติดตัวก็ได้

การแพ้ยากับโรคภูมิแพ้
อนึ่ง ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยา มีโอกาสที่จะเกิดการแพ้ต่อยาชนิดอื่น หรือเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันได้ง่าย ตัวอย่างโรคภูมิคุ้มกัน เช่น โรคลมพิษ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก โรคหืด เป็นต้น
ในโอกาสนี้จึงขอกล่าวถึง "การแพ้ยา" สักเล็กน้อย

การแพ้ยา
"การแพ้ยา" เป็นเรื่องหนึ่งที่พบได้บ่อยในการใช้ยา ประมาณว่า โอกาสเกิดการแพ้ยาประมาณร้อยละ ๕ ของผู้ใช้ยา เมื่อเกิดการแพ้ยา จะก่อผลเสียในการรักษาด้วยยาที่ไม่อาจคาดเดาได้และมีอันตรายถึงชีวิตได้ ประเด็นการแพ้ยานี้จึงได้รับความสนใจและเป็นคำถามประจำที่ผู้รักษาหรือผู้ที่สั่งใช้ยาไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาลหรือเภสัชกร มักจะถามท่านอยู่เสมอ เมื่อพบหน้า ทั้งที่โรงพยาบาล หรือที่ร้านยาว่า"ท่านเคยแพ้ยาหรือไม่" และ "ถ้าเคยแพ้ยาชนิดใด"Ž

การแพ้ยา เป็นอาการอันไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งเมื่อมีการใช้ยา สมดั่งคำขวัญที่ว่า "ยามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์" การแพ้ยาเป็นโทษของยาที่แอบแฝงอยู่และอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเมื่อที่มีการใช้ยา ดังนั้น ถ้า ไม่มีข้อบ่งใช้หรือไม่มีความจำเป็น จึงไม่ควรใช้ยา เพราะอาจเกิดการแพ้และเกิดผลข้างเคียงชนิดอื่นๆ ได้

ควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น เพราะอาจแพ้ยาที่ไม่เคยแพ้ได้
ทุกคนที่ใช้ยาและไม่เคยมีประวัติการแพ้ยา ก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จว่า จะไม่แพ้ยาตลอดไป เมื่อใช้ยาไปเรื่อยๆ วันดีคืนดีก็อาจเกิดแพ้ยาที่เคยใช้แล้วไม่แพ้ยาได้ ดังนั้น การแพ้ยาจึงไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า ตนเอง จะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ และเกิดขึ้นเมื่อใด เกิดในลักษณะใด และรุนแรงเพียงใด

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการใช้ยา จึงควรหมั่นสังเกตสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้ยา ถ้าสงสัยควรปรึกษาผู้สั่งจ่ายยานั้นทันที เพราะถ้าเกิดการแพ้ยาแล้ว ยังใช้ยาอย่างต่อเนื่องก็จะไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการแพ้ยาชนิดนั้นได้มากหลายเท่าทวีคูณ ในบางรายอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เหมือนกับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยาแล้ว แต่มาใช้ยาที่เคยแพ้อีก อาการแพ้ยาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางรายอาจช็อกและเสียชีวิตได้ เช่นกัน

กลไกการแพ้ยา
การแพ้ยาเป็นกลไกของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่เข้าใจว่า ยาเป็นสิ่งแปลกปลอมและมีการตอบสนองในด้านภูมิแพ้มากกว่าปกติ ส่วนใหญ่จะมีอาการทางผิวหนัง เกิดผื่นคันคล้ายลมพิษขึ้นได้ ในบางรายอาจมีอาการทางเดินหายใจ เกิดหอบเหนื่อยขึ้นได้เช่นกัน

ชนิดของยาที่พบการแพ้ยาได้บ่อย
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น ยาที่เป็นสาเหตุให้เกิด อาการแพ้ยาได้บ่อย ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลลิน (penicillins) ยากลุ่มซัลฟา (sulfonamides) และยาแก้ปวดลดไข้ (NSAIDs) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม "ยาทุกชนิดก็มีโอกาส ทำให้เกิดอาการแพ้ได้" แม้แต่ยาที่ปลอดภัยมากๆ เช่น ยาพาราเซตามอล มีรายงานว่า พบผู้ป่วยที่ใช้ยาพาราเซตามอลแล้วเกิดการแพ้ยาได้เช่นกัน

ยากลุ่มเพนิซิลลินเป็นกลุ่มยาที่พบรายงานการแพ้ ได้บ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ ๕ ของผู้ที่ใช้ยานี้ ส่วนชนิดอื่นๆ จะเกิดการแพ้ได้ ในอัตราที่น้อยกว่านี้
อาการแพ้ยา มีตั้งแต่ระดับน้อยๆ อาจเป็นแค่ผื่นคัน ลมพิษ ผื่นแดง หรือในบางรายอาจมีอาการริมฝีปากบวม หน้าตาบวม หนังตาบวม พุพอง ผิวหนังเปื่อยลอก แต่ถ้าแพ้ยารุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม ความดันเลือดต่ำ ชีพจรเต้นเบาและเร็ว หยุดหายใจ ช็อก และตายได้

การแพ้ยาฉีดมักมีอาการรุนแรงมากกว่ายาชนิดกิน
การแพ้ยาฉีดมักมีอาการรุนแรงมากกว่ายาชนิดกิน และส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่แพ้ยา มักมีอาการไม่รุนแรง และหายเองได้เมื่อหยุดยา

การปฏิบัติตนเมื่อสงสัยว่าแพ้ยา
ดังนั้น ในรายที่สงสัยว่าอาจเกิดการแพ้ยาขึ้น จึงควรหยุดยา และรีบกลับมาพบผู้สั่งจ่ายยาทันที เพื่อรักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น และควรสอบถามผู้สั่งจ่ายยาถึงชื่อยาที่ตนเองแพ้อยู่นั้นเป็นยาชนิดใด เมื่อทราบแล้วควรจดจำและบันทึกไว้ และแจ้งแก่ผู้สั่งจ่ายยาทุกครั้งที่มีการจ่ายยา เพื่อเป็นการเตือนทั้งผู้สั่งจ่ายและตนเอง ให้ป้องกันการแพ้ยาที่จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีการแพ้ครั้งต่อๆ ไป

"บัตรแพ้ยา" จากร้านยาเภสัชกรชุมชน
ในร้านยาของเภสัชกรชุมชนได้มีการรณรงค์จัดทำ "บัตรแพ้ยา" ให้แก่ผู้ป่วยทุกรายที่มาใช้บริการ กรุณาแจ้งกับเภสัชกรได้เลยว่า ท่านแพ้ยาอะไร เภสัชกรจะจัดทำบัตรแพ้ยามอบให้ท่านฟรี

สุดท้ายนี้ขอเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมให้แก่ผู้ป่วย ที่มีประวัติแพ้ยา ควรจัดทำสร้อยข้อมือ แหวนหรือสร้อย คอ ที่ระบุว่า ท่านผู้นั้นแพ้ยาชนิดใด เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยแสดงการแพ้ยาเหล่านี้แทนท่าน การช่วยเหลือที่ท่านได้รับจะบังเกิดผลลัพธ์ที่ดี มีประโยชน์ และช่วยให้ท่านหายป่วยหายไข้โดยเร็ว

ข้อมูลสื่อ

308-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด