• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันผุในเด็กไทย

ฟันผุในเด็กไทย


สถานการณ์ฟันผุของเด็กไทย
โรคและความผิดปกติในช่องปากของเด็กเล็กมีหลายประการ แต่ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดคือโรคฟันผุ พบว่า โดยมากแล้วเด็กเป็นโรคฟันผุตั้งแต่ก่อนอายุ ๑ ขวบ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงเด็กอายุ ๑-๓ ขวบ และการที่เด็กมีฟันผุผู้ใหญ่กลับคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงแล้วฟันผุเป็นเรื่องอันตราย เพราะเด็กมีภูมิต้านทานน้อย แม้จะไม่อันตรายถึงแก่ชีวิตแต่ก็ทำให้เด็กเจ็บปวดทรมาน เสียสุขภาพ  ปัญหาฟันผุในเด็กเล็กได้รับความสนใจจากวงการทันตสาธารณสุขทั่วโลกมากว่า ๔๐ ปี แล้ว และในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดโรคฟันผุของเด็กในประเทศอุตสาหกรรมลดลงจาก การใช้ฟลูออไรด์และการแปรงฟันสม่ำเสมอ แต่สำหรับประเทศไทยโรคฟันผุในเด็กเล็กยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กในเขตชนบท ในขณะที่เด็กในกรุงเทพฯ และเขตเมืองมีแนวโน้มลดลง



การสำรวจสุขภาพช่องปากของประเทศครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พบว่า ภาคที่มีอัตราการเกิดโรคสูงสุดคือภาคใต้ แต่ภาคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเดิมเคยมีอัตราการเกิดโรคต่ำสุด ในภาพรวมของประเทศ เด็กอายุ ๕-๖ ขวบ เป็นโรคฟันผุร้อยละ ๘๗.๕ ฟันที่ผุเกือบทั้งหมดยังไม่ได้รับการรักษา เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายของชาติที่เคยตั้งไว้ว่าเด็กกลุ่มนี้ควรมีฟันผุไม่เกินร้อยละ ๗๐ ก็นับว่าต่ำกว่าเป้าหมายมาก โรคฟันผุในเด็กเล็กจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรให้ความสนใจมากที่สุดปัญหาหนึ่ง

สภาพครอบครัวไทยและการเลี้ยงดูเด็ก
การสำรวจสุขภาพองค์รวมของเด็ก ๑๖ จังหวัดที่รายงานในปี พ.ศ.๒๕๔๖ พบว่า สภาพครอบครัวของเด็ก ๐-๕ ขวบ ที่พ่อแม่ยังอยู่ด้วยกัน มีร้อยละ ๘๕.๕ แยกกันอยู่ หย่าร้าง หรือม่าย ร้อยละ ๑๔.๐ แนวโน้มพ่อแม่วัยรุ่นที่หย่าร้างมีเพิ่มมากขึ้น และพ่อแม่มีการหย่าร้างมากขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น เด็กปฐมวัยมีแม่เป็นผู้ดูแลเป็นหลักร้อยละ ๖๖.๐ การสำรวจในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ของกรมอนามัย รายงานว่าปู่ย่าตายายเป็นผู้เลี้ยงเด็กแทนพ่อแม่ร้อยละ ๒๓.๔ ร้อยละ ๑๐ ถูกนำไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์เด็กเล็ก ที่เหลือเป็นการดูแลโดยญาติหรือคนอื่นๆ รายงานของกรมประชาสงเคราะห์ในปี พ.ศ.๒๕๓๘  พบว่า พ่อแม่ต้องแยกกันอยู่นานมากกว่า ๓ เดือนถึงร้อยละ ๑๖.๘ ทำให้แม่หรือปู่ย่าตายายต้องรับภาระในการเลี้ยงดูเด็กตามลำพังมากขึ้น ปัจจัยด้านครอบครัวนี้ส่งผลต่อการดูแลสุขภาพช่องปาก และการกินอยู่ของเด็กด้วย เพราะเด็กที่เลี้ยงดูโดยแม่ตลอดเวลา จะได้รับความเอาใจใส่ด้านสุขภาพดีกว่าเด็กที่ดูแลโดยผู้อื่นหรือต้องผลัดเปลี่ยนกันดูแล

การสำรวจในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ยังรายงานว่า พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กเน้นการเลี้ยงดูด้านกายเป็นหลัก และส่วนใหญ่เปิดทีวีให้เด็กดู โดยเฉลี่ยเด็กดูทีวีวันละ ๑.๙ ชั่วโมง เด็กเมืองดูทีวีมากกว่าเด็กชนบท และเด็กกรุงเทพฯ ใช้เวลาดูทีวีมากที่สุดเฉลี่ยถึงวันละ ๒.๑ ชั่วโมง การดูทีวีมากจะส่งผลให้เด็กกินขนมหวานมากขึ้นและออกกำลังกายน้อยลงด้วย ในด้านพัฒนาการของเด็ก การสำรวจในปี พ.ศ.๒๕๔๒ พบว่า เด็กประมาณร้อยละ ๑๐ มีพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อเล็กและการปรับตัวล่าช้า และพบเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า ๒,๕๐๐ กรัม ถึงร้อยละ ๑๐ การที่เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์เช่นนี้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีฟันสร้างไม่สมบูรณ์ เกิดฟันผุได้ง่าย

พฤติกรรมการบริโภคของเด็ก
ปัญหาการกินน้ำตาลมากเกินไปบ่อยเกินไปของเด็ก มีผลเสียต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคฟันผุและโรคอ้วนอย่างไม่มีข้อสงสัย ปัจจุบันพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ ๓๑.๑ กิโลกรัมต่อปี เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วและมากกว่ามาตรฐานที่ควรบริโภคถึงเกือบ ๓ เท่า เด็กอนุบาลมีปัญหาโภชนาการเกินหรือโรคอ้วนร้อยละ ๑๒.๙ พฤติกรรมการดื่มนมของเด็กถูกหล่อหลอมมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยทารก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็กจึงมีส่วนสำคัญที่สุด ในการปลูกฝังพฤติกรรมดังกล่าว และจะมีผลไปจนถึงบริโภคนิสัยในอนาคต การควบคุมอาหารหวานของเด็กนับเป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับผู้ปกครอง ยิ่งเด็กที่เลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายาย เด็กที่ไม่ได้เลี้ยงนมแม่ ยิ่งมีโอกาสได้กินน้ำตาลมากขึ้น การศึกษาในเด็กเล็กที่มารับวัคซีนโรงพยาบาลตำรวจ  เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ พบว่าคุณแม่กว่าร้อยละ ๑๗ เลือก นมรสหวานให้แก่ลูก และการศึกษาในจังหวัดแห่งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ พบว่า ผู้ปกครองถึงกว่าร้อยละ ๖๒ เติมน้ำตาลรูปแบบต่างๆ เพิ่มไปในนมให้เด็ก การสัมภาษณ์ทรรศนะของพ่อแม่เกี่ยวกับการดื่มนมของเด็ก พ่อแม่มักให้ความสำคัญกับการให้เด็กได้ดื่มนมมากๆ และคิดว่าความหวานช่วยให้เด็กดื่มนมได้มากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ให้ความสำคัญมากกว่าผลเสียต่อสุขภาพด้านอื่น

การดื่มนมหวานมีผลเสียต่อสุขภาพฟันมากขึ้น เมื่อผนวกไปกับพฤติกรรมการดูดจากขวดและการหลับคาขวดนม การสำรวจหมู่บ้าน ๑๒ แห่ง ใน ๔ จังหวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ พ่อแม่ของเด็กอายุต่ำกว่า ๔ ขวบมากกว่าครึ่ง ยอมรับว่าปล่อยให้ลูกหลานนอนหลับคาขวดนม ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้จำแนกนมในท้องตลาดที่ใช้เลี้ยงทารกเป็น ๒ ประเภท (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๕๖ พ.ศ. ๒๕๓๗) คือนมดัดแปลงสำหรับทารก ใช้สำหรับเด็กแรกเกิดถึง ๑๒ เดือน นมสูตรนี้ไม่อนุญาตให้แต่งกลิ่นรส และไม่ใช้วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร นั่นคือ ไม่อนุญาตให้เติมน้ำตาลเพิ่มจากธรรมชาติ แต่สูตรที่ ๒ คือ นมสูตรต่อเนื่อง สำหรับเด็กอายุ ๖ เดือน - ๓ ขวบ อนุญาตให้เติมน้ำตาลและแต่งกลิ่นรสได้ จึงมีนมบางยี่ห้อเติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งเพิ่มรสชาติให้เป็นทางเลือกมากขึ้น ปัญหาที่พบ คือบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบว่านมที่ลูกกำลังดื่มอยู่นั้นเป็นนมหวานเนื่องจากไม่อ่านฉลากข้างกระป๋องหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือทราบว่าเป็นนมหวานแต่ไม่ทราบถึงผลเสีย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้มีนมเด็กบางยี่ห้อพยายามให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคโดยเขียนอักษรตัวใหญ่ไว้ข้างกระป๋องนมผงสำหรับทารกว่า ไม่เติมน้ำตาลทราย ผู้ปกครองที่มีความรู้และให้ความสำคัญในเรื่องนี้จะมีทางเลือกมากขึ้น หากพ่อแม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เขาย่อมจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกแน่นอน การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารหวานในเด็กก่อนวัยเรียน อายุ ๑-๓ ขวบ ในเขตชนบทแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า เด็กร้อยละ ๖๕ กินขนมหวานมากกว่า ๓ ครั้งต่อวัน และรายงานของอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พบว่า เด็กอายุเพียง ๖-๑๙ เดือน ที่กินขนมมากกว่า ๓ ครั้งต่อวัน มีอยู่ถึงร้อยละ ๑๐.๔ เป็นที่น่ากังวลว่าผู้เลี้ยงดูมักเป็นผู้หยิบยื่นน้ำอัดลมและขนมให้แก่เด็กตั้งแต่อายุไม่ถึง ๑ ขวบ และมักใช้ขนมเป็นรางวัลหรือเครื่องล่อให้เด็กมาโรงเรียน

การทำความสะอาดช่องปากเด็ก
ในเรื่องการแปรงฟัน พ่อแม่จำนวนมากมักไม่ทราบว่าตนเองควรแปรงฟันให้ลูกจนถึงอายุประมาณ ๖ ขวบ พ่อแม่อีกไม่น้อยที่รู้สึกว่าการแปรงฟันให้ลูกเป็นเรื่องยาก การสำรวจ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พบว่าเด็กอายุ ๑ ขวบครึ่งถึง ๓ ขวบ มีผู้ปกครองแปรงฟันให้เพียงร้อยละ ๒๓ นอกจากนี้มีการศึกษาที่รายงานว่า พ่อแม่ถึงร้อยละ ๕๔ ยอมรับว่าตนเองมีปัญหาไม่สามารถแปรงฟันให้เด็กได้อย่างดีหรือไม่ได้แปรงเลย สาเหตุมีทั้งเด็กไม่ยอมแปรงไม่เป็นเพราะไม่เคยแปรงหรือไม่กล้าแปรงฟันให้เพราะกลัวเด็กเจ็บ การแปรงฟันแม้จะเป็นเรื่องชีวิตประจำวันพื้นๆ แต่มีความสำคัญมาก เพราะการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นกลวิธีการส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่สำคัญที่สุด

เรื่องการเลือกใช้ยาสีฟันและแปรงสีฟันสำหรับเด็ก ปัจจุบันตลาดยาสีฟันของไทยมียาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อยู่ร้อยละ ๕๒ ของยาสีฟันที่วางขายทั้งหมด และเนื่องจากครอบครัวไทยส่วนใหญ่มักใช้ยาสีฟันร่วมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่  และยาสีฟันผู้ใหญ่มีปริมาณฟลูออไรด์มากกว่ายาสีฟันเด็ก จึงแนะนำให้ใส่ยาสีฟันให้เด็กเพียงเล็กน้อยเท่าเมล็ดถั่วเขียว แปรงฟันให้เด็กได้ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น ส่วนแปรงสีฟันเป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายให้มีการควบคุมฉลากแปรงสีฟัน ผู้ผลิตจะต้องระบุข้างกล่องบรรจุว่าเป็นแปรงชนิดขนอ่อนหรือแข็ง และมีการสุ่มตรวจคุณภาพเป็นระยะๆ โดยกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จึงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยคุ้มครองประชาชนให้ได้เลือก ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ปัญหาฟันผุในเด็กเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งการป้องกันฟันผุในเด็กเล็กโดยวิธีการใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียวมักไม่ได้ผล จึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งกลวิธีทางชุมชน การดูแลโดยทันตบุคลากรและการดูแลโดยครอบครัว ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และควรทำผสมผสานร่วมกับโปรแกรมสุขภาพด้านอื่นๆ อย่างองค์รวม เพื่อให้ยิ้มของเด็กไทยสดใส

ข้อมูลสื่อ

300-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์