• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายจากสัตว์ใกล้ตัว

โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายจากสัตว์ใกล้ตัว


เมื่อพูดถึง "โรคพิษสุนัขบ้า"  เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่มีเฉพาะในสุนัขเท่านั้น ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ก็มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ซึ่งมีทั้งชนิดที่คนเลี้ยงไว้ใกล้ตัว และเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ที่คนเลี้ยงไว้ใกล้ตัว เช่น สุนัข แมว กระรอก สัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ค้างคาว ชะมด หนู ในเมืองไทยมีคนเสียชีวิตจากการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทุกฤดูกาล ที่ผ่านมาลูกสุนัขอายุต่ำกว่า ๓ เดือนสามารถทำให้คนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าหลายราย นอกจากนี้ แมวซึ่งเป็นสัตว์ใกล้ชิดกับคนไม่น้อยไปกว่าสุนัขก็นำเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายเจ้าของที่เลี้ยงแมวเอง

ลักษณะของบาดแผลที่ถูกสุนัขกัดหรือแมวข่วนมีหลายแบบ เช่น แผลลึกมีเลือดออก แผลผิวหนังขาด แผลถลอกและ/หรือข่วนมีเลือดออก ตำแหน่งของบาดแผล เช่น นิ้วมือ ข้อมือ ฝ่ามือ คาง ปาก จมูก แก้ม แขน ลำตัว หน้าอก ข้อมือ ข้อเท้า ฝ่าเท้า น่อง เข่า สะโพก พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่ถูกต้อง หลังจากถูกกัด และ/หรือสัมผัสเชื้อ คือ

๑. ไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า

๒. เข้าใจว่าลูกสุนัขหรือลูกแมว และ/หรือสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ ไม่สามารถเป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้า

การตระหนักถึงภยันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงระมัดระวังอันตรายจากสัตว์เลี้ยงใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า จากศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กรุณาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยตระหนักว่า การเรียนรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า คือหนทางป้องกันอันตรายและลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

"โรคพิษสุนัขบ้า" ทำไมบางคนเรียก "โรคกลัวน้ำ"
เหตุผลที่เรียกโรคกลัวน้ำเพราะว่า ผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งสุนัขที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในบางรายมีอาการกลัวน้ำและ/หรือกลัวลม อย่างไรก็ตาม การที่เราเชื่อว่าคน ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าดังกล่าวจะต้องกลัวน้ำ อาจจะไม่ใช่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะว่าโรคพิษสุนัขบ้ามีกลุ่มอาการ ได้ ๓ แบบด้วยกัน

๑. แบบเอะอะอาละวาด  ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวน้ำหรือกลัวลม

๒. ผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาต แขนขาอ่อนแรง โดยจะพบว่ามีอาการกลัวน้ำหรือกลัวลมได้เพียงร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยเท่านั้น

๓. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเฉพาะตัวแบบที่ ๑ และแบบที่ ๒ ผู้ป่วยแบบนี้เป็นผู้ป่วยที่น่ากลัวที่สุดมีลักษณะอาการคล้ายๆ กับผู้ป่วยที่มีโรคสมองอักเสบทั่วๆ ไป ก็คือ มีอาการไม่รู้สึกตัว โคม่าและเสียชีวิตไปโดยที่แพทย์ไม่ได้นึกถึงว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเชื้อโรคอื่น ทำให้อุบัติการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าดูคล้ายลดลง

อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขบางครั้งบางคราวอาจจะมีลักษณะไม่เหมือนกับในคนทีเดียว กล่าวคือ ในสุนัขอาการกลัวน้ำอาจจะไม่เห็นเด่นชัด เพราะฉะนั้นเวลาที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปบอกว่า ลองเอาน้ำสาดดูสุนัขที่ติดเชื้อโรคหรือเป็นโรคนี้ ถ้าหากมีอาการกลัวน้ำก็บอกได้ชัดเจนอาจจะไม่เป็นความจริง เนื่องจากว่าสุนัขก็มีอาการคล้ายคลึงกับโรคในคนเช่นเดียวกัน และในสุนัขที่เป็นโรคบางตัวเพียงแต่กินน้ำไม่ได้ แต่ไม่ได้กลัวน้ำ เพราะฉะนั้นกรณีอย่างนี้อาจจะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

สาเหตุโดยตรง ได้รับเชื้อจากสัตว์ชนิดใดบ้าง
จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แต่อย่างไรก็ตามสุนัขและแมวถือว่าเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญ ถ้าถามว่าในหนูนำโรคได้ไหม ตอบว่านำโรคได้ แต่ว่าในหนูประสิทธิภาพในการแพร่กระจายจากหนูไปสู่เพื่อนหนูในกลุ่มเดียวกันค่อนข้างน้อย คือ เป็นตัวหนึ่งและมักจะเสียชีวิตเลยไม่มีการแพร่ระบาดมากนักในกลุ่มหนู

สัตว์ชนิดใดที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และติดต่อถึงคนโดยวิธีใดมากที่สุด
สุนัขมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุด รองลงมาก็คือ แมว การติดต่อถึงคนมากที่สุดก็คือ โดยวิธีการกัด ต้องเน้นอีกวิธีหนึ่งก็คือ การข่วน การข่วน หมายความว่า ใช้เขี้ยวข่วนก็ได้ หรือว่าในกรณีของแมวก็คือ ใช้อุ้งเท้าที่มีเล็บข่วน ทำไมถึงติดโรคได้ เพราะแมวเขาเลียอุ้งเท้าและเล็บของตัวเอง เชื้อไวรัสที่ติดอยู่ที่เท้าหรืออุ้งเล็บยังมีชีวิตได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถูกแมวข่วนก็จะทำให้คนติดโรคจากการข่วนของแมวได้เช่นกัน ส่วนในต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าค้างคาวกลับเป็นสัตว์ที่นำโรค ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง ซึ่งมีสัตวแพทย์บุญเลิศ ล้ำเลิศเดชา และมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านค้างคาวจากกรมป่าไม้และกรมปศุสัตว์ได้สำรวจ พบว่า ในค้างคาวไทยก็มีเชื้อโรคอยู่ในกลุ่มของไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกัน แต่ว่าเป็นพี่น้องกันนะครับ คือว่าไม่ใช่สายพันธ์ุ Lyssa virus เบอร์ ๑ หรือ Rabies เราเรียกว่า Lisa Virus แต่ก็ทำให้เกิดอาการในคน หรือในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและก็เสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า มักพบมากในช่วงฤดูกาลใดของปี
ต้องขอย้ำว่า การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านี้จริงๆ แล้วระบาดได้ทุกฤดูกาลและทุกเดือน ไม่เฉพาะแต่ในหน้าร้อนเท่านั้น การประชาสัมพันธ์ให้ระวังในหน้าร้อน อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงการผสมพันธุ์ของสุนัข มักจะเกิดอยู่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน  เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีการผสมพันธุ์กันนั้น สุนัขก็จะมีการต่อสู้แย่งชิง แสดงความเป็นผู้ชายของสุนัข ก็เป็นการแพร่ระบาดของโรค และหลังจากนั้นก็มีระยะฟักตัว  ซึ่งระยะฟักตัวก็คล้ายกับในคน ก็คือ จะอยู่ในช่วงประมาณ ๖ เดือน แต่ว่าโดยเฉลี่ยก็จะอยู่ประมาณ ๒-๔ เดือน ดังนั้น บางครั้งอาจจะพบสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงหน้าร้อน ทั้งๆ ที่จริงแล้วอาจจะพบได้มากกว่านั้น ทั้งนี้ ฤดูติดสัตว์หรือว่าฤดูผสมพันธุ์ของสุนัขไม่ใช่มีแต่เฉพาะในเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน

ระยะเวลาการติดโรคและแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ ใช้เวลามากน้อยแค่ไหน
ระยะฟักตัวของคนที่เป็นโรค ก็คือไม่เกิน ๑ ปี ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในช่วง ๒ เดือน ในบางคนพบว่าถูกสุนัขกัดภายใน ๕ วันเท่านั้นก็เริ่มแสดงอาการ ทั้งนี้เพราะถูกสุนัขกัดเป็นแผลเหวอะหวะ และสุนัขกัดเข้าโดยตรงที่เส้นประสาทบริเวณไหปลาร้า หรือบริเวณเส้นประสาทใหญ่ ทำให้เชื้อเข้าสู่เส้นประสาทได้เลย โดยไม่จำเป็นจะต้องมีการฝังตัวอยู่ที่แผล และมีการเติบโตก่อนที่กล้ามเนื้อ และจากกล้ามเนื้อถึงจะเข้าเส้นประสาท โรคจะเกิดเร็วหรือช้านั้น คือ ระยะฟักตัว ขึ้นอยู่กับบาดแผลว่าลึกแค่ไหน และแผลนั้นมีเชื้อไวรัสปะปนอยู่มากแค่ไหน และกลไกของตัวไวรัสเอง รวมทั้งบทบาทของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในขณะเดียวกัน ถ้าหากกัดเข้าโดยตรงที่เส้นประสาท ก็อาจจะทำให้ระยะฟักตัวเป็นไปได้โดยรวดเร็ว หลังจากที่มีอาการดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยทุกรายจะเสียชีวิตหมด ไม่ว่าอาการแสดงนั้นจะเป็นเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เช่น มีอาการแค่คัน ปวดแผล หรือว่าปวดแขนขาบริเวณที่ถูกกัด หรือว่ามีไข้ มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังจากที่มีอาการดังกล่าว ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีทุกอย่าง ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่เกิน ๑๔ วัน โดยกลุ่มอาการเอะอะอาละวาดจะ เสียชีวิตเร็วในเวลาเฉลี่ยประมาณ ๕ วัน ส่วนกลุ่มอาการที่มีลักษณะอัมพาต แขนขาอ่อนแรง จะเสียชีวิตหลังจากที่มีอาการแสดงครั้งแรก ภายในระยะเวลาเฉลี่ย ๑๓ วัน

ถูกสัตว์ที่คาดว่ามีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จะต้องทำอะไรทันที
สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ก็คือ ล้างด้วยน้ำประปา ล้างด้วยน้ำก๊อก แล้วใช้สบู่ธรรมดาล้างหลายๆ ครั้งประมาณ ๕-๖ ครั้งก็ได้ เหตุผลที่ใช้น้ำสบู่ล้างเพราะว่าตัวปลอกหุ้มไวรัสเป็นปลอกไขมัน เมื่อล้างด้วยสบู่จะทำให้ปลอกหุ้มไขมันแตกหรือละลายไป ทั้งนี้การล้างแผลดังกล่าวเป็นการช่วยทำลายเชื้อไวรัสที่มีอยู่ไปได้เป็นจำนวนมาก มีการศึกษาในประเทศจีนเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว พบว่าถึงแม้จะได้รับวัคซีนที่ดี และได้รับเซรุ่ม หรืออิมมูนโกลบูลินฉีดที่แผลอย่างดีก็ตาม หากล้างแผลไม่สะอาดตั้งแต่ครั้งแรก  ผู้ป่วยก็ยังเสียชีวิตได้ ในทางปฏิบัติ หลังจากล้างแผลเรียบร้อย และล้างน้ำสบู่เรียบร้อย เมื่อไปถึงสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็จะล้างแผลอีกครั้งหนึ่ง ด้วยยาฆ่าเชื้อโรคที่มีสรรพคุณในการฆ่าตัวไวรัสได้ เช่น ยาฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในกลุ่่มของไอโอดีน ซึ่งปกติใช้ในการทาแผลเด็กที่หกล้มถลอกปอกเปิกทั่วไปที่ไม่แสบ และถ้าหากมีแผลเกิดขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงไม่เย็บแผล ยกเว้นแต่ที่จำเป็นจริงๆ เพราะการเย็บแผลจะทำให้เกิดผล ๒ อย่าง คือ

๑. อาจจะทำให้เชื้อโรคฝังตัวอยู่ และแพร่กระจายตัวไปได้เรื่อยๆ

๒. การเย็บแผลอาจจะทำให้มีการบาดเจ็บที่เส้นประสาทส่วนปลายในบริเวณนั้น จะยิ่งทำให้ไวรัสวิ่งเข้าเส้นประสาทได้ง่ายขึ้นไปอีก

ถ้าเคยถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบโปรแกรม ในร่างกายจะยังมีเชื้อหลงอยู่อีกหรือไม่ ไม่ควรมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าตกค้างอีก ถ้าหากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันถูกต้องครบถ้วน ในกรณีที่แผลลึก ไม่ว่าจะเป็นแผลเดี่ยวหรือหลายแผล ไม่ว่าจะถูกกัดที่ตำแหน่งใดของร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า มือ ลำตัว แขน ขา หรือ เท้าก็ตามจะต้องฉีดอิมมูนโกลบูลินที่แผล แล้วก็ฉีดวัคซีน ในกรณีนี้ก็ไม่ควรจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่

สถานที่ใดบ้างที่รับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศไทย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย รับฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ สำหรับสถานที่รับตรวจโรคพิษสุนัขบ้า มีกระจายอยู่ตามภูมิภาคทั่วประเทศไทย

วัคซีนมีผลข้างเคียงหรืออันตรายต่อคนที่ถูกฉีดอย่างไร
วัคซีนไม่มีผลข้างเคียงหรืออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะมีก็จะมีบ้างเหมือนกับที่พาลูกหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หรือคางทูมเท่านั้นเอง และหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนนี้ได้ ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ไม่ทำให้ทารกพิการ การฉีดวัคซีนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องลดขนาดของวัคซีนลง คือ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ใช้ปริมาณเท่ากัน

การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดกี่ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันกี่วัน
การฉีดวัคซีนมีอยู่ ๒ แบบคือ แบบมาตรฐานและแบบประหยัด

๑. แบบมาตรฐาน
ฉีดเข้ากล้ามที่แขน ห้ามฉีดเข้าที่ก้น เพราะถ้าใครที่ก้นใหญ่หรือก้นอ้วนจะทำให้วัคซีนไปติดที่ไขมัน จะไม่ได้ผลต่อการป้องกันและรักษา การฉีดแบบมาตรฐาน เริ่มจากฉีด ๑ เข็มเข้ากล้ามที่แขน ในวันที่ ๐  ๓  ๗  ๑๔  และ ๓๐

๒. แบบประหยัด
แบบประหยัดนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย ร่วมกันคิดค้นขึ้นมา และครั้งแรกที่สุดนำทีมโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค และศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์ และมีนายแพทย์เฮนรีไวลด์ และศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา การฉีดวัคซีนแบบประหยัดนี้สามารถใช้วัคซีนเพียง ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ของวัคซีนแบบมาตรฐาน ทำให้ประหยัดเงินได้จำนวนมาก ซึ่งการฉีดวัคซีนแบบประหยัดโดยการฉีดเข้าในผิวหนังองค์การ อนามัยโลกรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งมีวิธีการฉีดจะมีสูตรที่เรียกว่า ๒ (วันที่ ๐) ๒ (วันที่ ๓) ๒ (วันที่ ๗) ๐ (วันที่ ๑๔) ๑ (วันที่ ๓๐) ๑ (วันที่ ๙๐)  คือ

  • ฉีด ๒ จุดเข้าในผิวหนัง ในวันที่ ๐
  • ฉีด ๒ จุด ในวันที่ ๓
  • อีก ๒ จุด ในวันที่ ๗
  • ไม่ฉีดเลยในวันที่ ๑๔
  • ฉีดอีก ๑ จุด ในวันที่ ๓๐
  • และอีก ๑ จุด ในวันที่ ๙๐

ส่วนการฉีดอีกแบบ คือ แบบที่เสนอโดยกลุ่มออกเฟิร์ต  คือ ฉีดแบบที่เรียกว่า  ๘ (วันที่ ๐) ๐ (วันที่ ๓)  ๔ (วันที่ ๗) ๐ (วันที่ ๑๔) ๑ (วันที่ ๓๐) ๑ (วันที่ ๙๐) วิธีการฉีดก็คือ

  • ฉีด ๘ จุด ในวันที่ ๐
  • ไม่ฉีดเลยในวันที่ ๓
  • ฉีด ๔ จุด ในวันที่ ๗
  • ไม่ฉีดเลยในวันที่ ๑๔
  • ฉีดอีก ๑ จุด ในวันที่ ๓๐
  • และอีก ๑ จุด ในวันที่ ๙๐

การฉีดแบบ ๘ จุดจะค่อนข้างลำบาก และอาจจะมีความเจ็บปวดมาก ฉีดแบบมาตรฐานของสภากาชาดไทยค่อนข้างสะดวกมากกว่า

ถ้าฉีดวัคซีนครั้งที่ ๑ และหยุดไป  เลยกำหนดการฉีดครั้งที่ ๒ จะทำอย่างไร
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก การฉีดใน ๓ เข็มแรก คือ ในวันที่ ๐ ๓ และ ๗ เป็นการฉีดที่สำคัญ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดมีภูมิคุ้มกันขึ้นในวันที่ ๑๔ ถ้าหากว่าละเลยไปใน ๓ เข็มแรก บางครั้งบางคราวภูมิคุ้มกันจะขึ้นช้า แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากละเลยไป หรือเลยไปแค่ ๑-๒ วันเท่านั้นก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเริ่มต้นฉีดเข็มที่หนึ่งใหม่ ถ้าหากเลยไปมากกว่านั้นอาจจะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป และอาจจะต้องฉีดใหม่ตั้งแต่เข็มที่หนึ่งไปเลย

ค่าใช้จ่ายในการรับบริการเป็นอย่างไร
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายประมาณเข็มละ ๓๕๐ บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายโดยประมาณจะอยู่ที่ ๗๐๐-๒,๒๐๐ บาท สำหรับการฉีดอิมมูนโกลบูลินในสถานบริการของรัฐบาลจะเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ ๒,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท

ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำอย่างไร
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้จากโรคแพร่กระจายอยู่ในสุนัขเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้ประชากรสุนัขเพิ่มขึ้นจากสถิติที่เคยประเมินไว้ ว่ามี ๖ ล้านตัว (แมวประมาณ ๑ ล้านตัว) จริงๆ แล้วพบ ว่าเป็นไปไม่ได้ ควรจะมีตั้งแต่ ๑๐ ล้านตัวขึ้นไปทั่วประเทศ ทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าทางกรมปศุสัตว์ และกระทรวงสาธารณสุข เคยพยายามที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ถึงร้อยละ ๗๐ ของสุนัข ๖ ล้านตัวทั่วประเทศ ซึ่งมาจากประมาณการที่ว่า ถ้าฉีดได้ถึงร้อยละ ๖๐ ร้อยละ ๗๐ ของประชากรสุนัขทั่วประเทศ จะต้องไม่มีสุนัขบ้าอีกเลย หมายความว่า สุนัขตัวไหนที่เป็นบ้ากัดตัวอื่นตัวอื่นก็ไม่ตาย ตัวที่เป็นบ้าก็ตายไปเอง แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะฉีดไปร้อยละ ๗๐ ของสุนัข ๖ ล้านตัวแล้วก็ตาม ก็ยังตรวจพบเชื้อโรคสุนัขบ้าเรื่อยๆ และคนก็ยังถูกสุนัขกัดและเสียชีวิตอยู่เรื่อย โดยล่าสุดภายในช่วง ๓ สัปดาห์ของเดือนมีนาคม มีคนเสียชีวิตอีก ๓ รายแล้ว

การป้องกันที่ดีก็คือ จะต้องมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูสุนัข ถ้าหากว่าการที่เอาข้าวไปเทให้สุนัขกินและคิดว่าได้บุญ อันนี้คงไม่พอ หมายความว่า หลังจากโปรยทานไปให้แล้วอาจจะต้องพาไปฉีดวัควีนและพาไปทำหมันด้วย เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขตกลูกได้ปีละ ๒ ครั้ง ครั้งหนึ่งจะตกลูกประมาณ ๔ ตัว ๑ ตัว จะมีลูกได้ ๘ ตัวต่อปี และถ้าหากเลี้ยงดูไม่ดี แต่ละตัวจะมีชีวิตอยู่ได้ ๒ ปี แต่ถ้าหากว่าเรายังโปรยทานอย่างนี้ทุกวัน และมากขึ้นเรื่อยๆ วงจรชีวิตของเขาก็จะยาวขึ้น และความสามารถในการออกลูกแต่ละคลอกก็จะมากขึ้น ต่อไปเราอาจจะมีสุนัข ๒๐ ล้านตัวก็ได้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเวลามีสุนัขมากขึ้น ถึงแม้สุนัขยังไม่บ้า แต่ถ้าสุนัขบ้าแม้แต่ตัวเดียวเข้าไปในกลุ่่มนั้น ซึ่งในกลุ่มอาจจะมี ๓๐-๔๐ ตัว ความสามารถในการทำให้เกิดโรคมีประมาณร้อยละ ๓๐-๘๐ เฉลี่ยแล้วคือร้อยละ ๕๐ ฉะนั้นในกลุ่ม ๔๐ ตัวอาจจะเกิดโรค ๒๐ ตัวก็ได้ การเลี้ยงสุนัขจะต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นสุนัขของตัวเอง และ/หรือสุนัขข้างถนน ไม่ใช่สักแต่ว่าเลี้ยงอย่างเดียวเท่านั้น

รู้ได้อย่างไรว่าสุนัขตัวไหนเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
เชื้อไวรัสจะออกมาก่อนที่สุนัขจะมีอาการชัดเจนได้ ๑๐ วัน เพราะฉะนั้นถ้าหากถูกสุนัขกัด ไม่ต้องไปถามว่าสุนัขกัดมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล และคนไม่มีทางเดาใจสุนัขได้ ถ้าหากถูกกัดโดยสุนัขข้างถนนและสุนัขวิ่งหนีไป โดยที่ไม่สามารถจับสุนัขมาตรวจได้ และสุนัขตัวนั้นก็น่าสงสัย ต้องฉีดวัคซีนไว้ก่อน  เพราะฉะนั้นบอกไม่ได้ในขั้นตอนที่จะดูว่าสุนัขบ้าหรือไม่บ้า สำหรับสุนัขบ้าสามารถสังเกตอาการผิดปกติได้คือ หลบไปซ่อนเงียบๆ ตามมุมมืด ไม่กินอาหาร แต่บางตัวจะติดคน คอยคลอเคลียผิดไปจากเดิม หลังจากนั้นประมาณ ๔๘ ชั่วโมงจะมีอาการกระสับกระส่าย และกัดคนทั่วไป ต่อมาจะเกิดอัมพาตทั้งตัว หุบปากไม่ได้ ลิ้นห้อย น้ำลายไหลยืด และตายภายใน ๒-๓ วัน อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจะแยกอาการสุนัขป่วยจากโรคพิษสุนัขบ้าจากโรคอื่นได้ยากมาก แม้แต่เป็นเพียงสุนัขดุก็ตาม

สุนัขที่มีเจ้าของกัด และเจ้าของบอกว่าฉีดยาแล้วควรจะทำอย่างไร
ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเป็นสุนัขที่เจ้าของบอกว่าฉีดยาแล้ว ปกติมีข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกซึ่งผมเป็นผู้เสนอและรับประกาศใช้ปฏิบัติทั่วโลก คือ

๑. เลี้ยงสุนัขอยู่ในรั้วรอบขอบชิด ถ้าสุนัขตัวนั้นเลี้ยงดูดี ในรั้วรอบขอบชิด ไม่ใช่ตอนเช้าก็วิ่งตามนายไปส่งหน้าปากซอย กลับมาไปเล่นกับเพื่อนหมาอีก ๔ ตัว แสดงว่าเลี้ยงดูไม่ระมัดระวัง ไม่อยู่ในรั้วรอบขอบชิดแบบนี้ไม่ได้

๒. สุนัขจะต้องเคยได้รับการฉีดวัคซีน อย่างน้อยที่สุด ๒ เข็มติดต่อกัน  ๒ ปี

๓. ถ้าสุนัขกัดคน จะต้องมีเหตุผล ที่น่าจะถูกกัด เช่น ไปแหย่ พยายามไปให้อาหาร ไปเหยียบหาง

๔. สุนัขที่กัดยังดูปกติร้อยเปอร์เซ็นต์

ถ้ามีครบทั้ง ๔ ข้อนี้อาจจะเชื่อได้ว่า สามารถเฝ้าดูอาการสุนัขได้ ล้างแผลให้สะอาดเรียบร้อย และยังไม่ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน ถ้าหากสุนัขมีอาการแม้แต่นิดเดียวให้รีบฉีดวัคซีนทันที การเฝ้าดูอาการสุนัขสามารถเฝ้าดูไปได้ ๑๐ วัน ถ้าหากสุนัขไม่มีอาการอะไรเลยภายใน ๑๐ วันก็แสดงว่าปลอดภัย กรณีที่ไม่แน่ใจจริงๆ คือ ฉีดวัคซีนไปก่อน ถ้าฉีดวัคซีนไปแล้ว และสุนัขก็ ดูดี แล้วก็ฉีดไป ๓ เข็ม คือวันที่ ๐ ๓ และ ๗  ถ้าวันที่ ๑๐ สุนัขปกติก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนต่อ การฉีด ๓ เข็มก็เท่ากับเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และอีก ๒๐ ปีให้หลัง ถ้าเราไม่เป็นเอดส์ตาย อีก ๒๐ ปีจริงๆ ถูกสุนัขกัด ถึงแม้จะกัดเหวอะหวะก็ตาม ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน เพราะอิมมูนโกลบูลินแพง และหายาก ก็เพียงแต่ฉีดวัคซีนซ้ำ ๒ เข็มเท่านั้นเอง ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นมาเร็วมากเลย แทนที่จะขึ้นมาภายใน ๑๔ วัน ก็จะขึ้นมาภายในช่วง ๓ วัน ๕ วันเท่านั้นเอง ก็จะได้ช่วยประหยัดเงินและปลอดภัยได้ด้วย

เลี้ยงสุนัขอย่างไรให้ปลอดภัย
คนที่เลี้ยงสุนัขนั้น จริงๆ แล้ว  ต้องเลี้ยงเหมือนลูก คือ เรามีลูกผู้ชาย ลูกผู้หญิงก็ตาม เราพาลูกเราไปตรวจสุขภาพ ไปฉีดวัคซีน แหมต้องมีสมุดฉีดวัคซีน เลี้ยงหมาก็ต้องเลี้ยงอย่างนั้น คือ เลี้ยงแบบเป็นสมาชิกในครอบครัว แต่ไม่ใช่เลี้ยงแบบอยากจะเล่นก็เอามาเล่น เวลาไม่ชอบไม่ว่างก็โยนทิ้งปล่อยไปเล่นนอกบ้าน ไปหาอาหารกินนอกบ้าน ออกไปเที่ยวนอกบ้าน หรือ ๕ โมงเย็นกลับมากินเศษอาหารเหลือๆ นี่ไม่ใช่การเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้อง และการที่ทำแบบนี้เป็นการสร้างปัญหาให้ประชาชนคนอื่น ไม่ใช่แต่โรคพิษสุนัขบ้าอย่างเดียว ที่เราพูดกัน สุนัขสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมากมาย  เช่น ถ้าสุนัขไปอยู่บริเวณโรงแรมที่มีประชุมเอเปค ทำไมการประชุมเอเปคต้องขนสุนัขไปปล่อยที่อื่น ทั้งนี้ทุกคนรู้ว่าสุนัขทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ทำไมเราไม่จัดการภาพลักษณ์ตรงนี้ โดยร่วมมือกัน

๑. ใครที่เอาสุนัขไปเลี้ยง แต่ยังเลี้ยงไม่ดีก็เลี้ยงให้ถูกต้อง

๒. ควรนำสุนัขไปทำหมัน

ถ้ารู้ว่าเราสามารถเลี้ยงได้เพียง ๑-๒ ตัวก็ต้องนำสุนัขไปทำหมันตั้งแต่ตอนต้น ไม่ใช่ปล่อยให้อายุ ๖-๗ เดือนเริ่มผลิตลูกได้ พอปล่อยลูกออกมาอีก ๔ ตัว ไม่รู้จะทำอย่างไร เอาลูกสุนัขไปปล่อยวัด วัดทำอย่างไร วัดก็เอาไปเลี้ยงต่อ เลี้ยงได้ก็เลี้ยงไม่เต็มกำลัง ฉีดวัคซีนก็ฉีดไม่ได้ แล้วก็ออกลูกมาเต็มไปหมด สุดท้ายวัดนั้นก็กลายเป็นที่ครองของสุนัขไป ก็เป็นผลกระทบเป็นวงจรต่อคนทุกหมู่เหล่า ใครก็ตามที่คิดจะเลี้ยงสุนัขข้างถนน ถ้าใจบุญสุนทานอย่างเต็มที่และอยากให้ประเทศไทยเจริญด้วย เพราะดัชนีดูว่าประเทศไหนเจริญแล้ว ก็คือ ดูจากประชากรสุนัขข้างถนน ก็ต้องไปเชิญสัตวแพทย์มาฉีดยาทำหมัน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า...


วัคซีน (vaccine) เป็นยาที่ประกอบด้วยเชื้อโรคที่ตายแล้ว ใช้ฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันโรคซึ่งเกิดจากเชื้อโรคนั้นๆ มักจะต้องใช้เวลารอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เต็มที่ จึงจะปลอดภัย อิมมูนโกลบูลิน (immune globulin) เป็นยาที่ประกอบด้วยสาร (ภูมิคุ้มกันโรค) ที่สกัดจากเลือดม้าหรือเลือดคนที่มีภูมิคุ้มกันโรคเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว ซึ่งเตรียมขึ้นโดยการฉีดวัคซีน (เชื้อโรคที่ตาย) เข้าไปในม้าหรือคน เพื่อกระตุ้้นให้สร้างภูมิคุ้มกันโรค แล้วก็นำเลือดของม้าหรือคนนั้นมาสกัดเป็นยา ใช้สำหรับฉีดเพื่อทำลายเชื้อโรคโดยตรงจึงออกฤทธิ์เร็ว เหมาะสำหรับกรณีที่ต้องการป้องกันโรคให้ทันกาลในกลุ่มที่เสี่ยงภัยสูง เช่น ถูกกัดเป็นแผลที่มีเลือดออกที่บริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือและนิ้วมือ หรือถูกกัดบริเวณใดก็ได้แต่แผลลึก แผลฉีกขาดมาก หรือถูกกัดหลายแผล

ผู้ที่ได้รับสัมผัสโรค เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลินภายในระยะเวลาไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง ก็จะมีชีวิตรอดปลอดภัยได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งสำคัญคือได้รับการรักษาช้าไป ไม่ล้างแผลให้สะอาด หรือว่ามีการฉีดวัคซีนแบบปล่อยปละละเลย แทนที่จะไปฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลาที่ควรจะเป็น ก็ฉีดคลาดเคลื่อนไปบ้าง หรือฉีดไม่ครบ หลักสำคัญก็คือ วัคซีนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ในคนที่ฉีดวัคซีน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภายใน ๑๔ วัน และภูมิคุ้มกันนี้จะต้องคงอยู่อย่างน้อยที่สุด ๓๖๕ วัน เพราะฉะนั้นในช่วงแรกที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้นในร่างกายจากวัคซีน ก็จะมีการฉีดอิมมูนโกลบูลินในกรณีที่แผลลึกหรือมีเลือดออก ไม่ว่าจะกี่แผลก็ตาม อิมมูนโกลบูลินก็จะไปป้องกันไวรัสในช่วง ๑๔ วันแรกที่ระบบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนยังไม่เกิดขึ้น

สถานที่บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า

  • กรุงเทพมหานคร

 ๑. สถานเสาวภา  สภากาชาดไทย
 ๒. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 ๓. ศูนย์โรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์  ถนนพญาไท  เขตราชเทวี
 ๔. ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร  ถนนโยธี  เขตราชเทวี

  • ภาคกลาง

 ๑. สถาบันวิจัยไวรัส  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  นนทบุรี
 ๒. หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต  จังหวัดสระบุรี
 ๓. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๑  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 ๔. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๗  จังหวัดนครปฐม
 ๕. โรงพยาบาลสระบุรี

  • ภาคตะวันออก

 ๑. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ๒  จังหวัดชลบุรี
 ๒. หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต  จังหวัดจันทบุรี
 ๓. โรงพยาบาลพระปกเกล้า  จังหวัดจันทบุรี
 ๔. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๒  จังหวัดฉะเชิงเทรา

  • ภาคเหนือ

 ๑. โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์  จังหวัดนครสวรรค์
 ๒. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ๖  จังหวัดพิษณุโลก
 ๓. โรงพยาบาลลำปาง  จังหวัดลำปาง
 ๔. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ๕  จังหวัดเชียงใหม่
 ๖. คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 ๗. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท
 ๘. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคเหนือ
 ๙. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๕  จังหวัดเชียงใหม่
 ๑๐. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๖  จังหวัดพิษณุโลก
 ๑๑. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร
 ๑๒. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์

  • ภาคอีสาน

 ๑. คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 ๒. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  จังหวัดขอนแก่น
 ๓. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ๓  จังหวัดนครราชสีมา
 ๔. โรงพยาบาลอุดรธานี  จังหวัดอุดรธานี
 ๕. โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์  จังหวัดอุบลราชธานี
 ๖. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น
 ๗. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร
 ๘. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์
 ๙. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๓  จังหวัดนครราชสีมา
 ๑๐. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๔  จังหวัดอุดรธานี
 ๑๑. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์
 ๑๒. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ
 ๑๓. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ

  • ภาคใต้

 ๑. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ๑  จังหวัดสงขลา
 ๒. โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี  จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 ๓. ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคใต้ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
 ๔. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๘  จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 ๕. สำนักงานปศุสัตว์เขต ๙  จังหวัดสงขลา

ข้อมูลสื่อ

300-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา