• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดูแลเพื่อนซี้ ๔ ขา ให้ปลอดภัยอย่างไร

ดูแลเพื่อนซี้ ๔ ขา ให้ปลอดภัยอย่างไร


การดูแลสัตว์และการเมตตาสัตว์เป็นสิ่งที่ดีที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นตั้งแต่เยาวัย จึงจะทำให้สัตว์เลี้ยงได้รับการดูแลที่ดีได้ ทว่าความเมตตาอย่างเดียวในท่ามกลางสังคมและสิ่งแวดล้อมปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสัตว์สี่ขาใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นหมาหรือแมว ความรักและความรู้เป็นสิ่งที่ต้องคู่กันมาด้วย สำหรับหมานั้น คนรักก็มาก คนชังก็ไม่น้อย ไหนจะปัญหาเสียงหมาที่เห่าดังไปไกลถึงท้ายซอย บางครั้งหมาหลุดออกมาจากรั้วบ้านกัดกันลุกลามไปถึงคนเลี้ยงที่อยู่บ้านใกล้เคียง จนเป็นเหตุให้มีปากมีเสียงแข่งกับเสียงหมาที่กำลังกัดกันอย่างมันเขี้ยว ถ้าเบาะๆ ก็เพียงปะทะลมปาก ถ้าหนักๆ ก็ถึงขั้นลงไม้ลงมือหัวร้างข้างแตก ถ้าขั้นรุนแรงก็พาไปวัดบ้าง ไปโรงพยาบาลบ้าง และรวมถึงไปโรงพัก

เหล่านี้มีที่มาที่ไปจากการเลี้ยง "หมา" ไม่ว่าจะเป็นหมาในรั้วบ้าน หมาตามถนนหนทางที่มีผู้ใจบุญ สุนทานนำอาหารมาให้หมากินเป็นเวลา นี่ยังไม่พูดถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มีหมาเป็นพาหะโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพิษสุนัขบ้าที่ติดต่อถึงคนแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะเสียชีวิตทุกคน พบว่า ในแต่ละปีทั่วประเทศมีคนไทยถูกหมาที่มีเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ากัดและเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนแสดงอาการและเสียชีวิตมากกว่า ๑๐๐ คนต่อปี นอกจากนี้ ในรอบปีที่มีคนถูกหมากัดและต้องไปฉีดวัคซีนปีละประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งจะต้องเสียค่าฉีดวัคซีนคนละประมาณ ๗๐๐ - ๒,๒๐๐ บาท ในจำนวน ๑๐,๐๐๐ คนนี้ ถ้าจะต้องฉีดอิมมูนโกลบูลินทุกคน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกคนละประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ บาท ลองคิดดูสิว่า แต่ละปีปล่อยให้สูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากขนาดนี้ได้อย่างไรทั้งที่สามารถป้องกันภัยจากหมาได้ด้วยความรู้ ความเข้าใจ และไม่ประมาท ทำไมเราไม่ช่วยกันป้องกันภัยจากสัตว์ใกล้ตัวของพวกเรากันก่อน

เลี้ยงหมาต้องอิงหาหลักการ
หมาพันธุ์ใดๆ ก็ตามที่ว่าดี ไม่ก้าวร้าว ถ้าผ่านการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมก็มีโอกาสเป็นหมาที่ดุร้าย นิสัยเสีย หรือทำร้ายคนทั่วไป รวมถึงเจ้าของที่เลี้ยงดูด้วย หลักของการเลี้ยงหมาที่ดีก็คือเลี้ยงด้วยใจ ใช้ปัญญา และลงมือทำด้วยตนเอง

เลี้ยงหมาด้วยใจ

"มีใจรัก" มีความรักต่อหมาอย่าง มีเหตุมีผล ใช้ปัญญามาตัดสิน ไม่รักลุ่มหลงจนทำให้การเลี้ยงหมาอย่างผิดวิธีจนเสียหมา

"เอาใจใส่" รู้จักดูแล ทำให้หมาได้รับความสุข ไม่ทอดทิ้งละเลยแม้ยามเจ็บป่วย มีความผูกพันในขอบเขตอันสมควร

"ตั้งใจจริง" ตั้งใจจริงๆ ว่าจะเลี้ยงหมา ไม่ใช่ตามแฟชั่น เบื่อเมื่อไหร่ก็ปล่อยทิ้งเมื่อนั้น ต้องเข้าใจและสำนึกเสมอว่า เมื่อเริ่มต้นเลี้ยงแล้วต้องรับผิดชอบชีวิตเขาไปตลอดอายุขัย โดยมีความเป็นอยู่เป็นสุขเหมาะสมตามอัตภาพ

 ใช้ปัญญา
การเลี้ยงสัตว์ใดๆ ก็ตามต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น ควรหาความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหมา เช่น พฤติกรรม ความเป็นอยู่ นิสัยใจคอ โรคภัยไข้เจ็บ เพื่อให้การเลี้ยงดูหมาที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

ลงมือทำด้วยตนเอง
นอกจากการเลี้ยงหมาด้วยใจและใช้ปัญญาแล้วควรจะ "ใช้มือ" เพื่อ "ลงมือ" เลี้ยงด้วยตนเอง ประกอบด้วยการดูแลเรื่องอาหารและน้ำ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การปฏิบัติต่อหมาและเปิดโอกาสให้หมามีการแสดงออกตามธรรมชาติ

  • ก. อาหารและน้ำ

หมาจะต้องได้รับอาหารและน้ำที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ไม่ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะการขาดอาหาร นอกจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตแล้ว ยังมีผลต่อจิตใจด้วย เช่น อาหารไม่พอกินจะหงุดหงิด โมโหหิว หรือต่อสู้กันเพื่อแย่งอาหาร เป็นต้น หมาจะขาดน้ำไม่ได้เลย ต้องมีไว้ให้กินตลอดเวลา อีกทั้งบางพันธุ์ชอบเล่นน้ำเป็นพิเศษ จึงควรหาโอกาสสำหรับเล่นน้ำด้วย ฉะนั้น ควรให้อาหารที่มีคุณภาพดี ปริมาณเพียงพอ กินตรงตามเวลา เช่นเดียวกับน้ำสะอาดที่มีไว้สม่ำเสมอ

  • ข. ที่อยู่อาศัย

บ้านของหมา นอกจากใช้กันแดดกันฝนแล้วจะต้องเป็นสถานที่สะอาด อบอุ่นกายอบอุ่นใจ ปลอดภัยและเป็นที่รวมของสังคม หมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่อยู่ในชายคาเดียวกัน ต้องมีอาณาเขตเป็นส่วนตัวเพื่อพักผ่อน และรวมฝูงเป็นครอบครัวตามพฤติกรรมดั้งเดิม ถ้าที่เลี้ยงถูกกักขังอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด แม้ว่าจะสะอาดสะอ้านก็ตาม หากขาดสังคมกับคน ขาดความอบอุ่นทางจิตใจ มักก่อให้เกิดความหงุดหงิดได้ง่าย และเมื่อออกมาสู่พื้นที่กว้างขวางภายนอก จะมีการปลดปล่อยทั้งทางร่างกายด้วยการออกวิ่งแสดงพละกำลังเต็มที่ หรือปล่อยอารมณ์ด้วยการเห่าและข่มขู่สิ่งที่ผ่านไปมา ไม่ว่าคนหรือสัตว์อื่นก็ตาม นี่คือ ข้อควรระวังและตระหนักถึงความต้องการสถานที่อันเหมาะสมกับพันธุ์หมา

  • ค. สุขภาพ

การป้องกันโรคของหมาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า โรค "ทางกาย" อาจทำให้เกิดโรค "ทางใจ" และเป็นภัยต่อไปถึงผู้คน หมาต้องการความสุขทั้งกายและใจ มีการให้การดูสุขภาพที่เหมาะสม และทันเหตุการณ์

  • ง. การปฏิบัติต่อสุนัข

การปฏิบัติใดๆ ต่อตัวหมาต้องไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานขึ้นทั้งร่างกาย และจิตใจ ผู้เลี้ยงต้องมีความทะนุถนอมร่างกายและจิตใจ ก่อนกระทำการใดๆ ต่อสัตว์ โปรดนึกถึงคำกล่าวที่ว่า "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ถ้าทุกคนคิดได้ดังนี้ก็จะไม่มีการเฆี่ยนตีหมาอย่างทารุณไร้เหตุผล ไม่มีการแกล้งหรือยั่วแหย่ ไม่กักขังหรือล่ามหมาไว้ในที่จำกัด รวมทั้งไม่ทอดทิ้งหมาไว้อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง เป็นต้น การปฏิบัติต่อสุนัขด้วยใจและปัญญา คือ ให้ความรัก ทะนุถนอม สัมผัสที่อ่อนโยน อบอุ่น มั่นคง หมาจะยิ่งจงรักภักดี และยึดมั่นในผู้เป็นนาย เกิดความผูกพันและเชื่อฟังอย่างสูง

  • จ. การแสดงออกตามพฤติกรรมธรรมชาติ

หมาต้องการแสดงออกตามธรรมชาติอย่างอิสรเสรี (ภายใต้การดูแลของคนเรา) การแสดงออกตามธรรมชาติที่ว่านี้ ได้แก่ การส่งเสียงเห่าหอนอันเป็นพฤติกรรมการสื่อสาร การทำเครื่องหมายขอบเขตอาณาเขตของตน เช่น การฉี่ของหมาตัวผู้ ผู้เลี้ยงต้องให้เสรีภาพในการแสดงออกตามที่ควรจะเป็น และอยู่ในวิสัยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือ ไม่ไปดัดแปลงแก้ไข ปรับเปลี่ยน เบี่ยงเบนพฤติกรรมตามธรรมชาติของหมา "อย่าคิดแปลงหมาให้เป็นคน" แค่คิดก็ผิดแล้ว จงปฏิบัติต่อหมาและให้โอกาสหมาอยู่อย่างอิสรภาพตามธรรมชาติตามสมควร เลี้ยงหมาด้วยใจ เลี้ยงหมาด้วยปัญญา และเลี้ยงหมาด้วยมือก็พอแล้ว อย่าถึงกับเลี้ยงด้วยลำแข้งเลยครับ

ดูแลหมาดุอย่างไร?
หมาที่สงสัยว่าจะดุ ก็คือ หมาที่เคยมีประวัติกัดคน ลูกผสมพันธุ์ดุ หมาน่ากลัว หมาดื้อ เป็นต้น ล้วนมีโอกาสถูกออกมาเพ่นพ่านทั่วไป เราอาจเห็นหมาจรจัดที่เป็นหมาพันธุ์แท้นานาพันธุ์ ราคาแพงนับหมื่นนับแสนวิ่งเพ่นพ่านทั่วไป เช่น ร็อตไวเลอร์ โดเบอร์แมน บางแก้ว หลังอาน เป็นต้น บางตัวอาจไล่กัดทำร้ายคนต่อไปอีก และยากที่จะกำจัดเนื่องจากพฤติกรรมอันน่ายำเกรงของมัน การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ดังกล่าว สามารถทำได้โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องถึงการอยู่ร่วมกัน การเลี้ยง การควบคุม และทำความเข้าใจกับหมาที่มีนิสัยดุหรือเป็นพันธุ์ที่น่าจะดุให้อยู่ร่วมชายคากับเจ้าของ ต่อไปได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยทุกฝ่าย ควรปฏิบัติดังนี้

๑. ห้ามปล่อยทารก เด็กเล็กตลอดจนผู้ป่วย และคนชรา ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ อยู่ตามลำพังกับหมาเหล่านี้อย่างเด็ดขาด

๒. ทบทวนและติดตามพฤติกรรมสุนัขของท่านว่า  แสดงออกถึงความก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผลอย่างไรบ้าง? บ่อยครั้งแค่ไหน? ต่อบุคคลใด? ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตวแพทย์ สำหรับการประเมินสภาพจิตใจและพฤติกรรมตลอดจนความเสี่ยงที่จะเลี้ยงดูหมาตัวนั้นๆ ต่อไป

๓. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสายพันธุ์ที่ท่านเลี้ยงจากใบรับรองสายพันธุ์ (pedigree) และเจ้าของคอกที่ท่านซื้อหาหมามาเพื่อเป็นการวินิจฉัยหมาในสายพันธุ์นั้น มีประวัติการทำร้ายแทรกอยู่ในเชิงพันธุกรรมหรือไม่?

๔. ดูว่าหมาของท่านผ่านการฝึกอบรม บ่มนิสัยมาบ้างหรือเปล่า และเคยสั่งสอน หัดให้รู้จักเชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ เป็นพื้นฐาน เช่น หยุด หา คอย หรือจำชื่อตัวเอง เป็นต้น

๕. หมาดุที่จะพาออกนอกบ้าน ไม่ว่าจะเพื่อออกกำลังกายหรือไปหาหมอต้องใส่ตะกร้อปาก ปลอกคอหรือเข็มขัดรัดหน้าอก และสายจูงที่แข็งแรง ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ครับ

เผชิญหน้าหมาดุ
ถ้าจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับหมาสักตัวที่กำลังโกรธ อารมณ์เสีย หรือเป็นหมาดุร้าย ควรปฏิบัติตัวเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ดังนี้

๑. อย่าก้าวรุก หรือเดินเข้าหาหมาตัวนั้นต่อไป
๒. อย่าต้อนให้หมาจนตรอก แต่ควรเปิดทางให้หมาหลบหลีกหนีไปได้ด้วย
๓. อย่าขยับตัวทันทีทันใด หมาอาจตกใจหรือเข้าทำร้าย
๔. ค่อยๆ ถอยออกจากถิ่นหรือพื้นที่ของหมาตัวนั้น
๕. การถอยออกต้องทำช้าๆ อย่าหันหลังให้ หรือวิ่งหนีหมาอาจจะไล่กวดหรือทำร้ายจากทางด้านหลัง
๖. จับตามองหมาตัวนั้นไว้ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่การสบตาโดยตรง ใช้ชายตาหรือมองด้วยหางตา
๗. ห้ามจ้องตาหมาเพราะหมาถือว่า การสบตากันโดยตรงเป็นการท้าทาย ขอลองดี (และอาจได้สิ่งที่ไม่ดีกลับไป)
๘. การตะโกน ขู่ หรือร้องด้วยความกลัว จะยิ่งทำให้หมาตระหนก ตื่นและจู่โจม
๙. การเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น มือ แขน ขา จะเป็นการทำให้หมาตื่นเต้นยิ่งขึ้น
 ๑๐. ถ้าท่านหยิบข้าวของส่วนตัวของหมานั้นไป เช่น ชามอาหาร ของเล่น กระดูกปลอม หรือลูกของมัน ให้ค่อยๆ วางคืนไปเสีย
 ๑๑. ถ้ามีประตูระหว่างท่านและหมา ซึ่งเปิดอยู่ให้รีบปิดทันที
 ๑๒. ถ้าหลีกออกไปจากอาณาเขตของหมาแล้ว เขามักไม่ตามมาข้องแวะ
 ๑๓. ถ้าเจ้าของหมาตัวนั้นมา รีบแจ้งให้ดำเนินการควบคุมหมาทันทีก่อนก่อเหตุสยอง

ป้องกันไม่ให้หมาของตัวเองไปติดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?
"ป้องกันไว้ก่อนดีกว่ามารักษาในภายหลัง" วัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างภูมิต่อโรคต่างๆ แก่หมารวมทั้งโรคร้าย เช่น โรคพิษสุนัขบ้าด้วย

เลี้ยงหมาให้ดีไม่ตีกับเพื่อนบ้าน
ปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งที่ทำให้เพื่อนบ้านทะเลาะเบาะแว้งกันจากเรื่องเล็กๆ แค่ปากเสียงแล้วก็ลามปามใหญ่โตขึ้นเป็นการชกต่อย และบางกรณีจบลงด้วยการเสียชีวิตก็มีนั้น "เลี้ยงหมาจนเป็นเหตุ" คือ สิ่งที่เรานำมาเล่าสู่กันฟังจะว่าเรื่องเล็กก็ใช่ที่ แต่มีผลใหญ่โตมากมายหลายครั้ง ฉะนั้นเพื่อความเป็นสุขสงบของบ้านใกล้เรือนเคียง รวมถึงชุมชน เราทุกคนทั้งที่เลี้ยงหมาและไม่เลี้ยงหมาควรเข้าอก เข้าใจและร่วมมือร่วมใจกันป้องกันปัญหา มิให้เกิดจากหมาที่เลี้ยงเหล่านั้นจนถึงขั้น ผิดใจกันเปล่าๆ บ้านเมืองนี้ยังต้องการความสามัคคีเพื่อการพัฒนาต่อไปอีกเยอะ อย่ามาให้เรื่องหมาเป็นสาเหตุแห่งความแตกแยกดีกว่าครับ เลี้ยงหมาให้ดีไม่ตีกับเพื่อนบ้านจึงทำได้ ดังนี้

๑. ไม่ปล่อยหรือเจตนาพาหมาไปอึฉี่หน้าบ้านคนอื่น อันนี้ใครโดนเข้าไปก็ต้องท้าตี ท้าต่อยแน่ ฉะนั้นหมาที่ออกนอกบ้านต้องใส่สายจูง พอออกไปอึฉี่ ก็ต้องมีที่ทางเหมาะสมไม่รบกวนคนอื่น และต้องเอาถุงพลาสติกไปเก็บอึมาทิ้งถังขยะด้วยนั้นคือ ความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงหมาที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

๒. ไม่ปล่อยหมาเพ่นพ่านออกมา นอกบ้านโดยไร้สายจูง บางคนไม่ชอบหมาเลย เห็นหมาก็วิ่งหนีแล้ว ยิ่งหมาพันธุ์ดุด้วย ครั้นหมาเห็นเข้าก็ได้ใจหากไม่อยู่ในสายจูงเป็นวิ่งไล่ อย่างนี้มิตรภาพก็หมดไปแน่ๆ ฉะนั้นต้องฝึกหมาให้อยู่ในสายจูงทุกครั้งที่พาออกนอกบ้าน และฝึกไม่ให้หมาวิ่งพรวดพราดออกไปเมื่อเปิดประตูบ้าน หรือเก็บหมาเข้ากรง หรือบ้าน ก่อนเปิดประตูรั้ว

๓. ไม่ปล่อยให้หมาปากเปราะเห่าหอนรบกวนคนข้างบ้าน อันนี้ขึ้นกับการฝึกฝน ความรัก ความเข้าใจ และเอาใจใส่ที่เจ้าของมีต่อหมา รู้จักฝึก รู้จักปรามหมาเสียตั้งแต่เอามาใหม่ๆ เป็นลูกหมาก็ฝึกได้แล้ว อย่าละเลย

๔. ไม่ปล่อยให้หมาเป็นจอมขโมย หรือจอมขุดคุ้ย เพราะ บ้านใกล้เรือนเคียงกันบางครั้งมีรั้วไม้ รั้วสังกะสีกั้นแค่บนพื้นดิน หมาเหล่านี้อาจขุดมุดดินลอดเข้าไปยังบ้านอื่นก่อความรบกวน เช่น  คุ้ยขยะ ไล่กัดสัตว์เลี้ยงอื่นของเขา

๕. สร้างสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกันทุกระดับ ความสำคัญ คือ ทั้งคนต่อคน คนต่อหมา และหมาต่อหมา หมายความว่า เมื่อใครที่เข้ามาอยู่ใหม่มีสมาชิกใหม่ ทั้งคนและหมาควรนำมารู้จักทักทายกัน เข้าสังคมกัน ลงท้ายจึงเป็นมิตรกัน มิใช่คนแปลกหน้า การเห่า ขู่ ตะคอก ไล่ หรือกัด กันจะไม่เกิดขึ้นเพราะต่างรู้จักมักจี่กันแล้ว

๖. ปรามหมาของเรามิให้ใช้ความเป็นนักล่าไปรบกวนสัตว์เลี้ยงเพื่อนบ้าน เช่น ข้างบ้านเราเขาเลี้ยงนกหรือแมว เราก็ควรสังเกตสังกาว่าหมาเราพยายามจะไปกินนกหรือไล่แมวของเขาหรือไม่ต้องห้ามปรามเอาไว้ให้ได้

๗. ยกย่องหมา หรือสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน อย่าเอาแต่ยกยอแค่หมาของเรา เพราะเพื่อนบ้านท่านอาจเหม็นหน้าหรือรำคาญขึ้นมา ต้องให้ความสำคัญของสัตว์เลี้ยงเพื่อนบ้านให้พอๆ กับของเรา

๘. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการดูแลสัตว์เลี้ยงซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อเขาไม่อยู่บ้าน ก็ควรอาสาดูแลสัตว์เลี้ยงของเขา เช่น  ให้อาหารหรือพาไปหาหมอยามเจ็บป่วย ฉันใดก็ฉันนั้น เพื่อนบ้านของคุณก็จะมอบความเอื้ออาทรเหล่านี้กลับคืนมา

๙. หากคุณเลี้ยงหมาพันธุ์ดุหรือกำลังคิดจะเลี้ยง ควรทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้านก่อน พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบโดยการนำหมาไปฝึกให้อยู่ในคำสั่ง และมีการป้องกันอันตรายโดยใส่สายจูงทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน รวมถึงตะกร้อปากอีกด้วย เพื่อนบ้านของคุณจะได้นอนตาหลับไม่ขวัญผวาถึงอันตรายที่อยู่ข้างบ้าน

ข้อปฏิบัติเหล่านี้จะเป็นหนทางที่ท่านเลี้ยงหมาโดยเกิดมิตรไมตรีกับเพื่อนบ้านได้ครับ

รู้จักหมาจรจัด
หมาจรจัด คืออะไร?  เราพบว่าหมาจรจัดนั้นมีคำจำจัดความได้หลายอย่าง เช่น หมาไร้บ้าน หมาไม่มีเจ้าของ หมาที่ขาดผู้รับผิดชอบ หมาพลัดหลง หมาเร่ร่อน หมาพเนจร เป็นต้น หมาจรจัดมาจากไหน?  ที่มาหลักก็คือ จากบ้านคน ส่วนใหญ่ของหมาจรจัดมาจากหมาบ้าน หมาที่เคยมีเจ้าของ นี่แหละครับ ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นหมาจรจัดที่พลัดหลงข้ามถิ่นจากจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ และพวกที่เป็นหมาจรจัดโดยกำเนิดหรือชาติตระกูลเป็นหมาจรจัดที่แพร่พันธุ์กันขึ้นมา

กำเนิดหมาจรจัด การเกิดหมาจรจัดพอจะประมวลได้ ดังนี้

๑. โดยอุบัติเหตุ เช่น พลัดหลง  หลุดจากบ้านแล้วกลับไม่ถูกหรือหลงระเริงไปจนไม่กลับบ้าน มักพบกับหมาเพศ ผู้หนุ่มๆ แตกพานออกไปติดหมาเพศเมีย เป็นต้น รวมถึงพวกที่เลี้ยงหมาแบบปล่อยสะเปะสะปะ เจ้าของมีหน้าที่ให้อาหารอย่างเดียว ไม่ได้ดูดำดูดีว่าหมาของตนจะออกไปทำอะไรที่ไหน เป็นต้น

๒. โดยเจ้าของประเภทนี้เป็นความตั้งใจที่จะอัปเปหิหมาออกจากบ้าน โดยตัวเจ้าของหมาเอง ทำให้เกิดเหตุเทวดาตกสวรรค์ขึ้น อันมีสาเหตุจาก

  • หมาไม่ได้สวยน่ารักดั่งใจนึก เช่น ขี้เหร่ มีตำหนิ ผิดพันธุ์ เป็นต้น คลาดเคลื่อนจากความหวังเมื่อซื้อมาขณะเป็นลูกหมา
  • เจ็บไข้ได้ป่วย เบื่อการรักษาเยียวยา ภาระและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ยิ่งยุค ไอเอ็มเอฟ. ด้วยแล้ว เจ้าของเองยังเอาตัวไม่รอดเลย
  • นิสัยไม่เหมาะสม มักพบว่าเป็นหมาดุอันตรายเลี้ยงไม่ไหว จำเป็นต้องโละทิ้งไป
  • ประชากรหมาล้นบ้าน ท่านที่ลืมวางแผนครอบครัวหมาในบ้านเผลอแผล็บเดียวขยายพันธุ์จนล้นหลาม เกินกว่าจะเลี้ยงดูไหว ทำให้ต้องจัดการขับออกไปเป็นหมาจรจัด

ผลกระทบจากหมาจรจัดมีอะไรบ้าง? หมาจรจัดก่อให้เกิดปัญหาต่างๆอันกระทบต่อคนเมืองโดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

๑. ผลกระทบทางสาธารณสุข  หมาจรจัดเป็นพาหะสำคัญของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งคร่าชีวิตคนในกรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี จนจัดว่าเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในโลกที่มีสถิติของโรคพิษสุนัขบ้าสูงติดอันดับต้นๆ

๒. ผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม ได้แก่

  • ทางเสียง เช่น การเห่าหอน  ทำความรำคาญ
  • สร้างสิ่งปฏิกูล เช่น การถ่ายอุจจาระตามที่ต่างๆ รื้อคุ้ยขยะเลอะเทอะ แล้วมีหนูมารับช่วง
  • ทางสายตา เช่น สภาพหมาจรจัดที่เจ็บป่วยทรุดโทรม เป็นภาพไม่ชวนมอง เป็นต้น

๓. ด้านเศรษฐกิจ เช่น เมืองใหญ่ๆ ต้องเสียงบประมาณเพื่อจัดการกับหมาจรจัดเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยต้องเสียเงินตราต่างประเทศไปเพื่อนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและหมาเพื่อฉีดป้องกัน และในกรณีโดนหมาจรจัดกัด เป็นต้น

คนเมืองกับหมาจรจัด

  • คนเมืองคิดอย่างไรต่อหมาจรจัด?

๑. หมาจรจัดเป็นเพื่อนร่วมโลกที่สมควรได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่
๒. หมาจรจัดเกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคมและชีวิตสัตว์ของเจ้าของหมาที่ขาดสำนึก
๓. ปัญหาหมาจรจัดเป็นปัญหาของคนเมืองที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้
๔. หมาจรจัดก่อปัญหาต้องรีบแก้ไข
๕. เมืองไทยเป็นเมืองพุทธไม่ควรทำลายหมาจรจัด
๖. หมาจรจัดเป็นตัวนำโรคร้าย คือ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งทำให้ถึงตาย จึงต้องควบคุมดูแลอย่างจริงจัง
๗. ช่างมันไม่สนใจ ไม่อยากยุ่งเกี่ยว เสียเวลา เสียงสตางค์ ธุระไม่ใช่
๘. ไม่ควรเสียสตางค์ไปกับหมาจรจัด น่าจะมาใช้ดูแลคนจรจัด คนจน คนไม่มีจะกินในยุค ไอเอ็มเอฟ. เช่นนี้จะดีกว่า เป็นต้น

  • คนเมืองทำอะไรกับหมาจรจัดบ้าง?

๑. ช่วยให้ข้าว ให้น้ำ
๒. พาไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
๓. พาไปทำหมัน คุมกำเนิด
๔. ปกป้องคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่ จับไปทำลาย
๕. นำไปเลี้ยงดูไว้เอง
๖. เจ็บป่วยพาไปหาหมอ
๗. ไล่เตะ ยิงหนังสติ๊กใส่เมื่อพบ เห็นเกะกะ
๘. แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาจับไปทำลาย
๙. เก็บเศษอาหารและถังขยะอย่างมิดชิด จนหมาขุดคุ้ยไม่ได้
๑๐. วางยาเบื่อเมื่อเข้ามารบกวนในชุมชน เป็นต้น

  • ข้อเสนอแนะของคนเมืองเพื่อการแก้ไขปัญหาหมาจรจัด

๑. จัดบริการฉีดวัคซีน ฉีดยาคุมกำเนิด และทำหมันฟรีแกหมาจรจัด
๒. ให้เมืองจัดหาที่เลี้ยงหมาจรจัด ไว้จนหมดอายุขัยไปเอง โดยแบ่งแยกเป็น ๒ เพศ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำหมันให้สิ้นเปลือง
๓. จัดระเบียบการเลี้ยงหมาของชาวเมืองโดยการขึ้นทะเบียน
๔. จัดระเบียบผู้ประกอบกิจการค้าขายหมา เพื่อให้รับผิดชอบต่อคุณภาพหมาที่ขายไป และสะดวกในการจดทะเบียนเมื่อเริ่มต้น
๕. จัดกลุ่มอาสาสมัครเพื่อดูแลหมาจรจัดภายใต้การสนับสนุนของรัฐ
๖. ให้หน่วยงานรัฐยุติการจับหมาไปทำลาย
๗. ดำเนินการให้มีสถานที่กลางเพื่อการแจกจ่ายหมาสำหรับผู้ต้องการนำไปเลี้ยงโดยไม่คิดมูลค่า
๘. เริ่มกระตุ้นตลอดจนสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงโดยไม่คิดมูลค่า
๙. ต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตลอดไปมิใช่แบบไฟไหม้ฟาง

  • หน่วยงานรัฐทำอะไรกับหมาจรจัดบ้าง?

๑. จับและทำลาย
๒. ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดฟรีแก่หมาบ้านและหมาจรจัด
๓. รณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จัดทำประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ประชาชน
๔. ระดมความคิดจากนักวิชาการ และประชาชนเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาหมาจรจัด

  • ชาวเมืองจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมาจรจัดได้อย่างไร?

๑. มีความรับผิดชอบต่อหมาที่เลี้ยงอยู่ตลอดชั่วชีวิต ไม่ทิ้งขว้าง ปล่อยปละละเลย ตลอดจนวางแผนคุมกำเนิดครอบครัวหมาด้วย
๒. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเมื่อมีการจัดระเบียบการเรื่องหมาโดยวิธีจดทะเบียนหมาบ้าน
๓. เก็บขยะมูลฝอย เศษอาหารให้มิดชิดเพื่อมิให้เป็นแหล่งอาหารของหมาจรจัด
๔. ช่วยกันนำหมาจรจัดไปเลี้ยงตามลำพัง
๕. ช่วยกันประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้เกิดการเลี้ยงหมาอย่างมีคุณภาพ

ข้อมูลสื่อ

300-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
ผศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร