• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิว สิว สิว ทุกข์ของวัยรุ่น

เราพูดกันเรื่องเด็กมาหลายตอนแล้ว วันนี้ขอเริ่มซีรี่ที่ ๒ จะพยายามสื่อสารในเรื่องยากๆ เช่น การวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ซีรี่ "รู้มากไม่ยากนาน" หวังว่าผู้อ่านเมื่อได้รับรู้เรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ จะรู้เท่าทันและไม่บริโภคอย่างงมงาย

อย่างน้อยต้องรู้จักตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ หลงเชื่อที่เขาโฆษณา หรือคนรู้จักแนะนำว่าใช้แล้วดี โดยขาดความ เข้าใจพื้นฐานของ "ผลดี ผลเสีย ข้อจริง ข้อเท็จ" ที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆ
ก่อนจะไปพูดเรื่อง "สิว สิว สิว ทุกข์ของวัยรุ่น" จะขอเล่าให้ฟังถึงแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่าน ที่มีความรู้พอสมควร อ่านภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร อาชีพอะไรก็ได้ เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครผู้บริโภคไทย

...ประมาณ ๑๐ ปีที่แล้ว ในแวดวงผู้เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ร่วมกันก่อตั้ง "เครือข่ายค็อกเครน (Cochrane Collaboration) นานาชาติ" โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เป็นองค์กรอาสาสมัครสาธารณะ เป็นอิสระจากบริษัทผู้ผลิตยาเวชภัณฑ์ต่างๆ

อาสาสมัครทั่วโลกระยะแรกนี้ ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการให้บริการ (ดูแลรักษาให้คำปรึกษากับผู้บริโภค) บนพื้นฐานของข้อมูลความรู้ที่เชื่อถือได้มากเพียงพอ แทนที่จะเชื่อตามคำโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตยาหรือเวชภัณฑ์ หรือแม้แต่เชื่อผลการวิจัยของใครคนใดคนหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ยารักษาสิว ที่โฆษณากันเกลื่อนกลาด หมอรักษาผิวหนัง หรือพวกหากินกับความสวยความงาม นำมาใช้รักษาคนที่มีความทุกข์จากสิว (บางคนก็ไม่ได้มีสิวมาก แต่ทุกข์มากจนต้องไปหาคนช่วย ต้องเสียเงินเสียทองมากมาย แทนที่จะดูแลตนเองแล้วสิว มันก็หายไปเองได้ ตามภาวะร่างกายและอายุ) กิจกรรมที่ผ่านมาคือ ส่งเสริมให้มีการวิจัยเอกสาร ทบทวนผลการ วิจัยทั่วโลกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์รวมไปถึงบริการอื่นๆ ว่าอะไรใช้ได้ผลดีจริง หรือจริงๆ แล้วใช้ไม่ได้ แต่หมอเชื่อว่าใช้ได้ (คือดีกว่าไม่ได้ใช้ เพื่อความสบายใจ ของหมอเองว่า ได้รักษาคนไข้แล้ว) แล้วเสนอผลให้สาธารณะทราบ แต่น่าเสียดายที่ความรู้เหล่านี้ยังมาไม่ถึงผู้บริโภคในบ้านเรา เพราะข้อจำกัดในเรื่องภาษาอังกฤษ และยังขาดเครือข่ายผู้บริโภคที่จะอาสากันเข้ามาเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้กว้างขวางขึ้น...คิดว่า จะขอถือโอกาสนี้เปิดเวทีให้ผู้บริโภคที่มีจิตใจอยากเป็นอาสาสมัคร และพอจะอ่านภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง เข้ามาร่วมมือกันช่วยกันลดการบริโภคผลิตภัณฑ์และการรักษาด้วย

เวชภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น...ใครสนใจส่งใบสมัคร มาได้ที่ "หมอชาวบ้าน" (สมัครเป็นอาสาสมัครผู้บริโภค "รู้มากไม่ยากนาน")
มาเข้าเรื่องสิวกันเสียที "สิว" เป็นเรื่องธรรมชาติค่ะ คนส่วนใหญ่จะต้อง เคยเป็นสิวอย่างน้อยช่วงใดช่วงหนึ่งในชีวิต โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นอายุ ๒๐ ต้นๆ ทั้งหญิงและชาย บางคนก็เป็น ระยะสั้น บางคนก็เป็นอยู่นานหลายปี ผู้หญิงมักจะเป็นสิวอยู่นานมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะมีสิวใน ระยะมีประจำเดือน แต่สิวของผู้ชายมักจะมีอาการรุนแรง มากกว่าผู้หญิง คนขายยา คลินิกเสริมความงาม ได้กำไร กันมหาศาลจากยารักษาสิว ที่เห็นๆ กันอยู่มีหมอนั้นหมอนี้ออกมาโฆษณายารักษาสิวกันจนร่ำรวยไปตามกัน

ในเมื่อสิวเป็นเรื่องธรรมชาติ เราจะลดความทุกข์จากการเกิดสิวได้อย่างไร โดยไม่ต้องเสียเงินเสียทองไปกับผลิตภัณฑ์นานาชนิด แล้วผลิตภัณฑ์พวกนี้รักษาได้ผลจริงมากน้อยแค่ไหน จะปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ต้องทำ ความเข้าใจที่มาที่ไปของสิวเสียก่อน

"สิว" เกิดขึ้นเพราะในช่วงวัยรุ่นมีระดับฮอร์โมนเพศมากขึ้น ทำให้ผิวหนังมีไขมันเพิ่มขึ้น เซลล์ผิวหนังที่ตายทุกวันจะไปอุดตามรูขุมขนของเรา ทำให้ไขมันสะสม กลายเป็นตุ่มอาจมีสีดำ ขาว และอาจมีการอักเสบเพราะการเจริญเติบโตของจุลชีพบนผิวหนังของเรา

"สิว" ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง ความสกปรก อาหาร การมีเพศสัมพันธ์ แต่ "สิว" จะรุนแรงขึ้นเมื่อใช้สบู่หรือขัดล้างใบหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งประเภทครีม หรืออะไรๆ ที่เขาโฆษณากันว่า ทำให้ผิวหน้าสะอาด ปราศจากสิวนั่นแหละ ตัวดีล่ะ หรือพยายามบีบหัวสิว ก็จะทำให้การอักเสบลุกลามลึกไปอีก ทำให้เกิดแผลเป็น น่าเกลียด หรือใช้พวกน้ำมันใส่ผมที่ จะซึมผ่านหนังศีรษะลงไปได้ นอกจากนี้ การเกิดโรคบางชนิด เช่น การมีถุงน้ำในรังไข่ของผู้หญิง หรือการใช้ยาบางชนิด ก็ทำให้เกิดสิวได้ด้วย

ก่อนจะไปเรื่องการป้องกันหรือทำอย่างไรให้สิวลดลงหรือไม่รุนแรง ขอกล่าวถึง ผลิตภัณฑ์รักษาสิวสักหน่อย ในตลาดมีผลิตภัณฑ์รักษาสิวมากมาย (อย่าลืมว่ามันเป็นสารเคมี มีประโยชน์และมีโทษ เพราะฉะนั้นต้องใช้อย่างฉลาด ถ้าใช้อย่างขาดความรู้แทนที่จะได้ประโยชน์กลับจะเพิ่มทุกข์เพราะผลข้างเคียงของสารเคมี)

ผลการวิจัยเท่าที่มีจนถึงปัจจุบัน พบว่าสารที่ชื่อ "Benzoyl peroxide และ Aluminium chlorhydroxide/sulphur" ได้ผลดีที่สุด เวลาเราจะไปซื้อก็ตรวจดูฉลากว่ามีสาร ๒ ชนิดนี้อยู่ หรือคุยกับเภสัชกร (ไม่ใช่หมอตี๋ที่มักจะชักชวน ให้เราลองใช้ยาโน่นยานี่ ถามเขาเลยว่า มีผลิตภัณฑ์ ตัวไหนบ้างที่มีเคมีภัณฑ์ ๒ ชนิดนี้อยู่
สำหรับเคมีภัณฑ์ที่มีวิตามินเอและ tea tree ไม่พบ ว่าช่วยเรื่องสิว และอาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้มีปัญหา กับผิวหนังมากขึ้น

ถ้าใช้เคมีภัณฑ์ ๒ ตัวนี้แล้วไม่ดีขึ้น สิวแย่ลงหรือลุกลามไป ทุกข์มาก ก็ถึงเวลาควรไปปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ไม่ใช่คลินิกเสริมความงาม หมอจะให้ยาที่เรียกว่า retinoids ร่วมกับฮอร์โมน (เช่น ให้ ยาคุมกำเนิด) ซึ่งได้ผลมากน้อยต่างกันแต่ละคน และที่สำคัญคือ มันมีผลข้างเคียงเหมือนยาอื่นๆ จึงจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง

ผลวิจัยเท่าที่พบ มียาชนิดเดียวที่อาจจะรักษาสิวได้ดีก็คือ isotretinoin (ในตลาดเรียกว่า Accutane หรือ Roaccutane) แต่จะสั่งได้เฉพาะแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ที่เขียนชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษให้ ก็เพื่อท่านจะจดไปให้ถูกต้อง และเวลาหมอสั่งยาให้ ก็ถามเขาด้วยว่าเป็นยาอะไร (ถามชื่อยาที่ไม่ใช่ชื่อทางการค้า ชื่อสามัญ คือบอกตัวยา ไม่ใช่ยี่ห้อ)

ผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุด สำหรับยาชนิดนี้ก็คือ ห้ามใช้ระหว่างตั้งครรภ์เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความพิการได้ เพราะฉะนั้นถ้าแต่งงานและ ไม่ได้คุมกำเนิด ก็ไม่แนะนำ ให้ใช้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยๆ คือ ทำให้ผิวแห้ง โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก บางคนอาจมีอาการซึมเศร้าตามมา แต่ก็อาจเป็นอาการซึมเศร้าเพราะทุกข์จากสิวก็ได้
วิธีที่ดีคือ ทำความเข้าใจว่า มันเป็นธรรมชาติ และเมื่อถึงระยะหนึ่งมันก็จะหายไปเอง ถ้าไม่ได้มีอาการมาก และลดความเครียดลง สิวก็จะลดลง ถ้าเครียดมาก สิวก็จะมากขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย

การคลายเครียดและทำใจยอมรับ เข้าใจมันก็จะช่วยให้สิวลดลงได้ โดยไม่ต้องใช้ยาอะไร
ลองสังเกตถ้าตัวเรา หรือมีญาติเป็นวัยรุ่น ยิ่งเขาทุกข์กับสิวมาก สิวก็ยิ่งขึ้นมาเห่อใหญ่ ยิ่งบีบสิว ก็ยิ่งอักเสบ ตุ่มสิวใหญ่ขึ้น แดง มีหนอง ส่วนหนึ่งเพราะเรา ไม่เข้าใจและทุกข์ร้อนกับมันมากจนเครียด ซึ่งกระตุ้นการเกิดสิวเหมือนกัน

เคมีภัณฑ์และยารักษาสิว มีผลสำคัญที่พึงประสงค์ คือ เพื่อลดการขยายตัวและการอักเสบของสิว และไม่ทำให้เกิดแผลเป็นลุกลามไปมากนัก แต่ก็จะต้องไม่ใช้ใน เวลานาน เพราะจะเกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้น นอกจากนี้ "การทำเลเซอร์" ที่กำลังฮิตกันอยู่ ก็ไม่มีงานวิจัยที่แสดงว่าได้ผลต่อการรักษาสิวจริงๆ

ขอจบเรื่องนี้แค่นี้ค่ะ เห็นไหมคะ ถ้าเรารู้จักสิวดีพอ รู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ รู้ว่าสิวเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดตอนไหน เกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร เราก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้เคมีภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่เขาโฆษณากันจนเสียเงินเสียทอง โดยที่มันไม่ได้ให้ผลชะงัดอย่างที่เขาโฆษณา กัน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา และการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างเกินความจำเป็น และถ้าเรามีความรู้ เวลาเราไปหาหมอ ก็สามารถพูดคุยปรึกษาหมอ ทำความเข้าใจ และร่วมตัดสินใจว่าเราจะใช้หรือไม่ใช้ยาที่หมอจะแนะนำให้ เราสามารถ ตัดสินใจได้โดยใช้ความรู้เบื้องต้นง่าย ๆ นี้

เห็นไหมคะว่า "รู้มากไม่ได้ยากนาน" แต่ถ้ารู้น้อยไปเราก็จะตกเป็นเหยื่อและอาจเกิดอันตรายในระยะยาวได้....ลองตรวจสอบดูเล่นๆ ก็ได้ว่า มีโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษาสิวมากน้อยแค่ไหน และตัวไหนบ้างที่เข้าข่ายว่าพอจะใช้ได้ผลดี มีผลข้างเคียงน้อย

ขอย้ำอีกครั้ง สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจอยากร่วมเป็นเครือข่ายอาสาสมัครผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการแพทย์และ สาธารณสุข ให้คนอีกมากมายในประเทศไทยที่ไม่รู้ ถือเป็นวิทยาทาน ไม่มีข้อจำกัด สมัครได้ทุกคน เมื่อเข้ามา ร่วมมือกันแล้ว ตัวท่านเองก็จะรู้มากขึ้น และยังช่วยเหลือ คนอื่นๆ ให้รู้เท่าทันด้วย...(ผู้สนใจอยากอ่านข้อมูลภาษาอังกฤษ เปิดเว็บไซต์ได้ที่ www.cochrane.org/ consumers)
 

ข้อมูลสื่อ

309-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 309
มกราคม 2548
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ